Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นใด ผมต้องขอกล่าวชื่นชมภาษาที่หมดจด งดงาม และชัดเจนในการสื่อความของคุณปราบดาในบทความชิ้นดังกล่าวนี้ (แม้ผมจะต้องขอสารภาพว่า ผมไม่ใช่แฟนหนังสือตัวยงของคุณปราบดานักก็ตาม) และผมก็ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับ พื้นฐานจุดยืนทางความคิด ของคุณปราบดา

กระนั้น ผมมีประเด็นที่เห็นว่าสมควรแก่การแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง (หากคุณจะมีโอกาสได้ผ่านมาเห็นโน้ตชิ้นนี้) แม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในตัวบทความ แต่ผมคิดว่าในระดับหนึ่งมันสะท้อนถึง "ปัญหาในการมองปัญหา" ของบทความที่ว่า ผมมีประเด็นแลกเปลี่ยนดังนี้

1. ความเป็นไปได้ในการแยก "สังคมเผด็จการ" กับ "สังคมลิทธิ"

ในตัวบทความของคุณปราบดา แน่นอนว่ามีการพยายามจะแสดงให้เห็น ถึง "ความต่าง" ในแง่ characteristic ของ "สังคมทั้ง 2 ประเภท" ที่ว่ามานี้ ซึ่งหากเราสรุปแบบง่ายที่สุด (ขออภัยหากเป็นการ over-simplified) คือ สังคมแบบเผด็จการจะเน้นที่การปกครองด้วยความกลัว ด้วยพลานุภาพของรัฐ ในขณะที่สังคมแบบลัทธิจะปกครองผ่านพลังอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจของภาษา และการครอบงำกระบวนการคิด และคุณปราบดายังได้เน้นเพิ่มต่อไปอีกว่า สังคมเผด็จการนั้นมีฟังก์ชั่นในการทำงานหลกผูกติดอยู่กับตัว "ผู้นำ" ในขณะที่สังคมแบบลัทธิฟังก์ชั่นการทำงานมกจะผูกติดอยู่กับตัว "สังคม"

คำถามของผมมันก็แบบง่ายๆ ซื่อๆ ประสาคนบื้อๆ คนหนึ่งนี่แหละครับว่า "สุดท้ายแล้วมันสามารถแบ่งแยกได้อย่างที่ว่าจริงหรือ"? 

เราสามารถแยก "ความกลัว (fear)" ออกจาก "ความรัก (love)"/"ความร่วมมือ (trust)" ได้จริงๆ ล่ะหรือ?

ผม คิดว่ามันทำไม่ได้หรอกครับ เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่ในบทความของคุณปราบดาเอง คุณก็ยังไม่สามารถ "หาพบ" ได้เลย แม้แต่เกาหลีเหนือ ที่นำมายกเป็นตัวอย่างในบทความเองนั้น ก็ถูกนำเสนอในฐานะสังคมที่ผสม (blend) ระหว่างสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน (และด้วยความเคารพ...นี่เค้าเรียก "ความเป็นไปได้แบบที่ 3" ครับ ฉะนั้นด้วยตัวบทความเองที่บอกว่ามีสังคมเพียงสองประเภทที่ดูจะเป็นไปได้ ก็ออกจะผิดอยู่)

ในสังคมเกาหลีเหนือนั้น เราไม่อาจจะปฏิเสธได้โดยง่ายหรอกว่า "ความรัก"/"ความร่วมมือ" ที่มีต่อตัว "ท่านผู้นำ" นั้น ไม่ได้มีเบื้องหลังของการคงอยู่ของพวกมัน มาจาก "ความกลัว"

และ หากจะพูดในแง่นี้แล้ว ในสังคมแทบจะทุกระบบในโลกก็ "รักกัน" บนพื้นฐานของ "ความกลัว" ต่อบางสิ่งทั้งสิ้น (เพราะเรา "กลัว" ว่าจะต้องตายเพราะคิดต่างจาก "ผู้มีอำนาจ/อำนาจนำในสังคม" ไม่ใช่หรอกหรือ จึงร่วมมือกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพื่อตอบสนองความกลัวของเรา ให้ต่อไปสามารถ "เห็นต่างได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน")

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่เป็นปัญหาในการมองปัญหาอย่างแรก ของคุณปราบดา คือผมเองเห็นด้วยว่า "ระบอบเผด็จการ" (จะทางกายภาพ หรือทางความคิด จิตใจอะไรก็ตามแต่) นั้นเป็นปัญหา แต่ปัญหาของคุณนั้นคือการมองส่วนที่ไม่ได้เป็นปัญหาของตัวปัญหานั้นๆ หรือเปล่า?

ที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าผมจะต้องการพูดว่าเผด็จการไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง (มันเป็นปัญหาแน่นอน) ซึ่งผมเห็นตรงกับคุณปราบดาในแง่นี้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คุณปราบดาพยายามจะ "แยก" มัน (เป็นประเภท) ฉะนั้นคุณปราบดาก็จะต้องหาลักษณะพิเศษจำเพาะ (differentia specifica) ของระบอบเผด็จการออกมาเพื่อ "แยกมัน" ออกจาก "สิ่งอื่นๆ" ซึ่งผมเห็นว่าฟังก์ชั่นของการใช้ความกลัว ไม่ใช่ลักษณะจำเพาะใดๆ เลย

ดู อีกตัวอย่างเพิ่มก็ได้ครับ อย่างฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ในสหภาพยุโรปนั้น ก็แน่นอนว่าเป็นประเทศใหญ ที่สำคัญของสหภาพยุโรป ตัวสหภาพเองก็ "กลัวการไม่ให้ความร่วมมือของสองประเทศนี้" และสองประเทศนี้เองก็ทราบถึง "ความกลัว" ที่รัฐสมาชิกอื่นมีต่อพวกตน" ทั้งสองรัฐนี้ก็บริหารความกลัวเช่นเดียวกัน แต่ก็คงจะตลกอยู่หากจะบอกว่าสองประเทศนี้เป็นเผด็จการเพราะบริหารความกล้ว

และ (อีกครั้งหนึ่ง) คุณสามารถ "แยก" สังคมออกเป็น 2 ประเภท ได้อย่างที่ว่า "ตั้งแต่ตอนไหน?"

ตั้งแต่ตอนไหนที่เผด็จการไม่ใช่ลัทธิ, ตั้งแต่ตอนไหนที่ความกลัว กับความรัก/ความร่วมมือ ถูกตัดขาดออกจากกัน?

2. ว่าด้วยการถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ

ตอนแรกที่ผมอ่านเจอข้อความส่วน นี้ของคุณปราบดา ผมก็เกือบจะเห็นด้วย แต่พอมาลองคิดอีกที ผมเห็นว่าไม่น่าจะใช่ ไม่น่าจะเป็นการวาง (address) ตำแหน่งแห่งที่ของปัญหาอย่างตรงประเด็นนัก เอาจริงๆ จะว่าส่วนนี้คุณปราบดาพูดมาไม่ถูก เลยก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก แต่ผมคิดว่า "การถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ" ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่ง (และทางเลือกสุดท้าย) ของเหล่าผู้นิยมเจ้าเสียมากกว่า 

สิ่งที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นโดยเป็นวงกว้างมากกว่านั้น ดูจะเป็น "การถอดถอนความเป็นไปได้ในการคิด ด้วยกรอบตรรกะอันเป็นไปได้แบบอื่นๆ ออกไป" เสียมากกว่า คือไม่ใช่การถอดทิ้งยกเครื่องอะไรอย่างที่คุณปราบดาว่ามา แต่เหลือเพียงทางเลือกในการคิด การมองแบบเดียวไว้ให้ต่างหาก

ผมมองว่าแบบนี้อาจจะน่ากลัวเสียยิ่งกว่าการถอดสมองส่วนการคิดอย่างเป็นตรรกะทิ้งทั้งกะบิเสียอีก เพราะหากเค้าถอดทิ้ง เค้าก็คงจะทำเพียงอย่างที่คุณปราบดาว่ามาคือ การยัดใส่ความเชื่อว่า "กฏระเบียบและคำสอนของลิทธิย่อมถูกต้องหมดจด" แล้วก็จบไป แต่การเหลือสมองส่วนตรรกะไว้ แต่ทำลายความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ มันอนุญาติให้เกิดการพัฒนาที่น่ากลัวได้ เกิดเป็น Hyper-Nationalist คือเป็นพวกบ้าคลั่งชาตินิยมยิ่งกว่าตัวหลวงวิจิตรที่คนเหล่านี้สมาทานตัวเป็นสานุศิษย์เองเสียอีก หรือการเป็น Hyper-Royalist ที่ดูจะคลั่งเจ้าเสียยิ่งกว่าตัวราชสำนักคลั่งไคล้ในตัวเสียอีก ผมมองว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และนั่นน่ากลัวกว่าการถอดสมองทิ้งไปทั้งรากทั้งโคนนัก

ทางเลือกการถอดสมองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตรรกะชุดดังกล่าวที่ได้รับการอนุญาตให้เป็นตรรกะชุดทางการ (Official Logic) เจอหนทางตันในการโต้แย้ง...การถอดสมองตัวเองทิ้ง เสมือนการสละเครื่องบินชนเรือรบก็จะเกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพงพัฒษ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งก็จะถูกโปรแกรมให้พูดตอบได้เพียง "ไม่รักพ่อ มึงก็ไปหาบ้านอื่นอยู่" (เป็นโปรแกรมการตอบโต้ที่โง่เง่าเสียยิ่งกว่าคุณสิริในไอโฟน 4 เอส)

3. สมาชิกในสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ คือคนที่เชื่อว่าสังคมของตนเป็นสังคมประชาธิปไตย และยังคงมีพื้นที่ของเสรีภาพอยู่...หรือครับ?

ผมคิดว่าข้อความแนวนี้ ที่พยายามโน้มนาว (Encourage) ให้คนออกมาสู้ของคุณปราบดานั้น แม้จะมีจุดประสงค์ทางความคิดที่ดีมาก และน่านับถือ แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ผิดชนิดกลับหัวกลับหางกันเลยทีเดียว

"คนที่ออกมาสู้มันคือคนที่เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตย อย่างที่เคยถูกหลอกให้เชื่อเลยนี่หว่า" ตรงกันข้าม คนที่ยังนิ่งเฉย เปรมปรีไปวันๆ นั้นต่างหากที่ยังหลงงมกับคติตามตรรกะชุดทางการว่า "เราเสรี, มีประชาธิปไตย"

คน ที่ลุกขึ้นมาคือคนที่ "เชื่อว่าเราควรจะมีประชาธิปไตย (ที่เรายังไม่มี)" ในขณะที่คนซึ่งกำลังนั่ง "จับเจ่าอยู่ในห้องของตน" (หากพูดด้วยภาษาแบบคุณ) นั้นต่างหากครับคือ คนที่ไม่เคยจะลองชะโงกคิด ตะแคงถามอะไร แล้วเชื่ออย่างแน่นิ่งว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย

คนที่ออกมาจากห้อง ผมมองว่าคือคนที่มองเห็นปัญหาว่า ประชาธิปไตย กับการฆ่าคนที่เห็นต่างไป 91 ศพ "มันเป็นไปไม่ได้...ไปด้วยกันไม่ได้" ฉะนั้นคนเหล่านั้นไม่ได้มองว่าเรามีเสรีอยู่ จึงออกมาสู้ แต่เห็นว่าเราไม่มีเสรี จึงต้องสู้เพื่อให้ได้เสรีนั้นมาครองต่างหากครับ

4. (สุดท้าย) ประเทศไทยไม่ได้เป็นเผด็จการสุดโต่ง...

ประเด็นนี้เป็นประเด็นเล็กๆ ยิบย่อย (อาจจะเรียกว่าหยุมหยิมก็ได้) แต่ผมคิดว่ามันสื่อถึงการปัญหาในการมองปัญหาของคุณปราบดาด้วยเช่นกัน จากที่คุณปราบดายกตัวอย่างเรื่องเกาหลีเหนือ แล้วก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปแบบสุดโต่งของเกาหลีเหนือ แล้วมานำเสนอว่าเราก็เป็นในลักษณะ เดียวกัน แต่ในระดับ (degree) ที่แตกต่างกัน เรา "ยังคงห่างไกลจากความสุดโต่ง" แบบนั้น เรายังมีอิสระในการดำรงชีวิต จับจ่ายใช้สอย เที่ยวเล่น ฯลฯ 

แน่นอนครับว่าผมเห็นด้วยว่าประเทศไทยอยู่คนละระดับกับเกาหลีเหนือ (แม้จะยืนบนเส้นทางเดียวกันใน หลายส่วน) แต่การ address ปัญหาว่าเรามีเสรีภาพมากกว่า เพราะเราจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย เที่ยวสนุกได้ทั่ว ฯลฯ นั้น ดูจะทำให้ผมกระอักกระอ่วนความรู้สึกอยู่บ้าง แน่นอน ว่า "สิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ" นั้นย่อมนับว่าเป็น สิทธิเสรีภาพได้ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะพบประเทศอย่างจีน, ซาอุดิอาระเบีย, ฯลฯ ที่ความเจริญทางวัตถุเจริญงอกงาม (ในหลายๆ แง่ มากกว่าประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ) การเดินทางท่องเที่ยว, การจับจ่ายใช้สอย, ฯลฯ

แต่ผมเองยังไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาลดทอนความ "สุดโต่ง (radical)" ความความไร้ซึ่งมนุษยธรรม และประชาธิปไตยในรัฐเหล่านี้ได้กระมัง โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบีย ที่ขึ้นแท่น 1/10 ประเทศที่ไร็ซึ่งมนุษยธรรมที่สุดในโลกแน่ๆ มีการประหารคนกลางที่สาธารณะเกิดขึ้น กษัตริย์ปกครองอย่างเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ฯลฯ สิ่งเดียวที่ทำให้มันไม่ถูกประณามโดยชาวโลกหนักหนาเท่ากับอิหร่าน ก็คงเพียงเพราะการร่วมสังวาสทางการเมือง (political intercourse) กับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายกระมัง

คำถามคือ ความเจริญ และเข้าถึงทางวัตถุดังที่คุณปราบดาว่ามา มันใช้เป็นตัวชี้วัดอะไรกับความ "ไม่สุดโต่ง" ได้จริงๆ ล่ะหรือ? หากได้ ซาอุดิอาระเบียนี่ "ไม่สุดโต่ง" ด้วยหรือเปล่า?

และที่ผมว่าน่าตลกไปกว่านั้นสำหรับ ประเทศไทยคือ การสามารถเลือกแสดง "ความสุดโต่ง" ใส่คนบางกลุ่มได้ โดยละที่จะแสดงออกต่อคน "อีกกลุ่ม" ทั้งๆ ที่กระทำการเรื่องเดียวกันต่างหากที่เป็นความสุดโต่งของความสุดโต่งในรูปแบบหนึ่ง คือ เลือกและควบคุมความสุดโต่งได้อย่างไม่ต่างจากมือเท้าของตน

 

สามารถอ่านบทความของคุณปราบดา หยุ่น ได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/12/38507

---------------------------------------------

ปล. ผมเองเขียนโน๊ตนี้ขึ้น เพียงแค่หวังว่าจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่าง (จากคนกลุ่มใหญ่) ด้วยกัน ซึ่งผมเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า การที่พวกเดียวกันเขียนอะไรออกมาแล้วก็อวยตามกันไปหมด ทั้งนี้ผมยังคงขอชื่นชมในจุดยืนทางความคิด และความตั้งใจของคุณปราบดา ที่ได้เขียนบทความชิ้นที่ว่านั้นขึ้นมาอย่างยิ่งครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net