'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: พัดลมนิติราษฎร์

สถานการณ์วันนี้ ดูเหมือนถ้าใครไม่รุมกระทืบนิติราษฎร์ ก็จะกลายเป็นตกกระแส ไม่ทันแฟชั่น เอาเป็นว่าแม้แต่ออเหลิม ยังอัดนิติราษฎร์ว่าคิดสุดโต่ง ทำบ้านเมืองวุ่นวาย กินยาผิดซอง คิดว่าตัวเองหล่อ ฯลฯ ขณะที่ยิ่งลักษณ์ก็บอกปัดว่าอย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับ พูดกันเข้าไปเหอะ จะได้ชัดเจนว่าทุกฝ่ายไม่สนับสนุนนิติราษฎร์ เหลือแต่มวลชนจริงๆ ที่สนับสนุนนิติราษฎร์ ฉะนั้นคนที่จะร่วมลงชื่อแก้ ม.112 ก็จะเป็นมวลชนที่เข้าใจและเชื่อถือ อ.วรเจตน์มากกว่านักการเมืองอย่างออเหลิม ใจผมอยากให้ทักษิณโฟนอินมาขอร้องคนเสื้อแดงไม่ให้ลงชื่อกับนิติราษฎร์ด้วยซ้ำ จะได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามวลชนพร้อมจะ “ก้าวข้าม” ทักษิณหรือไม่ รีบๆ ทำนะครับ เพราะถึงอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามเขาก็จะกล่าวหาว่าทักษิณและ นปช.แอบสนับสนุน ล่ารายชื่อให้นิติราษฎร์อยู่ดี ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่นักการเมืองอย่างออเหลิม เสธหนั่น ออกมาด่าทอนิติราษฎร์ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย “เกี้ยเซี้ย” กันชั่วคราว แบบกึ่งจับมือ กึ่งแย่งยื้ออำนาจ มหาภัยน้ำท่วมใหญ่ทำให้ทั้งทุนเก่าทุนใหม่ กลัวต่างชาติถอนการลงทุน จึงต้องพักรบมาร่วมมือกัน แบบมือหนึ่งประสานกัน อีกมือหนึ่งไขว้มีดไว้ข้างหลัง วิสัยนักการเมืองเมื่อเล็งเห็นว่าจะได้อยู่ในอำนาจยาว ได้เสวยผลประโยชน์อำนาจวาสนา ก็อยากจะให้สภาพแบบนี้ดำรงอยู่นานๆ ไม่อยากเห็น “บ้านเมืองวุ่นวาย” พรรคเพื่อไทยอาจต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น แต่วิธีแสวงหาอำนาจของนักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งกติกาแต่อย่างเดียว พวกเขายังแสวงอำนาจได้ด้วยพวกพ้อง ผลประโยชน์ อิทธิพล ที่จะเอาไว้ใช้ต่อรองกับขั้วตรงข้าม ฉะนั้น เมื่อนิติราษฎร์เป็นหัวหอกของพลังที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ไปกระทบสถานภาพของนักการเมืองที่กำลังจะ “เข้าที่เข้าทาง” เรื่องโจ๊กปนสังเวชคือ พรรคประชาธิปัตย์ดันออกมาค้านโมเดลคณะจัดทำรัฐธรรมนูญ 25 คนของนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้จัดโควตาจากสภาผู้แทนราษฎร 20 คน จาก สว.เลือกตั้ง 3 คน และจาก สว.สรรหา 2 คน สกลธี ภัททิยะกุล ลูกชาย คมช.อ้างว่าเป็นการล็อกสเปกให้พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมาก ขณะที่จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อ้างว่าต้องการให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อล้างผิดให้ทักษิณ ผมไม่แปลกใจที่พรรคเพื่อไทยค้าน เพราะโมเดลนี้แปลว่ารัฐบาล 300 เสียงจะมีตัวแทนในคณะร่างรัฐธรรมนูญแค่ 12 คน ต้องไปลุ้นใน สว.เลือกตั้งว่าจะได้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามากี่คน แต่ถ้าเลือกตั้ง สสร.77 จังหวัด ตามโมเดลของออเหลิม รัฐบาลกวาดมาแหงๆ เกินครึ่ง พอมาเลือก สสร.วิชาชีพอีก 22 คน รัฐบาลก็ล็อกสเปกได้เกือบหมด คอลัมนิสต์หัวสีบางรายด่านิติราษฎร์ว่า จะให้ตัวแทนนักการเมืองเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง โห ทำข่าวมาจนหัวหงอกหัวดำกันแล้ว ทำไมยังไร้เดียงสา คิดว่าเลือก สสร.แล้วจะได้ตัวแทนประชาชนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่หรือ (หรือแกล้งไร้เดียงสา) สื่อพวกนี้สมองคิดเป็นแต่ว่า ไม่ควรให้นักการเมืองร่างรัฐธรรมนูญ ต้องให้รัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ามองตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงสังเวชพรรคแมลงสาบว่า นิติราษฎร์โมเดลอุตส่าห์วางหลักประกันไม่ให้เสียงข้างมากฮุบหมด ก็ยังโดน ปชป.ด่า นิติราษฎร์โมเดลรับประกันว่า ปชป.มี ส.ส.159 คน จะมีตัวแทนอย่างน้อย 6 คน ฝ่ายค้าน 200 คน จะมี 8 คน แถมยังมีตัวแทนอำมาตย์จาก สว.สรรหาอีก 2 คน ที่เหลือไปวัดใจกันใน สว.เลือกตั้ง ขนาดนี้ก็ยังโดน ปชป.ด่า แมลงสาบแพ้เลือกตั้ง แมลงสาบก็ต้องมีเสียงน้อยกว่าอยู่แล้ว มาโวยวายได้ไงว่าให้เพื่อไทยได้เสียงข้างมาก หรือต้องออกแบบให้แมลงสาบมีตัวแทนมากกว่า ถึงจะพอใจ โมเดลนี้ผมรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีใครยอมรับหรอกครับ แม้แต่มวลชนเสื้อแดง แต่คอยดูเถอะ หลังเสียเงินเลือกตั้ง 2 พันล้าน เสียเวลาเพิ่ม 3-4 เดือน เราก็จะได้ สสร.ออกมาในสัดส่วนคล้ายๆ กัน เผลอๆ รัฐบาลจะฮุบได้มากกว่าด้วยซ้ำ จรรยานักวิชาการ ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ อ.วรเจตน์ ถูกพาดพิงว่า “เนรคุณทุนอานันท์” เพราะก่อนหน้านี้ วรเจตน์เคยกล่าวว่านักกฎหมายมหาชนถ้ายอมรับรัฐประหารก็เท่ากับศีลขาด ต้องอาบัติปาราชิก ใครเนรคุณ ใครปาราชิก วรเจตน์กับบวรศักดิ์รู้แก่ใจดี บวรศักดิ์รับใช้รัฐบาลทักษิณมาก่อน บวรศักดิ์-วิษณุ เป็นคู่หูเนติบริกรที่ร่างและตีความกฎหมายสนองอำนาจ “ทุนผูกขาด” (อย่างที่พวกสยามประชาภิวัฒน์เขาเรียก) ยกตัวอย่างเช่น บวรศักดิ์เป็นเลขาธิการ ครม.เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ให้องค์ประชุมคณะรัฐมนตรีมีเพียง 1 ใน 3 และให้นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 1 คนขึ้นไปออกมติ ครม.ได้ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นฉุกเฉิน ครั้งนั้น ผมสัมภาษณ์วรเจตน์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2548 วิพากษ์ “พรฎ.กึ่งประธานาธิบดี” ว่าเป็นการตีความแบบศรีธนญชัยที่ว่าไม่เคยมีกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุม ครม.ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอยู่ในสามัญสำนึกของผู้คน องค์ประชุมระดับบริษัท ระดับหมู่บ้าน ไปถึงระดับชาติ อย่างน้อยต้องเกินกึ่งหนึ่ง วรเจตน์ยังกล่าวคำคมไว้หลายตอน ที่ย้อนอ่านแล้วผมอึ้ง เช่น \แน่นอนว่าวันนี้เราไปได้ แต่วันหนึ่งระบบอย่างนี้มันอาจจะไปไม่ได้เสมอ เป็นจุดซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะหันมาเห็นด้วยกับฝ่ายข้างน้อยวันนี้ แล้วเมื่อวันนั้นอำนาจอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในวันนั้นเป็นข้างน้อยไปแล้วล่ะ น่าวิตก วันนี้มันยังไม่เป็นอะไร มันก็อยู่กันไป อย่างผมเป็นฝ่ายข้างน้อยอยู่เนืองๆ ผมก็รับสภาพไป อย่างเรื่องนี้อีกไม่กี่วันมันก็สลายไปกับสายลม ไม่มีใครพูดถึง แต่หลักกฎหมายได้ถูกกัดเซาะ ผมถึงบอกว่ามันมีบาดแผลเพิ่มขึ้นอีกบาดแผลหนึ่ง ทิ้งริ้วรอยความบอบช้ำให้กับกฎหมายไทย จนถึงวันหนึ่ง เมื่อสภาพเสียงมันเปลี่ยนและอำนาจอยู่ในมือฝ่ายข้างน้อย มันมีแรงกดดันแบบนั้นแล้วยังไม่ทำอะไรอีก มันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกระบบกฎหมายเข้ามา ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้นในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบโดยสันติ\" \"ตอนกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ มีคดีท่านนายกฯ ทักษิณ ผมพูดในรายการยูบีซี ผมบอกว่าคดีซุกหุ้นมันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศลงไปในวันนี้หรอก เรื่องในทางกฎหมายที่หลักมันผิดมันเพี้ยนไป มันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศไปหรอก แต่มันจะค่อยๆ กัดเซาะกัดกร่อนไป รากฐานการปกครองโดยเอากฎหมายเป็นกติกาของสังคม มันจะไม่หยั่งลึกลงไป มันจะอ่อนแอ ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือมันจะไม่แข็งแรง มันมีโรคมันถูกชอนไชตลอด มันอาจจะไม่ตายแต่ไม่โตไม่งอกงาม ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แทนที่ไม่โตไม่งอกงาม มันจะตายด้วย ผมบอกว่าไม่ต้องตกใจหรอกที่ผมออกมาพูดอย่างนี้ บ้านเมืองไม่พังไปในวันสองวัน แต่ผมเตือนเอาไว้ว่ามันทำให้การปกครองโดยนิติรัฐของเราหยั่งลึกลงไปไม่ได้” ก่อนรัฐประหาร ไม่ทราบว่ามีการส่ง sign อะไร วิษณุ-บวรศักดิ์ ลาออก โดดหนี “เรือโจร” ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานาน แล้วหลังการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บวรศักดิ์ร่างมากับมือ บวรศักดิ์ก็ไปเป็น สนช.พร้อมกับสะด๊วบตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร ลาออกไปเป็นประธาน สสร. ต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง สนช.ก็ผ่านร่างสภาพัฒนาการเมือง ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยมีเงินอุดหนุน ตอนนั้นเครือข่าย NGO พวกคุณรสนา คุณสารี อ๋องสมหวัง คุณสมชาย หอมละออ รวมทั้งหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยมีหลายสาเหตุ แต่ประเด็นหนึ่งคือมีผลประโยชน์ทับซ้อน “การแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ในการทำหน้าที่ไม่มีความเหมาะสม ขาดความชอบธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ เป็นประธาน สนช. ด้วย ในขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาพัฒนาการเมืองของ สนช. มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคนแรก และเลขาธิการคนปัจจุบันของสถาบันพระปกเกล้า และยังมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในขณะเดียวกันเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ของสถาบันพระปกเกล้าอยู่ด้วย รวมทั้งกรรมาธิการส่วนใหญ่ชุดนี้เคยได้รับการอบรมและมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้ามาก่อนด้วย ดังนั้น การที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และบรรดาผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระปกเกล้าทั้งที่ภารกิจของสถาบันไม่เกี่ยวข้องกับสภาพัฒนาการเมืองและแก้ไขให้ตนมีอำนาจมากขึ้นทั้งการเข้าไปบริหารจัดการในสภาพัฒนาการเมืองและกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่หรือผลประโยชน์ของประชาชนอันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างชัดแจ้ง” แต่กฎหมายฉบับทับซ้อนนี้ก็ผ่านออกมาบังคับใช้เรียบร้อย ตลอดเวลา 7 ปีที่บวรศักดิ์สวิงกิ้งไปมาบนตำแหน่งต่างๆ วรเจตน์ก็ยังเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับแต่เงินเดือนกับเบี้ยประชุมไม่กี่บาทในฐานะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่เมื่อเป็นข่าวปรากฏในสื่อโสมม วรเจตน์กลับถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ ครั้งหนึ่งพวกพันธมิตรยังเอาไปลือกันว่าทักษิณจะยกลูกสาวให้ ถามว่าทำไมพวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่สนับสนุนรัฐประหาร จึงจงเกลียดจงชังวรเจตน์และนิติราษฎร์ ก็เพราะวรเจตน์และนิติราษฎร์คือก้างขวางคอชิ้นโตในการจัดการกับทักษิณด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ขัดกับหลักนิติรัฐ วรเจตน์และนักคิดนักเขียน นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ล้วนเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” มาก่อนทั้งสิ้น คำว่า “ระบอบทักษิณ” อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติ ให้พันธมิตรเอาไปใช้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ แถมยังย้อนกลับมาด่าเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ เมื่อให้ความเห็นไม่ถูกใจ ทางแยกระหว่างเรากับพันธมิตรมาถึงเมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทาน ม.7 จากนั้นก็คือการรัฐประหาร รัฐประหาร 49 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมีการออกแบบให้ใช้ตุลาการภิวัตน์จัดการกับทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่างแยบยล วางยาต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และกลไกตุลาการฝ่ายต่างๆ นักนิติศาสตร์จึงมีบทบาทสูงทั้งสองข้าง โดยเสียงข้างน้อยอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร มีวรเจตน์เป็นหัวหอก ยืนซดกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ด้วยหลักการ ตั้งแต่ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหาร วิพากษ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง เป็นหลักสำคัญในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาจนวิพากษ์คำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์ ความมีหลักการและเหตุผลของวรเจตน์ทำให้การโต้แย้งของเขาทรงพลัง ลองคิดดูว่าถ้า ดร.เหลิมออกมาโต้แย้งแทนทักษิณในคดีที่ดินรัชดา จะมีใครซักกี่คนเชื่อ ใครเชื่อพ่อไอ้ปื๊ดก็กินยาผิดซอง วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมว่าคดีที่ดินรัชดาไม่ผิด ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับ 30 พ.ค.2547 “ขาประจำหัวหน้าเผ่า” วิพากษ์ทักษิณคู่กับสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีในขณะนั้น หลังจากคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5 คนได้แก่ สุรพล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท