ความมั่นคง(?)ที่แลกด้วย 'ความเป็นมนุษย์'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

(ก) เรื่องสั้น “เมืองแห่งความสุข” ในชั้นใต้ดินของอาคารสาธารณะอันสวยงามแห่งหนึ่ง มีห้องห้องหนึ่งบานประตูปิดล็อก ไม่มีหน้าต่าง ในห้องมีเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กปัญญาอ่อน ขาดสารอาหาร ไม่มีใครเหลียวแล ใช้ชีวิตไปวันๆ ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ทุกคนในเมืองโอเมลาสรู้ว่ามีเด็กคนนี้อยู่...พวกเขารู้ว่ามันต้องอยู่ตรงนั้น... พวกเขาเข้าใจดีว่าความสุข ความงดงามของเมือง ความนุ่มนวลของมิตรภาพ สุขภาพของลูกหลานของพวกเขา...กระทั่งความอุดมสมบูรณ์ของเรือกสวนไร่นา และอากาศอันอ่อนโยนของท้องฟ้า ทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความทุกข์ทรมานของเด็กน้อยคนนี้...ถ้าหากเด็กคนนี้ถูกนำออกมาจากห้องอันน่าชิงชัง สู่แสงตะวัน ไปอาบน้ำและป้อนข้าวป้อนน้ำและปลอบโยน มันก็จะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ถ้าหากทำลงไปในวันนั้นและเวลานั้น ความรุ่งโรจน์งดงามและผ่องอำไพทั้งหมดของโอเมลาสจะเหี่ยวเฉาและถูกทำลาย นั่นคือ “เงื่อนไข” จากหนังสือ “ความยุติธรรม” โดย Michael J.Sandel สฤณี อาชวานันทกุล แปล หน้า 60) เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่าอิสรภาพ และ “ความเป็นมนุษย์” ของเด็กคนหนึ่งถูกทำลายไปเพื่อให้คนทั้งมวลมีความสุขสมบูรณ์พร้อม (ผมค่อนข้างแน่ใจว่า เราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง แดง หลากสี ฯลฯ จะตอบว่า ยอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันฝืนต่อมโนธรรมของเรา มันไร้มนุษยธรรม ผิดศีลธรรม) .......................................................................... (ข) เรื่องจริง “เมืองแห่งความขัดแย้ง” เมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง นับเฉพาะปี 2475 เป็นต้นมา มีการทำรัฐประหาร และมีการ “อ้างอิง” สถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหาร ปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า จนผู้คนเสียชีวิตและสูญหายนับไม่ถ้วน แต่เมืองแห่งนี้ยังคงรักษา “กฎหมายพิเศษ” (เช่น ม.8 ม.112) เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ เพราะถูกปลูกฝังกันมาว่า สถาบันมีบุญคุณแก่ประเทศชาติ และประชาชนมายาวนาน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความสามัคคี ความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องปกป้องให้มั่นคงอยู่ตราบนิรันดร์ ภายใต้กฎหมายพิเศษนั้น จำเป็น “ต้องแลก” ด้วยการยอมให้มี “นักโทษทางความคิด” และ/หรือแลกด้วยสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อใครถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายพิเศษนี้ก็มีแนวโน้นที่จะไม่ให้ประกันตัว และแน่นนอนว่า พวกเขาย่อมไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเอง ในเมืองแห่งความขัดแย้งนี้ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเพราะการอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ ต่างทราบดีว่า มีคนอย่างอากง สมยศ สุรชัย ดา ตอร์ปิโด เป็นต้น ที่ถูกละเมิดสิทธิการประกันตัวบ้าง สิ้นไร้เสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเองบ้างอยู่จริง ซึ่งหมายถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นคน” ของพวกเขาเหล่านี้ถูกทำลายลง โดยที่คนทั้งเมืองต่างรับรู้โศกนาฏกรรมนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขาถูกทำลายลงตามกฎหมายพิเศษ ที่ “เป็นเงื่อนไข” ของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้ (1) ไม่ใช่เด็กน้อยปัญญาอ่อนคนเดียวเท่านั้น (ดังในเรื่องสั้น) ที่ต้องถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ประชาชนทุกคนถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน สิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ (2) ไม่ใช่การถูกทำลายความเป็นคนเพื่อความสุขสมบูรณ์ของทุกคน แต่เพื่อปกป้องสถาบันให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนถูกจำกัด และ/หรือถูกทำลายลงเพื่อปกป้องสถาบันหลักใดๆ ให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป โดยที่การปกป้องนั้นก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า สมาชิกของสังคมทุกคนจะมีแต่ความสุขเต็มที่(เหมือนในเรื่องสั้น) มิหนำซ้ำยัง (1) อาจเกิดความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษนี้ และ (2) การยกเลิกกฎหมายพิเศษนี้อาจเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” ที่จะทำให้สังคมเราสามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ ควบคู่กับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงของประชาชนให้มั่นคงไปด้วยกันได้ หรือให้สังคมเราเป็นสังคมที่หยุดการอ้างอิงสถาบันสร้างความขัดแย้ง และการเข่นฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างถาวร แต่เป็นเรื่องแปลกประหลาดไหม ที่เราไม่อาจยอมรับเงื่อนไขในกรณีตัวอย่างในเรื่องสั้นได้เลย ทว่ากลับยอมรับเงื่อนไขในเรื่องจริงที่เป็นอยู่นี้ได้! หมายความว่า พวกเรายอมรับให้มี “กฎ” ที่นอกจากจะไม่ใช่หลักประกันความสุขสมบูรณ์พร้อมของทุกๆ คน (ดังในเรื่องสั้น) แล้ว ยังเป็นกฎที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของเรา และเป็นกฎที่ดำรงการอ้างอิงสถาบันเพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคมให้คงอยู่ตลอดไปอีกด้วย ตกลงว่า พวกชาวเมืองที่เสพสุขสำราญบนเงื่อนไขของการทำลายความเป็นมนุษย์ของเด็กปัญญาอ่อนคนหนึ่งในเรื่องสั้น กับพวกเราที่มีชีวิตอยู่ในความขัดแย้งบนเงื่อนไขของการยอมให้มีการทำลายความเป็นคนของประชาชน เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้งได้อีกต่อไปนั้น ระหว่างพวกเรากับ “ชาวเมืองแห่งความสุข” ในเรื่องสั้น ใครมีเหตุผล มีมโนธรรม มีสำนึกปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” มากกว่ากัน? หรือมันเป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินไปไหมที่ “มโนธรรม” ของเรารับไม่ได้เลยกับ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องสั้น แต่กลับรับได้อย่างปราศจากการตั้งคำถามต่อ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องจริง! ตกลงว่า ระหว่างเรื่องราว (ก) กับ (ข) อันไหนสะท้อนสภาพสังคมที่ “อยุติธรรม” มากกว่ากัน?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท