ทุนนิยาม101: ชะตากรรมแรงงานไอที

4 มี.ค. 55 - รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอน "ชะตากรรมแรงงานไอที” ได้เชิญ พัชณีย์ คำหนัก นักวิจัยจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง “สภาพการทำงานของแรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเรียบเรียงเป็นหนังสือ “จะทำยังไงให้พวกคุณรู้ว่า “ฉันป่วย” How can I tell you when I’m ill?: เบื้องหลังคนงานผลิตสินค้าไอที” มี เนื้อหาเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของแรงงานภาคอุตสาหกรรมผลิตชิ้น ส่วนสินค้าไอทีในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานหญิง ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนแรงงานหญิงมากกว่า 80%

พัชณีย์ กล่าวว่า แรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีปัญหาสุขภาพ และถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง ได้รับสวัสดิการต่ำ โดยการผลิตในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ มักจะเรียกห้องทำงานว่า “คลีนรูม” ซึ่งมักออกแบบให้สภาพห้องมีความสว่าง สะอาด ปลอดฝุ่น มีการวัดฝุ่นตลอดเวลา มีการตรวจสุขภาพคนงาน คนงานในห้องผลิตจะสวมหน้ากาก แต่ในโรงงานหลายแห่ง ก็มีกรณีที่คนงานไม่ยอมสวมแว่นตาป้องกัน หรือไม่สวมถุงมือเมื่อถึงเวลาต้องเร่งผลิตให้ทันคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ในหลายแผนกเช่น แผนกประกอบฮาร์ดดิสก์ แผนกซ่อมแซมงาน ที่ต้องใช้สารตะกั่วในการบัดกรี ก็มักมีคนงานป่วยเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากสารตะกั่วและโลหะหนักเช่นกัน

นักวิจัยจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวด้วยว่า โรงงานอิเล็กทรอนิกส์มักจะจ้างผู้หญิงมาทำงาน โดยในงานวิจัย ผู้จัดการโรงงานแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่าเพราะคนงานหญิงมีความอดทนในการทำงาน นั่งนาน สามารถอดทนทำงานชิ้นเล็กน้อยจุกจิก

อย่างไรก็ตามค่าจ้างแรงงานอิเล็กทรอนิกส์มักอยู่ในระดับเทียบเท่าค่าแรง ขั้นต่ำ ทำให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลาหรือโอทีเพิ่มอีก 4 ชั่วโมง รวมชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน หากไม่ทำงานล่วงเวลา ก็จะส่งผลต่อการได้เบี้ยขยัน และการประเมินงานเพื่อปรับเงินเดือนช่วงสิ้นปี้ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์จำนวนมากตัดสินใจที่จะไม่ แจ้งนายจ้างว่าตั้งครรภ์เพื่อที่จะได้ทำงานต่อไปได้อีก เพราะนายจ้างมักใช้เหตุนี้ในการให้พักงานโดยไม่ได้รับเบี้ยขยัน ซึ่งทำให้ได้คนงานมีรายได้น้อยลง

นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทหลายแห่งที่ประกาศว่ามีจรรยาบรรณทางการค้า แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่มีผลในทางปฏิบัติเช่น ในกรณีที่คนงานต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย มีการกำหนดให้คนงานทำงานไม่เกิน 33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติคนงานในหลายโรงงานต้องทำงานสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง

โดยพัชณีย์สรุปว่า โครงสร้างการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น มักจะมีระดับการเลื่อนขั้นคนงานไม่มาก และคนงานมักไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษา คนงานต้องอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำตลอด และกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นแต่ละบาทก็ใช้เวลาหลายปี คนงานมักจะระบุว่าต้องทำงานหนัก เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ต้องทำงานด้วยชั่วโมงทำงานที่ยาวขึ้น แต่ได้ค่าจ้างนิดเดียว โดยพัชณีย์เสนอว่า ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผู้ผลิตในประเทศมักจะเป็นบริษัทที่รับเหมาช่วงมาจากแบรนด์ใหญ่ๆ เมื่อผลิตชิ้นส่วนเสร็จก็ส่งออกไปบรรจุในต่างประเทศและส่งมาขายเป็น ผลิตภัณฑ์ไอทีในไทยอีกทีหนึ่ง โดยที่มูลค่าการส่งออกนั้นเติบโตมาก ขณะที่ค่าแรง เงินเดือนที่คนงานได้รับกลับไม่สัมพันธ์กัน ถือว่าคนงานไม่ได้อะไรมากนักหากเทียบกับตัวเลขการเติบโตของมูลค่าส่งออกชิ้น ส่วนอิเล็กทรอนิกส์

รายการทุนนิยาม 101 ใน youtube และใน Vimeo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท