"Burma VJ" ยังถูกทางการพม่าจองจำนับสิบ

ในจำนวนนักโทษ 651 ราย ที่ทางการพม่ามีคำสั่งปล่อยตัวมีผู้สื่อข่าวดีวีบี 5 คนรวมอยู่ด้วย โดยพวกเขาถูกจับกุมระหว่างรายงานข่าวในพม่า โดย "ซิตตู่ เซยะ" หนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัวเผยแม้จะเป็นอิสระแต่ก็เหมือนมีเชือกรั้งที่คอ ชี้ประธานาธิบดีคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างประชาธิปไตยในพม่า

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียง ประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี จำนวน 5 คนจากจำนวนนักโทษการเมืองทั้งหมด 651 คน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ (จากซ้ายไปขวา) ซิตตู่ เซยะ, อู เซยะ, งเว ซอ ลิน, ละละ วิน และ วิน หม่อ (ที่มาของภาพ: Free Burma VJ)

ตามที่หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า ฉบับวันนี้ (13 ม.ค. 55) รายงานว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่ามีคำสั่งนิรโทษกรรม นักโทษทั้งชายและหญิงจำนวน 651 คน ซึ่งได้รับโทษจำคุกในเรือนจำ โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่าคำสั่งปล่อยตัวนี้เป็นไปเพื่อ "เป็นหลักประกันเสถียรภาพและสันติภาพอันถาวรของรัฐ สนับสนุนกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและ และให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาจะสามารถร่วมได้เพื่อการสร้างชาติ โดยตระหนักถึงความเอื้อเฟื้อของชาติ" โดยวันนี้สื่อมวลชนพม่ารายงานข่าวนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวตลอดทั้ง วัน (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยในจำนวนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ มีทั้งผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 8888 ผู้นำพระสงฆ์ในการประท้วงปี 2550 ผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ ดีวีบี) สถานีโทรทัศน์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวีเดน ซึ่งมีรายงานว่าผู้สื่อข่าวดีวีบี หรือ "Burma VJ" ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ 5 คน จากจำนวนที่ถูกจับกุมทั้งหมด 17 คน

โดยสถานีโทรทัศน์ดีวีบีรายงานว่าเมื่อเวลา 9.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซิตตู่ เซยะ(Sithu Zeya) ซึ่งต้องโทษ 18 ปีหลังรายงานเหตุระเบิดในย่างกุ้งเมื่อเดือนเมษายนปี 53 ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำเฮ็นซาดา โดยเขาถูกซ้อมทรมานให้เผยข้อมูลว่าอู เซยะ (U Zeya) พ่อของเขาก็เป็นนักข่าวดีวีบีเช่นกัน ต่อมาในเวลา ต่อมาเวลา 10.10 น. อูเซยะ ซึ่งต้องโทษจำคุก 13 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

ทั้งนี้อู เซยะ ถูกจับที่บ้านเมื่อวันที่ 16 เมษายนปี 53 ในตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายการสมาคมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเขาติดต่อกับรัฐบาลพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย โดยเขาถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เมื่อ 1 เมษายนปี 54 1 วันก่อนที่เต็งเส่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ด้านซิตตู่ เซยะ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าทางการพม่าได้ตั้งเงื่อนไขว่า เขาจะต้องรับโทษ 18 ปี หากกระทำผิดกฎหมายอีกในอนาคต "นี่เหมือนกับพวกเราได้รับอิสระ แต่ยังมีเชือกรั้งคออยู่ ดังนั้นผมยังมีความสุขโดยมีเชือกรั้งอยู่ที่คอ"

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลพม่าตั้งเงื่อนไขเช่นนี้กับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ทุกคนหรือไม่

ซิตตู่ เซยะ ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งว่า "ในฐานะที่เขาเป็นประธานาธิบดี ผมคิดว่าเขายังน่านับถืออยู่บ้าง ในขณะที่เขาพยายามปฏิรูปท่ามกลางแรงกดดันอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเขาด้วย มีคนดีคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราต้องการความร่วมมือทุกๆ ด้านจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย"

เวลา 10.40 น. นาย งเว ซอ ลิน (Ngwe Soe Linn) ได้รับการปล่อยตัว โดยเขาเป็นผู้สื่อข่าวดีวีบีมาตั้งแต่ปี 2551 และเดินทางไปทำข่าวทั่วพม่า โดยเขาถูกสายลับพม่าจับในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เมื่อ 26 มิ.ย. 52 และในวันที่ 27 ม.ค. 53 ศาลทหารได้ตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 13 ปี ในข้อหา ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง

ผลงานสำคัฐของ งเว ซอ ลิน คือเขาได้บันทึกภาพวิดีโอเด็กกำพร้าเนื่องจากสูญเสียพ่อแม่จากเหตุพายุไซโค ลนนาร์กีสในปี 2551 โดยผลงานของเขาได้รับรางวัล Rory Peck Award  ในปี 2552 รางวัลซึ่งมอบให้กับผู้สื่อข่าวซึ่งทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเขาได้รับรางวัลในขณะที่ยังถูกจองจำ

ต่อมาในเวลา 12.15 น. ละละ วิน (Hla Hla Win) ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกะทา ในภาคสะกาย เธอถูกตัดสินจำคุก 27 ปี หลังจากถูกจับกุมเมื่อ 11 ก.ย. 52 ขณะเดินทางไปสัมภาษณ์พระสงฆ์ที่วิจารณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2550

หัวหน้าบรรณาธิการดีวีบี กล่าวว่า "ดีใจมากที่มีนักข่าวดีวีบีได้รับการปล่อยตัว หวังว่าผู้สื่อข่าวทุกคนจะได้รับการปล่อยตัววันนี้"

ในเวลา 13.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น วิน หม่อ (Win Maw) นักข่าวดีวีบีอีกคนหนึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจ็อกผิ่วในรัฐอาระกัน หรือยะไข่ เขาเป็นนักข่าวดีวีบีคนสุดท้ายของวันนี้ที่ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ยังคงมีผู้สื่อข่าวดีวีบีซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่ออีกอย่างน้อย 12 คน ที่ยังคงถูกทางการพม่าจับกุม

นอกจากนี้ในเวลา 14.05 น. ถั่น ซิน อ่อง (Thant Zin Aung) ผู้สื่อข่าวอิสระในพม่าซึ่งถูกจับกุมขณะเตรียมโดยสารเครื่องบินมายังประเทศ ไทยเมื่อปี 2552 โดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรองพม่าได้ค้นพบวิดีโอในตัวเขาบันทึกภาพความเสียหายที่ เกิดขึ้นจากพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อปี 52 โดบเขาเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองจำนวน 7 คนที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำในเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง

ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ปล่อยตัวนักข่าวในพม่าหรือ "Free Burma VJ" ระบุว่ามีผู้สื่อข่าววิดีโอหรือ VJ ในพม่ากว่า 17 คน ถูกทางการพม่าจับกุมและตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดย VJ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทันเหตุการณ์จากใน พม่าออกสู่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะในช่วงการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในปี 50 ที่จบลงด้วยการที่รัฐบาลออกมาปราบปรามผู้ที่ออกมาประท้วง จนทำให้มีประชาชนเป็นจำนวนมากต้องล้มตายและได้รับบาดเจ็บ และการรายงานข่าวในช่วงพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่าในปี 51

ในปี 2551 มีการฉายภาพยนตร์ "Burma VJ" เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีโดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Anders Hogsbro Ostergaard ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่เดนมาร์ก มีความยาว 90 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวการของ จ่อ ซอ (นามสมมติ) ผู้สื่อข่าววิดีโอ หรือ Video Journalist ของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ DVB) และเพื่อนร่วมทีมของเขาที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ในพม่า ช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและพระสงฆ์ในปี 2550 และแอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมาแล้วหลายครั้ง และยังเข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปี 2553 (ดูตัวอย่างภาพยนตร์ที่นี่)


ที่มา: แปลและเรียบเรียงบางส่วนจาก
Burma prisoner amnesty – 13 Jan releases,
DVB, 13 Jan 2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท