Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ชีวิตผม บ่เคยคาดคิดหว่าสิได่เป็นคนไทย เพราะพ่อของผมเคยไปอำเภอและไปจังหวัดมาแล่วหลายเถื่อ” ประสิทธิ์ จำปาขาว ชายหนุ่มวัย 29 ปี กำลังบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองถึงความคิด ความหวัง ความพยายามของเขาและพ่อ ขณะที่พ่อของเขายังมีชีวิตอยู่เมื่อหลายปีมาแล้ว... ประสิทธิ์ จำปาขาว เริ่มมีความหวังและเริ่มให้ความสนใจในปัญหาของเขาเองมากขึ้น หลังจากมีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนลงพื้นที่และเริ่มสนใจปัญหาเรื่องสถานะของกลุ่มคนลาวอพยพมากขึ้น ในระดับพื้นที่ที่มีกลุ่มคนลาวอพยพในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสถานะของพวกเขา ประสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของในปี 2552 (ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 850 คน) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันสามอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลฯ ได้แก่อำเภอโขงเจียม อำเภอบุณฑริก และอำเภอโพธิ์ไทร ก็ได้มีการขับเคลื่อนผลักดันประเด็นปัญหาคนลาวอพยพอย่างเข้มข้น มีการยื่นข้อเสนอให้สำรวจสถานะกันใหม่อีกรอบ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอเป็นแรงงานต่างด้าว (ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 00 และมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.38/1)หรือการไปรับสถานะบุคคลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงของพวกเขา (ไปรับการสำรวจและมีชื่อใน ท.ร. 38/1) ทำให้พวกเขากลายเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวไปโดยปริยาย ประสิทธิ์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ประสิทธิ์ไม่ได้เป็นคนลาวอพยพที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเหมือนคนอื่นๆ เนื่องจากเขามีพ่อเป็นคนไทย เพียงแต่เขาเกิดที่ประเทศลาว เขาจึงเป็น “ลูกพ่อไทย” หรือมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 [2] เขาจึงเปรียบได้กับคนไทยตกหล่น แต่ปัญหาที่สำคัญคือ เขาต้องไปดำเนินการให้อำเภอโขงเจียมรับรองว่า-เขาเป็นคนสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อของเขาเข้าในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) และออกบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยให้เขา ปี 2552 ประสิทธิ์ ได้ยื่นเรื่องขอเพิ่มชื่อที่อำเภอโขงเจียม เจ้าหน้าที่ได้เรียกพยานไปสอบปากคำหลายคน ก่อนที่จะบอกให้เขาไปตรวจ DNA กับนายสมคิด จำปาขาว น้องชายของเขา (ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้ว เนื่องจากน้องชายเกิดในประเทศไทย) เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเขาเป็นลูกของนายไสว จำปาขาวจริง ผลการตรวจ DNA จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ยืนยันว่า เขาเป็นพี่น้องนายสมคิด จำปาขาว จริง แต่เมื่อนำผล DNA ที่ได้มาไปยื่นอีกครั้งที่อำเภอ กลับได้รับคำตอบว่า ยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะ “ยังไม่มีกฎกระทรวง”ที่มาตรา 7 วรรคสองกำหนดว่าจะต้องรอให้มีกฎกระทรวงมากำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการพิสูจน์ “ความเป็นลูกพ่อไทย” ประสิทธิ์ได้เดินทางเข้าออกทำเนียบอยู่หลายครั้ง มีการเจรจากับรัฐบาลเพื่อผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวง …บ่อยครั้งที่ต้องถูกถากถาง เยาะเย้ย และถูกสบประมาทว่าเป็นเรื่องของฝันลมแล้งๆ แต่เขาก็ไม่เคยท้อ เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่าทิศทางที่เขากำลังเดินไปถูกทางแล้ว!! ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ว่าการอำเภอโขงเจียม-ประสิทธิ์ รู้สึกคุ้ยเคยกับมันพอๆ กัน เพราะเขาเดินทางเพื่อไปติดตามการดำเนินงานทั้งสองแห่ง แต่ความคืบหน้ายังไม่เป็นผล ในระหว่างที่เขารอเดือนสิงหาคม ปี 2553 เขาได้เข้าไปพบทนายความคนหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายหลายท่าน ว่ายังมีอีกช่องทางที่ทำได้คือ ฟ้องศาลปกครองให้ศาลมีคำสั่งยืนยันหรือรับรองความเป็นบุตรคนไทย และใช้คำสั่งศาลยืนยันกับอำเภอ แต่ยังไม่ทันที่กระบวนการศาลจะเริ่มต้น สิ่งที่เขารอคอยมานานก็มาถึง เมื่อกฏกระทรวงถูกประกาศออกมาใช้ในต้นเดือนตุลาคม ปี 2553 “ผมดีใจมากครับมื่อนี่ บ่คิดบ่ฝันหว่าสิมีมื่อนี่” ประสิทธิ์ พูดไปยิ้มไป หลังจากที่เขานำบัตรประชาชนมาโชว์ให้พวกเราดู บัตรออกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554 “กว่าจะได้มาก็นานเหมือนกัน ทั้งที่กฎกระทรวงออกมาตั้งนานแล้ว” ประสิทธิ์บอกแกมบ่นให้ฟัง ทั้งที่กฎกระทรวงออกมาแล้วตั้งแต่ ปี 2553 เมื่อไปสอบถามที่อำเภอ คำตอบที่ได้รับคือ “ยังไม่มีหนังสือคำสั่งมา” ทางอำเภอจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมกับคำปลอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ใจเย็นๆ ประสิทธิ์บอกว่า เขาไปตามด้วยตัวเองสามครั้ง จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนรูปแบบด้วยการโทรสอบถามไปยังอำเภอเพื่อติดตามความคืบหน้าของคำสั่งการ สิ่งที่ประสิทธิ์รอเมื่อได้รับแจ้งว่าคำสั่งมาถึงแล้ว-นั่นคือ-แบบฟอร์มการยื่นคำร้องขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิด [3] จนกระทั่งวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ประสิทธิ์ จึงได้ลงมือกรอกแบบฟอร์มคำร้องเพื่อยื่นเรื่องพิสูจน์ความเป็นลูกพ่อไทยกับอำเภอโขงเจียม และแล้วชาวบ้านบะไหก็ได้เห็นยิ้มแรก ยิ้มของความสุข ความหวังแรกของกลุ่มคนไร้สัญชาติ เมื่อประสิทธิ์ จำปาขาวได้รับการรับรองว่าเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554 ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กฎกระทรวงถูกประกาศใช้ คงไม่ใช่ประสิทธิ์ จำปาขาวเท่านั้นที่ยิ้มได้ เพราะหลังจากที่ประสิทธิ์ได้สัญชาติไทย ลูกหลานคนไทยที่ไปเกิดที่ประเทศลาวอีกหลายสิบคนทยอยมายื่นเรื่องขอพิสูจน์ความเป็นลูกพ่อไทย และขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) กับทางอำเภอโขงเจียม ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบว่าจำนวน 10 ราย ที่เป็นลูกพ่อไทยเหมือนกับประสิทธิ์ ผ่านกระบวนการพิสูจน์และได้รับการเพิ่มชื่อในท.ร.14 เรียบร้อยแล้ว และยังมีอีกกว่า 10 รายที่ทยอยมายื่นเรื่องที่อำเภอโขงเจียม จะมีสักกี่คนที่รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของประสิทธิ์ จำปาว สิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ตามมาเป็นประโยชน์กับอีกหลายๆคนในประเทศนี้ นั่นคือความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจเอ่ยออกมาได้มากมายนัก มีเพียงรอยยิ้มที่ประดับอยู่บนดวงหน้าที่เคยไร้ซึ่งความหวัง...มันเป็นรอยยิ้มแห่งของชัยชนะเล็กๆของกลุ่มคนไร้สัญชาติและเป็นรอยยิ้มของความสุขที่เจือจานไปสู่ผู้อื่นอย่างมิรู้จักเหนื่อยหน่าย...ของ ประสิทธิ์ จำปาขาว แห่งหมู่บ้านบะไห ----------------------------------- อ้างอิง: ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ ,วันที่ 5 มีนาคม 2555 “คำว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม” หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว6313 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2554 เรื่อง การพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดย การเกิดตามาตรา 7 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2551, http://www.statelesswatch.org/node/413 หมายเหตุ มีข้อทักท้วงมาจากคุณ ปิ่นแก้ว - สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ แจ้งเข้ามาว่า - ต้องขออภัยค่ะ มีคลาดเคลื่อนในต้นฉบับค่ะ ต้องบอกว่า ประสิทธิ์ จำปาขาว ซึ่งเป็นลูกของพ่อ(สัญชาติไทย) กับแม่(คนลาว) ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แล้วประสิทธิ์เกิดที่ลาวนั้น ประสิทธิจะมีสัญชาติไทยตามพ่อ --- เป็นไปโดยผลของมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ส่งผลการมีสัญชาติไทยไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา 7(1) ย้อนไปยังวันที่ประสิทธิ์เกิด อย่างไรก็ดี ประสิทธิ์ ต้องพิสูจน์ด้วย -- ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ กฎหมายสัญชาติ ฉบับที่4 พ.ศ.2551 คือมาตรา 7 วรรค 2 บอกว่า ให้รอ/ดูกฎกระทรวง สองปีเศษผ่านไป.. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 กฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ก็ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net