สมชัย ภัทรธนานันท์: มองการเมืองฟิลิปปินส์ผ่านกรณี GMA

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาพข่าวการสกัดไม่ให้กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย  (Gloria  Macapagal-Arroyo-GMA) ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถึงสองสมัยเดินทางออกนอกประเทศ ได้สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวฟิลิปปินส์ที่รับชมข่าวภาคค่ำอย่างใจจดใจจ่อเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะผู้คนต่างทราบผลการตัดสินของศาลสูงในช่วงตอนบ่ายของวันนั้นแล้วว่าศาลมีมติให้ GMA (ซึ่งถูกรัฐบาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ) เดินทางออกนอกประเทศได้ พวกเขาลุ้นว่ารัฐบาลจะกล้าขัดคำสั่งศาลหรือไม่ ปรากฏว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ห้ามไม่ให้ GMA เดินทางออกนอกประเทศ เท่านั้น แถมยังฟ้องเธอในข้อหาทุจริตการเลือกตั้งอีกด้วย ขณะนี้ รัฐบาลได้สั่งควบคุมตัว GMA ที่โรงพยาบาลเพราะเธออ้างว่าป่วยหนัก ปฏิกิริยาของคนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ตอบรับการดำเนินการของรัฐบาลเพราะพวกเขาเชื่อว่า GMA เป็นประธานาธิบดีที่โกงประเทศยิ่งกว่าเผด็จการอย่างมาร์กอสเสียอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตทางการเมืองของเธอจึงผกผันกลับหัวกลับหาง กล่าวคือเมื่อเธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ๒๕๔๔ นั้น เธอมีภาพพจน์ที่ดีเพราะมีบทบาทในการชุมนุมร่วมกับประชาชนเรียกร้องให้เอสตราด้า (หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกอีกชื่อว่า Erap) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้นให้พ้นจากตำแหน่ง มาบัดนี้ GMA ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับ Erap จะต่างกันก็ตรงที่เมื่อ Erap ถูกจองจำยังมีผู้คนที่สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมคัดค้านถึง ๕๐,๐๐๐ คน ขณะที่ GMA มีผู้แสดงความเห็นใจเพียง ๒๐ คนเท่านั้น

หากศึกษาเส้นทางชีวิตทางการเมืองที่ผกผันของ GMA เราจะพบว่าชีวิตของเธอสะท้อนการเมืองฟิลิปปินส์ได้เป็นอย่างดี  GMA ก้าวขึ้สู่ตำแหน่งประธานาธิบดีโดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง กล่าวคือ ในปี ๒๕๔๑ GMA ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในรัฐบาล Erap  ในปี ๒๕๔๓-๒๕๔๔ ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เนื่องจากความไม่พอใจการคอร์รัปชั่นของ Erap โดยเฉพาะการที่เขารับเงินจากบ่อนการพนันที่คนฟิลิปปินส์เรียกว่าเวเต็ง (Jueteng)  ผู้ประท้วงมาจากหลากหลายกลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ปัญญาชน ศาสนจักร และขบวนการทางสังคม

แม้ว่าการประท้วงครั้งนี้จะดูเหมือนเป็นการประท้วงของมวลชนแต่ผู้ที่กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวคือชนชั้นนำ (อดีตประธานาธิบดีสองคนคือ โคราซอน อคีโนและฟิเดล รามอส ผู้นำศาสนจักร นักธุรกิจและนักการเมืองที่มาจากตระกูลที่ทรงอิทธิพล และทหาร) ชนชั้นนำเหล่านี้ได้ใช้ความไม่พอใจของมวลชนมาเป็นโอกาสในการกำจัดผู้นำทางการเมืองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของพวกเขา Eva-Lotta E. Hedman เรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่าเป็น "การเคลื่อนไหวในนามของประชาสังคม" (In the name of civil society)

จริงอยู่ที่ Erap เป็นผู้นำที่ฉ้อราษฏร์บังหลวง แต่ชนชั้นนำของฟิลิปปินส์ก็เคยเมินเฉยต่อพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้นำทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน ทำไมพวกเขาจึง "รับไม่ได้" ในกรณีของ Erap? Hedman เห็นว่าเป็นเพราะ Erap คุกคามสถานะทางการเมืองของชนชั้นนำ ฟิลิปปินส์ช่วงก่อนและหลังมาร์กอสผู้นำทางการเมือง (ประธานาธิบดี สส. สว.) ล้วนมาจากตระกูลการเมืองที่เป็นเจ้าที่ดินที่ทรงอิทธิพลในชนบทซึ่งภายหลังได้เข้าคุมภาคอุตสาหกรรมของประเทศด้วย Benedict Anderson เรียกการเมืองแบบนี้ว่า "cacique democracy" (คาซีเก้ (cacique) เป็นภาษาสเปนในฟิลิปปินส์หมายถึงเจ้าที่ดินที่ทรงอิทธิพล) Erap ไม่ได้มาจากคนกลุ่มนี้ ด้วยเหตุนี้ พื้นเพการศึกษาและพฤติกรรมของเขาจึงดูไม่เหมาะสมไม่เข้าท่าในสายตาของชนชั้นนำ ที่สำคัญไปกว่านั้น ชัยชนะของ Erap ยังเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการเลือกตั้งอีกด้วย

บรรดานักการเมือง-เจ้าที่ดินเอาชนะการเลือกตั้งโดยอาศัย "น้ำมันหล่อลื่น" จากนายธนาคาร นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และเจ้าพ่อท้องถิ่น (ในกรณีของ GMA เจ้าพ่อท้องถิ่นในเครือข่ายของเธอที่รู้จักดีคนหนึ่งคืออัมปาตวนผู้ต้องหาก่อเหตุสังหารหมู่ที่จังหวัดมากินดาเนาอันฉาวโฉ่) Erap ชนะการเลือกตั้งโดยการสนับสนุนของคนจนที่นิยมชมชอบตัวเขาในฐานะวีรบุรุษของคนจนด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าประธานาธิบดีคนใดๆในฟิลิปปินส์ ทำให้ชนชั้นนำเห็นว่าการชนะเลือกตั้งแบบนี้เป็นภัยคุกคามต่อสถานะของพวกเขา เมื่อได้โอกาสพวกเขาจึงไม่รีรอที่จะกำจัดนัการเมือง 'นอกคอก' อย่าง Erap

GMA ได้ใช้โอกาสนี้มาเป็นหนทางในการก้าวขึ้นสู่การเป็นประธานาธิบดีโดยเจรจากับทหารให้ร่วมยึดอำนาจจาก  Erap การยึดอำนาจครั้งนี้ดำเนินการอย่างแยบยล กล่าวคือ มันเกิดขึ้นซ้อนกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมส่วนมากมาจากชนชั้นกลาง เมื่อผู้ประท้วงรุกประชิดทำเนียบมาลากันยัง ทหารได้ประกาศถอนการสนับสนุนประธานาธิบดีและเข้าคุมตัว Erap เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า EDSA II (EDSA เป็นชื่อถนนที่มุ่งตรงไปที่ทำเนียบประธานาธิบดีตั้งชื่อตาม Epifanio de Los Santos ซึ่งมีอาชีพเป็นบรรณารักษ์ เมื่อก่อน EDSA เป็นถนนสายเล็กๆที่ไม่มีความสำคัญ แต่ได้กลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เมื่อเกิดการประท้วงครั้งใหญ่บนถนนสายนี้อันนำไปสู่การสิ้นอำนาจของมาร์กอสในปี ๒๕๒๙ การประท้วงครั้งนั้นรู้จักกันดีในนาม EDSA I)

ภายหลังเหตุการณ์ศาลสูงได้วินิจฉัยให้ GMA เป็นประธานาธิบดีแทน Erap โดยอ้างอิงข้อกฏหมายที่ว่าเมื่อประธานาธิบดีลาออกหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งแทน การตัดสินครั้งนี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการ 'ฮ้ัว' กันในหมู่ชนชั้นนำเพราะ Erap ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะถูกยึดอำนาจ ไม่ใช่เพราะเขาลาออก นักวิชาการบางคนเรียกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ว่าเป็นการ'รัฐประหารของประชาสังคม'

เมื่อ GMA รับตำเเหน่งไม่นานเธอได้สั่งดำเนินคดี Erap ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่โดยคนจนผู้นิยมในตัว Erap การประท้วงครั้งนี้แทบจะไม่มีการรายงานในสื่อมวลชนเลย แต่เมื่อมีการรายงานก็จะออกมาในเชิงลบ เช่น ผู้ประท้วงเป็นพวกป่าเถื่อน สกปรกเหม็นสาป ติดยา รับจ้าง เป็นต้น นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบทบาทของสื่อใน EDSA II ในการประท้วงครั้งนั้นมีการรายงานข่าวในเชิงบวกตลอด ๒๔ ชั่วโมง การประท้วงครั้งนี้ได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้แก่ขบวนการทางสังคมเป็นอย่างยิ่งเพราะนี่คือการแสดงพลังและความต้องการของคนจนที่พวกเขาประกาศตัวว่าเป็นตัวแทน แต่ขบวนการทางสังคมไม่เป็นที่ต้อนรับของคนจนเหล่านี้เพราะพวกเขาไม่พอใจบทบาทของขบวนการใน EDSAII ในที่สุดการชุมนุมของคนจนก็ถูกสลายโดยคำสั่งของ GMA ที่บริเวณสะพานเมนดิโอลาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง การประท้วงของคนจนครั้งนี้รู้จักกันในนาม EDSAIII นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของ GMA

GMA ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อเธอชนะการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๗ ชัยชนะของเธอครั้งนี้มีเรื่องมัวหมองเมื่อมีการเผยแพร่เทปบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับเวอร์จิลิโอ การ์ซิลลาโน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ ในการสนทนาครั้งนั้น GMA ได้ขอให้การ์ซิลลาโนช่วยปั่นผลการเลือกตั้งให้เธอชนะอย่างท่วมท้น เรื่องดังกล่าวแดงขึ้นมาเพราะทหารที่ GMA สั่งให้แอบบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ของการ์ซิลลาโนได้ส่งเทปให้ฝ่ายค้าน กรณีอื้อฉาวดังกล่าวนี้คนฟิลิปปินส์เรียกว่ากรณี 'Hello, Garci' ตามคำทักทายทางโทรศัพท์ของ GMA

นอกจากการโกงเลือกตั้งแล้วยังมีกรณีอื้อฉาวอื่นๆที่สร้างความมัวหมองให้แก่ประธานาธิบดี เช่น กรณีสามีและลูกชายของเธอมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับ Erap คือรับเงินจากบ่อนการพนันเป็นรายเดือน เป็นต้น พฤติกรรมที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านประธานาธิบดี ในเดือนกรกฏาคมบรรดาชนชั้นนำและขบวนการทางสังคมที่เคยร่วมมือกับ GMA ในการขับไล่ Erap ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เธอลาออก แม้ว่าจะเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่แต่ GMA ก็เอาตัวรอดมาได้เพราะชนชั้นนำไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่โคราซอน อคีโนนำการประท้วง ฟิเดล รามอสกลับสนับสนุน GMA  ทหารซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐบาลอย่างมากก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือ ส่วนขบวนการทางสังคมนั้นหลายต่อหลายองค์กรอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะพวกเขาเป็น 'กองหน้า' ในการนำ GMA ขึ้นสู่อำนาจ

ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึงสองสมัย GMA ได้ก่อกรณีอื้อฉาวมากมาย ก่อนหมดวาระไม่นานเธอได้สร้างเกราะป้องกันตนเองโดยแต่งตั้งเรนาโต้ โคโรนาผู้ที่เป็นทีมงานของเธอให้เป็นประธานศาลสูงซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินคดีความต่างๆ (ความจริงก่อนหน้านี้เธอก็ได้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงถึง ๑๑ คนจากทั้งสิ้น ๑๕ คน) การแต่งตั้งเช่นนี้คนฟิลิปปินส์เรียกว่าเป็น 'การแต่งตั้งตอนเที่ยงคืน' (midnight appointment) ซึ่งไม่ผิดกฏหมายแต่ผิดมารยาททางการเมือง

การคาดคะเนของ GMA นั้นถูกต้อง เมื่อนอย นอย บุตรชายของโคราซอน อคีโน ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีก็มีคำสั่งห้ามเธอเดินทางออกนอกประเทศเนื่องจากเป็นบุคคลที่จะถูกดำเนินคดีร้ายแรงหลายคดี แต่ศาลสูงได้มีมติให้เธอเดินทางออกนอกประเทศได้ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอยังไม่ถูกฟ้อง เธอจึงยังไม่มีความผิด รัฐบาลแก้เผ็ดโดยการยื่นฟ้องเธอในคดีโกงการเลือกตั้งสว.ในเขตมินดาเนาที่ศาลเมืองปาซายในวันต่อมาและสั่งจับกุมเธอดังที่กล่าวไปแล้ว

ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายยังไม่จบลงเท่านี้ ไม่กี่วันหลังจากนั้นศาลสูงมีมติให้แบ่งที่ดินของตระกูลอคีโนให้แก่ชาวนาไร้ที่ทำกินตามกฏหมายการปฏิรูปที่ดิน ความจริงที่ดินของตระกูลอคีโนนั้นต้องถูกจัดสรรให้แก่ชาวนาตั้งแต่ครั้งที่อคีโนผู้แม่เป็นประธานาธิบดี แต่เธอก็ 'เลี่ยงบาลี' โดยให้ชาวนาถือหุ้นแทนที่ดิน สิ้นปีก็จะมีการปันผลจากการขายผลผลิตให้ การใช้วิธีนี้ทำให้ตระกูลอคีโนเป็นเจ้าของที่ดินต่อไป ขณะที่ชาวนาก็เป็นลูกจ้างเหมือนเดิม

ปฏิกริยาของนอย นอยต่อคำตัดสินดูเหมือนจะเป็นในทางบวก คือเขาบอกให้สมาชิกของตระกูลให้ยอมรับมติของศาล แต่เขาก็บอกว่าต้องมีการชดเชยด้วยราคาที่เป็นธรรม ตามกฏหมายการจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวนาต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดิน ปัญหาของกรณีนี้อยู่ที่ว่าจะจ่ายค่าที่ดินโดยใช้ราคาปี ๒๕๓๐ อันเป็นปีที่จะต้องแบ่งที่ดินแก่ชาวนาหรือจะใช้ราคาปี ๒๕๕๔ อันเป็นปีที่ศาลสูงมีมติ ราคาที่เป็นธรรมในสายตาของนอย นอย คงเป็นราคาปี ๒๕๕๔ แต่ศาลสูงกลับเห็นว่าเป็นราคาปี ๒๕๓๐ เพราะในปีนั้นชาวนาได้ฟ้องศาลคัดค้านการถือครองหุ้นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดี การตัดสินเช่นนี้จะทำให้ตระกูลอคีโนได้รับเงินชดเชยน้อยลงประมาณสิบเท่า

หลังการตัดสินดังกล่าวนอย นอย ได้โจมตีโคโรนาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอย่างเปิดเผยหลายครั้งเริ่มด้วยข้อหาไม่รักษาความยุติธรรมจบลงด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้เคลื่อนไหวถอดถอนโคโรนา ประธานศาลสูง โดยอาศัย สส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งในพรรคของเขาเองและพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตร ขณะนี้ เรื่องอยู่ที่วุฒิสภาซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะถอดถอนโคโรนาหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องร้อนคิดว่าหลังปีใหม่ไม่นานคงได้รู้กัน

 

หมายเหตุ: การเขียนบทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Nippon Foundation ตามโครงการปัญญาชนสาธารณะเอเชีย ทั้งนี้ความเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท