เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

ปีใหม่ ‘ประชาไท’ ชวนคุยเบาๆ กับคนในแวดวงสื่อมวลชน ปราบต์ บุนปาน ผู้บริหารเลือดใหม่แห่งมติชนออนไลน์ สื่อกระแสหลักที่มีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในโลกไซเบอร์ อย่างน้อย เพื่อสรุปหมุดหมายของสื่อมวลชนไทยในปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในปีหน้า

ในฐานะคนทำสื่อ ปราบต์ตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจพอเป็นข้อสรุปแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ นั่นก็คือ ความหมาย ความเชื่อของสื่อมวลชนยุคเก่าที่ว่าสื่อต้องก้าวนำสังคมหนึ่งก้าว ตอนนี้ดูเหมือนมันสลับกลับข้างกันไปหมดเสียแล้ว

“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สื่อมันเลยต้องเปลี่ยนตาม แต่ถ้าสังคมอยู่นิ่งๆ แล้วจะให้สื่อเปลี่ยนก่อน ไม่แน่ใจว่าสื่อจะกล้าเปลี่ยนก่อนไหม”

0 0 0 0 0 0

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

ปีที่แล้วโดยภาพรวม สื่อทำหน้าที่ได้ดีไหม น่าพอใจไหม

อันนี้คงต้องดูภาพย่อยเป็นแต่ละสำนักไป และมันขึ้นอยู่กับจุดยืน มุมมองของเราด้วย ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีสื่อบางสำนักที่ไม่ดีเลย หรือมีบางสำนักที่น่าสนใจ แต่ภาพรวมถามว่าน่าพอใจไหมก็น่าพอใจระดับหนึ่ง ในแง่ที่ว่าปัจจุบันข้อถกเถียงในเชิงคุณค่าที่แตกต่างกันในสังคมมันเริ่มมี พื้นที่ในสื่อ แน่นอน สื่อกระแสหลักอาจจะมีน้อยหน่อย หรือสื่อกระแสหลักแต่ละสำนักก็อาจให้พื้นที่ในประเด็นนี้แตกต่างกันไป แต่ขณะเดียวกันก็มีสื่อเว็บไซต์ ทีวีดาวเทียมอีกจำนวนหนึ่งที่ดูเหมือนเปิดพื้นที่ให้ข้อถกเถียงเหล่านี้มาก ขึ้น

ประกอบกับ ถ้ามองในแง่สื่อกระแสหลักเลยคือพอเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักก็ต้องปรับมุมมองตัวเองเหมือนกัน เมื่อก่อนอาจจะไม่ชอบเพื่อไทย มองคนที่เลือกเพื่อไทย คนเสื้อแดงแบบไม่ให้ค่ามากนัก แต่พอหลังการเลือกตั้ง โอเค อาจจะไม่ชอบอยู่ แต่เขาก็มองเห็นพวกนี้มากขึ้น แม้ว่าการให้คุณค่า การแสดงทัศนะในข่าวจะมีความแตกต่างกันไป

โดยรวมคิดว่ามันน่าสนใจมากกว่าน่าพอใจ

ช่วยยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมทีว่า การถกเถียงในเชิงคุณค่าที่ได้พื้นที่มากขึ้นจนรู้สึกว่ามันน่าสนใจนั้นคืออะไร

เช่นกรณีอากง ก็มีพื้นที่อยู่นะ สื่อสายที่มีจุดยืนการเมืองอนุรักษ์นิยมหน่อยก็จะทรีตกรณีอากงแบบหนึ่ง แต่มันก็จะมีสื่อกระแสหลัก กระแสรองจำนวนหนึ่งที่นำเสนอประเด็นนี้แตกต่างออกไป ตัวบทความ ตัวคอลัมนิสต์ที่แสดงทัศนะก็มีความเห็นต่อกรณีนี้ที่ต่างกัน แล้วก็นำไปสู่การตั้งคำถามกับ มาตรา 112 อะไรแบบนี้

ในแง่หนึ่งก็คือ สังคมมันเปลี่ยนไปนั่นแหละ แล้วสื่อก็ต้องปรับตัวตามสังคมไป

สื่อกระแสหลักอาจไม่ได้สะท้อนเรื่องนี้อย่างแจ่มชัด แต่ถามว่าสะท้อนบ้างไหม มันก็เห็นอยู่ เพียงแต่มันจะชัดเจน จะคมคายไหมก็อีกเรื่อง

แล้ว ที่ผ่านมาสื่อได้มีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไหม ยกตัวอย่างกรณีการสลายการชุมนุมที่มีคนตาย คนเจ็บปีที่แล้ว ดูเหมือนเรื่องนี้เงียบไปเลยหรือนำเสนอน้อยมากในสื่อส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีข่าวสดที่ตามเรื่องนี้อย่างเกาะติดมากอยู่เจ้าเดียว มันเกิดอะไรขึ้นในแวดวงสื่อ

ถ้ามองเฉพาะสื่อกระแสหลัก มันก็คงเป็นเหมือนอีลีทไทยกลุ่มหนึ่ง วิธีการมองปัญหา ทรีตปัญหาการเมืองไทยก็อาจจะเกี๊ยเซียะ จบแล้วก็จบกันไป 90 กว่าศพใช่ไหม พอนำมาสู่การเลือกตั้ง เพื่อไทยก็ชนะแล้วนี่ การชนะของเพื่อไทย ทั้งอีลีทหรือสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งต่างก็หวังว่าเพื่อไทยไม่ควรทำอะไรใน เชิงแตกหัก หรือแม้แต่ตัวเพื่อไทยเองก็รู้สึกอย่างนั้น มีงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างที่คนในรัฐบาลบอก แก้ไขยาเสพติด อะไรก็ว่าไป ส่วนที่จะเป็นปัญหาความขัดแย้งก็ยังไม่ต้องทำ

ผมว่ามันก็แชร์กันอยู่ระหว่างตัวชนชั้นนำไทยกลุ่มหนึ่งกับสื่อกระแสหลัก แต่กรณีข่าวสดอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง รากของข่าวสดจะหยุดที่ 50 เท่านั้น ในแง่อายุคนทำงาน โดยเฉพาะที่เป็นหัวๆ เป็นนักข่าวอีกรุ่น อีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่มติชนถ้าพูดถึงราก วิธีคิดก็อาจจะยาวนานกว่านั้น อายุมากกว่านั้นหน่อย ทำให้การมองสถานการณ์อาจจะแตกต่างกัน

ถ้าพูดว่าสื่อจะช่วยในการแก้ไขความขัดแย้งแค่ไหน บางส่วนอาจเห็นว่า นี่ไง ทำแล้วไง ให้ปรองดองกันไป เงียบกันไป แต่อีกส่วนหนึ่งอาจมองว่าการแก้ไขความขัดแย้งได้ต้องเข้าถึงความจริง ต้องหาคนผิดมาลงโทษ

เรื่อง “สื่อโดนแทรกแซงโดยรัฐ หรือ สื่อโดนแทรกแซงโดยทุน” เมื่อก่อนได้ยินสิ่งเหล่านี้มาก เดี๋ยวนี้เงียบไปแล้ว สถานการณ์ยังเป็นอย่างนั้นไหม หรือมันเคยเป็นอย่างนั้นไหม

จากประสบการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น แต่มันอาจจะมีบ้างล่ะ ในแง่ที่สื่อมวลชนกับแหล่งข่าวอาจมีความสัมพันธ์อะไรกัน เกรงใจกัน คงมีบ้าง แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเถียงกันเรื่องโครงสร้างหลักการใหญ่ๆ ยังไม่เห็นว่าจะมีรัฐ หรือมีทุน มากำหนด บังคับกะเกณฑ์ว่าสื่อจะต้องเสนอความเห็นไปในทางนี้หรือในทางนั้น

ที่มันออกมารูปการณ์นี้ สื่อกระแสหลักมีความเห็นแบบหนึ่งกับอีกแบบหนึ่งที่มันต่างกัน ก็ไม่แน่ใจว่ามาจากทุนหรือรัฐ หรือมาจากพรรคการเมืองที่เขาสนิทสนม หรือมันเป็นอุดมการณ์ของคนทำสื่อด้วยหรือเปล่า ในองค์กรสื่อหนึ่งๆ มันก็มีอุดมการณ์ที่หลากหลาย อย่างมติชนก็มีคนมีความเห็นทางการเมืองต่างกันอยู่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาคนที่คุมหัวเรือมีความคิดทางไหน ความเชื่อแบบนั้นก็อาจจะถูกขับเน้นมากขึ้นเท่านั้นเอง

ถ้าพูดถึงการเมืองปัจจุบันกับสื่อ ไม่คิดถึงทุนหรือรัฐ แต่มันอยู่กับสิ่งที่อยู่ในหัวคนทำมากกว่า

มองสื่อทางเลือก รวมถึงโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมาอย่างไร มติชนเองก็ดูจะให้พื้นที่กับสิ่งเหล่านี้เยอะ

สื่อพวกนี้ก็สะท้อนให้เห็นมุมมองของคนอีกแบบหนึ่งต่อประเด็นสาธารณะ ประเด็นการเมือง มันก็ทั้งสองด้านนะ เอาง่ายๆ ถ้าเราจะหาข่าวจากเฟซบุ๊กจริงๆ มันก็เป็นกระแสจริงๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ‘สลิ่ม’ ก็มีเยอะในเฟซบุ๊ก แต่มันก็ไม่เหมือนกับตัวแหล่งข่าวหรือตัวละครหลักๆ ที่ให้สัมภาษณ์ทางทีวีหรือสื่อทั่วไป ตัวสลิ่มหรือคนชั้นกลางในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่กับตัวแหล่งข่าวหลักๆ แม้จะมีมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน แต่วิธีการในการเล่นกับประเด็น หรือวิธีการจัดการกับประเด็น ท่าทีต่อประเด็นก็ต่างกันอยู่ เช่น สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ อย่างกรณ์ จาติกวณิช ถ้าในบทบาทรัฐมนตรีก็แบบหนึ่ง แต่ถ้าในเฟซบุ๊กเขาก็จะอีกแบบหนึ่ง (หัวเราะ) มันทำให้เห็นท่าทีของคนมากขึ้น หรืออีกแง่หนึ่งก็เป็นข่าวทางเลือกเลย อย่างเว็บประชาไทเอง หรือเว็บจำนวนหนึ่งที่เกิดมาใหม่ มันก็มีประเด็นข่าวกระแสนี่แหละ แต่มีมุมมองต่างออกไปที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

เว็บไซต์มันดีอย่างตรงที่มันวัดคนดูได้ ข่าวที่มาจากแหล่งพวกนี้มันก็ได้รับการตอบรับจากคนอ่านดีเหมือนกัน คนอ่านให้ความสนใจ อย่างเช่นเรามอนิเตอร์เฟซบุ๊กอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ยังไงก็มีคนอ่านอยู่กลุ่มหนึ่งแน่ๆ มีฐานประกันอยู่ คนตามเยอะ แต่ขณะเดียวกันพวกนี้ก็แสดงให้เห็นมุมมองอีกด้านนึงด้วย ซึ่งสื่อหลักเขาก็ไม่ได้ใช้ตรงนี้มากนัก แต่ที่มติชนออนไลน์ใช้ตรงนี้เพราะรู้สึกว่ามันมีพลังในแง่การให้คำอธิบายต่อ ปรากฏการณ์การเมือง

นิวมีเดียทรงอิทธิพลมากขึ้นไหม หรืออีกแง่หนึ่งสื่อกระแสหลักมันลดอิทธิพลลงหรือเปล่า สื่อหลักยังชี้นำสังคมได้เหมือนเดิมไหม

ส่วนหนึ่งสื่อหลักอาจอิทธิพลลดลง ถ้าพูดเฉพาะในแง่คนเมือง นิวมีเดียมันทรงอิทธิพลมากขึ้น มันเชฟเข้าไปกับชีวิตคนเมืองมากขึ้น กำหนดประเด็นอะไรได้มากขึ้น และบางครั้งถ้าเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์อะไรบางอย่างมันก็ต้องดูสื่อออ นไลน์พวกนี้ด้วยพอสมควร ถ้าจะดูสื่อกระแสหลักอย่างเดียวมันอธิบายไม่ได้ ง่ายๆ อย่างกรณีอากง เราจะสามารถเห็นคนคุยกันเรื่องอากงในที่ต่างๆ ได้ คนทั่วไปก็น่าจะอยู่รู้อยู่บ้าง แต่ในแง่หนึ่งสื่อกระแสหลักแทบไม่มีเลย ทีวีมีอยู่หน่อย มากหน่อยก็เป็นรายการตอบโจทย์ (ช่องไทยพีบีเอส) สื่อหนังสือพิมพ์แทบไม่ได้เล่นเลย ถ้ามองเฉพาะสื่อกระแสหลักเราจะเข้าใจไม่ได้เลยว่าทำไมคนตามท้องถนนมันพูด เรื่องนี้กัน กลายเป็นว่าสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค มันสามารถเชื่อมตรงนี้ได้ เชื่อมรอยต่อที่หายไปได้

ซึ่งทั้งนิวมีเดียหรือรายการตอบโจทย์ที่เล่นเรื่องนี้มีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีโฆษณา

(หัวเราะ) ก็เป็นได้นะ มันเหมือนว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น สามารถทำได้เลย

สื่อ หนังสือพิมพ์ที่ไม่เล่นเรื่องนี้ หรือสื่อกระแสหลักทั่วไปที่ไม่เล่นเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ต่อให้จิตวิญญาณเดียวกัน แต่ทำไมมันต่าง

คล้ายๆ สื่อแต่ละสำนักมันก็ถูกตราประทับต่างกันด้วย ไทยพีบีเอสเขาสามารถเล่นประเด็นแหลมๆ ได้โดยที่จะไม่ถูกตีความไปในทางเลยเถิดมากนัก โอเค รายการภิญโญอาจโดนสื่ออย่างผู้จัดการเล่นบ้าง แต่ในแง่สังคมโดยรวม เขาจะไม่โดนแบบทวีตหรือเฟซบุ๊กกระหน่ำว่า ภิญโญ...

ล้มเจ้า

(หัวเราะ) อะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นสื่อสำนักอื่นมันอาจจะต่างออกไป ถ้าเป็นมติชนหรือข่าวสดเล่นประเด็นนี้จริงๆ จังๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง หรือมติชนเองก็มีกรณีเรื่องโฆษณาวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในเฟซบุ๊กมีกระแสอยู่ว่ามีคำกลอนซึ่งความหมายจะเฉลิมพระเกียรติ แต่อาจจะใช้คำผิดพลาด มันทำให้มติชนเขาก็ต้องระวังตัว นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากพวกเรื่องโฆษณา มันเป็นเรื่องทัศนคติของคน

ปีหน้า เราจะคาดหวังกับสื่อว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ไหม เทิร์นนิ่งพ้อยท์ของสังคมไทยจะเกิดจากสื่อได้ไหม

ผมไม่แน่ใจว่าสื่อจะมีพลังพอจะเปลี่ยนสังคมหรือเปล่า หรือว่าสังคมมันเปลี่ยนแล้วสื่อถึงจะเปลี่ยนตาม (หัวเราะ) มองที่ผ่านมา สื่อก็ไม่ได้มั่นใจในตัวเองเหมือนกัน กลัวนั่นกลัวนี่ มองหน้ามองหลัง เหลียวไปรอบข้าง เพราะฉะนั้น สื่อก็ต้องการความมั่นใจ ต้องการอะไรมาสนับสนุนเหมือนกัน ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สื่อมันเลยต้องเปลี่ยนตาม แต่ถ้าสังคมอยู่นิ่งๆ แล้วจะให้สื่อเปลี่ยนก่อน ไม่แน่ใจว่าสื่อจะกล้าเปลี่ยนก่อนไหม

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

ถ้า สื่อวัดกันที่เรตติ้ง ทำไมกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ถึงไม่สามารถชี้นำให้สื่อไปอยู่ข้างตัวเองได้ แปลว่าคนที่กำกับทิศทางสื่อไม่ใช่พลังผู้บริโภคใช่ไหม

ก็เป็นได้ คนทำสื่ออาจเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่ง มีรสนิยมอีกแบบหนึ่ง เอาง่ายๆ ประสบการณ์ในการทำมติชนออนไลน์เองจะมีลักษณะหนึ่ง คือ จะมีคำบ่นของคนแก่กว่า คนโตกว่าว่า นักข่าวยุคนี้ไม่อ่านหนังสือ แต่ในแง่ที่เราอ่านคนอ่านเองก็ใช่ว่านักข่าว หรือผู้บริหารงานข่าวทุกคนจะอ่านออก ยิ่งโดยเฉพาะมาทำเว็บไซต์จะเห็นเลยว่ามันมีข่าวบางข่าวที่ยอดคนอ่านเยอะ ถ้าคุณทำประเด็นนี้ ขยายประเด็นนี้ต่อไปยังไงคนอ่านก็เยอะ ถ้าเขาอ่านคนอ่านไม่ออก หรืออ่านออกแต่เชื่ออีกอย่างหนึ่ง เขาก็ยังจะทำของเขาไปอีกแบบหนึ่งอยู่ดี ดังนั้น มันจึงอาจเป็นเพราะคนทำสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่แดงก็ได้ มันก็เลยไปในทางนี้ มันมีทั้งส่วนที่เขาอยากทำ กับสิ่งที่ควรทำเพื่อเซิร์ฟคนอ่านหรือสาธารณะ

แล้วที่ไปริเริ่มทำทีวี เห็นแนวโน้มอะไรในปีหน้า

อันนี้เป็นเรื่องธุรกิจ สื่อจำนวนมากก็หันมาทางนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็จะหันมาทางนี้มากขึ้น เดลินิวส์ก็มีช่องดาวเทียมของเขาแล้ว เนชั่นก็มีสามช่องแล้ว ในแง่การนำเสนอข่าวจริงๆ มันก็ยังเป็นประเด็นที่เถียงกันอยู่ ยังมีข้อท้าทายอีกว่าดาวเทียมดูมีเพดานที่สูงกว่าสื่อสิ่งพิมพ์เพราะยังไม่ ใช่สื่อกระแสหลักเสียทีเดียว แต่ถ้าเทียบดาวเทียมกับเว็บอันไหนคนเข้าถึงมากกว่ากัน เว็บนี่นับยอดคนอ่านได้ แต่ดาวเทียมก็ยังไม่แน่ มีเรทของมันอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าช่องนี้จะเกิดหรือไม่เกิด เวลาทำแล้วเราจะติดรูปแบบจากฟรีทีวีมาหรือเปล่า ขึ้นกับบรรทัดฐานในการมอง อีกอย่างถ้าเป็นดาวเทียมก็ต้องมาดูเรื่องกลุ่มคนดู ผู้บริโภคอีก ถ้าเป็นดาวเทียมอาจเป็นคนต่างจังหวัดเป็นหลัก มันก็ท้าทายว่าเราจะต้องปรับตัวเองยังไง ถ้าหนังสือพิมพ์หัวสีมาทำดาวเทียมอาจจะปรับตัวได้ง่ายกว่า หรือถ้าในเครือมติชนเองตัวเนื้อหาที่รองรับกับดาวเทียมได้ดีที่สุดอาจจะเป็น ข่าวสด

ถ้านึกถึงข่าวเด่นๆ ในปีที่ผ่านมา สัก 2-3 ข่าว จะนึกถึงอะไร

ถ้าดูจากยอดคนอ่านที่เด่นๆ ปีนี้ก็มีหลายระลอก ตั้งแต่สึนามิที่ญี่ปุ่น เลือกตั้งว่าจะสูงที่สุดก็ยังไม่สุด ไปๆมาๆ กลายเป็นเรื่องน้ำท่วม อาจเพราะเป็นเรื่องที่เดือดร้อนกัน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่นานๆ ครั้งจะเจอแบบนี้ มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับคนทำสื่อ มันได้เข้าถึงคนอ่านจำนวนมาก ในแง่การทำงานน้ำก็ท่วมแถวออฟฟิศด้วย ตัวคนทำงานก็มีความรู้สึกเหมือนได้แชร์กับคนอ่าน

ในแง่สื่อกระแสหลัก เรื่องน้ำท่วมมันก็ต่อเนื่องมาจากปีก่อน บทบาทของสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) ก็ดูเหมือนจะมีบทบาทมากกว่ารัฐบาล รัฐบาลตอนนั้นคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ พอในปีนี้เขาก็มีบทบาทเช่นเดียวกัน ซึ่งมันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามกันเยอะว่าสื่อควรรับบริจาคไหม ควรเอาของไปช่วยคนน้ำท่วมไหม หรือสื่อควรมีบทบาทอะไร ควรทำอะไรบ้างในสถานการณ์น้ำท่วม จะนำเสนอข่าวยังไงให้ลึกกว่าปัญหาเฉพาะน้ำท่วมที่นู่นที่นี่ยังไง ในกรณีสรยุทธเองก็เหมือนมีมูฟเม้นต์ไปอีก มีโก๊ะตี๋ มีอะไรเพิ่มเข้ามา มันก็แปลกในแง่บทบาทสื่อ หลายๆ อย่างมันก็เบลอมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ทำหน้าที่สื่อได้ไม่ดีเลยในช่วงนั้น ทั้งที่ตัวเองควรสื่อข้อมูลได้ดีกว่านี้

หรืออย่างกรณียิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) หรือพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็เป็นปรากฏการณ์ในแง่คนทำงานสื่อเหมือนกัน คือ หลังปี 49 หลังรัฐบาลสมัคร ต่อด้วยรัฐบาลสมชายที่ล้มไป คนทำสื่อกระแสหลักจะมีความคิดอยู่อย่างว่า ยังไงเสียขั้วไทยรักไทยเก่ามันก็กลับมายาก อย่างช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์มีเลือกตั้งซ่อม ในสื่อกระแสหลักประเมินว่า อีสานภูมิใจไทยต้องชนะ แต่เอาเข้าใจริงก็มีแพ้ด้วย แล้วพอเลือกตั้งสนามใหญ่มันก็เขย่าเหมือนกัน ประชาธิปัตย์เชื่อว่าเขาจะได้ 200 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 80 ที่นั่ง ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองที่เชื่อนะ แม้แต่สื่อจำนวนหนึ่งก็เชื่ออย่างนั้น เขายังมองการเลือกตั้งแบบเดิม แบบการเลือกตั้งในช่วงทศวรรษ 30 เป็นต้นมา คนลงคะแนนเสียงมันจัดการได้ ใช้เงินซื้อได้ ผมมองว่าสื่อส่วนใหญ่ยังคิดอย่างนั้นอยู่ หรือแม้กระทั่งชัยชนะของทักษิณเองทั้งสองครั้ง สื่อก็ยังมองอย่างนั้น คือ ซื้อเสียง หรือไม่ก็ถูกประชานิยมมอมเมา ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคนลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ โง่ ถูกมอมเมา และศิโรราบกับอำนาจ ถ้าสมมติอีกขั้วมีอำนาจการเมือง และสามารถระดมทุนมาได้เยอะ เขาก็ประเมินว่าเครือข่ายนั้นจะชนะ แต่ผลการเลือกตั้งออกมาก็แพ้อีก แล้วเพื่อไทยก็ชนะเกินครึ่ง ในแง่คนทำสื่อเอง ประเมินจากผมด้วย ผมเชื่อว่ายังไงเพื่อไทยก็จะชนะเยอะอยู่แล้ว แต่คนทำสื่อส่วนใหญ่มันน่าจะมีอาการ “ตื่น” นิดๆ อยู่เหมือนกัน เขาคงคาดไม่ถึงเหมือนกันว่ามันจะมาถึงจุดนี้ แต่โอเค พอเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่การบริหาร การกล้าตัดสินใจทำอะไรมันก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคาดหวัง หรือไม่ได้แหลมคม อันตราย อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามกลัวด้วยซ้ำ

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งก็สั่นสะเทือนคนทำสื่อเหมือนกัน ว่าประชาชนมีพลังจริง แล้วมันก็โยงไปเมื่อปี 52 , 53 ด้วยกับประชาชนที่ถูกฆ่า ที่มาประท้วง

ปีใหม่ ขอเป็นคำถามเบาๆ หน่อย บุคคลหรือองค์กรดีเด่นของวงการสื่อมวลชนปีนี้ ปราบต์อยากจะให้ใคร

(หัวเราะ) ขอคิดหน่อย มันยาก

นึกนานมาก งดรางวัลก็ได้

เดี๋ยวนะ มันนึกไม่ออก เอ้อ มันอาจระบุเป็นบุคคล ก็พอได้นะ คือ มันจะมีคนทำสื่อจำนวนนึงที่มีพื้นที่เป็นเอกเทศมากขึ้น ออกมาจากองค์กรที่ตัวเองเคยอยู่ ใบตองแห้งก็ใช่ หรือที่ไม่ออกก็มี อย่างเนชั่นก็มีพี่ป้อม (นิธินันท์ ยอแสงรัตน์) ก็ออกมาเสนอความเห็นบนเฟซบุ๊กมากขึ้น ในฐานะปัจเจกบุคคล มันน่าสนใจตรงที่ช่วงปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์นี้มันชัด

อย่างใบตองแห้ง น่าสนใจที่เขาก็ไปได้สุดทางมากกว่าตอนอยู่ไทยโพสต์หรือเปล่าเท่าที่อ่านใน ข้อเขียน สำหรับคนที่มีองค์กร มีสังกัดอยู่ พื้นที่อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กทำให้เขาหลุดจากกรอบได้ แม้จะไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันน่าสนใจ บางคนพอออกมาในฐานะปัจเจกบุคคลมันก็เห็นแง่มุมอื่นๆ มากขึ้น เปลือยเปล่ามากขึ้น เมื่อก่อนถ้าเรามองคนทำข่าวคนหนึ่งจากองค์กร มันแยกไม่ออกเหมือนกันว่าส่วนไหนคือตัวเขา ส่วนไหนคือองค์กร แต่พอพื้นที่สื่อใหม่มันเกิด คนสามารถแยกออกมาแสดงความเห็นของตัวเองมากขึ้น

อัน นี้ดูน่าจะนับเป็นปรากฏการณ์มากกว่า อันแรกคือน้ำท่วม สองคือยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้ง และสามคือแกะดำในสื่อ แต่รางวัลที่จะให้ประจำปีนี้ คือใคร

ต้องดีเด่นด้วยใช่ไหม

อาจไม่ต้องดีเด่นก็ได้ แต่เป็นบุคคล หรือองค์กรแห่งปี สาขาสื่อ

อย่างกรณีสภาการฯ ก็น่าสนใจ มันก็แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์อะไรหลายอย่างในวงการสื่อ มันมารวมกันทั้งเรื่องการเมือง สะท้อนอยู่ลึกๆ ถึงความคิดความเชื่อทางการเมืองที่มันต่างกัน อีกแง่หนึ่งก็มีการตั้งคำถามกับสื่อ จากกรณีสภาการฯ มันทำให้เห็นว่า สื่อไม่ใช่ควรจะอยู่ข้างไหนหรือไม่เท่านั้น แต่มันนำสู่ข้อถกเถียงเรื่องความเป็นกลางของสื่อคืออะไร จรรยาบรรณของสื่อคืออะไร มันทำให้สื่อต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกลับไปที่องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลด้วย

 

หมายเหตุประชาไท :-
กรณีสภาการหนังสือ พิมพ์ที่กล่าวถึงคือเรื่องการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผล ประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อ่านเพิ่มเติมได้ที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท