Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ม.แม่โจ้ มอบปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชนให้แก่นายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ ระบุเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 โดยสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ผู้ทรงคุณวุฒิรวม 13 คน โดยนายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นผู้ได้รับปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ทางสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ โดยเริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2516 ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมการพัฒนารวบรวมเครือข่ายชาวไทยภูเขา 13 เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ได้ดำเนินการบวชป่า 50 ล้านต้น เนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช๒๕๓๙ จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ 100 องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง จำนวน 40 หมู่บ้าน จากการทุ่มเทในการทำงานจึงทำให้ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิได้รับการประกาศจากคณะกรรมการ “คนดีศรีสังคม” ให้เป็น ปราชญ์แห่งขุนเขา อีกทั้งได้รับยกย่องเป็น “บุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม” ตามคำประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในด้านงานวิชาการ ได้ทำการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ตามวิถีของบรรพบุรุษจนสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจอันลุ่มลึก และตกผลึกทางความรู้ ด้านป่าไม้ และธรรมชาติ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีญาติพี่น้อง เด็กเยาวชนปกาเกอะญอ เข้าร่วมแสดงความยินดี โดยการแสดงศิลปะพื้นบ้านชนเผ่า รวมทั้งมี ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เล่นดนตรีปกาเกอะญอ และ ภู เชียงดาว ร่วมอ่านบทกวีให้แก่ นายจอนิ โอ่โดเชา ภายในงานด้วย ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับนายจอนิ โอ่โดเชา ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้มีภูมิปัญญาและยังสามารถนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่นั้นมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง และเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องชนเผ่าได้อย่างดี “การที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่พะตีจอนิในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ เยาวชนลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้ เรียนรู้และเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชนเผ่า ว่าสิ่งที่พะตีจอนิกำลังทำอยู่นั้นคือส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อการศึกษา และจะทำให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้และภูมิใจว่า จริงๆ แล้วการศึกษานั้นอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในรากเหง้าของตัวเราเอง” ดร.สมคิด แก้วทิพย์ กล่าว หลังจากนั้น นายจอนิ โอ่โดเชา ได้บอกเล่าความรู้สึกให้ทุกคนด้วยสีหน้าเบิกบาน ว่าต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน ขอบคุณภรรยา รวมไปถึงญาติพี่น้อง เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ “อย่างไรก็ดี อยากจะบอกทุกคนว่า โลกนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว ฉะนั้น คนกินน้ำ ก็ต้องรักษาน้ำ คนกินข้าว ต้องรู้จักต้นข้าว คนอยู่ป่าก็ต้องดูแลป่า คนกินสรรพสิ่งก็ต้องดูแลสรรพสิ่ง” นายจอนิ กล่าวย้ำในงาน ในขณะที่ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินหนุ่มปกาเกอะญอ ที่มาร่วมงานได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายจอนิ โอ่โดเชา ว่า รู้สึกดีใจที่สถาบันการศึกษาหลายแห่ง นักวิชาการหลายท่านนั้นเริ่มมองเห็นคุณค่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชนเผ่ามากขึ้น โดยผ่านตัวผู้รู้ อย่างเช่นพะตีจอนิ โอ่โดเชา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้นำชีวิตเป็นทั้งผู้ให้ ผู้แบ่งปันวิทยาทานให้กับผู้คน สังคมมายาวนานหลายทศวรรษ “หลายๆ ครั้ง หลายๆ ปัญหาวิกฤติของสังคมไทย มีการถกเถียงและหาทางออกของปัญหา ก็มักมีหลายคนหยิบยกเอามุมมองความคิดของพะตีจอนิ มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาให้ความสนใจ ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาชนเผ่า และไม่ใช่มีเพียงแค่ชนเผ่าปกาเกอะญอเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายชนเผ่าที่มีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาที่มีคุณค่าในการนำมาปรับใช้ในสังคมไทย ดังนั้น ผมคิดว่าเราจะต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น” ชิ สุวิชาน กล่าวถึงนายจอนิ โอ่โดเชา อีกว่า เขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้นำชนเผ่าที่มีคุณค่า มี่ความกล้าหาญ ที่ได้เอาตัวเองเข้าแลก เข้าต่อสู้กับปัญหา เอาตัวเองไปทดลองอย่างเช่น การทำสวนขี้เกียจ การทำป่าเจ็ดชั้น ซึ่งได้ลงมือทำ จนเห็นผล เป็นการเอาตัวตนอธิบายและหาทางออกให้กับสังคมไทยได้ “ในมุมมองของผม ในฐานะที่เป็นลูกหลานปกาเกอะญอ มองว่า พะตีจอนิ ในเวลานี้เป็นเหมือนพี่เลี้ยงของนักต่อสู้เคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ซึ่งแน่นอนว่า ที่ผ่านมานั้น ใช่ว่าแกจะได้รับผลตอบแทนดีงามเสมอไป แต่บ่อยครั้งพะตีจอนิ นั้นเจ็บปวดเพราะถูกทิ่มแทงจากคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจจนหัวใจตัวเองบาดเจ็บ แต่ถึงอย่างไร พะตีจอนิ ก็ยังยืนหยัดที่ก้าวเดินตามแนวทางของตนเอง นั่นคือสิ่งที่พะตีจอนิได้บอกย้ำกับหลายๆ คนว่า บางครั้งเราไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ต้องหลบหลีก, เผชิญหน้าโดยไม่ปะทะ และบางครั้งยอมให้ถูกทิ่มแทงบาดเจ็บ แต่คอยช่วยเยียวยาบาดแผลให้คนอื่น” ชิ สุวิชาน บอกเล่าถึงตัวตนของนายจอนิ โอ่โดเชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net