Skip to main content
sharethis

18 มี.ค.55 เสวนาในงานแขวนเสรีภาพฯ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ปิยบุตรอภิปรายเรื่องบทบาทและพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ รวมถึงที่มา ความหมายของ “เอกสิทธิ์” ของกษัตริย์ ล่วงละเมิดไม่ได้ภายใต้เงื่อนไข

การอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อ 18 มีนาคม 2555 ในงาน "แขวนเสรีภาพ" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว [ช่วงแรก]

การอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อ 18 มีนาคม 2555 ในงาน "แขวนเสรีภาพ" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว [ช่วงที่สอง]

 

ประเทศที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุข

ประเทศที่กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ หรือมีประมุขที่สืบทอดทางสายโลหิต ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ หากนับแบบอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ก็นับเหลือ 27 แต่ถ้ารวมประเทศหมดเล็กๆ น้อยๆ ให้หมดก็นับได้ 40 ประเทศ แต่จะเหลือแค่ไหน ไม่สำคัญเท่ากับประเทศที่เป็น Monarchy นั้นลดลงอย่างมาก ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ในยุโรป ช่วงปี 1918 มีเพียง 3 ประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ คือ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสวิสเซอร์แลนด์ ที่เหลือมีกษัตริย์ทั้งหมด หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่1 ปรากฏว่าในยุโรปมีประเทศที่สาธารณรัฐมี 15 รัฐ ส่วนอีก 15 รัฐนั้นมีกษัตริย์  หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1931 ประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นสาธารณรัฐมากขึ้น อย่างสเปนก็เอาสาธารณรัฐกลับมา ปัจจุบันก็เอากษัตริย์กลับมาอีก ส่วนอิตาลีมีการทำประชามติว่าจะให้ระบบกษัตริย์คงอยู่ไหม ผลปรากฏว่าไม่เอา  พวกยุโรปตะวันออกนั้นก็เลิกสถาบันกษัตริย์หมด ปัจจุบันเหลือ 10 ประเทศที่มีกษัตริย์ในยุโรป  คือ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อังกฤษ สเปน ลิกเตนสไตน์ โมนาโค

เท่าที่ดู ประเทศที่รื้อฟื้นเอาสถาบันกษัตริย์กลับมานั้นน้อยมาก เท่าที่เห็นมีสเปนและกัมพูชา ปัญหาอยู่ที่ว่าเหตุใดหลายประเทศยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไป เพราะกษัตริย์เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยหรือเปล่า หรือเป็นกาฝากของสังคมหรือเปล่า และเหตุใดบางประเทศยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้

มันจึงแบ่งเป็นประเทศที่ สถาบันฯ ปรับตัว อยู่รอดปลอดภัยได้ กับ ประเทศที่สถาบันฯ ปรับตัวไม่ได้แล้วหายไป 

การปรับตัวแบบต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์

ในส่วนที่ปรับตัวได้ก็มีหลายแบบ บางประเทศนั้นสถาบันฯ สู้กับรัฐสภามาตลอด สู้แล้วผลัดกันแพ้ชนะ สุดท้ายก็ยอมปรับตัวเป็น paliamentary monarchy เต็มรูปแบบ เช่น สหราชอาณาจักร  สวีเดน นอร์เวย์  เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์

ประเทศในสแกนดิเนเวียทั้ง 3 ประเทศ ถ้าสังเกตดู สถาบันกษัตริย์ของเขาอยู่มายาวนานมาก จึงมีคนไปศึกษาดูว่าทำไม พบว่ามี 5 ประการ 1. ตอนจะเป็นกษัตริย์ต่อหรือไม่เป็น เขาทำประชามติ เช่น นอร์เวย์ พอคะแนนท่วมท้นยิ่งมีความชอบธรรมสูง   2. กษัตริย์แต่ละพระองค์ครองราชย์ยาวนาน  3.การเปลี่ยนองค์กษัตริย์ไม่มีปัญหารัชทายาท 4.กษัตริย์พยายามเป็นกษัตริย์ของประชาชน มีความเป็นมนุษย์คุลกฝุ่นเป็นชาวบ้านธรรมดา 5.กษัตริย์ในสวีเดนได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะชัดเจนว่าไม่เอาสงคราม

วิธีการ “ยอม” ของสถาบันกษัตริย์

วิธีการยอมของกษัตริย์ ในการยอมสภา บางประเทศยอมไปโดยปริยายเลยอย่าง สหราชอาณาจักร สู้กับสภาแล้วแพ้ก็ถอยออกไปจนกลายเป็นจารีตประเพณีว่ากษัตริย์มีอำนาจแค่ไหน เพียงไร

บางประเทศใช้ออกเสียงประชามติ ประเทศที่ออกเสียงประชามติแล้วยืนยันให้มีกษัตริย์ต่อ เช่น นอร์เวย์ เมื่อปี 1814 เบลเยียม ปี 1830 ลักเซมเบิร์ก ปี 1915

บางประเทศสถาบันกษัตริย์ปรับตัวแล้วอยู่ต่อได้ ไม่ได้เต็มใจปรับ แต่ถูกบังคับให้ปรับ เพราะแพ้สงคราม เช่น ญี่ปุ่น

บางประเทศสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่ได้ และในการกลับขึ้นมาใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วย เช่น สเปน

กรณีที่ปรับตัวไม่ได้

ประเทศที่สถาบันกษัตริย์ปรับตัวไม่ได้แล้วปลาสนาการหายไปจากแผ่นดินนั้นเลย  เหตุหลักๆ เป็นเพราะไปเหนี่ยวรั้งขัดขืนการเปลี่ยนแปลง

ฝรั่งเศสเป็นที่แรกที่เห็นชัดเจน  เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้วกษัตริย์ก็กลับมาอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนสุดท้ายปี 1870 สาธารณรัฐที่ 3 ระบบกษัตริย์ก็หายไปหมดเลย เพราะฝ่ายนิยมเจ้าดื้อรั้นจะเอาแบบเดิม กรณีของโปรตุเกส อิตาลี ก็เช่นเดียวกัน  

กรีซ กษัตริย์หายพระองค์หลายช่วงเป็นตัวขัดขวาง parliamentary monarchy จนสุดท้ายออกเสียงประชามติประชาชนก็ออกเสียงไม่เอา คะแนนถล่มทลาย กว่า 70% ที่จะให้เป็นสาธารณรัฐ ลงคะแนนประชามติเมื่อปี 1975 นี่เอง

บางประเทศสถาบันกษัตริย์ล่มสลายไปเพราะสงครามโลก เช่น เยอรมนี ออสเตรีย ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บางประเทศกษัตริย์หายไปเพราะประเทศประกาศอิสรภาพออกมา เช่น ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์

ปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอด

ยุคปัจจุบันสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญคือ การปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย ถามว่าทำไมต้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์บ้าง คำถามนี้อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกอะไร ถ้าเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองทั้งหมดซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยต้องปรับให้เข้ากับประชาธิปไตย ถ้าปรับไม่ได้ผลก็คือสถาบันนั้นจะหายไปเอง ปัจจุบันเหลือน้อยประเทศมากที่สถาบันกษัตริย์กำลังขัดขืน เหนี่ยวรั้ง ต่อสู้กับประชาธิปไตยอยู่ ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงการปฏิรูปให้เข้ากับระบอบ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy โดยแท้ ปัจจุบันสายตาของชาวโลกเขามองอยู่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ ราชอาณาจักรโมรอคโค กับ ราชอาณาจักรไทย โดยกำลังดูว่าประเทศไหนจะเปลี่ยนเข้าสู่ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy ได้อย่างสมบูรณ์

 

วิธีการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตย

ส่วนแรกจะพูดถึง วิธีการทำให้สถาบันกษัตริย์อาศัยร่วมกับประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่หลายวิธี จะขออธิบายเฉพาะกลไกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

วิธีแรก นำกษัตริย์ลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีตั้งแต่การกำหนดไว้ชัดเจนว่า อำนาจของกษัตริย์มีได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง ภาษาไทยใช้คำว่า “พระราชอำนาจ”  บางคนบอกแปลเป็นอังกฤษ royal prerogative ซึ่งเป็นปัญหา มันสะท้อนอภิสิทธิ์บางอย่างเกินอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้นเป็นหน้าที่เสียมากกว่าจะเป็นอำนาจ เพราะคำว่าอำนาจมันสะท้อนถึงสภาวะที่เลือกได้ จะทำหรือไม่ ทำอย่างไร เมื่อทำแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร กรณีกษัตริย์ ไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้เองตามลำพังอยู่แล้ว การกระทำทุกอย่างต้องมีคนลงนามรับสนองฯ ตลอด และคนลงนามคือคนรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม อาจมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจโดยแท้แก่สถาบันกษัตริย์อยู่เหมือนกัน เช่น บางประเทศให้อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการส่วนพระองค์ได้ด้วยตัวเอง

ส่วนอำนาจในทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศจะกำหนดเงินรายปีให้กับพระราชวัง คือ กำหนดเลยว่า ปีหนึ่งทั้งครอบครัวได้เท่าไร

มีนักวิชาการสายรอยัลิสต์หลายท่านพยายามอธิบายว่า กษัตริย์มีอำนาจในทางสังคม ประเพณี เป็นอำนาจที่เกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญ สูตรที่พูดบ่อยคือสูตรของ วอเตอร์ แบชอต ( Walter Bagehot) เป็นสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษ เขียนหนังสือเรื่องThe English Constitution พิมพ์เมื่อปี 1867 เขาบอกว่ากษัตริย์มีสิทธิอยู่ 3 ประการ คือ สิทธิในการให้คำปรึกษาหารือ สิทธิในการตักเตือน และสิทธิในการให้กำลังใจ (แก่รัฐบาล) นักวิชาการไทยเอามาพูดแบบนี้ โดยจงใจไม่พูดให้จบ แบชอตพูดต่อด้วยว่า สิทธิเหล่านี้นี้ต้องเป็นความลับ รัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นจะรู้กัน สาธารณชนไม่มีสิทธิรู้ และรัฐบาลมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะรัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ

คำอธิบาย "พระราชอำนาจ" (ที่ไม่จบ)

ที่สงสัยมาตลอดคือ  นักวิชาการรอยัลลิสต์ในประเทศนี้อ้างแต่แบชอต ซึ่งเขาเขียนมาอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย จุดประสงค์เพื่อตอบโต้การปกครองในสหรัฐอเมริกา ทำไมนักวิชาการไทยไม่อ้างวิธีการปฏิบัติของเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดนบ้าง แล้วก็อธิบายว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) ธรรมเนียมที่ฝรั่งคิดขึ้นมา คิดขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ทั้งนั้น โดยเฉพาะที่อังกฤษ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ของไทยเรากลับเอามาอธิบายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์ เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัว

ยกตัวอย่างเช่น การวีโต้กฎหมาย ของไทยรัฐธรรมนูญบอกว่ากษัตริย์มีอำนาจวีโต้ได้ชั่วคราว สุดท้ายถ้าสภายืนยันก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ มีเวลายับยั้งรวมแล้วราว 4 เดือน ประเทศอื่นๆ ไม่เขียน เพราะถือเป็นธรรมเนียมเรียบร้อยแล้วว่าจะเห็นชอบทุกฉบับ สภาผ่านกฎหมาย กษัตริย์ลงนามอย่างเดียว จะไม่มีการวีโต้เลย ประเทศไหนเขียนเรื่องวีโตแสดงว่าให้อำนาจกษัตริย์ในการวีโต้ แต่ถ้าไม่เขียนเลยแสดงว่าไม่มีอำนาจนั้นเลย ปัจจุบันในโลกนี้มีไทยประเทศกับนอร์เวย์เท่านั้นที่เขียนไว้ให้กษัตริย์วีโตได้ ทีนี้ในเบลเยียมมีปัญหา เขาไม่ได้เขียนเรื่อวีโต้เลย แต่กษัตริย์ไม่อยากลงนามในกฎหมายทำแท้งด้วยความเป็นแคทอริก รัฐบาลก็ไปคิด สุดท้ายบอกว่าถ้าจะให้ร่างกฎหมายตกไปเลยก็ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยเพราะกฎหมายผ่านสภาแล้ว เลยให้กษัตริย์ไปพักร้อนสามวัน มีตัวบทในรัฐธรรมนูญเขียนเลยว่าให้อยู่ในภาวะครองราชย์ไม่ได้เป็นการชั่วคราว แล้วตั้งผู้สำเร็จราชการแทนมาเพื่อลงนามประกาศใช้กฎหมาย ก็ไม่ต้องไปขัดขืนน้ำใจกษัตริย์เบลเยียมให้ลงนาม กฎหมายก็ถูกประกาศใช้เหมือนกัน

นักวิชาการรอยัลลิสต์ในไทยอธิบายประหลาด ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยเขียนชัดว่าถ้ากษัตริย์ยับยั้ง สภายืนยันได้เลย แต่นักวิชาการอธิบายว่า เป็นธรรมเนียมประเพณีทางรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า ถ้ากษัตริย์วีโต้ ให้ร่างนั้นตกทันที มันตลก เพราะตัวอักษรเขียนชัด ถ้าจะเอาอย่างนั้นคุณต้องแก้ตัวบท แต่ก็ไม่กล้าเขียน เพราะเขียนเมื่อไรไม่เป็นประชาธิปไตยทันที และยังบอกอีกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ตามพระบรมเดชานุภาพของแต่ละพระองค์

วิธีที่สอง ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญคือ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้สถาบันกษัตริย์มีหน้าที่ในการเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องสาบานตนต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ  

ในหลายประเทศ สเปน เบลเยี่ยม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เขียนไว้ชัดแบบนี้หมด การเขียนอย่างนี้มีประโยชน์  2 ประการ

1.เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสดของประเทศ แม้แต่กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐก็ยังต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ การสาบานตนก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

2.เป็นการป้องกันรัฐประหาร ไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารต้องพึงสังวรว่าผู้เป็นประมุขยังอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเลย การฉีกรัฐธรรมนูญแล้วไปเข้าเฝ้าฯ ย่อมหมายความว่าคณะรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วไปบีบบังคับให้กษัตริย์ต้องร่วมลงนามในสิ่งที่ผิด นอกจากนี้ ในกรณีที่สถาบันกษัตริย์มีพระปรีชาสามารถ  มีหัวใจประชาธิปไตย เขาอาจอ้างสถานะนี้ว่าตนในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับรัฐประหาร และประกาศให้ผู้ทำรัฐประหารเป็นกบฏ ดังปรากฏในกรณีพระราชาธิบดี ฆวล คารอส ที่1 ของเสปน  ซึ่งไม่ยอมรับรัฐประหาร 23 ก.พ.1981

กรณีของไทยก็เคยมีปัญหาซึ่งเคยกล่าวไว้หลายครั้ง ปรีดีเคยเล่าว่าในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาฯ มีปัญหาว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญดีไหมเรื่องกษัตริย์ต้องสาบานตนก่อนรับตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 บอกว่า “ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่า ไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐานเรียบร้อยแล้ว” อาจารย์ปรีดีถามต่อว่าถ้ากษัตริย์องค์ต่อไปจะทำอย่างไร รัชกาลที่7 ก็ตอบว่า “ มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว  เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ ไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”


กำนิด รัฐสภา ไม่ใช่เหตุบังเอิญ

เรื่องการสร้างระบบ Paliamentary Monarchy ประเทศไทยก็พยายามจะบอกว่าเราเป็นระบบนี้ ระบบรัฐสภาที่เห็น ไม่ได้เกิดโดยความบังเอิญ เป็นผลผลิตการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน ในระยะแรก ในระบอบเก่ากษัตริย์รวมไว้ทุกอย่าง พอเปลี่ยนระบอบ กษัตริย์มีฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือ ส่วนประชาชนมีรัฐสภาเป็นเครื่องมือ สภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย กษัตริย์ก็ทำหน้าที่บริหารประเทศ ดังนั้นยุคที่หนึ่งจะเป็นระบบที่เรียกว่า dualism คือ ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อทั้งกษัตริย์และสภา เพราะกษัตริย์ตั้งพวกนี้ขึ้นมาบริหารประเทศ อีกด้านก็ต้องบริหารภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา เมื่อโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สถาบันกษัตริย์ก็ขยับตัวเองเป็น Head of State อย่างเดียว  ไม่ได้ลงมาบริหารประเทศ กลายเป็น monism ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อสภาเท่านั้น หมายความว่า มาจากเสียงข้างมากในสภา บริหารประเทศตราบที่รัฐสภายังไว้วางใจ  นี่เป็นระบบ parliamentary monarchy โดยสมบูรณ์แบบบ

ถ้าวันใดเราสร้างระบบนี้ กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐเฉยๆ กษัตริย์ไม่ลงมาแทรกแซงในทางการเมือง รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากจากสภา สภาตรวจสอบรัฐบาลไป ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไรก็เท่ากับว่าเราเซ็ทตำแหน่งแห่งที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์แล้ว  

การคุ้มครองประมุขของรัฐ: ประธานาธิบดี – กษัตริย์

ส่วนที่สองที่จะพูดคือ เรื่ององค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้  (The person of king is inviolable)

ก่อนบรรยายละเอียดจะชี้ให้เห็นก่อนว่า เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสถาบันกษัตริย์กับประธานาธิบดีนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ประธานาธิบดี:
ไม่ต้องรับผิด ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง เว้นแต่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ถ้าละเมิดรัฐธรรมนูญ บกพร่องอย่างร้ายแรงอาจกำหนดกลไลพิเศษ เช่น ให้สภาเป็นผู้ล่าวหา ใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลพิเศษที่ผสมผู้พิพากษากับนักการเมืองไว้ด้วยกันเพื่อพิจารณาคดี

กรณีแบบนี้ถ้าประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่แล้วผิดพลาดไม่ต้องรับผิด แต่ปัญหาตามมา ถ้าไปกระทำการบางอย่างที่เป็นเรื่องส่วนตัวต้องรับผิดไหม เช่น ขับรถชนคนตาย คำตอบคือ ประธานาธิบดีได้รับเอกสิทธิ์และการคุ้มกันเรื่องนี้อยู่ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่มีใครฟ้องได้ ต้องรอให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ถามว่าจริงๆ ควรต้องรับผิดไหม ควร แต่เพื่อรักษาเกียรติยศของประธานาธิบดีจึงให้การคุ้มกันไว้ ขณะที่ในบางประเทศกำหนดว่าหากใครจะดำเนินคดีเรื่องส่วนตัวกับประธานาธิบดีต้องขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรก่อน

ทำไมต้องต้องคุ้มกันตำแหน่งประมุขของรัฐในลักษณะแบบนี้   ก็เพราะประมุขของรัฐเป็นสัญลักษณ์เป็นตัวแทนของความเป็นรัฐ คล้ายว่ามันจะไม่ถูกตัดตอน ไม่ถูกกล่าวหา ไม่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น ตำแหน่งประมุขของรัฐจึงได้รับการคุ้มกันไปด้วย แต่ถ้าพ้นตำแหน่งก็อาจโดนภายหลัง

กษัตริย์:
จะมีเอกสิทธิ์คุ้มกันเด็ดขาดมากกว่า ผ่านสูตรที่เรียกว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกล่วงละเมิดได้” ในรัฐธรรมนูญกรณีกษัตริย์จะใช้คำว่า inviolability แต่ประธานาธิบดี ใช้คำว่า immunity irresponsibility แล้วแต่กรณี

สามคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ฝ่ายหนึ่งบอกว่า immunity เป็นคำรวม แล้วแยกออกเป็น irresponsibility กับ inviolability ซึ่ง irresponsibility เป็นการคุ้มครองการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ ส่วน inviolability มุ่งคุ้มครองตัวคน ไม่ได้คุ้มครองสิ่งที่เขาทำ

ตำราอีกชุดเสนอว่า คำว่า “inviolability” ไม่ควรเอามาใช้ เพราะคำนี้ สืบสาวราวเรื่องแล้วไปพัวพันกับเทวสิทธิ์ คำนี้จึงปรากฏเฉพาะแต่กับกษัตริย์ ไม่ปรากฏว่าใช้กับประธานาธิบดี ถ้าจะอธิบายให้สอดรับกับประชาธิปไตยต้องเลิกใช้คำนี้เพราะมันสะท้อนถึงความเป็นเทพเจ้า เดี๋ยวจะพาลเข้าใจผิดเป็น untouchability   

แล้ว immunity คืออะไร มันคือการยกเว้น สมมติบุคคลทั่วไปมีกระบวนการตามกฎหมายปกติ แต่มันจะยกเว้นเรื่องๆ นี้ให้กับบุคคลคนนี้ บางช่วงบางตอน ต่างกับ irresponsibility ซึ่งเป็นการยกเลิกเลย ไม่ต้องรับผิดชอบ

ปัญหาตามมาคือ ทำไมกษัตริย์ได้รับการคุ้มครองเข้มข้นกว่าประธานาธิบดี เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นตัวแทนความต่อเนื่องของรัฐ กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งไม่ได้มีหลายองค์ มีหนึ่งเดียวตลอดสาย กฎมณฑียรบาลจึงเกิดขึ้นเพื่อประกันความต่อเนื่องของความเป็นกษัตริย์ ซึ่งในความต่อเนื่องนั้นต้องประกันความต่อเนื่องทางกายภาพด้วยจึงมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วยว่า องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้  

ทำไมล่วงละเมิดมิได้

ท่านอาจสงสัยว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร มีความหมาย 2 ประการคือ 1.พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำใดๆ ของตนเลย คนที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการ (ฝรั่งใช้คำว่า counter sign หรือลงนามกำกับ)

2.กษัตริย์จะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เลยทั้งทางแพ่งและอาญา จะจับกุมคุมขังกษัตริย์ก็ไม่ได้ ประเด็นนี้เคยเป็นเรื่องใหญ่มาแล้วในฝรั่งเศส เมื่อปี 1792 จับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไปเอาขังคุก ก็มีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญปี 1791 บัญญัติว่าห้ามดำเนินคดีกับกษัตริย์ สุดท้ายเลยต้องปลดเป็นคนธรรมดาก่อน

กรณีที่พระมหากษัตริย์กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่คือลงพระปรมาภิไธย จะไม่มีปัญหาเลย เพราะรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด พูดง่ายๆ ว่าคนที่ทำคือรัฐมนตรีและเขาต้องรับผิดชอบเอง ยกตัวอย่างเช่น มีการประกาศสงคราม แล้วต่อมาประเทศนั้นแพ้สงคราม อาจมีการดำเนินคดีกับสมาชิกในรัฐบาลนั้นในฐานะอาชญากรสงคราม แต่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะมีคนลงนามรับสนองฯ  

ปัญหาจะเกิดทันทีกรณีที่พระมหากษัตริย์กระทำการในเรื่องส่วนตัวแท้ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่เลย เช่น กู้คนมาไม่จ่าย เขาเสนอว่าให้ฟ้องพระราชวัง พระคลังข้างที่ แล้วแต่หน่วยงานที่ดูแลกองทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่ฟ้องที่ตัวกษัตริย์ ในทางอาญาจะเป็นปัญหา หากกษัตริย์เอาปืนไปยิงคนตาย ขับรถชนคนตาย แล้วทำยังไง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ พูดตรงไปตรงมาเลยคือไม่มีตำราไหนเสนอทางออกเรื่องนี้ไว้เลย และพยายามจะไม่เสนอด้วยเพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ประหลาด  เคยมีนักวิชาการต่างประเทศ อัลเบิร์ต เวน ไดซี่ (Albert Venn Dicey) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษเสนอตัวอย่างสุดโต่งไว้ในตำราเขาว่า กษัตริย์อาจเอาปืนระเบิดหัวขมองอัครเสนาบดีได้โดยไม่ต้องไปศาล แต่เขาบอกว่านี่เป็นตัวอย่างสุดโต่ง ถ้าวันไหนเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั่นหมายความว่าวันสุดท้ายของราชบัลลังก์ใกล้มาถึงแล้ว

ที่ผ่านมา สำรวจตำรากี่เล่ม ไม่มีทางออกเรื่องนี้เลย
 

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ไทยไม่ลงนามเพราะ..

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเยอะ มีศาลอาญาระหว่างประเทศ ในธรรมนูญกรุงโรมที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ เขียนว่า ถ้ากฎหมายภายในหรือรัฐธรรมนูญของรัฐสมาชิกใด เขียนให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใดๆ แก่ประมุขของรัฐ ให้ถือว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นหายไป ในกรณีที่มาดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาระหว่างประเทศ หลายประเทศถึงกับมาตามแก้รัฐธรรมนูญตัวเองว่า ประมุขของรัฐไม่ต้องรับผิด ไม่ถูกกล่าวหา ดำเนินคดีใดๆ เว้นแต่เข้าศาลอาญาระหว่างประเทศ

กรณีของไทย พูดตรงๆ ว่า นี่แหละเป็นเหตุให้ราชอาณาจักรไม่ยอมให้สัตยาบรรณในสนธิสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องอื่นๆ แต่เป็นเรื่องนี้ เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้ประมุขของรัฐ แล้วทำไมประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ประเทศอื่นเขาลงนามกันหมด เพราะเขามองว่า ไม่มีทางเลยที่กษัตริย์ของเขาจะไปกระทำเข้าข่ายความผิดอาญาในนามส่วนตัว เพราะถ้ามันเป็นความผิดอาญาก็ต้องทำในนามรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว พวกนั้นก็รับผิดไป

ปัญหาต่อมา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ว่าไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องถูกดำเนินคดี มีผลในช่วงเวลาใดบ้าง กรณีที่กษัตริย์เสียชีวิตไม่มีปัญหา แต่ถ้ากรณีกษัตริย์สละราชสมบัติกลายเป็นคนธรรมดาแล้วมีองค์อื่นรับตำแหน่งต่อ ปัญหาคือการกระทำของคนนี้ในขณะเป็นกษัตริย์จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ คำตอบมีสองแนว แนวแรก “ได้” เพราะกษัตริย์กลายเป็นคนธรรมดาแล้ว วิธีอธิบายแบบนี้ใช้กับการประหารชีวิตของหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส แต่ของเบลเยียมเป็นแนวที่สองบอก “ไม่ได้” เป็นเอกสิทธิ์ความคุ้มกันตลอดชีพ จะเอาการกระทำสมัยเป็นกษัตริย์มาฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าสละราชสมบัติเป็นคนธรรมดาแล้วทำผิดก็ถูกดำเนินคดีได้แล้ว

ถ้าการกระทำบางอันเกิดก่อนเขาเป็นกษัตริย์ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะคุ้มกันอยู่หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นปัญหา ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 มีคำอภิปรายหนึ่งที่น่าสนใจมากของ พ.ท.โพยม จุลานนท์ พ่อของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ซึ่งตอนนั้นเป็น ส.ส.เพชรบุรี บอกว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมจะสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง ถ้าบังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชบัลลังก์แล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน”

ปัญหาต่อมา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่กล่าวมาคุ้มครองใครบ้าง คุ้มครองตัวพระมหากษัตริย์ตำแหน่งเดียว ไม่ได้มุ่งหมายให้ทั้งราชวงศ์ ให้เฉพาะประมุขของรัฐคนเดียวเท่านั้น


ละเมิดไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไข

ประเด็นต่อมา องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดไม่ได้ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง กษัตริย์ไม่อาจถูกกล่าวหา ฟ้องร้องดำเนินคดีเลยก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเหล่านี้ครบถ้วนเสียก่อน  

1. กษัตริย์ไม่กระทำการตามลำพัง การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ

2. อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพ ไม่มีการแบ่งแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากรัฐบาล เป็นฝ่ายบริหารด้วยกัน แน่นอน กษัตริย์อาจมีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้ แต่ความเห็นใดๆ ของกษัตริย์ต้องเป็นความลับ มีรัฐบาลเท่านั้นที่รู้ และรัฐบาลเป็นคนตัดสินใจว่าจะคล้อยหรือค้านก็ได้ เพราะรัฐบาลรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นเอง บางทีกษัตริย์อาจสู้กับรัฐบาลเวลาเห็นไม่ตรงกัน อาวุธหรือไม้ตายสุดท้ายคือการขู่ว่าจะสละราชสมบัติ แต่สภาวการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกันเป็นสภาวการณ์อันไม่พึงประสงค์

3.ไม่มีบุคคลใดรู้ว่ากษัตริย์คิดอะไรอยู่ กษัตริย์มีความเห็นได้ในทางการเมืองเพราะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องเป็นความลับ บุคคลใดที่มาแอบอ้างว่าเข้าเฝ้ามา ใครพูดแบบไหน สมาชิกราชวงศ์พูดแบบนั้นแบบนี้ ผิดหมด ผิดหลักวิชา ผิดธรรมเนียมประเพณีในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นราชอาณาจักรทั้งนั้น

4.พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี งานในทางส่วนพระองค์ทำได้ แต่กิจการที่เกี่ยวพันกับการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินต้องให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบเสมอ

กรณีพระราชดำรัส รัฐบาลอาจร่างพระราชดำรัสให้สถาบันกษัตริย์อ่านออกอากาศทางทีวีหรือวิทยุก็ได้ หรือพระมหากษัตริย์ร่างเองแล้วส่งให้รัฐบาลตรวจก่อนก็ได้ พูดไปจะอาจจะมีสื่อมวลชนนำไปพาดหัวแบบผิดๆ หาว่าเหิมเกริมอะไรอีก เลยจะขออ่านจากตำราอาจารย์หยุด แสงอุท้ย

ตำราอาจารย์หยุด แสงอุทัย เขียนไว้อย่างนี้ว่า

“พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำการตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพราะต้องมีผู้รับผิดชอบในพระราชดำรัส ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างเองแล้วส่งมาให้รัฐมนตรีเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีร่างไปทูลเกล้าฯ ถวาย ย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี ... พระมหากษัตริย์จะไม่รับสั่งหรือกระทำการอื่นใดกับทูตานุทูตหากไม่ได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรี”

ประเด็นปัญหาคือ เรื่องใดที่เกี่ยวพันกับการเมือง เรื่องใดเกี่ยวพันกับการบริหารราชการแผ่นดิน อันนี้ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป อาจารย์หยุดบอกว่า “ส่วนปัญหาด้วยกิจการใดเป็นกิจการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น จะต้องระลึกถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐด้วย กิจการใดซึ่งสำหรับสามัญชนเป็นกิจการส่วนตัวโดยแท้ เช่น การสมรส สำหรับพระมหากษัตริย์ อาจถือว่าเป็นกิจการเกี่ยวกับราชการแผ่นดินก็ได้ และโดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลอังกฤษจึงไม่เห็นชอบให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงอภิเษกสมรสจนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ต้องสละราชสมบัติ”


The King can do no wrong  

ดังนั้น ใครที่บอกว่ากษัตริย์ไม่อาจล่วงละเมิดได้ The King can do no wrong หลักการเหล่านี้จะเกิดต่อเมื่อมี 4 ข้อที่พูดเกิดขึ้นก่อน ดังนั้น ชุดคำอธิบายที่บอกว่า เพราะ The King เป็นมนุษย์ The King จึง do wrong ได้ ถ้าพูดแบบนี้ถือว่าผิดหลักวิชาการ เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเลยที่กษัตริย์จะทำผิดได้ เพราะกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย

ปัญหาตามมาคือ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ถ้าแปลความกลับกันกษัตริย์ก็ต้องถูกดำเนินคดีได้ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า นี่เป็นปัญหา รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ช่วงการต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ผลัดกันแพ้ชนะ ถ้าฝ่ายราษฎรชนะก็จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญป้องกันกษัตริย์เบี้ยวเลยว่า ถ้าไม่กระทำการตามรัฐธรรมนูญอาจเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย แต่พอฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดลอยก็ไม่เขียนกันแล้วเรื่องนี้ เพราะมั่นใจว่าไม่มีทางอีกแล้วที่กษัตริย์จะละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าสถาบันกษัตริย์องค์ไหนละเมิดรัฐธรรมนูญบ่อยก็จะถูกกดดันให้สละราชสมบัติ เช่นกรณีลักเซมเบิร์ก ปี 1919 หรือกรณีเบลเยี่ยมที่กษัตริย์พาประเทศเข้าสงคราม ก็ถูกปลดแล้วตั้งคนอื่นเป็นกษัตริย์แทน

ฉะนั้น ในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ที่ดีหาใช่พระมหากษัตริย์ที่มีพระจริยวัตรดีงาม หาใช่พระมหากษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หาใช่พระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบ หาใช่พระมหากษัตริย์ที่มีจิตใจเมตตา แต่พระมหากษัตริย์ที่ดีในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

 

ย้อนดูการเขียน “ละเมิดมิได้” ในรัฐธรรมนูญไทย

หันมามองรัฐธรรมนูญของไทยที่เขียนข้อความ องค์พระมหากษัตริย์จะละเมิดไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ 2475 มีเขียนอยู่ 5 รูปแบบ คือ ไม่มีเขียน (ฉบับ 27 มิ.ย.2475), มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” (ฉบับ 10 ธ.ค.2475, ฉบับปี 2489, 2490, 2495, 2502) , มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และมีอีกมาตราหนึ่งบอกว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”,  (ฉบับปี 2492,2511, 2517) , มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และมีคำว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” รวมอยู่ในมาตราเดียวกัน (ฉบับปี 2515, 2519, 2520, 2534 และ 2549), ใช้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ในมาตราเดียวกันแต่แยกวรรค “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” อีกวรรคหนึ่งคือ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ข้อสังเกตตั้งแต่ปี 34 เพิ่มราชาศัพท์คำว่า “ทรง” ไปด้วย สมัยก่อนไม่มี

ถ้าจัดกลุ่มให้ง่ายแบ่งเป็นสามยุค คือ ยุคแรกไม่มีเขียนเลย, ยุคสองมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”, ยุคสามมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

ยุคแรก ไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ คือ ธรรมนูญการปกครองสยาม 27 มิ.ย.2475 แต่เรามีมาตรา 6 กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง ลองตั้งสมมติฐานของผู้ร่างได้เป็น อย่างแรก ปรีดีทราบอยู่แล้วตามระบบที่ได้อธิบายไปตอนแรกเรื่องผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงไม่ได้เขียน เขียนเฉพาะเรื่องคดีอาญา อย่างที่สอง อิทธิพลของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยรับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี 1791 ซึ่งยังมีกษัตริย์อยู่ และกำหนดว่ากษัตริย์ไม่อาจถูกดำเนินคดี แต่อาจถูกถอดถอนได้ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไปเป็นแม่ทัพให้ต่างชาติ ฯลฯ อาจรับไอเดียนี้มา

ยุคที่สอง มีสองคำ “เคารพสักการะ” กับ “ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” สำหรับคำแรก “เคารพสักการะ” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพูดชัดว่าลอกมาจากญี่ปุ่นสมัยเมจิ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงเองว่า ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมีคนแปลตรงนี้ออกมาเป็นคำว่า “เคารพ” แต่จะให้ถูกถ้วนควรเติม “สักการะ” เข้าไปด้วย ไม่มีการถกเถียงเรื่องนี้ สรุปก็ผ่านสภาอย่างรวดเร็ว โผล่มาแบบดื้อๆ โดยไม่มีการถกเถียงอะไรเลย แต่สมัยนั้นไม่มีใครอธิบายในเชิงที่สัมพันธ์กับเทพเจ้า แต่ปัจจุบันกลับมี

ส่วนคำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” พระยามโนฯ อธิบายว่า หมายถึง ไปฟ้องร้องว่ากล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะรัฐบาลเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลก็ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าไปฟ้องร้องท่านก็ดูตลก วิธีอธิบายแบบนี้เป็นวิธีอธิบายแบบ absolute monarchy วิธีอธิบายที่ถูกต้อง ต้องอธิบายว่า องค์พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ว่าถูกฟ้องร้องกล่าวหา ดำเนินคดีไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการใดๆ โดยพระองค์เอง รัฐมนตรีที่ลงนามสนองพระราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ ตามเงื่อนไข 4 ข้อที่กล่าวไป

ยุคที่สาม ที่มีทั้งสองประโยค เริ่มตั้งแต่ 2492 ใช้ถึงปัจจุบัน ประเด็นคือ กล่าวหาฟ้องร้องไม่ได้ มันโผล่มาจากไหน นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอธิบายตรงกันในตำราหลายเล่มว่าเขียนขึ้นมาเพิ่มความชัดเจน เดี๋ยวจะเถียงกันอีกว่า “ละเมิดมิได้” นั้นหมายถึงอะไร นี่คือความเป็นมา ในช่วงเวลาที่เขียน ปี 2492 ส.ส.หลายคนมีความคิดก้าวหน้าวิจารณ์เรื่องนี้หนักมาก

ยุคปัจจุบัน เราเขียนอย่างไร เราเขียนในมาตรา 8  วรรคแรก “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” วรรคที่สอง “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ในพ.ศ.นี้ เราต้องตีความมาตรานี้ให้สอดคล้องกับระบอบ ถ้าท่านยืนยันว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องอธิบายดังนี้ คำว่า “เคารพสักการะ” เป็นการถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็น norm มีผล sanction มีบทลงโทษ นี่แปลความแบบเดนมาร์ก นอร์เวย์ เพราะมีคำนี้เช่นกัน อาจารย์หยุด แสงอุทัย เขียนต่อไปอีกว่า เพราะกษัตริย์ต้องเป็นที่เคารพสักการะนี่เอง ทำให้กษัตริย์ต้องเป็นกลางทางการเมือง “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ต้องแปลตรงไปตรงมา จะกล่าวหาฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ ดังที่เขียนเพิ่มเติมในวรรคถัดมา

เพื่อไม่ให้พวกรอยัลลิสต์ตีความผิดๆ ผมเสนอให้เขียนใหม่อย่างนี้ วรรคแรก องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกละเมิดได้ รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ วรรคสอง การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้ถือเป็นโมฆะ ถามว่าไปเอามาจากไหน ก็เอามาจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยนั่นเอง

 

สรุป

หนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตย ความรับผิดชอบกับการใช้อำนาจเป็นของคู่กัน เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ความรับผิดชอบมันสะท้อนผ่านเมื่อคุณกระทำการก็มีคนวิจารณ์เห็นชอบ เห็นต่าง บ้างอาจฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย ปลดจากตำแหน่ง ความรับผิดชอบแบบนี้เราต้องการให้เกิดกับพระมหากษัตริย์ไหม ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ต้องตัดวามรับผิดชอบออกจากพระมหากษัตริย์ และจะตัดได้ก็ต้องทำให้ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจก็รอดพ้นจากการติฉินนินทา ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออกจากตำแหน่ง

สอง  มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้ ที่มีกษัตริย์ แล้วกษัตริย์มีอำนาจมาก มีบทบาทมากแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่กษัตริย์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ในที่สาธารณะ มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่กษัตริย์มีทรัพย์สินมหาศาล มีธุรกิจ คำตอบคือไม่มี และการไม่มีสภาวะแบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยเก็บกษัตริย์เอาไว้อยู่ต่อไปได้ การรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่กับประชาธิปไตย วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทำให้กษัตริย์มีอำนาจให้น้อย

เรื่องที่บรรยายทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเชยมาก ไปค้นตำราเก่าทั้งนั้น เพราะเรื่องพวกนี้เขาลงตัวกันไปหมดแล้ว ประเทศไหนต้องมานั่งพูดเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ ต้องมานั่งกังวลเรื่องรัชทายาท แสดงว่าประเทศนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย  แต่ทุกวันนี้ที่เราต้องมาพูดเรื่องเชยๆ แบบนี้เพราะเราจำเป็นต้องอธิบายหลักการที่ถูกต้อง หลักการเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ หลัง 2475 พูดกันมาตลอด แต่ถูกทำให้ลืมไปในยุคสมัยนี้ การอดทนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการต่อสู้ทางความคิด

ขอจบการอภิปรายด้วยคำอภิปรายของนายนิวัติ ศรีสุวรนันท์  ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ดีเบตการร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 ท่านพูดไว้ว่า “ถ้าประมุขของประเทศ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเท่าใด ความไม่สมบูรณ์แห่งประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าองค์พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศได้อำนาจไปแต่น้อย ความเป็นประชาธิปไตยก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net