Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากยังจำกันได้ หลังจากที่ได้สั่ง “กระชับพื้นที่” จนเป็นผลให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตและสูญหายนับร้อยรายและบาดเจ็บพิการอีกนับพันราย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินหน้าแผน “ปรองดอง” ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยมีชนชั้นนำของภาคประชาสังคมไทย คือ นายอานันท์ ปันยารชุน และนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปและประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปตามลำดับ ทั้งนี้ โดยมีบุคคล กลุ่ม และองค์กรต่างๆ จากภาคประชาสังคมเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปนี้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐบาลและกองทัพใช้เบี่ยงเบนความสนใจของสังคมต่อข้อเรียกร้องที่ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่การเข้าร่วมของภาคประชาสังคมไทยก็ถูกคัดค้านจากนักกิจกรรมและนักวิชาการบางส่วนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลและทหารต่อการใช้ความรุนแรงและใช้อำนาจรัฐอย่างไร้ความเป็นธรรม เป็นการเพิกเฉยต่อการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและต่อกระบวนการอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งนับเป็นความอำมหิตแบบหนึ่ง จนมีคำเรียกการปฏิรูปนี้ว่า ‘กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอำมหิต’ และมีสโลแกนการคัดค้านที่คุ้นหูว่า ‘เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป’ อนึ่ง การเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศนี้ได้สะท้อนถึงอุดมการณ์ของภาคประชาสังคมไทยที่ค่อนไปในทางอนุรักษ์นิยมและการสนับสนุนสถาบันการเมืองหรืออำนาจแบบจารีต รวมถึงท่าทีที่ไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้ง กระบวนการปฏิรูปประเทศยังคงดำเนินต่อมาแม้จะเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแล้วก็ตามโดยเฉพาะในส่วนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญและได้เข้ามามีบทบาทเป็น “เจ้าภาพ” ในการระดมความคิดและข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงและซับซ้อนมาก เฉพาะในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงเกือบ 5,000 ราย และผู้บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมหาศาลขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการจับกุมคุมขังทำร้ายร่างกายและไล่ล่าผู้ต้องสงสัยที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมานักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในและนอกท้องถิ่นและระหว่างประเทศ ต่างก็พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่การเยียวยา การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม การนำเสนอแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจและรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคง รวมถึงการผลักดันให้มีระบบการศึกษาที่เคารพในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ของคนท้องถิ่น ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้มีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเป็นประธาน ดูจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของชนชั้นนำภาคประชาสังคมผ่านทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป อนึ่ง กระบวนการสมัชชาฯ ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาและจะดำเนินการไปตลอดปี 2555 โดยจะมีการจัดเวทีในระดับต่างๆ เพื่อระดมความคิดจากกลุ่มคนที่หลากหลายในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 200 เวที อย่างไรก็ดี การที่ชนชั้นนำของภาคประชาสังคมผู้ซึ่งมีบทบาทขับเคลื่อน ‘กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอำมหิต’ ผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และผู้ซึ่งทำให้ภาคสังคมไทยในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันมีกลายสภาพเป็นเพียงเครื่องมือของการกดทับและการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีต ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะ “เจ้าภาพ” ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้นำมาสู่คำถามในใจฉันหลายประการ ข้อหนึ่งก็คือว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแยกออกออกจากปัญหาการเมืองและโครงสร้างอำนาจในระดับชาติ อย่างกรณีอำนาจของกองทัพและของสถาบันหลักได้กระนั้นหรือ เมื่อย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยเสนอว่าการแก้ปัญหาแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นไปได้ก็ต้องมี “การส่งสัญญาณจากนอกพื้นที่ลงไปเพื่อให้การต่อสู้หยุดชะงักก่อน ซึ่งผมเสนอ 3 สูตรคือ หนึ่ง ต้องอาศัยพระเจ้าอยู่หัว แต่สูตรที่หนึ่งนี้เป็นไปได้ยาก เพราะเราไปกำหนดท่านไม่ได้ สูตรที่สอง ผู้นำทางความคิด แต่ว่าผู้นำทางความคิดอย่างคุณอานันท์ อาจารย์ประเวศ หรือแม้แต่พลเอกเปรม ระดับนี้ จะมีบารมีทดแทนพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งองค์ได้ ต้องใช้ประมาณพันคน ร้อยคนไม่พอ สูตรที่สองนี้จึงเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องส่งสัญญาณเข้าไปทั้งในพื้นที่และสังคมใหญ่” ก็ยิ่งทำให้ทำให้น่ากังวลอย่างมากต่อแนวคิดและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังสมัชชาฯ นี้ว่าจะนำไปสู่การแก้หรือการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น คำถามถัดมาที่เกิดขึ้นก็คือว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแยกขาดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น มวลชนผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ได้กระนั้นหรือ ข่าวการจัดงานเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คึกคักและดูมีความหวังถึงการแก้ปัญหาอย่างสันติและไร้ความรุนแรงภายใต้การนำนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานฯ ทำให้ฉันหวนรำลึกถึงบทความหนึ่งของนายแพทย์ผู้นี้ที่ฉันจำได้ฝังใจ บทความนี้ชื่อ “อีกสักเดือนจะเป็นไรไป?” ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ช่วงก่อนการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ในบทความนายแพทย์พลเดชเรียกผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ที่มีอาวุธหนักครบมือ และ “กบฏเสื้อแดงที่มุ่งปฏิวัติล้มล้างด้วยกำลังมวลชนและอาวุธ” เขาเสนอต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าควร “ปล่อยให้ม็อบฝ่อเหี่ยวกันไปเอง โดยการปิดล้อมทางเข้าออกทุกด้านอย่างแข็งแรง กดดันทั้งทางการเมืองและใช้มาตรการทางคดีเป็นพิเศษ ไม่นานแกนนำจะถูกโดดเดี่ยวจนถึงที่สุดและทิ้งมวลชนหนีไป” นายแพทย์พลเดชยังบอกอีกว่า “พวกกบฏเสื้อแดงจะไม่มีทางยอมแพ้ง่ายๆ และพวกเขาพร้อมที่จะใช้โมเดลการก่อการร้ายแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขยายไปทั่วประเทศ” และ “หากศึกนี้จบลงด้วยการเสมอกัน หรือ ‘วิน-วิน…แบบหน่อมแน้ม’ ทั้งแกนนำและมวลชนกบฏจะยิ่งลำพองใจในชัยชนะทุกสมรภูมิของพวกเขา ขึ้นอยู่กับว่า การชุมนุมที่ราชประสงค์จะจบด้วยการถูกสลายหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการสลาย ...ฝ่ายความมั่นคงจะจับตัวแกนนำทั้ง 24 คนได้มากแค่ไหน ส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก จับเป็นหรือจับตาย” จากบทความนี้ฉันไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินไปบนฐานแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไรภายใต้การเป็น “เจ้าภาพ” ของบุคคลประเภทนี้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ยิ่งในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มตน นอกจากนั้นฉันก็ยังมีคำถามว่าแล้วแนวคิดและอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้ง (ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย) ของชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยที่พยายามเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาอย่างที่พวกเขากล่าวอ้างจริงหรือ ทั้งนี้ ในการกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษผ่านวิดิทัศน์เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา นายแพทย์ประเวศ วะสี เน้นย้ำอุดมการณ์นี้อย่างชัดเจนว่าการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น อันจะนำมาสู่ภาวะท้องถิ่น/ชุมชนจัดการตนเองที่เอื้อต่อการเข้ามามีบทบาทของผู้นำตามธรรมชาตินั้น เป็นทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากผู้นำตามธรรมชาติมีความซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผู้นำแบบอื่นๆ ดังที่ว่า “มีสภาผู้นำชุมชนที่มีผู้นำตามธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชนมารวมตัว เป็นสภาผู้นำชุมชน ซึ่งท่านทั้งหลายก็มีอยู่จะเป็นโต๊ะครู เป็นอิหม่าม เป็นผู้นำกลุ่มอาชีพอะไรต่างๆ ก็มีอยู่เป็นธรรมชาติในชุมชน และผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติสูงกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งและโดยการแต่งตั้ง” และ “ผู้นำที่เกิดจากการเลือกตั้ง หรือโดยการแต่งตั้ง ซึ่งไม่แน่ แล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ การใช้เงินใช้ทองใช้อำนาจใช้อะไรต่ออะไรต่างๆ ให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง” และ “ถ้าเรามองข้างบนไปที่นักการเมือง เราเกือบจะมองไม่เห็นเลยว่าเราจะมีคนที่สุจริต คนที่มีสติปัญญาสูง มีคนที่เห็นแก่ส่วนรวมจำนวนมาก แต่ว่าที่ชุมชนนั้นมีจำนวนมากทุกแห่งหนเป็นธรรมชาติ มีเป็นล้านๆ คน” ปาฐกถานี้ของนายแพทย์ประเวศ วะสี สะท้อนให้เห็นถึงการละเลยที่จะใส่ใจถึงชีวิตที่สลับซับซ้อนของชาวบ้านมลายูมุสลิมและความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง การเลือกตั้ง และมิติต่างๆ ในชีวิตของพวกเขา จากประสบการณ์ของฉันในหมู่บ้าน บาบอ โต๊ะครู หรืออิหม่าม ซึ่งเป็น’ผู้นำตามธรรมชาติ’ ตามความหมายของนายแพทย์ประเวศ วะสี ส่วนใหญ่ก็มักมีสายสัมพันธ์ในทางใดทางหนึ่งกับผู้นำโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เช่น เป็นเครือญาติ เป็นพี่น้อง หรือเป็นพ่อลูกกัน อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่บาบอ โต๊ะครู หรืออิหม่ามจะเป็นผู้สนับสนุนหรือหัวคะแนนหรือแม้แต่เป็นกุนซือให้กับผู้สมัครรายใดรายหนึ่งในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ขณะที่การเมืองหรือการเลือกตั้งก็ไม่ได้แยกขาดจากชีวิตด้านอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันที่ผู้สมัคร สส., สจ., นายก อบจ, หรือ นายก อบต จะเข้าไปละหมาดและหาเสียงในมัสยิดในโอกาสต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางสังคมหรือสายสัมพันธ์ของผู้คนในทางการเมืองระหว่างการร่วมกิจกรรมเผยแพร่ศาสนาหรือการออกดาวะห์ ฉันเห็นว่าตราบใดเรื่องราวและสภาพชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านมลายูมุสลิมยังไม่ได้รับการใส่ใจและทำความเข้าใจ แม้จะจัดเวทีอีกสักสองพันเวที จัดให้ทั่วทุกหย่อมบ้านทุกตรอกซอกซอย ก็อย่าได้หวังว่าการจับเอาตัวแทนชาวบ้านมานั่งหน้ากระดานแปะด้วยกระดาษปรูฟประกบด้วยกระบวนการเวทีที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีในฐานะพิมพ์เขียวจะนำไปสู่อะไรได้ นอกเสียจากการส่งเสริมสถานะและความชอบธรรมให้กับกลุ่มชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยให้สามารถลอยหน้าลอยตาและสามารถแสดงความเหนือกว่าบุคคลอื่นๆ โดยไม่สำเหนียกเลยแม้แต่น้อยว่าพวกตนนั้นแหละคือต้นตอหนึ่งของปัญหา ทั้งปัญหาโครงสร้างการเมืองในระดับประเทศและปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ [บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหน้งสือรายสัปดาห์มหาประชาชน ประจำวันที่ 13-19 มกราคม 2554]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net