Skip to main content
sharethis

ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครองเผย เดินหน้าทำกิจกรรมไว้อาลัยต่อ โต้คณบดีกรณีหวั่นเหตุรุนแรง-ห้ามใช้พื้นที่จัดเสวนากฎหมายหมิ่น สะท้อนให้เห็นว่าไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา ภายหลังจากที่นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อเตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ตามทีประชาไทรายงานไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา วันนี้ ร.ศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในวิทยาลัยการเมืองการปกครองเนื่องจากหวั่นเกรงเหตุรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความเห็นทางวิชาการ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ” ด้านนายโอภาส สินธุโคตร ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาการเมืองการปกครองที่ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อทวงถามคำตอบจากผู้บริหารวิทยาลัยฯ เปิดเผยกับประชาไทว่าแถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา และยืนยันจะจัดกิจกรรมไว้อาลัยที่หน้าวิทยาลัยฯ ต่อไปตามกำหนดเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเล็กน้อย โดยเขาเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงตัวว่าจะออกมาต้านการจัดกรรมดังกล่าว พร้อมเตรียมพระสงฆ์มาปัดรังควานกลุ่มของเขาด้วย หากมีการวางพวงหรีดที่หน้าวิทยาลัยฯ “คำชี้แจงของคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองที่ให้เหตุผลไม่อนุญาตให้ใช่สถานที่เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงนั้นแสดงให้เห็นว่า คณบดีไม่มีความเชื่อมั่นว่านักศึกษาของวิทยาลัยมีความเป็นอารยะ และสามารถพูดกันได้ด้วยเหตุผล วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปวารณาตัวว่าเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ แต่กลับไม่สามารถใช้พื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมวิชาการในประเด็นกฎหมายได้ ทั้งๆ ที่คณะศิลปศาสตร์นั้นสามารถจัดงานในลักษณะดังกล่าวได้” ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาลัยการเมืองการปกครองกล่าวในที่สุด สำหรับรายละเอียดคำชี้แจงจากคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคามมีดังนี้ ข้อชี้แจงต่อกรณีการไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ตามที่ได้มีการแถลงการณ์การระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรณีไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้น คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงขอชี้แจงดังนี้ สืบเนื่องจากที่คณบดีได้พบข้อความประชาสัมพันธ์ใน Face-book เรื่องการจัดเสวนาดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงได้ดำเนินการ 1) คณบดีได้เชิญผู้จัดสัมมนาเข้ามาพบถึงเรื่องที่จะจัดกิจกรรมในวันที่ 30 มกราคม 2555 คณบดีและผู้บริหารที่ร่วมชี้แจงด้วย ได้แจ้งถึงความจำเป็นในการไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรม โดยเหตุผลที่ยังไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมในขณะนี้ กล่าวคือ จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ 2) โดยเหตุที่คณบดีและผู้บริหารยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการ โดยไม่ได้คิดปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการของผู้จัด ตามคำแถงการณ์ที่ปรากฏในสื่อต่างๆ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความเป็นกลางซึ่งต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัดไม่เอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เนื่องจากนิสิตและบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองฯ มีความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารจึงเสนอความเห็นและความไม่สบายใจต่อผู้จัดเป็น 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมในนามของกลุ่มบุคคล โดยไม่ใช้นามของหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการล่วงสิทธิ์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และ ประการที่สอง ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมได้ในสถานที่อื่นที่เหมาะสมกว่า เพื่อให้สามารถระดมความคิดได้อย่างหลากหลายและไม่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงที่ไม่อาจประเมินการณ์ได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในประเด็นอันละเอียดอ่อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิตและบุคลากรในภาพรวมองค์กรวิทยาลัยการเมืองฯ ทั้งนี้ ข้อเสนอความเห็นและความไม่สบายใจทั้งสองประการนั้น ผู้จัดงานได้รับทราบแล้วในการเข้าพบในวันดังกล่าว ในฐานะคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอทำความความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์และอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานที่ยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งก่อนหน้านี้และปัจจุบัน ว่าหลักสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมารับผิดชอบเป็นผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครองนั้น ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ โดยถือว่าคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการพัฒนากระบวนการคิดระหว่างคณาจารย์กับนิสิต รวมไปถึงการเผยแพร่เกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองฯในฐานะตลาดทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งคณบดีวิทยาลัยการเมืองฯ ตระหนักในภารกิจนี้เป็นอย่างดี เห็นจะได้จากการจัดงานหรือร่วมกิจกรรมทางวิชาการในหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในวิทยาลัยการเมืองการปกครองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีความครอบคลุมในทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนและสาขาวิชาต่างๆ โดยรวมทั้งจัดตั้งคลินิกรัฐศาสตร์ที่เป็นผู้จัดเวทีเสวนานี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการบริหารงานของวิทยาลัยการเมืองฯ ที่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ เปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตที่เข้าร่วมโครงการในทุกโครงการ มีเสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา ทั้งยังอุดหนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนต่างๆ ของนิสิตและบุคคลากรทุกท่านอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการจัดกิจกรรมบางครั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกิจกรรม ความขัดแย้งภายในวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ตาม ดังเช่น กรณีของกิจกรรมการรับน้องในปี พ.ศ. 2554 แต่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ยังคงอนุญาต และให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น หากประเมินแล้วว่าสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบของระเบียบ และความสามัคคีในหมู่นิสิต อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้จัด ให้จัดกิจกรรมในอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองได้ในขณะนี้ แต่ทางผู้บริหารขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เคยคิดที่จะจำกัดหรือห้ามการแสดงออกทางความคิด การแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการของอาจารย์หรือบุคลากร ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หากแต่คณบดีในฐานะผู้บริหารที่รับผิดชอบต่อองค์กรอันเป็นที่รักของเราชาววิทยาลัยการเมืองฯทุกคนทุกรุ่นทุกสมัย ที่สืบทอดปณิธาน “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” จึงจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทางอย่างรอบคอบและระมัดระวังโดยปราศจากอคติใดๆ มาเกี่ยวข้อง เพื่อปกป้อง ดูแลความปลอดภัย ในชีวิต ทรัพย์สิน ของนิสิต บุคลากร ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการในวิทยาลัยการเมืองฯ อันเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดที่พึงกระทำในการทำหน้าที่คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (รองศาสตราจารย์ สีดา สอนศรี) คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net