Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แถลงข่าวการโฆษณาในลักษณะแถมพก เสี่ยงโชค หรือให้ของแถม ผ่านสื่อของเครื่องดื่มชูกำลังผสมคาเฟอีนยี่ห้อต่างๆ จึงออกมาเรียกร้อง ให้ อย.มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจ และระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายโดยเด็ดขาด และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาปฏิบัติตามคำสั่งของ อย. อย่างเคร่งครัด ( http://goo.gl/yaA5q) ความจริง ถ้าดูส่วนผสมของเครื่องดื่มประเภทนี้แล้ว ก็ไม่อาจนับว่ามีอันตรายมากนัก และยังมีเครื่องดื่มอีกหลายชนิด ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเช่นเดียวกันอีกมาก เช่น ชาเขียว, กาแฟ, เครื่องดื่มพวกน้ำดำ (โคล่า), ชาจีน, ชาฝรั่ง, ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่เหตุที่เครื่องดื่มชนิดนี้ต้องถูกเข้มงวดด้านการโฆษณาอย่างมาก ก็เพราะความพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่า เป็นเครื่องดื่มที่ทำให้มีกำลังมาก ทำงานไม่เหนื่อย เลยถูกเพ่งเล็ง และถูกกำหนดให้มีข้อจำกัดด้านการโฆษณาหลายอย่าง เช่น ต้องมีฉลากห้ามดื่มเกินวันละสองขวด, ห้ามเด็กและสตรีมีครรถ์ดื่ม, ห้ามใช้พรีเซนเตอร์เป็นนักกีฬา , ห้ามส่งเสริมการขายโดยการชิงโชค, ห้ามให้ของแถม ฯลฯ ความจริง การเข้มงวดการโฆษณาแบบนี้เป็นสิ่งดี และควรจะขยายความเข้มงวดนี้ไปยังผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่มีลักษณะสร้างภาพลักษณ์เกินจริงด้วย เช่น การอ้างว่า เครื่องดื่มของตนมีวิตามิน B12 บำรุงสมองได้, อยากเป็นหมอ ต้องดื่มเครื่องดื่มยี่ห้อนี้, กาแฟลดความอ้วนที่ตอนออกอากาศในฟรีทีวีใช้เสียงค้อนทุบ ตอกซ่อมอ่างแทนบรรยายสรรพคุณ แต่ในวิทยุชุมชนหรือเคเบิลทีวี หรือตอนขายตรงบอกสรรพคุณที่เหลือเชื่อ อย่างโจ่งแจ้ง น้ำต้มไก่ ซึ่งเมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการแล้ว มีโปรตีนในซุปไก่ 1 ขวด เท่ากับโปรตีนใน ไข่ไก่ 1/2 ฟอง และโปรตีนในนมสด 1/3 กล่อง ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อพิจารณาสารอาหาร อื่นๆ โดยรวมแล้ว ในซุปไก่จะมีน้อยกว่าไข่ไก่ 1/2 ฟอง และนมสด 1/3 กล่องมากทีเดียว (http://goo.gl/SqicJ) ก็ถูกโฆษณาเหมือนของวิเศษ หรือรังนก ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์หาส่วนผสมของรังนกนางแอ่น พบว่า ประกอบด้วยโปรตีนร้อยละ 60.90 แคลเซียม ร้อยละ 0.85 น้ำร้อยละ5.11 โพแทสเซี่ยมร้อยละ 0.05 และฟอสฟอรัส ร้อยละ 0.03 รังนกสำเร็จรูปที่ขายตามท้องตลาดนั้น จะมีรังนก 1% น้ำตาลกรวดประมาณ 12% ซึ่งหากนำพลังงานนี้มาเทียบกับไข่ไก่ หรือนม จะเห็นได้ว่า รังนกสำเร็จรูปมีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟอง หรือประมาณ 1/3 ของนม 1 กล่อง ถ้าจะเทียบโปรตีน หากร่างกายต้องการโปรตีนที่มีอยู่ในไข่ 1 ฟอง จะต้องกินรังนกสำเร็จรูปถึง 26 ขวด หรือถ้าต้องการได้โปรตีนเท่ากับนม 1 กล่อง ต้องกินรังนก 34 ขวด หรือจะว่าไปแล้ว หากเรากินรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด ก็เท่ากับเราดื่มนมสด ½ ช้อนโต๊ะหรือถั่วลิสง 2 เม็ดเท่านั้น นั่นหมายความว่า รับประทานถั่ว 2 เม็ด แถมนมอีกครึ่งแก้วก็สามารถเป็นยาบำรุงกำลังได้มากกว่ากินรังนกสำเร็จรูป 1 ขวดหรือซด 1 ถ้วยใหญ่ ๆ เสียอีก (http://goo.gl/mQ6i6) นอกจากนี้ ยังมีอาหารและเครื่องดื่มชนิดแปลกๆ อีกมาก เช่น ผสมคอลลาเจนจากปลาน้ำลึก, ผสมน้ำลูกพรุน, ผสมชาเขียว, ผสมสารต้านอนุมูลอิสระ, ผสมคลอโรฟิลล์, ผสมเลือดจระเข้ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเครื่องดื่ม หรืออาหารเหล่านี้ แม้แต่ผมซึ่งเป็นแพทย์ ก็นึกไม่ค่อยออกว่า มันมีประโยชน์อย่างไร ตรงไหน ดังนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้มงวดการโฆษณา อาหารและเครื่องดื่ม เหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม อาหารและเครื่องดื่มที่เขียนถึงด้านบน ยังสำคัญน้อยกว่าอาหารและเครื่องดื่มที่มีอันตรายอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อาหารและเครื่องดื่มที่ว่าก็ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาล, เกลือโซเดียม, และไขมันมากเกินไปจะเป็นบ่อเกิดของโรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอย่างมาก อาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เช่น น้ำอัดลม, น้ำหวานชนิดต่างๆ รวมทั้งน้ำผลไม้ผสมน้ำตาล, หรือน้ำตาลผสมกลิ่นผลไม้, ขนมกรุบกรอบ, ขนมหวานจัด, ลูกอม ฯลฯ อาหารที่มีส่วนประกอบของ ไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิด Trans fat จำนวนมาก เช่นพวกเบเกอรี่ชนิดต่างๆ อาหารทอด กรุปกรอบต่างๆ อาหารที่มีเกลือโซเดียมชนิดต่างๆ มากเกินไป ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง), โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู), โมโนโซเดียมกลูตาเมต(ผงชูรส) โซเดียมเบนโซเอต(สารกันบูด) อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีอันตรายชัดเจนเหล่านี้ การโฆษณา น่าจะต้องมีมาตรการพิเศษ ความจริงก็มีความพยายามของคณะกรรมการอาหารและยา ที่แนะนำ ชักชวน ให้บรรดาอาหารต่างๆ แสดง”ฉลากโภชนาการ” ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน ดูเหมือนฉลากที่ว่านี้ จะไม่มีประโยชน์ในการแนะนำ ตักเตือน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เพราะ 1. ไม่ใช่มาตรการบังคับให้ต้องมีฉลากที่ว่า 2. ขนาดอักษรเล็กเกินไป 3. อ่านเข้าใจยาก แม้แต่ผู้เขียน ซึ่งเป็นแพทย์ ยังต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ในการหา ความรู้เรื่อง หน่วยบริโภค, จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ, ปริมาณแนะนำต่อวัน ฯลฯ 4. แม้จะอ่านเข้าใจ แต่การนำไปใช้ ยังต้องใช้องค์ความรู้อีกมาก เช่น อาหารชนิดนี้มี 300 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค, ใน 1 ภาชนะบรรจุ ประกอบด้วย 2 หน่วยบริโภค ถ้ารับประทาน 1 ภาชนะบรรจุ ใน 1 วัน ก็เท่ากับ 600 กิโลแคลอรี่ ผู้บริโภคที่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ อาจรู้สึกว่าไม่มาก แต่ในความเป็นจริง ถ้ารับประทานอาหารอีก 3 มื้อ ขนม และผลไม้อย่างอื่นอีก รวมแล้ว พลังงาน อาจเกินไปจำนวนมาก ในความเห็นของผู้เขียน ฉลากของบรรจุภัณฑ์ ต้องเห็นชัด และเข้าใจง่าย เช่น บังคับให้แจ้งที่บรรจุภัณฑ์ ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ เช่น “ผลิตภัณฑ์นี้ ประกอบด้วยไขมันชนิด” Trans fat” ในปริมาณสูง ไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก หรือติดต่อกันเป็นประจำ” อย่างนี้เป็นต้น นอกจากมาตรการบังคับฉลากแล้ว ควรต้องมีมาตรการอื่นร่วมด้วย เช่น ภาษีสรรพสามิต สำหรับนำมาใช้รักษาผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่เกิดโทษเหล่านี้, มาตรการห้ามโฆษณา และส่งเสริมการขายชนิดต่างๆ อย่างที่บังคับใช้กับ ”เครื่องดื่มชูกำลัง” เป็นต้น การโฆษณาอาหารและยา ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งอีกอย่างคือ “การหลอกลวง” หลังจากกรณี “น้ำหมักป้าเช็ง” ผ่านไป เรื่องก็เงียบ ใครที่เคยฟังวิทยุชุมชน,ทีวีดาวเทียม,หรืออ่านเว๊บทางอินเตอร์เนต ก็จะเห็นโฆษณาสมุนไพร อาหารเสริม ยาแผนโบราณ ที่สามารถรักษาโรคได้เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ผด ผื่นคัน ริดสีดวง ลดความอ้วน เพิ่มสมรรถนะทางเพศ ไปจนถึงอัมพฤกษ์, อัมพาต, ไตวาย, ตับแข็ง, มะเร็ง ฯลฯ บางรายถึงกับอ้างว่า มี อย.รับรองคุณภาพ ทั้งๆ ที่การได้เลข อย. มานั้น อย.รับรองเฉพาะส่วนผสม สถานที่ผลิต และระบบการผลิต เท่านั้น ไม่ได้รับรองสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ แต่อย่างใด อีกไม่นาน เราจะมีระบบ 3G และคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจะเพิ่มจำนวนวิทยุชุมชน,ทีวีดาวเทียม, และเว็บทางอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่า การโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว การจัดการกับการโฆษณาทั้งหลายดังกล่าวมาข้างต้น ลำพังคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่มีศักยภาพพอ ต้องเริ่มตั้งแต่นโยบายของคณะรัฐมนตรี, กฏหมายจากรัฐสภา, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.), คณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.), คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ( กบว.), สำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ( สช.),สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ รวมถึงองค์กรเอกชน (NGO) ต่างๆ ซึ่งผู้เขียนก็หวังอย่างยิ่งว่า หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นนี้ จะกระตือรือร้น ในการจัดการกับการโฆษณาที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net