การจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ: งานในส่วนนี้เป็นการสำรวจพรมแดนความรู้ของการจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ศึกษา อปท. ในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดจึงทำได้ในระดับหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการจัดการ ข้อจำกัด และแนวทางที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การศึกษานโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ อปท.และชุมชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน และการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้ได้รับความเมตตาจาก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร ที่ให้ความรู้ และโอกาสในการทำงาน ร่วมรับฟังการสัมนา และลงพื้นที่ในหลายๆ ที่ซึ่งทำให้เกิดความรู้ ความคิด และความเข้าใจต่อ อปท.อย่างมากมาย ขอบคุณ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ครูผู้กรุณาในหลายวาระ หลายโอกาส ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยอย่างเท่าเทียม ขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกๆท่านโดยเฉพาะพี่อร ที่เป็นธุระในหลายเรื่องให้ ชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน, รุ่งเกียรติ กิติวรรณ, ฟิวส์, ท็อป, แดน, ที่เป็นธุระในเรื่องต่างๆ ให้ อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องของงานชิ้นนี้ไม่ว่าเกิดจากปัจจัยใด ย่อมเป็นของผู้เขียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกริ่นนำ การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในรูปแบบสุขาภิบาล โดยให้ข้าราชการประจำเป็นผู้บริหาร เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา และให้สนองตอบต่อนโยบายส่วนกลาง การปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่การตั้งสุขาภิบาลในปี พ.ศ. 2440 สภาตำบล ในปี พ.ศ. 2499 องค์การบริหารส่วนตำบลในปี พ.ศ. 2537 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องความเป็นอิสระของท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญแก่การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้บัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวดที่ 9 ถึง 10 มาตรา ได้ทำให้เกิดกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีการเริ่มใช้แผนในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2545ตามลำดับ โดยปัจจุบันใช้แผนฯฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 (กอบกุล รายะนาคร,มปป. : 1,2) รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ได้รักษาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีการบัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด 14 ในมาตรา 281-290 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินนโยบายการบริหาร การจัดการบริหารสาธารณะ การบริหารบุคคล การเงินและการคลังได้ (กอบกุล รายะนาคร, มปป. : 3) โดยเฉพาะมาตรา 290 ให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1. การจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ 2. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน 3. การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ 4. การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 290 ) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ในมาตรา 66-72 ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ขององค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) ในมาตรา 67 จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก ให้มีการรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น ส่วนในมาตรา 16 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการบริการสาธารณะโดย อปท. มีหน้าที่ถึง 31 ด้าน เพื่อบริการแก่ประชาชน อย่างเช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง, การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย, การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การดูแลรักษาที่สาธารณะ เป็นต้น (รักษ์เกียรติ ศิริจันทรานนท์, 2551 : 10-11) จะเห็นว่า อปท. มีบทบาท และหน้าที่อย่างกว้างขวาง ในที่นี้มุ่งศึกษาเฉพาะการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการที่หลากหลาย อุปสรรคปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างและเหมือนกันตามสภาพภูมิประเทศและสังคม รวมถึงข้อจำกัดของกฎหมายเฉพาะอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 เป็นต้น ในที่นี้จะทำให้เห็นถึงรูปแบบวิธีการจัดการ ข้อจำกัด ของ อปท. ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1. การจัดการทรัพยากรน้ำของ อปท. น้ำ ถือว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะมีลักษณะสำคัญสองประการคือ ไม่มีคู่แข่งในการบริโภค (non-rivalin consumption) และไม่สามารถกีดกันการเข้าถึงโดยเด็ดขาด (non-excludability) แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสมบัติส่วนรวมจึงไม่สามารถกีดกันผู้อื่นเข้าใช้ประโยชน์ได้ ทำให้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ไม่สามารถกำหนดให้ใช้ในปริมาณมาก-น้อยได้ รวมถึงทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำในจากคุณสมบัติข้างต้น (จันทนา สุทธิจารี, 2539 : 2-3) การจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหน้าที่หนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับโอนมาจากส่วนกลาง นำมาสู่วิธีการจัดการที่แตกต่างกันของแต่ละ อปท. นำมาซึ่งปัญหาอุปสรรคในหลายมิติ การจัดการน้ำของ อปท. สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การจัดการโดย อปท. และ อปท. มีส่วนร่วมในการจัดการ 2. การจัดการโดยชาวบ้าน(ชุมชน)โดย อปท. มีบทบาทน้อย การจัดการโดย อปท. และ อปท. มีส่วนร่วมในการจัดการ การจัดการน้ำโดย อปท. ส่วนใหญ่จะพบว่ามีการจัดการในหลายรูปแบบ โดย อปท. จะอยู่ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดการทรัพยากรร่วมกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ เพราะ อปท. แต่ละแห่งแม้มีอำนาจ หน้าที่ที่ได้รับมาจากส่วนกลางแต่โดยศักยภาพขององค์กร บุคลากร งบประมาณ และองค์ความรู้ยังมีข้อจำกัดอยู่ อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค อปท. แต่ละแห่งได้สร้างมิติใหม่แก่การจัดการปัญหาและการใช้ทรัพยากรตามบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกันไป การจัดการทรัพยากรน้ำของ อปท. แยกออกเป็นสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก คือ อปท. เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดย อปท.ในที่นี้) คือ อบต. มักมีบทบาทเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม ลักษณะที่สองเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและแหล่งทุนเพราะ อบต. มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและใช้ทรัพยากร อบต. จึงเป็น “พื้นที่แห่งผลประโยชน์” ที่มีการแย่งชิงและครอบครองจึงถูกดึงดูดเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยและร่วมเสนอแนะแนวทางการจัดการรวมถึงมีงบประมาณในการจัดการจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ อปท.(อบต.) จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากร (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 136) แนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำของ อบต. แยกออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1. การใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ คือ การอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ได้รับโอนมา 2. การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ อำนาจอย่างไม่เป็นทางการนี้ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งสมาชิก อบต. นายก อบต. ต้องรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์ของตนกับชาวบ้าน ทำให้การแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรต้องเกิดความพึงพอใจของคู่ความขัดแย้ง (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 152-156) ดังกรณีต่อไปนี้ ลุ่มน้ำแม่ตาช้าง : ความร่วมมือข้ามแดนของ อบต. บ้านปง อบต. หนองควาย และ อบต. น้ำแพร่ อ. หางดง จ. เชียงใหม่ ปัญหาสำคัญของพื้นที่ อบต. ทั้ง 3 แห่ง คือ มีโรงงานเข้ามาใช้ประโยชน์จากน้ำแม่ตาช้าง โรงแรม รีสอร์ททำฝายกั้นน้ำกักน้ำไว้ใช้ ชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่สูงทำการเกษตรแบบเข้มข้น(ปลูกลิ้นจี่) ทำให้น้ำแม่ตาช้างแห้ง จากปัญหาข้างต้น อบต. ทั้ง 3 แห่ง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหากับชาวบ้านคือ 1. อบต. ทั้งสามแห่งได้ร่วมมือกันในการทำแผนพัฒนา อบต. 5 ปี (2545-2549) ให้สอดคล้องกัน ทั้ง 3 อบต. 2. อบต. หนองควาย และ อบต. บ้านปง ได้เปิดการเจรจาให้ชาวบ้านในสอง อบต. สร้าง ข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน 3. อบต.ทั้ง 3 แห่งได้จัดสรรงบประมาณ ขุดเจาะบ่อบาดาล ทำฝายกั้นน้ำ ปรับแต่งฝายที่มีอยู่ไม่ให้ส่วนที่สูงกว่าจนทำให้ผู้ที่อยู่ต่ำลงมาเดือดร้อน 4. เสาะหาแหล่งน้ำอื่นมาทดแทนการพึ่งพาแต่น้ำแม่ตาช้าง 5. การที่ชาวบ้านมองว่า อบต. เป็นตัวแทนของตนอย่างแท้จริงทำให้การทำงานของ อบต. เกิดประสิทธิภาพ 6. อบต. มีกฎหมายรองรับทำให้มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการ (ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :56) 7. อบต. อยู่ในฐานะตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างชาวบ้าน นักธุรกิจ และชาวม้ง (ธนัน,จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :58) 8. ชาวบ้านมีความคาดหวังว่า อบต. จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผล อย่างแท้จริง (นิศาชล ทองขาว, 2547 : 33) 9. อบต. มีบทบาทในการจัดการประชุมไกล่เกลี่ยปัญหารวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า การเดินสำรวจสายน้ำและผืนป่า และสร้างแนวกันไฟ เป็นต้น (นิศาชล ทองขาว, 2547 : 48) อย่างไรก็ตามแม้ว่า อบต. ทั้งสามแห่ง จะอาศัยกลไก และงบประมาณ ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแม่ตาช้างไปได้ในระดับหนึ่งแต่ปัญหาน้ำแม่ตาช้างก็ยังเรื้อรังอยู่ อบต. อยู่ในฐานะตัวกลางของความขัดแย้ง และเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา รวมถึงอุปสรรคปัญหาของ อบต. ที่ล่าช้าในช่วงแรกเกิดจาก 1. การจัดตั้ง อบต. ในช่วงแรกต้องอาศัยเวลาในการจัดตั้งองค์กร การสรรหาผู้บริหาร เลือก สมาชิก อบต. รวมถึงการเรียนรู้งานของบุคลากร สอดคล้องกับงานของ ชาญยุทธ เทพา(2550 : 136) ที่ชี้ให้เห็นว่าการจัดตั้ง อบต. ในส่วนแรกทำให้มีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การทำงานไม่มีเอกภาพ 2. บุคลากรของ อบต. มีจำกัด ในปี 2543 อบต.บ้านปง มีบุคลากร 9 คน อบต.หนองควาย มี 6 คน อบต. น้ำแพร่ มี 9 คน (ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :53) ซึ่งสอดคล้องกับงานของรักษ์เกียรติ ศิริจันทรานนท์ (2551: 42) ที่ศึกษา อบต. ในจังหวัดลำพูนก็พบปัญหาด้านบุคลากรเช่นเดียวกัน เพราะ อบต.รับภาระกิจจากการกระจายอำนาจมาจำนวนมาก 3. ปัญหาน้ำแม่ตาช้างเกิดขึ้นในบริเวณกว้างและอยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบของ อบต. ถึง 3 แห่งทำให้เกิดความซับซ้อนของปัญหา และพื้นที่ ไม่เกิดเอกภาพในการจัดการปัญหาของ อบต.ทั้ง 3 แห่ง ทำให้แก้ปัญหาได้ล่าช้า 4. อบต. ขาดแผนกลยุทธ์หรือสร้างเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งจากการใช้น้ำ ที่ผ่านมาใช้การประนีประนอมชะลอปัญหาเท่านั้น(ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :59) จะเห็นว่าการที่ อบต. ได้รับการกระจายอำนาจในการจัดการและควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อปท. มีด้านศักยภาพและขีดความสามารถในการจัดการปัญหาความขัดแย้งจากการใช้น้ำอยู่พอสมควร การจัดการทรัพยากรน้ำของ อบต. ทาปลาดุก อ. แม่ทา จ. ลำพูน อบต. ทาปลาดุก มีรูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำแตกต่างจาก อบต. อื่น เพราะไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรน้ำ จึงมุ่งสร้างระบบการกักเก็บน้ำ เพื่อใช้สอยในพื้นที่เพราะในเขต อบต. ทาปลาดุกมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ รูปแบบการจัดการ คือ 1. สนับสนุนการก่อสร้าง การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ลำห้วย และน้ำแม่ทา (เพื่อปรับปรุงแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม 2. สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง 3. สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำให้ได้ประโยชน์ในหมู่บ้าน 4. สนับสนุนการซ่อมแซมระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตร 5. สนับสนุนการก่อสร้างเตาเผาขยะชุมชน (เพื่อแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย 6. สนับสนุนการขุดลอกแม่น้ำทา (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 121) จะเห็นว่าจากแนวการจัดการของ อบต. หรือ อปท. มุ่งเน้นที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างเช่น อ่างเก็บน้ำ ฝายรางน้ำหรือริน เครื่องสูบน้ำ โครงการของ อบต. ทาปลาดุกเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงปี พ.ศ. 2548-2550 จำนวน 42 โครงการ ต้องใช้งบประมาณถึง 187,336,800 บาท โครงการเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น (กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน) เป็นจำนวนงบถึง 187,150,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.90 ใช้งบประมาณในท้องถิ่นเพียง 186,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.10 (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 127) สอดคล้องกับงานของมณีภัทร เพชรคำ (2551 : 120) และ แพรว ตรีรัตน์ (2551: 50) ที่ชี้ให้เห็นว่า อบต. ดอยแก้ว และ อบต. บ้านต๋อม (อ.เมือง จ.พะเยา) ก็มุ่งสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ บางครั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับ อบต. เช่น นโยบายการจัดการด้านทรัพยากรน้ำของ อบต. บ้านต๋อม เช่น สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ดูแลและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ สนับสนุนส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในครัวเรือนโดยการจัดทำหลุมซึมบำบัดน้ำเสียทุกครัวเรือน จัดให้มีการสร้างฝาย สร้างอาคารแบ่งน้ำ ขุดลอกลำเหมือง ดาดคอนกรีตลำเหมืองและคลองส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร จัดให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น อาคารแบ่งน้ำ ดานคอนกรีตลำเหมือง คลองส่งน้ำ และสร้างทำนบเก็บกักน้ำไว้ใช้การเกษตรได้ตลอดปี (แพรว ตรีรัตน์, 2551: 50) จะเห็นว่าจากนโยบายข้างต้นยากที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณหรือความไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น การทำที่บำบัดน้ำเสียรวมถึงนโยบายที่เป็นนามธรรม เป็นต้น นอกจากนี้การมุ่งสร้างระบบกักเก็บและระบายน้ำขนาดใหญ่ ดังกรณีของ อบต.ทาปลาดุก ตามแผนงบประมาณ ต้องอาศัยงบประมาณจากภายนอกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ อบต. อาศัยงบประมาณของ อบต. เพียง 186,000 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในท้ายที่สุดโครงการทั้งหมดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 127 และ 131) และยังพบว่า อบต. ให้ความสำคัญกับแผนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลำดับท้ายสุด จัดงบประมาณสนับสนุนในจำนวนที่จำกัดดังพบใน อบต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 86) พบว่าบทบาทการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำระหว่างชุมชนและอบต. ซึ่ง อบต. มีบทบาทน้อยมาก (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 58-60) รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำบางส่วนไม่ยอมรับอำนาจการจัดการแก้ไขปัญหาของ อบต. ซึ่งเป็นองค์กรขนาดเล็ก ไม่มีอำนาจตัดสินใจ รวมถึงองค์กรภาคประชาชนเรียนรู้การต่อรองกับองค์กรภาครัฐขนาดใหญ่ อบต. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น อำนาจตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ อบต. ก็มีความทับซ้อนกันทำให้ไม่มีผู้รับเป็น “เจ้าภาพ” รวมถึงปัญหาทรัพยากรน้ำก็มีอาณาบริเวณที่กว้างขวางมากกว่าหนึ่ง อบต. ทำให้การจัดการขาดเอกภาพ อบต. จึงไม่มีศักยภาพและบทบาทมากนักในการจัดการน้ำ(ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 82-83 ดู,สุวารี วงศ์กองแก้ว : 2540, ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 144 และ ภูเบศร์ จักรสมศักดิ์, 2546 : 70) ฉะนั้นในที่นี้เราจะเห็นว่า อปท. มีบทบาทมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละพื้นที่ การจัดการทรัพยากรน้ำ อปท. ส่วนใหญ่จะมุ่งสนใจการสร้างระบบกักเก็บและระบายน้ำขนาดใหญ่มากกว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อปท. มีบทบาทเป็นเพียงตัวกลางในการจัดการทรัพยากรน้ำมากกว่าที่เป็นผู้มีบทบาทหลักซึ่งเกิดจากข้อจำกัดในหลายๆด้านดังที่กล่าวไว้ข้างต้น (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 147) การจัดการทรัพยากรน้ำโดยชาวบ้าน(ชุมชน) โดย อปท. มีบทบาทน้อยมาก อดีตการจัดการ “น้ำ” อยู่ในความควบคุมของคนในชุมชนโดยเฉพาะภาคเหนือมีระบบ “เหมืองฝาย” ดังปรากฏมาถึงปัจจุบัน เช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำ ชุมชนหรือคนที่ใช้น้ำในลำน้ำเดียวกัน หรือฝายเดียวกันจะทำการเลือก “แก่ฝาย” หรือหัวหน้าเหมืองฝายจากผู้ที่ใช้น้ำฝายเดียวกันคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ดูแลการจัดการน้ำ ซึ่งมักเลือกจากผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายน้ำหรือปลายฝาย เพื่อจัดการน้ำให้เท่าเทียมระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำ เหมืองฝายแต่ละแห่งจะมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันแล้วแต่สภาพชุมชนซึ่งจะมีความยืดหยุ่นสูงในท้องถิ่น ระบบเหมืองฝายจะมีการทำ “เหมืองซอย” ขนาดเล็กต่อจากเหมืองขนาดใหญ่เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรและที่พักอาศัย เหมืองซอยขนาดเล็กนี้จะมีข้อกำหนดว่าพื้นที่แต่ละแห่งจะสามารถใช้น้ำได้เท่าไหร่และคนที่ใช้น้ำทุกคนจะเป็นเจ้าของเหมืองร่วมกันถือว่า “เหมือง” เป็นพื้นที่สาธารณะห้ามบุกรุก ถม หรือทำลายเหมืองฝาย ใครที่บุกรุกถือว่า “ขึด” ในแง่จารีตประเพณี และผิดกฎข้อบังคับต้องโดน “ปรับ” ตามระเบียบที่ตั้งไว้ นอกจากนี้คนที่ใช้น้ำทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลเหมืองฝาย ถ้าผู้ใดไม่ดูแล เช่น ถึงฤดูตีฝายหรือ “ล้องเหมือง” ไม่ไปขุดลอกเหมือง คนผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ใช้น้ำ ถ้าไม่ไปก็ต้องจ้างผู้อื่นทำแทน ซึ่งไม่ต้องเสียค่าปรับ หรือค่าตอบแทนอย่างอื่น เป็นต้น จะเห็นว่าการจัดการทรัพยากรน้ำก่อนการมาของรัฐ อยู่ในรูปของ “ทรัพยากรร่วม” ที่ทุกคนเข้าถึงและเป็นเจ้าของ ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด (มณีภัทร เพชรคำ, 251 : 112-115, วันวิสาข์ สมควร, 2548 : 182-185, ดวงพร ภู่แก้ว, 2548 : 69-70 และ 77-78 และ เบญจภา ชุติมา, 2546, 42-50 ) การจัดการน้ำโดยชาวบ้านสามารถจำแนกรูปแบบออกเป็น 1. การจัดแบ่งการใช้น้ำเป็นรอบเวรหรือหมุนเวียนกัน โดยแบ่งผู้ใช้น้ำออกเป็นหมวดๆละ 3 วัน เกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำใช้ก่อนแล้วเรียงลำดับไปจนถึงหมวดสุดท้ายแล้วเวียนใหม่ จะทำให้ทุกคนสามารถใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง 2. มีการแบ่งน้ำตามความต้องการของเกษตรกร ประเภทกิจกรรมการเกษตรและพื้นที่การเกษตร ผู้ที่มีพื้นที่มากใช้น้ำมาก ผู้มีพื้นที่น้อยใช้น้ำน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเพาะปลูก ในที่นี้ผู้ที่ต้องการใช้น้ำเพิ่มก็สามารถขอได้ 3. การใช้น้ำให้เหมาะสมกับชนิดของพืชเพราะพืชบางชนิดใช้น้ำมาก เช่น การทำนาปลูกข้าว สวนลำไย แต่การทำพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลืองใช้น้ำน้อยกว่า 4. การใช้น้ำของเกษตรกรจะมีหัวหน้าหมวดตรวจตราดูแลรักษาและป้องกันการลักขโมยน้ำ ผู้ดูแลการใช้น้ำของชาวบ้านจะเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการแต่เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจหรือมีบารมี บางครั้งอาจเป็นผู้นำที่เป็นทางการในขณะเดียวกันด้วย เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ ส.อบต. ก็ได้ 5. มีกฎระเบียบควบคุมการใช้น้ำและลงโทษผู้กระทำผิดของกลุ่ม เช่น ถ้าผู้ใช้น้ำทำผิดกฎปรับ 500 บาท ถ้าหมวดทำผิดปรับ 1,000 บาท 6. เกษตรกรมีส่วนรับผิดชอบต่อการใช้น้ำของตนเอง เช่น ต้องคอยดูแลรักษาลำเหมืองไม่ให้ตื้นเขิน ช่วยกันควบคุมผู้ใช้น้ำในหมวดเดียวกันหรือฝายเดียวกันไม่ให้ทำผิดกฎ เป็นต้น (อาภากร ว่องเขต, 2545 : 108-110) การจัดการน้ำโดยชาวบ้านอาศัยความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการในชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ รวมถึงชาวบ้านทุกคนที่ใช้น้ำในเหมืองฝายเดียวกันมีความ “เป็นเจ้าของ” ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐที่ผู้ใช้น้ำไม่มีสิทธิหรือความเป็นเจ้าของเป็นแต่ผู้ใช้ประโยชน์จึงไม่มีผู้ดูแลรักษา เราจะเห็นว่าอะไรที่เป็นของรัฐมักมีแต่ผู้เข้าใช้ประโยชน์แต่ไม่มีผู้ดูแล การจัดการบริหารน้ำโดยชาวบ้านหรือภาคประชาชน นอกจากอาศัยรูปแบบที่ไม่เป็นทางการยังมีการประยุกต์วิธีการสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการจัดการ เช่น มีการตั้งกฎเกณฑ์กติการวมถึงการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมการใช้น้ำ และเห็นได้ว่าการจัดการโดยชาวบ้านประสบผลสำเร็จและมีปัญหาน้อยกว่าการจัดการโดยรัฐ หรือ อปท. เพราะชาวบ้านใช้ประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและระบบอาวุโสในการจัดการปัญหาข้อพิพาท (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 84-85) แม้ว่าในภายหลังกระทรวงมหาดไทยจะมีแนวคิดตั้ง “ประชาคม” เพื่อให้เป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อหาแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน ประชาคมจะประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายบริหาร เช่น ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลประจำหมู่บ้าน 2 คน และตัวแทนกรรมการหมู่บ้าน 3 คน ตัวแทนฝ่ายประชาชน เช่น ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน พระภิกษุ เป็นต้น ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการน้ำ (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 140-141) แต่ประสบปัญหาว่าผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการไม่ได้เป็นผู้ใช้น้ำโดยตรงไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเน้นบทบาทของผู้นำที่เป็นทางการมากจนเกินไปทำให้ประชาคมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากองค์กรดั้งเดิมที่เข้ามาจัดการน้ำแล้วภาคองค์กรเอกชนก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ รวมถึงนำเทคนิควิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการน้ำ รวมถึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการรณรงค์ในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ท้ายสุดจะเห็นได้ว่าการจัดการทรัพยากรน้ำโดย อปท. มีปัญหาอุปสรรคในหลายๆ กรณีแม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่ขาดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และงบประมาณ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงข้อกฎหมายที่มีความเหลื่อมซ้อนในอำนาจหน้าที่ขององค์กรรัฐภาคต่างๆทำให้ อปท. ไม่กล้าตัดสินใจ (วันวิสาข์ สมควร, 2548 : 171-177 และ โชติมา เพชรเอม, 2550 : 57 ) แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมักเป็นแผนงานสุดท้าย มีงบประมาณสนับสนุนน้อยมากทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนบทบาทด้านการจัดการทรัพยากรได้ มุ่งสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น ฝาย อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ ส่วนใหญ่มักจะลอยตัวเหนือปัญหา เป็นได้แต่เพียงตัวกลางในการจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่มี อปท. ไหนที่มีบทบาทเด่นในการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งแตกต่างจากภาคประชาชนที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในรูปแบบระบบเหมืองฝายที่อาศัยภูมิปัญญา และความสัมพันธ์ส่วนตัวในการจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนก็มีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาสร้างองค์ความรู้ในการจัดการน้ำ ในที่นี้ อปท. ต้องศึกษาและเรียนรู้ร่วมมือกับองค์กรนอกภาคราชการเหล่านี้เพื่อที่จะสามารถเป็นองค์กรหลักในการจัดการทรัพยากรน้ำต่อไปในอนาคตตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจเพราะ อปท. เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น ................. แหล่งอ้างอิง กอบกุล รายะนาคร. องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น : สถานภาพ และช่องว่างการศึกษา. เชียงใหม่ : สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. โกวิทย์ พวงงาม. การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546. _______. การจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2553. ชัยพงษ์ สำเนียง. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554, (อัดสำเนา). ชาญยุทธ เทพา. พื้นที่ทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดการความขัดแย้ง ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำย่อยแม่ศึก ในตำบลปางหินฝน ตำบลแม่ศึก และตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. โชติมา เพชรเอม. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้านสบวิน ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์. ศักยภาพและข้อจำกัดขององค์การบริหารส่วนตำบลทาปลาดุกในการจัดการ ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำทา จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. ดวงพร ภู่แก้ว. การจัดการทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาบ้านปงไคร้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. นโยบายการคลังสาธารณะ. เชียงใหม่ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553. ธนกร คำมาเร็ว. การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลช่างเคิ่งกับภาคประชา สังคมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552. ธนัน อนุมานราชธน, จันทนา สุทธิจารี และไพสิฐ พาณิชย์กุ. แนวทางการจัดการความขัดแย้ง เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตอำนาจขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2549. ______. สถานภาพและทิศทางการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในอนาคต : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544. นิธิ เอียวศรีวงศ์. วัฒนธรรมความจน. กรุงเทพฯ : แพรว, 2541. ______. เชิงอรรถสังคมไทยในสายตานักวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2532. ______. บนหนทางสู่อนาคต : รายงานประกอบการประชุม. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536. นิศาชล ทองขาว. การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการ ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่ตาช้าง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547. เบญจภา ชุติมา. การจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ของเกษตรกรลุ่มน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546. พิมลพรรณ สะกิดรัมย์. ความเป็นพลวัตของประชาคมน่านกับการจัดการความขัดแย้งด้าน ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำขุนสมุน อำเภอเมืองน่าน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. แพรว ตรีรัตน์. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ กรณีศึกษา ตำบลบ้าน ต๋อม อำเภอเมือง จังพะเยา. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. มณี เพชรคำ. ความขัดแย้งเรื่องน้ำจากการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างเข้ม : กรณีศึกษาชุมชน ในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ. แนวทางนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2544. ภูเบศร์ จักรสมศักดิ์. การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำของตำบลสถานอำเภอเชียงของ จังหวัด เชียงราย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. วรัญญา ศิริอุดม. การใช้ประโยชน์และการจัดการป่าน้ำซับของชุมชนในลุ่มน้ำหนองหอย ตอนบน ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. วันวิสาข์ สมควร. ผลกระทบของการผลิตและการใช้ที่ดินอย่างเข้มต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาบ้านช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548. วิชัย กิจมี. กระบวนการเรียนรู้กับศักยภาพของชุมชนในการจัดการที่ดินร่วมกันในลุ่มน้ำลี้ จังหวัดลำพูน.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. สุวารี วงศ์กองแก้ว. ความขัดแย้งอันเกิดจากการจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐ : กรณีศึกษาอ่างเก็บ น้ำแม่สาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540. อาภากร ว่องเขต. มิติทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท