แสวงหาสันติภาพ : อาเซียนกับกรณีพิพาทชายแดนไทย – กัมพูชา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ธ.ค. 54) อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำวิจัยเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก ได้ออกรายงานฉบับใหม่ \แสวงหาสันติภาพ: อาเซียนกับกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา\" ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ไปอ่านได้ตามไฟล์แนบท้ายข่าว 0000 กรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและอีกหลายพันคนต้องอพยพ ถือเป็นความท้าทาย สำหรับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการพิสูจน์ว่าจะสามารถทำโวหารเรื่องการสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้ปรากฎเป็นจริงได้หรือไม่ กัมพูชาดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับความวุ่นวายทาง การเมืองภายหลังการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 ฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำในประเทศไทยใช้ประเด็นนี้ในการจุดกระแสชาตินิยมเพื่อต่อต้านกัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มีอดีตนายกฯทักษิณให้การสนับสนุน การเคลื่อนไหวอย่างดุเดือดส่งผลให้การเจรจาในเรื่องเขตแดนต้องหยุดชะงัก และความขัดแย้งระหว่างสองประเทศปะทุขึ้น ในช่วงต้นปี 2554 เกิดการสู้รบซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ท้าทายหลักการที่องค์กรยึดมั่นมา ยาวนานในเรื่องการไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (non-aggression) ผลักให้อาเซียนต้องเข้าไปมีบทบาท และมีความคาดหวังว่าอาเซียนจะสามารถผลักดันให้เกิดสันติภาพขึ้นได้ แม้ว่าอาเซียนจะมีบทบาทที่ถือได้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ แต่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิที่มีนัยสำคัญ จำเป็นที่การดำเนินการทางการทูตต้องมีความจริงจังและแสดงภาวะผู้นำที่เข้มแข็งกว่านี้ ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นหลังความสงบดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเกือบห้าสิบปี เกี่ยวข้องกับสองเรื่องสำคัญ คือ หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองที่สนับสนุนฝ่ายชนชั้นนำกับฝ่ายเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งถูกโค่นจากตำแหน่งในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 สอง การที่กัมพูชาตัดสินใจขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในเดือนกรกฏาคม 2554 การขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จนับเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองและความภาคภูมิใจของชาวกัมพูชา แต่ในประเทศไทยกลุ่มชาตินิยมสุดขั้วอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือที่เรียกว่ากลุ่มเสื้อเหลืองหยิบยกประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งถูกเรียกว่า “หุ่นเชิด” ของอดีตนายกฯ ทักษิณว่าขายชาติ ในมุมมองของกลุ่ม พธม.ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นอาวุธอันทรงพลังในการเคลื่อนไหวและกดดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องตัดสินใจลาออก พร้อมกับเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างรุนแรง ก่อนการเคลื่อนไหวของพธม. การขึ้นทะเบียนมรดกโลกถูกมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันที่จะสร้างรายได้มูลค่ามหาศาล หลังจากนั้น เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นบริเวณชายแดน มีการเพิ่มกำลังทหารประจำการในพื้นที่ดังกล่าว การสำรวจเพื่อปักปันเขตแดนต้องหยุดชะงักเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยในการลงสำรวจพื้นที่ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยส่งผลให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการระดับสูงหลายครั้ง เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยกลุ่มชาตินิยม คำตัดสินของศาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อีกทั้งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางมาตรากลายเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาและส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง นายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชาไม่พอใจอย่างมากต่อความล่าช้าและเพิกเฉยของฝ่ายไทยและได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งในเรื่องนี้ รวมทั้งมีการแต่งตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดตกต่ำที่สุดในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีปัญหา แม้จะมีสัญญาณเตือนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างไทยกับกัมพูชาตั้งแต่ช่วงปี 2551-2553 แต่อาเซียนกลับมีท่าทีเฉื่อยชาต่อภารกิจในการสร้างสันติภาพ ภายหลังการสู้รบอย่างรุนแรงในปี 2554 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่สำคัญคือการมีมติให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเข้าดำเนินการในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าหากประธานอาเซียนมีภาวะผู้นำและความกระตือรือร้นอย่างเพียงพอก็สามารถมีบทบาทที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งให้ผ่อนคลายลง ซึ่งจะเห็นว่าที่ประชุมอาเซียนประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ไทยและกัมพูชาเห็นชอบกับการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียไปยังพื้นที่พิพาทเพื่อเฝ้าสังเกตการหยุดยิง อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายกัมพูชาจะลงนามเห็นชอบกับการส่งผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่อินโดนีเซียจะไม่ส่งทีมดังกล่าวมายังพื้นที่พิพาทจนกว่าจะได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ส่วนรัฐบาลไทย แม้จะเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมอาเซียน แต่กลับนิ่งเฉยในเวลาต่อมาเนื่องจากกองทัพแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยโดยอ้างเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่ออธิปไตยไทย สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพหลังการรัฐประหารยังคงดำเนินอยู่ การเลือกตั้งที่ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมสร้างความคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้น คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่อาจทลายอุปสรรคทางการเมืองลงได้ ต่อมาในเดือนตุลาคม เกิดปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลต้องทุ่มเทเวลาอย่างมากในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงประเทศไทยและกัมพูชาจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป้าหมายหลักของอาเซียนในการเข้ามามีบทบาทในกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา คือการยุติการสู้รบและเปิดการเจรจาครั้งใหม่ แม้ว่าการปะทะกันของสองฝ่ายจะสงบลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การหยุดยิงยังคงเป็นเพียงสัญญาปากเปล่า ความขัดแย้งนี้ยังคงไม่จบตราบจนกระทั่งทั้งสองประเทศได้ถอนทหารและการเจรจาเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในการยุติข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา อาเซียนภายใต้การนำของอินโดนีเซียได้วางแนวทางสำหรับการจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากอาเซียนต้องการทำหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคดังที่ได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ เมื่อสัญญาณของความขัดแย้งก่อตัวขึ้นอาเซียนจะต้องใช้กลไกที่มีอยู่ในการดำเนินการอย่างทันท่วงที เมื่อสัญญาณของความขัดแย้งได้ก่อตัวขึ้น และไม่ควรที่จะฝากความหวังไว้ที่ประธานอาเซียนแต่เพียงผู้เดียว ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชายังคงเป็นความท้าทายที่ยังไม่จบสิ้น อาเซียนจะต้องทำให้พื้นที่ชายแดนที่เคยมีการสู้รบเกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน หากอาเซียนต้องการที่จะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างแท้จริง."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท