สนนท.-แนวร่วม ค้าน ม.นอกระบบ ย้ำบทเรียนที่เห็นส่งผลกระทบ นศ.โดยตรง

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา ออกแถลงการณ์แจงเหตุผลคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมข้อเรียกร้อง 12 ธันวาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงการณ์ เรื่อง การแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ระบุ เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้วใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงเหลือแต่เงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้น เรียกร้องให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และทำประชามติ และสร้างหลักประกันว่าจะไม่ผลักภาระให้กับผู้เรียนในทุกๆ ด้าน และมหาวิทยาลัยต้องแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด รัฐจึงต้องมีหน้าที่สนับสนุน ด้านกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แถลงการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาโดยตรง และเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวอ้างทั้งสิ้น ทั้งด้านที่มาและความชอบธรรม โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยทุกที่ออกนอกระบบ จนกว่าจะมีการศึกษาจากหลายๆ ฝ่ายว่ามีข้อดี-ข้อเสีย ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อคนทั่วไปโดยเฉพาะนักศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด และให้มีการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในทุกขั้นตอนจากนักศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง 0 0 0 แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เรื่อง การแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) การแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการหรือที่เรียกง่ายๆว่า “ม.นอกระบบ” นั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจของวงการการศึกษา เมื่อผู้ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกรระบบผลิตชุดความคิดที่ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว จะมีคุณภาพที่ดีกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐ ทั้งในด้านความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพการศึกษา อาจลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่ถูกป้อนเข้าสู่สังคมให้เกิดการเชื่อและคิดตามว่า การเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นดีกว่าการอยู่ในระบบที่ควบคุมโดยรัฐ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า เมื่อรัฐสมัยใหม่ถูกสถาปนาให้ทำหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยต่อพลเมืองในรัฐ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้รัฐมีความมั่นคงคือ พื้นฐานทางการศึกษาของพลเมือง แต่รัฐกลับไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ รัฐกลับตอบสนองความต้องการทางด้านการเงินกลับกลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว โดยการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังนั้น เราจะมีรัฐทำไม เพื่ออะไร และเราได้รับอะไรจากรัฐ? เมื่อการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(socialization)ที่รัฐต้องให้กับสังคม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้วใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงเหลือแต่เงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้นหรือ จากข้างต้น จึงขอแจกแจงสภาพปัญหาของมหาวิทยาลัยนอกระบบเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้ 1.ปัญหาความไม่เท่าเทียม และการเพิ่มค่าเทอม เมื่อระบบการศึกษาถูกกำหนดด้วยเงินตราแล้ว ความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาคงยากที่จะได้เห็น และเมื่อค่าเล่าเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นลิ่บลิว ตัดโอกาสทางการศึกษาผู้ที่มีรายได้น้อยทางอ้อม แม้จะมีสมองคิดเหมือนๆกันแต่โอกาสที่จะได้เรียนที่ดีๆต่างกัน การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะสูบบุคลากรของชาติเข้าสู่ระบบโรงงานผลิตความรู้และสร้างเครื่องจักรที่เรียกว่ามนุษย์เข้าสู่ระบบตลาดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจะสามารถมีอิสระในการบริหารจัดการ สามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือ การปิดตัวลงของคณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการสอน เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ที่มีค่าอุปกรณ์ที่แพงแต่ความต้องการของตลาดแรงงานกลับน้อยลงเท่ากับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มทุน คณะเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปิดตัวลงไป 2.ปัญหาความไม่โปร่งใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและทำการบริหารโดยอยู่ในสถานะที่เกือบเทียบเท่ากับองค์กรเอกชนแล้ว เราจะไม่สามารถทราบถึงความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการเงินที่นักศึกษาจ่ายไปได้เลย เราไม่สามารถทราบได้ว่าเงินที่ได้มาจากนักศึกษานั้นทางมหาวิทยาลัยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้มิใช่เพียงความโปร่งใสทางด้านการเงินอย่างเดียว แต่ทางด้านบุคลากรที่จะเกิดระบบฝาก ยัด หรือติดสินบนในการรับบุคลากร หรือไล่บุคลากรออก มากขึ้น ฝ่ายบริหารจะมีสถานะที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างเด็ดขาดโดยที่ไม่ต้องมีหลักการหรือข้อบังคับใดๆ ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 3.ปัญหารัฐสวัสดิการที่เรายังได้ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ หลักการของรัฐสวัสดิการคือ รัฐบาลต้องดูแลประชาชนในทุกๆด้าน ครอบคลุมทั้งทางด้านสาธารณสุข คมนาคม การศึกษา ฯลฯ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ที่รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลและรับภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในยุโรป ทั้งนี้ในประเทศไทย รัฐมิได้มีสวัสดิการทางด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ และยังด้อยคุณภาพอีกด้วย เห็นได้ชัดว่ารัฐมิได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนอย่างจริงจังแต่อย่างใด จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) จึงมีข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย ดังต่อไปนี้ 1. ควรมีการทำประชามติถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และผลักดันให้มีเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์และรวบรวมข้อเสนอ แนวทาง ปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ตามหลักประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารต้องฟังเสียงของนักศึกษาและรับฟังความเดือดร้อนและผลกระทบของนักศึกษาอย่างรอบด้านและปราศจากอคติ 2. มหาวิทยาลัยควรมีหลักประกันในการที่จะไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้เรียนในทุกๆ ด้าน และมหาวิทยาลัยต้องแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน ทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์เรียน ฯลฯ เพราะการผลักภาระค่าใช้จ่ายโดยการขึ้นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์ ค่าอื่นๆ เป็นเสมือนการคัดคนเข้าเรียนไปในตัวว่าต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าเรียนได้ ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า และเรื่องความโปร่งใส มหาวิทยาลัยต้องแจกแจกค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนักศึกษาให้สามารถตรวจสอบการทำงานและการบริหารด้านการเงินภายในของมหาวิทยาลัยได้ว่าเกิดประโยชน์สูงสุดเพียงใด 3. เมื่อประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ในการบริหารจัดการประเทศให้เจริญ ระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด รัฐต้องสนับสนุนทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนถึงตายโดยเฉพาะด้านการศึกษา ไม่ควรเป็นการผลักภาระด้านการศึกษาให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบริหารจัดการ การศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้กับประชาชน การศึกษาต้องเข้าถึงประชาชน ทั้งนี้อย่าถามเราเลยว่ารัฐบาลจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาลนี้ได้เช่นไร เพียงแค่ลดงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงไอซีที หรือกระทรวงอื่นๆที่ไม่จำเป็นในการพัฒนาประเทศซ้ำยังทำหน้าที่ฉุดรั้งสังคมด้วยการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน ตีกรอบศีลธรรมอันคับแคบให้ประชาชน หรือปิดปากปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดลงไปบ้าง แล้วให้ความสำคัญกับการศึกษาที่จะเพิ่มคุณภาพความคิด ความรู้ ความสามารถให้กับประชาชนในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมิใช่ดูแลนายทุนหรือกลุ่มอำมาตย์เพียงกลุ่มเดียว เราขอร่วมเดินต่อสู้เคียงข้างพี่น้องนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของพี่น้องนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ ด้วยจิตคารวะ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) 0 0 0 แถลงการณ์ กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ “ตราบใดที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ จะไม่มีการนำมหาวิทยาลัยใดๆออกนอกระบบเป็นอันขาด” เป็นคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งประกาศชัดเจนต่อหน้านักศึกษา แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) นายสุเมธ แย้มนุ่น ได้เผยยืนยันความพร้อมในการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งความจริงที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคือความรีบเร่งในการนำมหาวิทยาลัยทุกที่ในประเทศออกนอกระบบ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่สนใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ใช้แต่ชุดความคิดที่ฟังแล้วดูดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพของการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอีกทั้งมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ซึ่งคำถามสำคัญคือ รัฐไม่สามารถที่จะตอบสนองเรื่องการศึกษาได้ใช่หรือไม่ จนต้องปล่อยให้มหาวิทยาลัยบริหารควบคุมดูแลเองโดยกลุ่มผู้บริหารเพียงกลุ่มเดียว แต่หากมองความเป็นจริงที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งได้ติดตามและเฝ้าระวังการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบร่วมกันวิเคราะห์แล้วกลับพบว่า จะส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาโดยตรงและเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวอ้างทั้งสิ้น ทั้งด้านที่มาและความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย ดังนี้ 1. ด้านที่มา พบว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อความมีตัวตนของรัฐ เมื่อรัฐมีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของพลเมือง และหนึ่งในการทำให้รัฐมีความมั่นคงและความปลอดภัยคือพื้นฐานทางการศึกษาของพลเมือง หากปล่อยให้การศึกษาไร้การควบคุมโดยรัฐแล้ว จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติได้อย่างไร ประเทศอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยพลเมืองที่มีคุณภาพในประเทศ หากประเทศไร้ซึ่งพลเมืองที่มีคุณภาพทางการศึกษาแล้วประเทศคงล้มสลายมลายหายไป หรือเรียกได้ว่ารัฐอ่อนแอ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็เปรียบเสมือนการทำลายรัฐเพราะการศึกษาเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ สุดท้ายมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นโรงงานผลิตพลเมืองสำหรับป้อนเข้าสู่ระบบตลาดโรงงานไปในที่สุด 2. ด้านความชอบธรรม พบว่าในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นไม่ได้เป็นไปตามถ้อยคำที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำตามระเบียบขั้นตอน การนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ การร่างพระราชบัญญัติ การเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่ไม่มีการยึดโยงกับนักศึกษาเลย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แต่เป็นการตัดสินใจโดยคณะกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัยแต่เพียงกลุ่มเดียว ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงประสบอุทกภัยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ สกอ.มีการเสนอสอบถามความพร้อมในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ส่งเรื่องกลับไปให้ สกอ.ว่ามีความพร้อมในการออกนอกระบบ ทั้งๆที่ในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังประสบอุทกภัย ดังนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการทำประชาวิจารย์กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นประชากรกลุ่มมากในมหาวิทยาลัย จากสภาพดังกล่าวได้นำมาสู่ปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านความไม่เท่าเทียมของการศึกษา เนื่องด้วยการศึกษาไม่ได้คัดคนเข้าศึกษาที่ความสามารถแต่เป็นการคัดคนเข้าศึกษาโดยความรวย-ความจน ด้วยมีการเพิ่มค่าเทอม อันเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้ที่มีรายได้น้อยไปโดยปริยาย เช่นมหาวิทยาลัยบูรพาที่ออกนอกระบบไปในปี 50 คณะเภสัชศาสตร์ได้เพิ่มค่าเทอมแบบเหมาจ่าย กว่า 40,000 บาท ซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบ และปัญหาด้านความไม่โปรงใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการของผู้บริหารว่าเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใดต่อตัวนักศึกษาเอง จากสภาพปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยดังกล่าว กลุ่มนักศึกษาหลากมหาวิทยาลัยที่เฝ้าระวังและติดตามการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจึงได้ศึกษาร่วมกันถึงข้อดี-ข้อเสีย มีข้อเสนอต่อสังคมและผู้มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยทุกที่ออกนอกระบบ จนกว่าจะมีการศึกษาจากหลายๆ ฝ่ายว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรและร่วมกันหาทางออกสำหรับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้บริหาร ฝ่ายคณาจารย์และฝ่ายนักศึกษาและประชาชนผู้เสียภาษีให้กับรัฐ 2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อคนทั่วไปโดยเฉพาะนักศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด 3. ข้อให้มีการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในทุกขั้นตอนจากนักศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง หยุดการแปรรูปมหาวิทยาลัยบนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยจิตคารวะ 1.เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค 2.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) 3.กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4.เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5.เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไม่เอาม.นอกระบบ 6.กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7.กลุ่มปูกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 8.กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา 9.กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10.กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 11.ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง 12.กลุ่มประกายไฟ 13.กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 14.ชมรมฅนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยสารคาม 15.กลุ่มอาสากลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 16.กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 17.กลุ่มเพื่อนวันสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 18.ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา ม.ขอนแก่น 19.กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยสารคาม 20.ชมรมมหาวิทยาลัย-ชาวบ้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 21.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดอุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท