Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบชัยชนะจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรคนหนึ่งจากภาคใต้ที่เคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปที่ดินมาอย่างต่อเนื่องได้เข้าร่วมงานสัมมนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยที่พวกเราจัดขึ้น เขากล่าวบนเวทีด้วยดวงตาเป็นประกายเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า นับจากนี้ไปภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ปัญหาของพวกเขาคงจะได้รับการพิจารณาและแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเรียกร้องของพวกเขาประสบกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ ทั้งในด้านข้อกฎหมาย ความล่าช้าและไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ความฉ้อฉลและไม่ตรงไปตรงมาของข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่คุกคามสารพัดรูปแบบตั้งแต่การรื้อทำลายสิ่งปลูกสร้างไปจนถึงขั้นถึงแก่ชีวิต

ที่ผ่านมาเขาและสมาชิกเกษตรกรในกลุ่มได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากเห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยและการต่อต้านรัฐประหารเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเอื้อต่อการที่ประชาชนจะสามารถต่อรองกับนโยบายการพัฒนาของรัฐและทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในส่วนที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อฐานทรัพยากร พวกเขายังเห็นว่าการมีส่วนร่วมต่อสู้ในเวทีการเมืองระดับชาติเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยนี้จะส่งผลไม่เพียงต่อการยกเลิกการใช้อำนาจของกองทัพ นำมาสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง แต่ยังจะช่วยทำให้สวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องในระดับพื้นที่เรื่องที่ดินทำกินได้รับการคุ้มครองมากขึ้นด้วย

ฉันเองรู้สึกมีความหวังไปกับเขา ไม่เฉพาะที่ว่าเกษตรกรไร้ที่ดินอย่างพวกเขาจะได้รับการจัดสรรให้ได้ถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและมีความมั่นคง แต่รวมไปถึงว่าอย่างน้อยที่สุดก็ยังพอจะมีกลุ่มก้อนของชาวบ้านที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามาร่วมขบวนกับกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย อันเป็นกรณีที่หาได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของขบวนการเสื้อแดงอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่พวกเขาใกล้ชิดและชื่นชอบในนโยบาย

ที่ผ่านมามีงานศึกษาคนเสื้อแดงที่ชี้ว่าความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อนักการเมืองในระดับต่างๆ และต่อพรรคการเมือง ตลอดจนการเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อแดงนั้นเป็น “ปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวัน” และ “การแสดงตัวตนทางการเมือง” ที่แสดงถึงความรู้และความเข้าใจในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ที่พวกเขาพึงมีพึงได้จากระบอบประชาธิปไตยท่ามกลางการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยของชุมชนชนบท

ขณะเดียวกันกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในขบวนการเสื้อแดงก็ยังต้องทำงานการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่ยังคงขาดหายไปเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขัง ส่งผลทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ และผลกระทบจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ดูจะห่างกันออกไปทุกที

การเข้าร่วมขบวนการเสื้อแดงของเกษตรกรกลุ่มนี้ให้ความหวังกับฉันในแง่ที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ระบบตัวแทน และการเลือกตั้งเข้ากับประเด็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร และการพัฒนาได้ เนื่องจากที่เป็นอยู่การเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้มักถูกผูกขาดโดยประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีทัศนคติและแนวทางการทำงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ความหวังของฉันก็ค่อยๆ จางลง ตลอดช่วงระยะเวลากว่าครึ่งปีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมาบริหารประเทศ ข่าวการข่มขู่คุกคามเกษตรกรไร้ที่ดินโดยนายทุนเจ้าที่ดินผู้มีอิทธิพลซึ่งไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยการร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ขณะที่โครงการพัฒนาของรัฐในที่ต่างๆ ที่จะมีผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมก็คาดว่าจะเดินหน้าต่อไป อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล โครงการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวในนาม “ไทยแลนด์ริเวียร่า” เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลเองก็ไม่มีท่าทีที่จะให้ความสำคัญต่อความอ่อนไหวในเชิงระบบนิเวศ ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของคนท้องถิ่น รวมทั้งยังไม่พยายามสร้างช่องทางใดๆ ให้ผู้คนที่จะได้รับผลกระทบหรือผู้ที่มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้สามารถเข้าไปเจรจาต่อรองหรือนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลได้

ขณะที่หน่วยงานที่มีชื่อเสียอย่างกรมชลฯ กฟผ. และ ปตท. ก็ยังคงเดินหน้าโครงการต่างๆ ของตนแบบใช้เล่ห์กล แผนสกปรก การบิดเบือนข้อมูล ที่นำมาสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทั้งในระดับชุมชนและในระดับกว้างอย่างต่อเนื่อง ดังตัวอย่างในพื้นที่วิจัยของฉันที่อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของ กฟผ. หรือกรณีล่าสุด คือ การรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองช้างโดยกรมชลฯ ที่บริเวณป่าต้นน้ำใน อ.ควนกาหลง จ.สตูล น่าสนใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เข้ามากำกับดูแลให้หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินงานอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและโปร่งใส รวมทั้งไม่ได้มีความระมัดระวังเลยว่าในระดับท้องถิ่นมีชุดคำอธิบายที่แพร่หลายกันกว้างขวางที่เชื่อมโยงการผลักดันโครงการพัฒนาเหล่านี้เข้ากับผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ขณะเดียวกันประเด็นความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมก็ปรากฏชัดเจนในกรณีการจัดการและแก้ปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยรอบที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ “น้อยกว่า” ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งชะลอและรับน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจบริเวณชั้นในแห้งสนิท ขณะที่จังหวัดข้างเคียงต้องถูกน้ำท่วมขังอยู่เป็นแรมเดือน ผู้คนต้องเผชิญความยากลำบาก ขณะที่การให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง นอกจากนั้นในส่วนของชาวนาในทุ่งภาคกลางแถบ จ.พระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการรับน้ำนองตามแผนการจัดการน้ำระยะยาวของรัฐบาล ก็ไม่อาจมีความมั่นคงในชีวิตได้ พวกเขายังไม่ทราบว่าปีนี้จะทำนาได้กี่หน จะต้องรับน้ำกี่เดือน จะได้รับค่าชดเชยของการเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างไร จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการชดเชยให้กับกลุ่มชาวนาที่หลากหลายทั้งกลุ่มเจ้าของที่นา ชาวนานายทุน ชาวนารายย่อย และชาวนาเช่า อย่างไร เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้งจะทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสังคมได้เข้ามาจัดการความเสี่ยงร่วมกับชาวนาเหล่านี้ ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งต่อการที่ชาวบ้านจะรักษาหรือละทิ้งความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐบาล แม้ว่าพวกเขาจำนวนมากจะเป็นผู้สนับสนุนและเลือกพรรคเพื่อไทยมากับมือก็ตาม

ท่ามกลางสภาพที่น่าสิ้นหวัง สิ่งท้าทายตัวฉันเองและเพื่อนๆ ในฟากเสื้อแดงที่ศึกษาวิจัยและทำงานเกี่ยวข้องการพัฒนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ก็คือว่า จะทำอย่างไรประเด็นเหล่านี้จึงจะมีที่ทางในการทำงานของรัฐบาลที่เราภูมิใจว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมทั้งสิ่งท้าทายที่ว่าพวกเราจะสามารถเข้าไปผลักดันประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องกระทำผ่านการสร้างภาพชวนฝันหรือผลิตซ้ำนิทานว่าด้วยการพึ่งตนเองและความเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวของชุมชนในชนบทซึ่งแทบไม่มีอยู่จริง รวมทั้งที่ไม่ต้องกระทำผ่านฐานอคติที่ดูแคลนการระบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ตลอดจนที่ไม่ต้องอ้างอิงอำนาจนอกระบบ อุดมการณ์และสถาบันจารีต มาใช้ในการผลักดันนโยบายสาธารณะในประเด็นเหล่านี้ดังที่ “ประชาสังคมไทย” ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับประจำวันที่ 9-15 มีนาคม 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net