Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชน 9 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อกระทรวงต่างประเทศ ให้พิจารณาเชิญผู้เสนอรายงานพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกเข้ามาตรวจสอบ สถานการณ์ในประเทศไทย เนื่องจากมองว่าสถานการณ์มีความเร่งด่วน และเป็นที่จับตามองอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ

20 ก.พ. 55 – เมื่อเวลาราว 14.00 วันนี้ ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ในนามขององค์กรสิทธิมนุษยชน 9 องค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่กระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้พิจารณาเลื่อนลำดับการร้องขอของผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) โดยเสนอให้ตอบรับคำขอของผู้เสนอรายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และสิทธิการชุมนุมตามลำดับ

ทั้งนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ มีหน้าที่เสนอต่อรัฐบาลให้ตอบรับคำเชิญของผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ ในด้านต่างๆ โดยในปีนี้ กระทรวงต่างประเทศมีแผนที่จะเสนอให้รัฐบาลตอบรับคำเชิญของผู้รายงานพิเศษ ด้านการค้าประเวณีเด็ก การซ้อมทรมาน และการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย ตามลำดับ

ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เหตุที่จำเป็นต้องยื่นหนังสือให้กระทรวงต่างประเทศให้ความสำคัญกับสถานการณ์ สิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงออก และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ถูกจับตามากจากเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนานาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่สหประชาชาติได้ส่งคำร้องขอเข้ามาตรวจสอบนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการยื่นหนังสือและพูดคุยกับชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศแล้ว ตัวแทนมูลนิธิศักยภาพชุมชนเปิดเผยว่า ทางกระทรวงต่างประเทศ ยังไม่สามารถตอบรับคำเชิญจากผู้เสนอรายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกได้ เพราะอ้างว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม และเป็นการนำกระทรวงเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังระบุว่า กระทรวงเองไม่สามารถตัดสินใจในสิ่งที่อาจแย้งกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ด้วย

อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิศักยภาพชุมชนชี้ว่า หากรัฐบาลยินยอมให้แฟรงค์ ลา รู ผู้เสนอรายงานพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ภายในประเทศอย่างเป็นทางการ ไม่น่าจะเพิ่มความแตกแยกในสังคม แต่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิ มนุษยชนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ส่วนตัวมองว่า การเชิญผู้เสนอรายงานพิเศษด้านนี้เข้ามา ไม่ใช่การใช้เขาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากแต่จะช่วยนำเอาข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย ออกมาสู่สาธารณะและสร้างความเข้าใจโดยคนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเข้าใจปัญหาที่มีอยู่มากขึ้น” อกนิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ การยื่นจดหมายเรื่องการเชิญผู้เสนอรายงานพิเศษให้เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ สิทธิในประเทศไทย เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งหลายสิบประเทศได้แสดงความกังวลถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net