Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ มรดกตกทอดจากอดีตที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในปัจจุบันนั้น นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์จำนวนมากได้ให้คำอธิบายไว้มากมาย ทว่าในปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์สามารถใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เศรษฐมิติ (Econometrics) ในการยืนยันถึงอิทธิพลของมรดกจากอดีตสามารถส่งผล “อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ” ต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ หรือพูดง่ายๆว่า วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นบ่งบอก ผลพวงประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องเป็นตัวเลขได้ ผลพวงประวัติศาสตร์ที่แสดงออกในรูปตัวเลขนั้นมาจากงานศึกษาเรื่อง The Colonial Origins of Comparative Development: An Empirical Investigation ซึ่งเป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่างการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ร่วมกัน ของทีมวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย MIT เมื่อ ค.ศ.2006 โดยคำถามวิจัยสำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือ ผลกระทบการล่าอาณานิคมที่เคยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาสามารถส่งผลต่อเนื่องจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างไร การชี้วัดหรือยืนยันว่าปัจจัยต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็นต้องยืนยันผ่านความสัมพันธ์ “ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ” ระหว่างข้อมูลตัวเลขของสิ่งที่เราต้องการศึกษา ดังนั้นสำหรับงานศึกษาชิ้นนี้ ที่ต้องการหาความสัมพันธ์หลักระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจกับการล่าอาณานิคมนั้นจึงใช้ตัวแปรตัวเลขหลักๆ 2 ตัวโดยที่ตัวแปรที่ชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันของแต่ละประเทศจะใช้ตัวเลขของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนตัวแปรที่ชี้วัดมรดกของการล่าอาณานิคมที่มีผลในปัจจุบันได้นั้นจะใช้ตัวเลขของคุณภาพสถาบัน(institution quality)ภายในประเทศนั้นๆ ทว่าก่อนที่จะเข้าสู่ผลการศึกษาว่า สถาบันส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และเกี่ยวกับการล่าอาณานิคมอย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายคำว่าสถาบันเสียก่อนว่าหมายถึงสิ่งใด สถาบันคืออะไร ส่งผลต่อผู้คนและสังคมได้เช่นใด? สถาบันที่ว่าไม่ใช่สถาบันที่หมายถึงสถานที่ที่แต่อย่างใด ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Douglas North ให้คำจำกัดความว่า สถาบันหมายถึงกฎกติกาที่มนุษย์อย่างเราๆสร้างขึ้นและส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้สถาบันนั้นๆได้ด้วย ตัวอย่างของสถาบันหรือกฏกติกาดังกล่าวก็เช่น กฏหมาย ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น สำหรับวิธีการแบ่งประเภทของสถาบันนั้นมีหลายแบบ ทว่าการแบ่งเพื่อให้ศึกษาง่ายและจับต้องได้ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จะแบ่งออกเป็น สถาบันทางการเมือง (political institution) และ สถาบันทางเศรษฐกิจ (economics institution) โดยสถาบันทางการเมืองที่ดีนั้นคือกฎกติการทางการเมืองที่จัดการกับความขัดแย้งได้ดีสามารถแบ่งสันปันอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างลงตัว เท่าเทียมรูปธรรมก็คือ สถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ผลพวงคือ การไม่เกิดความรุนแรงมากนักเวลามีการจัดการปัญหาความขัดแย้งในสังคม ส่วนสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีนั้นคือกฎกติกาทางเศรษฐกิจที่ให้อิสระต่อปัจเจกชนในการประกอบการลงทุน ทำมาค้าขาย สามารถคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private ownership) ไม่ให้รัฐหรือชนชั้นนำสามารถยื้อแย่งกรรมสิทธิ์ไปได้โดยง่าย รูปธรรมคือ สถาบันเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ผลพวงก็คือ เศรษฐกิจในประเทศมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ดีต่อเนื่องและสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่แย่หรือเลวนั้นก็คือ สถาบันแบบเผด็จการทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีสมมติฐานว่าสถาบันที่แตกต่างกันไปจะส่งผลให้แรงจูงใจการทำสิ่งต่างๆของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกัน ถ้าพูดให้ลงลึกถึงปรัชญาของเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อมนุษย์นั้น เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก(mainstream economics) มีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้มีเหตุมีผลอย่างเต็มที่(rationality) มีอิสระในการกระทำการใดๆได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง ทว่าเศรษศาสตร์สายสถาบัน (institutional economics) มองว่ามนุษย์กระทำการใดๆเพื่อประโยชน์สูงสุดตนเองเช่นกัน ทว่าไม่ได้อิสระ ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้เหตุผล (bound rationality) โดยข้อจำกัดนั้นขึ้นอยู่กับสถาบัน พูดให้ง่ายก็คือ คนเราจะมีเหตุผล จะคิดได้แค่ไหน มีแรงจูงใจในการทำอะไรได้อย่างอิสระถึงระดับใดย่อมขึ้นอยู่กับกฏกติกาต่างๆที่ครอบสังคมเราจะเอื้อให้เรามีอิสระได้แค่ไหนนั่นเอง และผลของแรงจูงใจที่มาจากสถาบันที่ต่างกันก็ได้ก่อให้เกิดรูปธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างในหลายๆประเทศ เช่นความแตกต่างของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างจีนตอนเป็นคอมมิวนิสต์และทุนนิยม เป็นต้น จุดกำเนิดของสถาบันในปัจจุบัน:การตายของชาวยุโรป? ย้อนกลับมาที่งานศึกษาชิ้นเดิม ทีมวิจัยกำหนดให้คุณภาพของสถาบันแต่ละประเทศถูกวัดจากดัชนีที่เรียกว่า Risk of expropriation ที่เป็นดัชนีชีวัดระดับการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจากรัฐและชนชั้นนำ (ดัชนีดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อความอิสระของตุลาการ การเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทัดเทียม การเคารพในเสรีภาพของพลเมือง) โดยค่าของดัชนีดังกล่าวอยู่ระหว่าง 0 ถึง 10คะแนนยิ่งคะแนนมาก หมายถึงคุณภาพของสถาบันในประเทศนั้นยิ่งดีมากตาม ผลการศึกษาจาก ข้อมูล 64 ประเทศที่ล้วนแต่เคยเป็นประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมนั้นได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าค่าความแตกต่างระหว่างดัชนีเพียง 1คะแนนจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางด้านเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 154 % แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของสถาบันนั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในประเทศเพียงใดนอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆที่อาจส่งผลร่วมกับอิทธิพลของสถาบันไม่ว่าจะเป็น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ อุณหภูมิ คุณภาพดิน ทวีป ฯลฯ ให้คงที่ไว้แล้ว ก็ยังค้นพบว่า อิทธิพลของสถาบันแบบเพียวๆก็ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี สรุปก็คือต่อให้เป็นประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นที่ว่าเป็นประเทศที่หลายคนมักเชื่อกันว่าเป็นประเทศที่มี “คนดี มีคุณภาพขยัน มาตั้งแต่กำเนิด” แต่ถ้าเจอการจัดตั้งสถาบันแบบแย่ๆเข้าไปก็จะมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไม่ต่างจากประเทศยากจนทั้งหลายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทีมวิจัยต้องการค้นหาว่า ที่มาของสถาบันในปัจจุบันที่มันส่งผลต่อเศรษฐกิจนั้นมันมีต้นกำเนิดมาจากที่ใดกัน ซึ่งศึกษาไปศึกษามาก็ค้นพบว่าตัวแปรที่ส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อสถาบันในปัจจุบันนั้นคือ อัตราการตายของชาวยุโรป (mortalityrate of European settler) ในสมัยการล่าอาณานิคมนั่นเอง เหตุผลที่ว่าทำไม อัตราการตายของชาวยุโรปสามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้นั้นสามารถอธิบายได้จากการล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 17 โดยจุดเริ่มต้นนโยบายการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจยุโรปหรือประเทศเจ้าอาณานิคมในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน หรือเบลเยี่ยมคือต้องการหาที่อยู่ใหม่ และแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ และแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรและเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ประเทศของตน ดังนั้นประเทศอาณานิคมเป้าหมายจะต้องมีคุณสมบัติสองประการหลักๆ ก็คือ หนึ่ง มีทรัพยากรที่มีค่า และ สอง ชาวยุโรปสามารถพาคนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ ดินแดนเป้าหมายของประเทศเจ้าอาณานิคมนั้นล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรมีค่า เอามาค้าขายสร้างความมั่งคั่งได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเหมืองแร่ หรือทรัพยากรทางการเกษตร ทว่าสิ่งที่ต่างกันออกไปก็คือแต่ละประเทศเหล่านั้นบางประเทศ อากาศดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ชาวยุโรปอยู่ได้ ส่วนบางประเทศนั้น อากาศร้อนชื้น โรคภัยมากมาย อยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ก็ตายวันยังค่ำ ดังนั้นประเทศมหาอำนาจเลยทำนโยบายล่าอานาณิคมเป็น 2 แบบ นั่นคือประเทศไหนอุดมสมบูรณ์และอยู่ได้ จะใช้นโยบายสร้างสังคมให้ดีดังเช่นประเทศตนเอง จะได้ส่งคนของตนเองไปอยู่อาศัยได้ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือสร้าง สถาบันที่ดีตามแบบฉบับประเทศตนเองให้แก่ประเทศนั้นไม่ว่าจะเป็น การให้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือ การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของปัจเจก ตัวอย่างของประเทศอาณานิคมเหล่านี้คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย ส่วนไอ้ประเทศที่อยู่ไม่ได้ แต่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน นั้นจะใช้นโยบายที่จ้องแต่จะดึงทรัพยากรจากประเทศเหล่านั้นให้มากที่สุด นั่นก็คือการใช้กำลังทหาร และรวมหัวกับชนชั้นนำของประเทศนั้นๆบีบบังคับให้ส่งทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ให้ประเทศเจ้าอาณานิคมให้มากที่สุด ไม่ต้องสนคุณภาพชีวิตประชาชนเท่าใด หรือเป็นการสร้างสถาบันแบบเผด็จการขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างของประเทศอาณานิคมประเภทนี้คือ ประเทศเมืองร้อนทั้งหลายในอเมริกาใต้ แอฟริกาเกือบทั้งหมด และเอเชียในบางส่วน ความต่อเนื่องของความเป็นสถาบัน:มรดกตกทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และผลพวงจากนโยบายของสถาบันในอดีตที่แตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้นได้ส่งผลสืบเนื่องมายังสถาบันในปัจจุบันได้ ประเทศอาณานิคมทีชาวยุโรปไปอยู่ได้ทั้งหมดคงไม่ต้องพูดถึงว่ามีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีเพียงใด แต่สำหรับประเทศอาณานิคมที่ชาวยุโรปไปอยู่ไม่ได้ แม้ว่าหลายประเทศจะได้รับอิสรภาพจากชาติเจ้าอาณานิคมแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีลักษณะของสถาบันแบบเผด็จการดำรงอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าแม้ว่าจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่อำนาจยังคงเป็นของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับสถาบันแบบเผด็จการ พวกเขายังไม่ยินยอมที่จะเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสถาบันที่ใช้อยู่ ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายแบบเผด็จการบังคับประชาชนในประเทศ เช่นโยบายการค้าทาสของกัวเตมาลา เม็กซิโก และบราซิลที่ยังมีผลต่อเนื่องเนื่องจากความต้องการแรงงานมหาศาลในการทำการเกษตร จนกว่าประเทศทั้งหลายนั้นได้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยขึ้นในช่วงประมาณศตวรรษที่ 20จึงค่อยยกเลิกนโยบายแบบเผด็จการเหล่านั้นไป หรือแม้ว่าประเทศทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพแล้วจะมีการใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะมีก่อการรัฐประหารแย่งอำนาจคืนสู่ชนชั้นนำอยู่อย่างเนืองๆ ดังเช่น ประเทศเม็กซิโกที่กลุ่มผู้ก่อการนั้นล้วนเป็นบรรดาเจ้าที่ดิน พ่อค้าและเจ้าของอุตสาหกรรมที่ล้วนได้รับผลประโยชน์จากสมัยที่ประเทศยังถูกเจ้าอาณานิคมปกครองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว สอดคล้องกันกับข้อมูลทางตัวเลขผ่านวิธีทางเศรษฐมิติที่ค้นพบว่า ข้อมูลการตายของชาวยุโรป ข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรป ข้อมูลของสถาบันเมื่อครั้งอดีต ข้อมูลของสถาบันในปัจจุบัน และข้อมูลพัฒนาการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนแล้วแต่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกันหมด จวบจนถึงปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 มรดกตกทอดของสถาบันก็ยังส่งผลถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศดังเช่นในอเมริกาใต้ และแอฟริกาจะหลุดพ้นทั้งจากชาติมหาอำนาจและชนชั้นนำของตนไปสู่ประเทศประชาธิปไตยได้แล้ว ทว่าก็ยังเหลือมรดกตกค้างในเรื่องของกฎกติกา นโยบาย หรือแม้กระทั่งวิธิคิดของชนชั้นนำที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอยู่บ้างที่ยังส่งผลให้แต่ละประเทศที่สถาบันดีและสถาบันแย่ยังมีพัฒนาการเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน บทสรุป ไอเดียของงานศึกษาผลพวงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ได้ช่วยยืนยันตรรกะที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนมีผลมาจากอดีต และผลจากอดีตนั้นล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่มีการต่อสู้ แย่งชิงทรัพยากรและอำนาจทั้งสิ้น สิ่งที่น่าสนใจศึกษาต่อจากงานชิ้นนี้ก็คือแม้ว่าโลกจะหมดสิ้นยุคของการล่าอาณานิคมด้วยกำลังทหารซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบอย่างชัดแจ้งแล้วนั้น แต่มันสามารถแฝงฝังอยู่ในรูปของการล่าอาณานิคมด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและการฑูตที่แนบเนียนขึ้นผ่านทางสถาบันในประเทศต่างๆได้หรือไม่? หรือ ถ้าจะบีบกรอบการศึกษาให้มาอยู่แค่ในประเทศไทยก็น่าสนใจว่า ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีความขัดแย้งสูงดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น แม้จะมีนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ให้คำอธิบายที่ทรงพลังเกี่ยวกับจุดกำเนิดของมันไว้แล้ว ก็เป็นที่ท้าทายว่าความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถใช้ ตัวเลข ตรรกะว่าด้วยแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจของกลุ่มผลประโยชน์ผ่านทางสถาบันมาอธิบายปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีน้ำหนักหรือไม่? และที่สำคัญ หากประเทศไทยสมัยใหม่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครมาก่อนเลย แล้วอะไรที่ทำให้สถาบันของประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาได้เท่าสถาบันของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายได้?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net