Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯ เรียกกรมอุทยาน-กรมป่าไม้ชี้แจงคดีโลกร้อน จี้นักวิจัยทำข้อจำกัดของงานศึกษา เสนอใน 2 สัปดาห์ ด้านนักวิชาการป่าไม้ ชี้ข้อท้วงติง พร้อมเสนอให้เก็บข้อมูลคุณค่าในภาคเกษตรด้วย จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้ แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน โดยคำนวณจาก ‘แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม’ ที่ระบุความเสียหาย อาทิ การทำให้โลกร้อน ทำให้น้ำสูญเสีย ฝนตกน้อยลง ดินและแร่ธาตุสูญหาย ฯลฯ สร้างความสงสัยให้ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดี ว่าวิถีเกษตรกร ที่นอกจากประสบปัญหาการประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน แล้วยังถูกกล่าวหาโดยงานศึกษาทางวิชาการว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกได้อย่างไร การคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้ 1.ค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 2.ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่า 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 3.ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่า 5,400 บาทต่อปี 4.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 5.ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี 6.ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน คิดเป็นมูลค่า 600 บาทต่อไร่ต่อปี 7.ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่าแต่ละประเภท ประกอบด้วย การทำลายป่าดงดิบ คิดเป็นมูลค่า 61,263.36 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเบญจพรรณ คิดเป็นมูลค่า 42,577.75 บาทต่อไร่ต่อปี การทำลายป่าเต็งรัง คิดเป็นมูลค่า 18,634.19 บาทต่อไร่ต่อปี ข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ระบุปัจจุบันมีสมาชิก คปท.ถูกกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง ด้วยข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม (คดีโลกร้อน) ตามมาตรา 97 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำนวนทั้งสิ้น 34 ราย ค่าเสียหายรวมกว่า 13 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเกษตรกรอื่นๆ ทั่วประเทศที่ถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย วันนี้ (28 ก.พ.55) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เชิญกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ เข้าให้ข้อมูลและพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีการนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาคิดค่าเสียหายกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวน แห่งชาติ และพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยที่ประสบความเดือดร้อน จำนวนราว 30 คน จากทั่วประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย การร่วมให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ในกรณีดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งล่าสุดนี้มีการเชิญอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าชี้แจงในประเด็นเชิงนโยบาย แต่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมและไม่ได้มีการส่งตัวแทนมาชี้แจงแต่อย่างใด 'นักวิจัย' ย้ำทำเกษตรเปิดพื้นที่โล่ง ก่อผลกระทบจริง นายพงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ผู้คิดแบบจำลองฯ ที่ถูกนำไปใช้เรียกค่าเสียหายในกระบวนการยุติธรรม ชี้แจงว่า จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมาได้นำข้อท้วงติงต่างๆ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม พร้อมให้ข้อมูลว่าจากที่เคยมีการศึกษามาแล้วการทำเกษตรที่เกิดการเปิดโล่งของพื้นที่ ทำให้เกิดผลกระทบกับดินและเกิดการชะล้างหน้าดินจริง อีกทั้งการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าที่มีความลาดชันสูงก็ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 20 ส่วนเรื่องอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ได้มีทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้งบประมาณและอุปกรณ์จากญี่ปุ่นในการเก็บข้อมูลอุณหภูมิในความสูง 3 ระดับ โดยตั้งเสาเพื่อบันทึกข้อมูลอัตโนมัติทุกชั่วโมงตลอดทั้งวัน ในพื้นที่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ป่าไผ่ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พบว่าอุณหภูมิมีการแกว่ง และมีความแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ตามต้องกลับไปทำการศึกษาต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รับแบบจำลองต้องปรับปรุง แต่ระเบียบราชการแก้ทันทีไม่ได้ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวตอบข้อทักท้วงกรณีแบบจำลองฯ ต่อที่ประชุมว่า ยอมรับว่าแบบจำลองดังกล่าวมีส่วนที่ต้องแก้ไข และพยายามที่จะทำให้ถูกต้องมากที่สุด แต่ไม่สามารถทำเพื่อให้นำไปใช้ได้เลย เนื่องจากระบบราชการมีขั้นตอน ดังนั้นจึงจะขอปรับในครั้งเดียว ผู้คิดแบบจำลองฯ กล่าวด้วยว่า การประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มี 4 ข้อ คือ 1.ค่าเสียหายทำให้น้ำสูญเสีย 2.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย 3.ค่าเสียหายการสูญหายของธาตุอาหาร และ 4.ค่าเสียหายต่อความสมดุลของพลังงาน ที่เอาอุณหภูมิเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายโลกร้อนดังที่มีการเรียกกันในปัจจุบัน ด้านตัวแทนจากกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ยังยึดหลักการเดิม ไม่มีการดำเนินการอะไรเพิ่มเติม นักวิชาการป่าไม้ ชี้ข้อท้วงติง พร้อมเสนอให้เก็บข้อมูลคุณค่าในภาคเกษตรด้วย นายสมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาในเรื่องป่าไม้ของไทย คือ มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และคนได้รับข้อมูลที่ผิด อีกทั้งมีนิทานโกหกจำนวนมาก สำหรับแบบจำลองฯ ดังกล่าว การใช้พื้นที่หน้าตัดของต้นไม้เป็นมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพังทลายของดินนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากการควบคุมการพังทลายของดินขึ้นนอยู่กับวัสดุที่อยู่ชั้นล่าง เช่น พืชคลุมดิน หรือก้อนหิน เป็นต้น ซึ่งแบบจำลองที่ดีควรต้องเอาปัจจัยที่สำคัญมาใช้ อีกทั้งการทำลายดินไม่ใช่การทำลายป่าแต่อยู่ที่วิธีการใช้ที่ดิน นอกจากนี้ การเปรียบเทียบอุณหภูมิของพื้นที่ป่ากับพื้นที่โล่งนั้น หากโลกร้อนขึ้นอุณหภูมิของทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่โล่งก็ต้องเพิ่มขึ้นเหมือนๆ กัน การนำสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นนี้มาใช้คิดค่าเสียหายกับชาวบ้านถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป (คปร.) และอดีตนักวิชาการป่าไม้ระดับ 7 กรมป่าไม้ กล่าวถึงข้อเสนอว่า อยากให้มีการทำงานวิจัยเพื่อหามูลค่าจริงของพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะแปลงเกษตรอินทรีย์ และสวนสมรม ซึ่งอาจมีคุณค่าในเชิงระบบนิเวศที่มากพอที่ทำให้ผลผลิตและระบบนิเวศอยู่ได้ อีกทั้งในกลไกการเพาะปลูกเมื่อมีการใช้ธาตุอาหารก็มีการเติมธาตุอาหารลงไปในดินด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการถางป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการใช้สารเคมีนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจริง แต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลว่าพื้นที่ที่ถูกคิดค่าเสียหายในแต่ละแปลงนั้นมีการใช้ที่ดินอย่างไร และถูกทำให้สูญเสียอย่างไรบ้าง นายเพิ่มศักดิ์ เสนอต่อมาว่า อยากให้นายพงษ์ศักดิ์เขียนข้อเสนอถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขของข้อมูลต่างๆ ในแบบจำลองฯ เพราะตรงนี้มีปัญหาการนำไปใช้มาก เนื่องจากผู้นำไปใช้ต้องการใช้เพื่อทำให้ชาวบ้านหลาบจำ ซึ่งอาจผิดวัตถุประสงค์ของผู้ทำวิจัย เพื่อทำให้ผู้ที่จะนำไปใช้ได้รู้ และทบทวนว่าจะนำไปใช้ดีหรือไม่ กรรมการสิทธิฯ จี้นักวิจัยทำข้อจำกัดของงานศึกษา เสนอใน 2 สัปดาห์ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานการประชุม กล่าวเปรียบเทียบว่า แบบจำลองดังกล่าวเปรียบเหมือนยาที่มีการคิดค้นเพื่อให้กรมอุทยานนำไปใช้ประโยชน์ แต่ยาดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้กับชาวบ้านและส่งผลกระทบอย่างมากมาย ดังนั้นจึงอยากให้นายพงษ์ศักดิ์ในฐานะนักวิชาการที่เป็นเจ้าของงานวิจัยเขียนสรุปข้อจำกัดให้ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน โดยทำส่งให้กับอธิบดีกรมอุทยานและคณะอนุกรรมการฯ ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ “ยาก่อนปล่อยออกไปได้ต้องมั่นใจว่าปลอดภัย ไม่เช่นนั้นมันก็จะไปฆ่าคนอื่น” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว เตรียมเรียกอธิบดีกรมอุทยานเข้าแจงอีกครั้ง นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อมาว่า คณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือเชิญเชิญถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ อีกครั้ง เพื่อให้เข้ามาชี้แจงในเชิงนโยบายต่อกรณีที่แบบจำลองฯ ถูกนำมาใช้ โดยไม่ผ่านกระบวนการที่เป็นธรรม ซึ่งการเชิญมาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายบริหารนั้นง่ายกว่าการขึ้นศาล แต่หากอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังไม่มาให้ข้อมูลก็จะมีการเขียนรายงานเสนอต่อ กสม. ร้องกรรมการสิทธิฯ ร่วมกับชาวบ้าน ฟ้อง ‘กรมอุทยาน-กรมป่าไม้’ ละเมิดสิทธิฯ ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า แบบจำลองฯ ดังกล่าว ถูกนักวิชาการหลายท่านลงความเห็นแล้วว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ระบบเกษตรที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ได้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนดังที่ถูกกล่าวหา แต่แบบจำลองฯ ถูกนำมาใช้สร้างความเดือดร้อน ทำลายชีวิต ทำลายครอบครัวของชาวบ้านคนยากคนจน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงอยากขอให้ กสม.ดำเนินการฟ้องร้องกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ร่วมกับประชาชน ตัวแทนชาวบ้านแจงผลกระทบ ‘คดีโลกร้อน’ ทำบ้านแตกสาแหรกขาด นางกันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า งานศึกษาของนักวิชาการตกเป็นเครื่องมือของกรมอุทยานฯ ที่มาทำให้พี่น้องคนจนได้รับความเดือดร้อน หลายคนต้องบ้านแตกสาแหรกขาด บางคนคิดมากจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย จากการที่ถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายว่าการเป็นเกษตรกรทำให้โลกร้อน ทั้งที่เป็นการทำการเกษตรในที่ดินมรดกตกทอดจากปู่ย่าตายาย เกษตรกรหลายคนต้องถูกจับ ถูกฟ้องร้อง จากการโค่นต้นยาง ทั้งที่มันเป็นวิถีในการเพาะปลูก ไม่ใช่การโค่นป่าดงดิบ “งานวิชาการของท่านทำให้เรากลายเป็นผู้ต้องหาของโลกมันดีแล้วหรือ” นางกันยากล่าว นางกันยา ตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดเกษตรกรจึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน ทั้งที่ทำการเกษตรกันมายาวนาน การทำเกษตรหรือความเจริญต่างๆ ทั้งถนน ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ อะไรกันแน่ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ส่วนนางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิต ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของงานศึกษาแบบจำลองฯ ไม่มีความชัดเจน จากที่เดิมระบุว่าเพื่อการนำเงินมารักษาป่า แต่ขณะนี้กลับนำมาใช้คิดค่าเสียหายจากชาวบ้าน และจากข้อท้วงติงในทางวิชาการชัดเจนว่าแบบจำลองฯ มีความบกพร่องและมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งการแก้ไขเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่ผลกระทบจำนวนมากที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ตามจรรยาบรรณนักวิชาการจะรับผิดชอบตรงนี้อย่างไร และจะปรับแก้ ยกเลิก หรือชะลอการบังคับใช้ได้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net