Skip to main content
sharethis

เห็นด้วยกับ “วรเจตน์” หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องซื่อไปหน่อย ชี้สังคมไทยยังอยู่ภายใต้ประชานิยม ผู้บริหารไม่คิดดูแลประชาชนระยะยาว จึงหาเสียงแบบหวังผลระยะสั้นซึ่งเป็นสิ่งอันตราย เชื่อในที่สุดสังคมไทยก็ต้องมาพูด ม.112 อย่างจริงจังว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะตอนนี้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) มติชนออนไลน์เผย แพร่บทสัมภาษณ์ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการบริษัท และประธาน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจผู้มีบทบาทสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่มติชนออนไลน์) โดยตอนหนึ่งนายปรีดา ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์โครงสร้างสังคมการเมืองไทยว่า “เกือบ 80 ปีที่แล้วที่เราเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากนั้นทหารมีอำนาจครอบคลุมมาอย่างน้อย 50-60 ปี ทหารเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของประเทศนี้อะไรต่างๆ แต่ระยะ 20 ปีหลังฝ่ายทุนนิยมเป็นผู้ที่เริ่มมีบทบาทถึง

ปัจจุบันนี้ ฝ่ายทุนเป็นฝ่ายที่ดูประหนึ่งว่ามีอำนาจครอบคลุมประเทศนี้ และบริหารประเทศนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดความแตกต่างมี ตอนที่ทหารมีอำนาจประมาณ 60 ปี ทหารก็ยังต้องฟังเสียงของประชาชน มันต่างกับฝ่ายทุนที่เป็นอยู่ คือ ครั้งแรกที่ฝ่ายทหารเรียนรู้ว่า ทหารไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ คือ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 มันเป็นการเคลื่อนไหวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย”

ปรีดาวิเคราะห์ด้วยว่า การเมืองทุกวันนี้เป็นเรื่องของการใช้ระบอบประชานิยม “ระบอบประชานิยมซึ่งมิได้มีความคิดในการที่จะดูแล ความก้าวหน้าความสุขมวลรวมของประเทศ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวเลย เป็นการหากิน หาเสียงแบบสั้น ๆ เพื่อให้ได้มาเป็นผู้บริหารใน 4 ปี หรือ 2 ปีข้างหน้าให้ได้เสียงที่จะเลือกฉันกลับเข้ามา ซึ่งแน่นอนอันนี้เป็นอันตราย เพราะการบริหารประเทศคุณไม่สามารถใช้ประชานิยมในระยะยาวได้ การบริหารประเทศเหมือนยังกับการบริหารครอบครัว เวลาลูกอยากจะกินขนม ก็ให้เงินไปซื้อขนม แต่เงินไม่ใช่จะมีตลอดไป เงินไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้า และเวลาลูกกินอาหาร กินมากเกินไปฟันก็ผุ ตัวก็อ้วน สุขภาพก็ไม่ดี”

ต่อคำถามเรื่องจุดบกพร่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “การที่คุณจะเป็นองค์กรที่ร่วมกันทำจากอุดมการณ์ ถ้ามันไม่ได้เป็นองค์กรที่บริหาร แล้วมีสัดส่วน มีตำแหน่งว่าใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นลูกน้องชัดเจน ใครเป็นผู้บังคับบัญชาต่าง ๆ ชัดเจน คุณไม่มีทางรักษามันเอาไว้ได้ในระยะยาว เพราะมันไม่มีใครที่จะต้องมานั่งฟังใครอย่างจริง ๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Chain of command” มันไม่มีผู้ที่จะมาจัดระบบ อย่างในบริษัทเราพอสั่งกันได้ ฉันเป็นหัวหน้า เธอเป็นลูกน้อง”

ต่อเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปรีดากล่าวว่า “ผมก็ยังเห็นด้วยว่า มาตรา 112 มันก็ต้องถูกแก้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนปีที่น่าจะลดทอนลงมาบ้าง ก็ทำให้ผมต้องเลือกทางที่จะไปเหมือนกัน ทั้งที่ผมก็ไม่ได้เห็นทุกอย่างไปในทางเดียวกัน แต่ตอนนี้เราต้องรวมตัวกัน เพราะเราเห็นปัญหา หลักของประเทศนี้ คือ คุณทักษิณ เราเห็นเหมือนกัน ทำให้เราขจัดสิ่งเรื่องอื่นก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”

ต่อคำถามที่ว่า “อะไรคือ อันตรายที่สุดของคุณทักษิณ” นายปรีดาตอบว่า “คุณทักษิณจัดกระบวนการการเมืองขึ้นมา พรรคการเมืองขึ้นมา และเข้าสู่การให้ได้คะแนนเสียงมา ผ่านนโยบายประชานิยมล้วน ๆ ผมพูดเรื่องนี้มาอย่างน้อย 11-12 ปี แล้วว่า เป็นอันตรายต่อประเทศมาก”

ในเรื่องความหวังกับการเมืองไทย นายปรีดากล่าวว่า “ต้องมี” และว่า “อย่างน้อยสุดเราก็ออกมาจากระบอบทหารเต็มที่มา 60 ปีมาสู่ระบอบประชาธิปไตย จากครึ่งใบมาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบตอนนี้ "ทุนสามานย์" จะมีบทบาทมากเกินไปเราต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และเราหวังว่า ประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวในการรักษาอารมณ์ ไม่ใช่ไป ปิดสนามบิน ไปอย่างมีสติ”

นอกจากนี้นายปรีดาได้ตอบคำถามสุดท้ายเรื่องมาตรา 112 ด้วยว่า “ผมว่าที่สุด สังคมไทยก็ต้องมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว ผมเห็นด้วยกับ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (นิติราษฎร์) หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องก็ซื่อไปหน่อย ผมไม่เชื่อว่า คนพวกนี้รับเงินใครมาเคลื่อนไหว ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า พวกเขาบริสุทธิ์ใจ แต่บางเรื่องไม่เหมาะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net