Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก คำกล่าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ในการเสวนา รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วันที่ 21 มีนาคม 2555 เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 
คำกล่าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 
ในการเสวนา รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ 
ของสถาบันพระปกเกล้า ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วันที่ 21 มีนาคม 2555

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความเห็นในการเสวนา "รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" ของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อ 21 มีนาคม 2555

 

"ผมขออนุญาตว่า ผมอาจจะเป็นคนแรกนะครับ ที่ใช้คำว่า “ปรองดอง” และเสนอแผนการปรองดอง และสนับสนุนการปรองดอง และผมไม่ได้ทำ ไม่ได้เสนอในวันที่ผมไม่มีอำนาจ ผมทำในวันที่ผมมีอำนาจ แต่พิสูจน์ความจริงใจต่อการปรองดองว่า ไม่เคยคิดที่จะใช้อำนาจในขณะนั้น ไม่ว่าจะโดยเสียงข้างมากในสภาดำเนินการตามใจชอบ เพราะผมถือว่าถ้าทำเช่นนั้น สังคมจะแตกแยกมากยิ่งขึ้น..."

000

ท่านประธานกรรมาธิการ ท่านหัวหน้าพรรคการเมือง คณะผู้วิจัย และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ความจริงใจผมอยากให้ท่านประธานกรรมาธิการได้ตอบคำถามของท่านพล.ต.สนั่น เพราะผมคิดว่าจะช่วยให้ทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจน ในบรรยากาศของบ้านเมืองที่มีการปรองดอง ถ้าท่านประสงค์จะตอบกระผมยินดีสละเวลาในช่วงถ่ายทอดให้ท่านเลยครับ

ขอเรียนท่านประธานกรรมาธิการ แล้วก็คณะผู้วิจัยอย่างนี้นะครับ ผมอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะว่า ผมคิดว่าคณะผู้วิจัยยังควรจะดีใจว่าอย่างน้อยมีผมคนหนึ่งที่อ่านรายงานละเอียด และผมก็อยากจะเรียนเบื้องต้นอย่างนี้นะครับว่า ถ้าสิ่งที่ท่านพูดบนเวทีในวันนี้ อยู่ในรายงานวิจัย ผมว่าท่านจะไม่เป็นจำเลยของสังคมเลยครับ เพราะว่าสิ่งที่ท่านพูดวันนี้หลายเรื่อง ผมว่าเป็นหลักการที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แต่ผมเสียดายว่ามันไม่ปรากฎอยู่ในรายงาน และถ้ารายงานเขียนอย่างที่เขียนอยู่นี้ จะมีความเป็นไปได้ที่รายงานนี้ถูกหยิบไปใช้ในทางที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของท่าน และถึงวันนั้น สายเกินไปครับ และความเป็นจำเลยก็จะเกิดขึ้นกับตัวท่าน กับคณะกรรมาธิการ ซึ่งนั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ถ้ามีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของท่าน แทนที่จะเป็นการปรองดองก็กลับกลายจะเป็นความขัดแย้ง ความรุนแรงรอบใหม่ที่เกิดขึ้น รวมทั้งปูทางไปสู่สังคมที่จะนิยมความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นผมก็จะขออนุญาตใช้เวลาสักนิดพูดถึงองค์ประกอบของการวิจัยในส่วนต่าง ๆ มาสู่ข้อเสนอ แล้วก็จำเป็นต้องถามท่าน และอยากให้ท่านได้ตอบทุกคำถาม แล้วก็ตอบประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนะของผมในเรื่องของกระบวนการที่จะทำต่อไปเพื่อประโยชน์ในการปรองดอง

ผมขออนุญาตว่า ผมอาจจะเป็นคนแรกนะครับ ที่ใช้คำว่า “ปรองดอง” และเสนอแผนการปรองดอง และสนับสนุนการปรองดอง และผมไม่ได้ทำ ไม่ได้เสนอในวันที่ผมไม่มีอำนาจ ผมทำในวันที่ผมมีอำนาจ แต่พิสูจน์ความจริงใจต่อการปรองดองว่า ไม่เคยคิดที่จะใช้อำนาจในขณะนั้น ไม่ว่าจะโดยเสียงข้างมากในสภาดำเนินการตามใจชอบ เพราะผมถือว่าถ้าทำเช่นนั้น สังคมจะแตกแยกมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกระบวนการปรองดองที่เริ่มมาตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการ คอป. และคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งมีการนำเสนอข้อเสนอซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความคิดของผม แต่ผมเคารพ ผมปฏิบัติ เพราะนั่นคือการปรองดองที่แท้จริง

ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่า เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ผมขออภัยนิดนึงนะครับ เมื่อสักครู่ท่านหัวหน้าคณะผู้วิจัยท่านบอกว่า รายงานนี้ท่านเสนอไปแล้วมีคนวิพากษ์ วิจารณ์ ท่านไม่ได้ตอบโต้ แต่ก็ต้องขออนุญาตสอบถามเป็นประเด็นแรกก่อนนะครับ หลังจากที่ผมได้ทักท้วงประเด็นข้อเท็จจริงหลายประการบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นคณะผู้วิจัย แต่ในกิตติกรรมประกาศของท่านนั้น ท่านบอกว่าเป็นที่ปรึกษาของท่าน แล้วออกมาโดยอ้างสถานะในสถาบันพระปกเกล้า บอกกับสังคมว่า ได้อ่านข้อเสนอ หรือว่าข้อท้วงติงของผมแล้ว เห็นว่า ไม่ควรจะมีการทบทวนแก้ไขอะไรทั้งสิ้น ผมถามก่อนว่านั่นเป็นความเห็นของคณะผู้วิจัยหรือไม่ เพราะผมก็สังเกตว่ารายงานที่ท่านแจกในวันนี้  ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะมีกี่คนได้มีโอกาสอ่าน ไม่ตรงกับรายงานที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการย่อมเพิ่งได้รับรายงานฉบับนี้เมื่อวานนี้ แต่สิ่งที่ผมเขียนทั้งหมดทั้งในฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 ที่เป็นจดหมายเปิดผนึกนั้น ผมเขียนตามรายงานฉบับที่ท่านส่งให้คณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม

ผมสนใจนิดนึงครับ คือที่เขียนในฉบับแรกนั้น ผมพูดเรื่องข้อเท็จจริง ทำไมผมพูดเรื่องข้อเท็จจริงเพราะผมบอกว่า ความเห็นนั้นแตกต่างกันแน่ แต่ข้อเท็จจริงต้องไม่ให้คลาดเคลื่อน ต้องให้ครบถ้วน เท่าที่จะทำได้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ผมประหลาดใจมากนะครับว่า ความรู้ความสามารถของหลาย ๆ ท่าน ที่เข้ามาทำงานนี้ในการประมวลข้อเท็จจริงในรายงานฉบับร่างนั้น ข้ามเหตุการณ์สำคัญอย่างมาก หลายเหตุการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ หลายสิบเหตุการณ์ ผมไม่พูดนะครับ ผมเอาหลัก ๆ เรื่องคดีซุกหุ้นไม่เขียน 2. กรือเซะ ตากใบ ฆ่าตัดตอน ยาเสพติด ไม่เขียน 3. บุก พัง การประชุมสุดยอดอาเซียน ไม่เขียน 4. เหตุการณ์วางเพลิง วันที่ 19 พฤษภาคม ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดต่าง ๆ ไม่เขียน รวมไปถึงเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯ ซึ่งค้างคาใจพี่น้องคนเสื้อแดงอย่างมาก ไม่เขียน ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก และผมคิดว่า การข้ามข้อเท็จจริงเหล่านี้ และเพิ่งมาใส่บางเรื่องไว้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมานั้น ผมก็มองว่ามันก็ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อการทบทวนข้อเสนอเหมือนกัน ในเมื่อท่านเองก็ยอมรับแล้วว่าข้อเท็จจริงบางอย่างนั้นต้องมาปรับ และบางครั้งไม่ใช่แค่การข้าม แต่เป็นความคลาดเคลื่อน ในรายงานฉบับร่างฯ นั้นเขียนถึงขั้นว่า วันที่ 19 พฤษภาคมนั้น เหตุการณ์วันเดียวทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 คน ซึ่งไม่ใช่ วันนี้แก้แล้วครับ บอก 91 คนนี้ เป็นยอดความสูญเสียต่อเนื่อง 2 เดือน

ผมถามว่า ในเมื่อท่านเองมีข้อเสนอข้อแรกเลยว่า การค้นหาความจริงคือหัวใจของการนำไปสู่การปรองดองแล้ว และขณะนี้ท่านก็ยอมรับและต้องมีการปรับความจริงหลายเรื่องในรายงานนี้ ท่านจะกลับไปทบทวนข้อเสนอด้วยหรือไม่ ผมขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมนะครับว่า แม้ข้อความที่ปรับแล้ว ผมก็ยังมีข้อสังเกตครับ ผมทราบดีเมื่อสักครู่ คณะผู้วิจัยท่านบอกว่า หลายเรื่องนั้นท่านต้องไปใช้จากเอกสารเพราะบางเรื่องอาจจะยังไม่มีข้อยุติ

แต่ผมถามอย่างนี้นะครับ เดิมนั้นท่านไม่เขียนเรื่องคดีซุกหุ้น ทำไมผมให้ความสำคัญกับคดีซุกหุ้นครับ เพราะคณะกรรมการที่เรียกว่า คอป. ที่ท่านบอกว่า จะต้องเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น เขาได้นำเสนอต่อสาธารณะไปแล้วว่า ต้นเหตุของความขัดแย้งนั้นเริ่มต้นที่คดีซุกหุ้น

วันนี้พอท่านมาเขียนเรื่องคดีซุกหุ้น ผมก็แปลกใจอีกครับ เพราะผมเข้าใจว่าต่อไปนี้ท่านก็คงจะต้องให้มีการยึดเอาข้อเท็จจริงที่ คอป. หรือข้อคิดของ คอป. มานำเสนอนี้ มาเป็นตัวตั้งในการทำงานต่อ ถูกต้องใช่ไม๊ครับ

คอป. เขียนถึงหรือได้เผยแพร่ต่อคดีซุกหุ้นว่า เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเพราะเป็นปัญหาความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น นำมาสู่กระบวนการทำลายนิติธรรม นิติรัฐ วันนี้ท่านเอาเรื่องคดีซุกหุ้นไปเขียนแล้วครับ แต่ท่านเขียนว่าอย่างไรครับ ท่านเขียนว่า หลังจากที่นายกฯ ทักษิณนั้น ชนะการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประสบปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จที่เกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินที่ช่วยปลดล็อคความกังวลต่อสังคมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถบริหารประเทศต่อไปได้อย่างเต็มที่

ท่านครับ ท่านเสนอให้ยึด ให้เคารพ คอป. ข้อความนี้ สะท้อนสิ่งที่ คอป. เสนอต่อสังคมหรือเปล่าครับ หรือตรงกันข้ามด้วยซ้ำกับที่สิ่งที่ คอป.เสนอ ดังนั้น ถ้าท่านอยากให้สังคมทุกฝ่ายได้เอาเจตนาของท่านที่เป็นข้อเสนอว่า เคารพ คอป. ผมว่าต้องเริ่มต้นจากท่าน ต้องเริ่มต้นจากท่าน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ต้องไปปรับให้สะท้อนสิ่งที่ คอป. ได้นำเสนอ ผมไม่ทราบใครเป็นคนประมวลข้อเท็จจริงว่า คดีซุกหุ้น เป็นเรื่องการปลดล็อคความกังวลของสังคม

ผมกราบเรียนต่อไปนะครับว่า อีกตัวอย่างเดียวครับ เพราะว่าท่านกรุณาปรับข้อเท็จจริงบ้าง วันที่ 19 พฤษภาครับ ท่านยอมรับแล้วนะครับว่า ขณะนี้มีการวางเพลิง แต่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ท่านเขียนเข้าไปท่านบอกว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนยังสอบไม่เสร็จ คอป. ยังสอบไม่เสร็จ แต่ท่านครับศาลมีคำพิพากษาคดีวางเพลิง หลายกรณีแล้ว รู้ตัวแล้วใครทำ แม้กระทั่งคนที่ไปลักทรัพย์ในเซ็นทรัลเวิร์ลด์ที่ถูกวางเพลิง ศาลก็มีการตัดสินลงโทษแล้ว มีเอกสารอ้างอิงได้ชัดเจน ท่านจะกรุณาเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้มาบรรจุได้ไม๊ครับ เพราะข้อเสนออื่น ๆ นั้น สุดท้ายท่านบอกให้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ

วันนี้บางเรื่องกระบวนการยุติธรรมปกติ ทำมาถึงขั้นนี้แล้ว ท่านกลับบอกว่า ยังไม่สามารถที่จะสรุปอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผมก็ยังขอยืนยันนะครับว่า 1. ข้อเท็จจริงที่ท่านกรุณาปรับ ผมว่ายังไม่สะท้อน และไม่ใช่ความเห็นผมนะครับ ผมไม่เอาความเห็นผม ผมขอให้อ้าง คอป. ผมขอให้อ้าง ศาลยุติธรรมครับ เพราะผมเห็นหลายเหตุการณ์ ท่านดูบรรณานุกรมนะครับ ท่านอ้างหนังสือพิมพ์ ท่านยังกล้าเขียนข้อเท็จจริงที่อ้างจากหนังสือพิมพ์ แต่ทำไมท่านไม่กล้าเขียนข้อเท็จจริงที่อ้างคำพิพากษาของศาล

ผมว่าตรงนี้ผมต้องขออนุญาตว่า เป็นเหตุสำคัญที่ต้องทบทวน และตรงนี้ครับ ไม่ใช่เป็นเรื่องมาเถียงกันว่า อะไรเกิดขึ้น มันจะส่งผลต่อมุมมองในเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม หรือเรื่องของ คตส.

ผมเข้าสู่ประเด็นที่ 2 ครับ งานวิจัยกรุณาไปสำรวจสภาพความขัดแย้งใน 10 ประเทศ แล้วก็พยายามถอดบทเรียนซึ่งผมก็ขอเรียนว่าหลายเรื่องก็สามารถสังเคราะห์มาได้ค่อนข้างดี ว่ากระบวนการปรองดองต้องตั้งต้นอย่างไร ต้องมีการค้นหาความจริงอย่างไร แต่มันมีการอ้างเรื่องของต่างประเทศ มาสนับสนุนข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรม ประเทศที่มีการนิรโทษกรรมตามทางเลือกที่ 2 ที่ท่านเสนอนั้นผมคิดว่าแทบไม่มีเลยนะครับใน 10 ตัวอย่าง ไม่ใช่กระบวนการอย่างนี้ครับ และที่สำคัญท่านต้องแยกแยะครับ เหตุการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศนั้นต่างกันอย่างไร 1. บางกรณีมันเป็นเหตุการณ์ลักษณะกึ่งสงครามนะครับ แบ่งแยกดินแดน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน หรือมีการเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยอาจจะเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งออกจากประเทศ ก็จับอาวุธต่อสู้กัน บางกรณีเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วก็เกิดความรุนแรงขึ้น บางกรณีอาจจะเป็นเหตุการณ์เหมือนกับกึ่ง ๆ กบฏ เป็นการก่อการร้าย ในแต่ละกรณีนั้น ย่อมต้องได้รับคำตอบและทางออกที่ไม่เหมือนกัน

วันนี้กรณีของประเทศไทย ต้องได้ข้อยุติก่อนสิครับ ตกลงแล้วเป็นการชุมนุมโดยสรุปปราศจากอาวุธ จริงหรือไม่ ถ้าจริง คำตอบก็เป็นแบบหนึ่ง ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ของคนกลุ่มหนึ่งแต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งจับอาวุธเข้ามาแฝงตัวต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีผล หวังผลต่อการช่วงชิงอำนาจรัฐนะครับ ไม่ใช่ปลดปล่อย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรียกร้องความเป็นธรรม คำตอบต้องเป็นอีกแบบหนึ่งครับ ตรงนี้คณะผู้วิจัยได้แยกแยะ ได้พิจารณาหรือไม่อย่างไร

ผมสังเกตว่าในข้อเท็จจริงที่ท่านยังไม่ยอมปรับในเรื่องกรณีผู้ชุมนุม ไม่ใช่ผู้ชุมนุมครับ ผู้ที่ติดอาวุธแล้วไปแฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุม หลักฐานมีนะครับ มีการดำเนินคดีกับคนเหล่านี้แล้วนะครับ บางกรณีมีการลงโทษแล้วด้วยนะครับ ท่านต้องไปค้น ไปอ้างอิงมาครับ เพื่อให้สมบูรณ์ว่าเหตุการณ์ปี 2553 นั้นมีปัญหาของการชุมนุมซึ่งมีผู้ติดอาวุธเข้าไปแฝงตัวต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงจะสมบูรณ์ครับ ในการที่จะถอดบทเรียนออกมา

ประเด็นที่ผมจะเข้าไปในประเด็นต่อไปก็คือ เรื่องการนิรโทษกรรม หลักการให้อภัยนั้น ผมคิดว่าสังคมไทยยอมรับ แต่ท่านก็ต้องแยกแยะนะครับ ระหว่างการหลักการให้อภัย กับหลักที่บอกว่า ไม่มีการกระทำความผิด การกระโดดจากบอกว่าหลักการให้อภัยไปสู่การนิรโทษกรรมนั้น มันไม่ใช่

การให้อภัยคือหมายความว่ามีการกระทำความผิด ยอมรับว่ามีการกระทำความผิด อาจจะเริ่มมีการลงโทษหรือไม่ สุดแล้วแต่ แล้วสังคมบอก ไม่เป็นไร เราให้อภัย เพื่อความปรองดอง แต่การนิรโทษ เป็นการบอกว่า ไม่มีความผิดเกิดขึ้น ไม่ต้องรับผิด ให้ลืม เหมือนกับไม่ได้มีความผิดเกิดขึ้น มันต่างกัน

ผมคิดว่า ฝ่ายที่กำลังจะเสนอว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนั้น ท่านต้องพิจารณาให้ดีนะครับ หลายคนมองว่าผมมาเสนอเรื่องนี้นั้น หรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมทุกเรื่องนั้น เหมือนกับผมจะได้ประโยชน์ ที่จริงตรงกันข้ามนะครับ เพราะขณะนี้มีกระบวนการที่พยายามจะเอาผิดกับผม แต่ผมไม่เสนอให้นิรโทษกรรม เพราะผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผมครับ และผมต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมในกระบวนการยุติธรรม และผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ซึ่งวันนี้มีกระบวนการไปปลุกปั่นให้เขาเชื่อว่า มีการกระทำผิดจากฝ่ายรัฐในขณะนั้น และอยู่ดี ๆ วันหนึ่งมาบอกว่า วันนี้นิรโทษกรรม เพียงเพราะอาจจะมีแกนนำ อาจจะมีผู้นำทางการเมืองได้ประโยชน์ไปด้วยนั้น ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับผู้ที่สูญเสีย ท่านสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้ที่สูญเสียบ้างหรือยังครับ จะเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ จะเป็นฝ่ายเสื้อแดง จะเป็นฝ่ายอาสาสมัคร ท่านสัมภาษณ์หรือยังครับว่าข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งในสังคม ตรงนี้ท่านก็ต้องชี้แจงนะครับ

ผมเรียนว่า การนิรโทษกรรมนั้น พวกผมพูดชัดเจนไปอย่างหนึ่งแล้วว่า กรณีฝ่าฝืน พรก.นิรโทษกรรมเลยครับ ไม่มีปัญหาเลยครับ แม้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เรายินดีที่จะบอกว่า ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ไม่เป็นไร เพราะในสถานการณ์ปกติ การไปชุมนุมการใช้สิทธิทางการเมือง ทำได้ เราถือว่า อันนี้นิรโทษกรรมได้ ถ้าถามว่า เกี่ยวเนื่องไปจากนั้นได้ไม๊ บางกรณีได้ครับ ท่านนึกออกไหมครับ เหมือนเหตุการณ์ชุลมุนกันอยู่ในช่วงการชุมนุม อาจจะมีการไปทำร้ายร่างกาย อาจจะทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ได้ครับ แต่ท่านต้องแยกกรณีแบบนั้นออกจากกรณีที่มีการวางแผน มากระทำความผิดทางอาญา

และการวางแผนมากระทำความผิดทางอาญานี้ ถ้าบอกว่า เอาเกณฑ์เรื่องของจุดประสงค์ทางการเมืองมาเป็นตัวตั้งหรือบางกรณีอาจจะเป็นการบังหน้าแล้ว ผมถามว่า การก่อการร้ายทุกกรณีทั่วโลกเข้าข่ายไม๊ครับ เพราะการก่อการร้ายคือการกระทำความผิดทางอาญาที่มีจุดประสงค์พิเศษทางการเมืองทั้งสิ้น

ทั้งสิ้นเลยครับ วันนี้ผมถามว่า คนที่จงใจเอาอาร์พีจีมายิงกระทรวงกลาโหม หรือแม้กระทั่งวัดพระแก้วฯ และถูกศาลตัดสินลงโทษ 38 ปีขณะนี้อ้างเพียงแค่ว่า ยิงเพราะเป็นเรื่องการเมือง สมควรหรือไม่ที่จะไม่ต้องรับผิด แล้วถ้าท่านนิรโทษกรรมอย่างนี้ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่งตัดสินกรณีไปเผาธนาคารกรุงเทพ ที่ขอนแก่น แล้วบอกว่านอกจากติดคุกแล้วให้ชดใช้ความเสียหายแก่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อท่านนิรโทษแล้ว ถามว่าธนาคารกรุงเทพได้รับความเป็นธรรมไม๊ครับ

และถ้าเราบอกว่าต่อไปนี้ การกระทำความผิดทางอาญาเพียงเพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง อยู่ในข่ายที่ต่อไปวันข้างหน้า จะได้รับการนิรโทษกรรม ถ้าอำนาจเพียงพอถ้ามีเสียงข้างมาก ถ้ามีมวลชนสนับสนุน วันนี้เราจะเขียนรัฐธรรมนูญต่อไปไม๊ครับว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องสงบปราศจากอาวุธเท่านั้น เพราะถ้าไม่สงบ ใช้อาวุธ แล้ววันข้างหน้าคุณได้อำนาจรัฐ คุณก็ไม่ผิด

คณะผู้วิจัยพูดเมื่อสักครู่ว่า เราต้องคิดถึงอนาคต นี่ไงครับ ท่านต้องคิดถึงอนาคต ท่านตอบสนองความรู้สึกไม่เป็นธรรมจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จากคนกลุ่มหนึ่งวันนี้ แต่ท่านกำลังวางบรรทัดฐานสำหรับความรุนแรง และความขัดแย้งในอนาคตนะครับ

ท่านควรจะถอนข้อเสนอนี้กลับไปเขียนใหม่ครับ พรก. ไม่มีปัญหา ส่วนเกี่ยวเนื่องมีผลกับเหตุการณ์ทางการเมือง เป็นวัตถุประสงค์อะไรต่าง ๆ ต้องมีกระบวนการวางหลักเกณฑ์ กลั่นกรองเสียก่อน นี่คือเรื่องการนิรโทษกรรม

ถัดมาครับ เรื่องคตส. ตรงนี้ ผมขอเรียนว่าเป็นเรื่องแปลกนะครับ ความขัดแย้งที่เคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บุคคลบางคน แกนนำบางกลุ่มบอกว่า ไม่ได้ต่อสู้เพื่อคน ๆ เดียว ต่อสู้เรื่องความเป็นธรรม คตส. เป็นเรื่องคดีทุจริต ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง แล้วในรายงานนี้ที่ท่านไม่ได้เขียนข้อเท็จจริง คตส. ที่ท่านเสนอในทางเลือกที่ 2 บอกว่า ให้เลิกคดีไปทั้งหมดนั้น แล้วก็จะมาดำเนินคดีกันใหม่ แล้วมีการอ้างกรณีศาลฎีกาเคยพิพากษาในสมัยรสช. นั้นท่านทราบหรือไม่ครับว่าเป็นกรณีที่เทียบเคียงกันไม่ได้ เพราะ คตส. สมัยรสช.นั้นเขาใช้อำนาจศาล ท่านเอามาอ้างอิงนะครับ เพื่อเป็นข้อเสนอท่าน แต่ คตส. สมัยท่านพล.อ.สนธิ นั้นเขาไม่ได้ใช้อำนาจศาล เขาทำหน้าที่แทน ปปช. หรืออัยการ ตามกฎหมาย ปปช. และกฎหมาย ปปง. ซึ่งมีอยู่ก่อนการรัฐประหาร

ที่สำคัญ คดีที่ยุติไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับมาประเทศนี้ ต่อสู้คดีนี้ในศาลอย่างเต็มที่ เพียงแต่พออาจจะได้ข่าวว่า จะมีคำพิพากษานะครับว่าตัวเองผิด ก็หนีออกไปนอกประเทศ แล้วก็บอกว่า ศาลไม่เป็นธรรม แต่วันที่ต่อสู้ตลอด ยอมรับทุกอย่าง ต่อสู้ด้วยเรื่องกระบวนการ คตส. ศาลท่านวินิจฉัยแล้วไงครับ ศาลไม่ได้ต้องเชื่อ คตส. นี่ครับ ศาลก็เอาพยานหลักฐานทั้งหมดมา แล้วก็มาชั่งน้ำหนัก แล้วที่สำคัญก็คือว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมรับศาล ไม่ยอมรับ คตส. แต่อะไรที่เป็นประโยชน์กับท่าน ท่านรับนะครับ

นี่ท่านตอนนี้ที่ไม่เสียภาษีอ้างคำวินิจฉัยของศาล หลังจากคดี คตส. ไหมครับ ที่ไม่ต้องเสียภาษี 1.2 หมื่นล้าน อดีตภรรยาท่าน มารับเงินคืนจากกองทุนฟื้นฟูฯ ไปฟ้องต่อเนื่องจากคดีนี้นะครับว่า สัญญาการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะเอาเงินคืน ถ้าท่านบอกล้มแล้ว บุคคลเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีไม๊ครับ อดีตภรรยาท่านนายกฯ ทักษิณ ต้องไปจ่ายเงินคืนให้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยไม๊ครับ แล้วคดีที่ก้ำกึ่งล่ะครับ บางคนโดนลงโทษไปแล้วเพราะไม่ได้หนีไปเมืองนอก แต่เฉพาะตัวคุณทักษิณหนีไปเมืองนอก แปลว่าคดีนั้นเป็นอย่างไรครับ ต้องเอากลับมาหมด หรือใช่เฉพาะโอกาสเฉพาะคุณทักษิณ ท่านได้ดูรายละเอียดหรือยัง ท่านถึงได้มีการเสนออย่างนี้

แต่ที่แปลกประหลาดที่สุดคือข้อเสนอที่เป็นทางเลือกที่ 3 ครับ ปรากฎได้อย่างไรครับ ผมเทียบเคียงเรื่อง คตส. อย่างนี้ครับ ในสังคมนี้มีคน ๆ หนึ่ง ถูกสงสัยว่าไปปล้นคน จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามไม่มีใครจับได้ วันดีคืนดีมีคนปลอมตัวมาเป็นตำรวจ จับคน ๆ นี้รวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ ส่งขึ้นไปที่ศาล ศาลตัดสินว่า คน ๆ นี้ผิด ข้อเสนอที่ 3 นี้บอกว่า ห้ามดำเนินคดีกับคน ๆ นี้ และคน ๆ นี้ไม่เคยปล้น เอาฐานความคิดจากไหนครับ เพียงเพราะมีคนปลอมตัวเป็นตำรวจจับส่งศาล ศาลดูพยานหลักฐานทั้งหมด วันนี้บอกว่า ไม่ต้องพิสูจน์อีกแล้ว คนนี้ไม่ผิดเลย หลักคิดคืออะไรครับ มาได้อย่างไรครับ

ถ้าบอกว่ามาเพราะผู้ทรงคุณวุฒิเสนอ ขอประทานโทษนะครับ ผู้ทรงคุณวุฒิ 47 ท่าน หลายท่านคือคนที่ คตส. กำลังดำเนินคดีอยู่ ผมไม่แปลกใจหรอกครับ ว่าคนที่เสนอว่าให้ล้มคดี คตส. นั้น จะเป็นคน ๆ เดียวกัน กับคนที่ถูก คตส. ส่งให้ดำเนินคดี แล้วข้อเสนอทางเลือกที่ 3 ที่ท่านอุตส่าห์บรรจุเป็นทางเลือกนั้น ถามว่ากี่คนครับในผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอ ท่านทราบไม๊ครับ ผมทราบเพราะว่าผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องกรอกแบบสอบถามรอบที่ 2 มีคนเสนอ 1 คน แต่ท่านกรุณาใส่เป็นทางเลือก แต่ถามว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิกี่คนที่บอกว่า กระบวนการ คตส. นั้นให้มันเดินต่อไปตามปกติ มีกี่คนครับ มี 10 คน แต่ทางเลือกนี้คณะผู้วิจัย กลั่นกรองบอก ไม่นับ ไม่ให้เป็นข้อเสนอทางเลือก เพราะอะไรครับ

เพราะอะไรที่ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ที่บอกว่าต้องการรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม กระบวนการยุติธรรม ให้เดินต่อไปพิสูจน์กันในศาลนั้น ท่านบอกว่าข้อเสนอนี้ไม่ขอเสนอเป็นทางเลือก แต่ 1 คน ซึ่งผมสันนิษฐานว่ามีส่วนได้เสียกับการถูกดำเนินคดีบอกว่าขอให้มีทางเลือกนี้ด้วย ท่านใส่เข้ามาเป็นทางเลือก เพราะอะไรครับ

ผมไม่เข้าใจ และหลักการวิจัยอยู่ตรงไหนครับ ทำไม 10 คนไม่มีส่วนได้เสียเสนอ ไม่เป็นทางเลือก 1 คนสันนิษฐานว่ามีส่วนได้เสีย ท่านน่าจะเปิดเผยด้วยนะครับว่าเป็นใคร เสนอ กลายเป็นทางเลือก ผมไม่มีอคติอะไรกับใครทั้งสิ้น และผมก็นับถือหลายท่านที่ทำหน้าที่ในการวิจัยครั้งนี้ แต่ที่ผมได้อ่านรายงานอย่างละเอียดแล้ว และนำเสนอประเด็นเหล่านี้ ไม่จุกจิกไปเสนออีกตั้งหลายเรื่องนะครับ ที่ผมอาจจะไม่เห็นด้วยนั้น ผมเห็นว่าเป็นสาระสำคัญ

คำถาม ถ้าอยากให้มี ขอประทานโทษนะครับ เมื่อสักครู่นี้ คุณณัชชาภัทร (นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า) ใช่ไม๊ครับ บอกว่า National Dialogue แล้วก็ความจริงในกรณี คตส. นั้น อย่าลืมนะครับที่ผมเปรียบเทียบให้เห็นตัวอย่างการปล้น ท่านก็บอกด้วยว่าต้นเหตุความขัดแย้งอย่างหนึ่ง เพราะมีคนสงสัยว่ามีการปล้นจริง ท่านมีข้อเสนอไม่ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างนี้ ท่านได้คำนึงถึงฝ่ายที่เขาเป็นคู่ขัดแย้งที่เขามีปัญหากับการทุจริต คอรัปชั่นแล้วหรือยัง ถ้าท่านจะมี National Dialogue ถามว่า Dialogue กันไปทำไม ผมถามวันนี้ ถ้าสิ่งที่ผมพูดมีเหตุมีผล ผมอยากได้คำตอบ ท่านจะแสดงให้เห็นตัวอย่างของความมี Dialogue ที่ดีโดยเริ่มต้นจากการขอกลับไปทบทวนข้อเท็จจริง และข้อเสนอตรงนี้อีกสักครั้งได้หรือไม่

ถ้าได้ ผมว่าท่านไม่เป็นจำเลยของสังคมครับ แล้วมาพูดคุย ตั้งวงพูดคุยกันครับ ในรายละเอียดเหล่านี้ นอกจากท่านตอบผมได้วันนี้เลยว่า สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่เป็นข้อเท็จจริง อะไรที่เป็นเหตุผล ไม่เป็นเหตุผล อะไรที่เป็นหลักวิชา อะไรที่เป็นหลักในการวิจัยไม่จริง แล้วท่านยืนยันว่ามันไม่จริง อย่างนั้นผมก็ต้องยอมรับ แต่ถ้ามีเหตุผล ผมถามว่าเหตุผลใด ท่านจึงจะไม่นำกลับไปทบทวน ทำไมต้องรวบรัด รีบเร่ง

เพราะการก้าวเดินไปสู่การปรองดองนั้น ผมเคยเรียนกับหลายท่านที่เป็นกรรมาธิการ ทำในจุดร่วมครับ แล้วเราจะเดินหน้าได้ นิรโทษ พรก. ทำไปเลย จุดร่วมนี่ครับ แต่อะไรยังขัดแย้งอยู่ อย่าเพิ่งเดิน ผมถึงถามเหมือนกันว่า ข้อเสนอระยะสั้นในบางเรื่องผมเคยเสนอต่อท่านประธานกรรมาธิการบอก อย่างเมื่อกี้ท่านก็พูดนะครับ หยุดหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะกำลังแบ่งแยกประเทศมากขึ้น เขียนลงไปสิครับ ว่านี่เป็นเรื่องระยะสั้นที่ควรจะทำ การที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาสู่วังวนความขัดแย้ง แล้วก็กระทบกระเทือนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหยุดทำ เขียนลงไปสิครับว่านี่คือข้อเสนอระยะสั้น

ผมจบลงตรงนี้นะครับ  ถ้าท่านไม่ทบทวนในส่วนของท่าน ผมถามท่านเพื่อบันทึกเอาไว้ หากงานวิจัยของท่านชิ้นนี้ คณะกรรมาธิการไปสรุปว่าเสียงข้างมากบอกขอเลือกทางเลือกที่ 3 กรณี คตส. ขอเลือกทางเลือกที่ 2 กรณีของนิรโทษกรรม โดยอ้างว่าเป็นเสียงข้างมาก หรือส่งให้สภาฯ และสภาฯ ลงมติ หรือส่งให้รัฐบาล แล้วรองนายกฯ เฉลิม บอกพระปกเกล้าฯ เสนอเป็นทางเลือกมาแล้วเอาไปใช้ ผมถามท่านตรงนี้ว่า อย่างนี้ปรองดองหรือไม่ บันทึกไว้ตรงนี้เลยครับ อย่างนี้ปรองดองหรือไม่

ถ้าท่านตอบว่า ไม่ปรองดอง ผมก็จะบอก ใครที่คิดไปทำอย่างนี้คือคนที่ขัดขวางกระบวนการปรองดองอย่างแท้จริงครับ ขอบคุณครับ

 
 
ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net