จุดเปลี่ยนที่ต้องจับตามองของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
“ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” พาดหัวในข่าวแจกของกรมการจัดหางาน ซึ่งพูดถึงแนวนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 พาดหัวที่แฝงด้วยความมั่นใจของกรมการจัดหางานครั้งนี้ ไม่อาจจะดูเบาได้ดังแต่ก่อน ทั้งนี้อันเนื่องมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยจากประเทศต้นทาง อาจจะทำให้คำประกาศนี้เป็นจริงได้มากกว่าคิดไว้ได้เหมือนกัน

 

ทิศทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 บอกอะไรบ้าง mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">

           

ในปัจจุบันการจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาของไทย ซึ่งเดิมแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร (Undocumented Migrant Worker) หรือหากจะเรียกตามแบบที่ศัพท์ของหน่วยงานรัฐก็คือ “แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” เพื่อทำความเข้าใจการจัดการแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ในปัจจุบันก็คงเริ่มต้นจากการจัดการในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติจากสามประเทศ และผู้ติดตามมีสิทธิอยู่อาศัยและขออนุญาตทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อทำให้เกิดการจัดระเบียบการจ้างแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามจะต้องไปรายงานตัวต่อนายทะเบียนและจัดทำแบบทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติจะต้องไปตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ แล้วจึงไปขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 – 2554 โดยมีการต่ออายุแรงงานข้ามชาติที่เคยขึ้นทะเบียนและเปิดให้แรงงานที่ไม่เคยจดทะเบียนหรือไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานมาขึ้นทะเบียนเป็นช่วง ๆ ล่าสุดที่มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนใหม่คือปี พ.ศ. 2554

           

ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย ประเทศไทยจึงได้ประสานงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำข้อตกลงในการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย โดยได้ดำเนินการในสองลักษณะ คือ หนึ่ง เปิดให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทย ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เมื่อประเทศต้นทางให้การยอมรับความเป็นพลเมืองก็ประเทศนั้น ๆ แล้วก็จะดำเนินการออกหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางให้ และนำไปสู่กระบวนการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายต่อไป สอง นำเข้าแรงงานข้ามชาติตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน (MoU) ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นกระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบการจัดหางานอย่างถูกต้อง

           

ดังนั้นในปัจจุบันเราอาจจะแบ่งแรงงานข้ามชาติออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว สอง แรงงานกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ สาม กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตามระบบ MoU

 

ทีนี้เราคงต้องมาลองทำความเข้าใจคร่าว ๆ ว่ามติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 บอกอะไรแก่เราบ้าง

 

ประการแรก มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการอนุญาตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งการผ่อนผันจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้ขยายเวลาในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานได้ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยแรงงานกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ด้วยเช่นกัน

 

ซึ่งในกระบวนการการผ่อนผันการต่อใบอนุญาตทำงานนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามระบบที่เคยดำเนินการมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอต่อใบอนุญาตทำงาน การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ซึ่งก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกประกาศ แนวปฏิบัติ และดำเนินการไป ซึ่งระยะเวลาในการได้รับใบอนุญาต และประกันสุขภาพก็จะต้องสิ้นสุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 และหากในระหว่างนั้นแรงงานข้ามชาติได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ก็ให้ยกเว้นในเรื่องค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงานที่เหลื่อมซ้อนกัน

 

ซึ่งในเรื่องการต่อใบอนุญาตทำงานนั้น จากการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ระบุว่า ให้มีการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานได้จนถึง 13 เมษายน 2555

 

ประการที่สอง ให้แรงงานกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิถุนายน 2555 เช่นกัน

 

ประการที่สาม มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ค่าธรรมเนียมวีซ่าของแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติที่จะนำเข้าตาม MoU เหลือ 500 บาท รวมทั้งเมื่ออยู่ครบสองปีแล้ว และต้องต่อวีซ่าก็ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมที่ 500 บาท รวมทั้งให้มีการตรวจสุขภาพหลังจากที่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

 

ประการสุดท้าย มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกไปอีกหนึ่งปี mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">

mso-fareast-font-family:"Times New Roman""> 

อะไรที่ทำให้กรมการจัดหางานมั่นใจ? "Times New Roman"">

 

 “ทั้งนี้โดยภาพรวมนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฯ ที่จะมากรอกแบบพิสูจน์สัญชาติและต่ออายุใบอนุญาตทางานจะได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากทางการพม่าได้มีการปรับปรุงวิธีดาเนินงานใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนาระบบไอทีเข้ามาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแทนการกรอกเอกสาร ซึ่งนายจ้างสามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานพม่า เพื่อยืนยันสัญชาติ จากนั้นกระทรวงแรงงานพม่าจะส่งอีเมล์ยืนยันกลับมาที่ตัวนายจ้างโดยตรง เพื่อให้นายจ้างใช้เป็นหลักฐานพาลูกจ้างไปยืนยันตัวที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดทางการพม่าได้ร่วมกับทางการไทยเห็นชอบให้เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติฯ เพิ่มอีก 5 แห่ง ที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่จังหวัดเชียงราย ตาก และระนอง”  (คำให้สัมภาษณ์ของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน จากเอกสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางาน “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” จากเวบไซต์ http://wp.doe.go.th/sites/default/files/news/228.pdf )

 

อาจจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรมการจัดหางาน มั่นใจว่าคงใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแรงงานเถื่อนตามความเห็นของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะมีปัจจัยในเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของประเทศพม่าเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงทีผ่านมา คือมีจำนวน 70% ของจำนวนแรงงานทั้งสามสัญชาติ และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติจะมีความล่าช้า และมีความซับซ้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และกระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ก็เนื่องมาจากความไม่ลงตัวของระบบอันเกิดจากประเทศต้นทางนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่าที่ชายแดนซึ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน และเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่าง ๆ หรือความล่าช้าของการดำเนินการ

 

การเปลี่ยนแปลงของประเทศต้นทางของพม่าครั้งนี้คงไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจเพียงแค่การพิสูจน์สัญชาติที่ระบบเอื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลพม่า ก็ยิ่งทำให้กระทรวงแรงงาน มั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่า เริ่มค่อย ๆ ลดลง และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมือง อาจจะมีผลต่อการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งทิศทางการลงทุนในพื้นที่ชายแดนที่ประเทศไทยสามารถรองรับได้ด้วยช่องทางที่เปิดไว้ใน การขออนุญาตทำงานในพื้นที่ชายแดน ตามมาตรา 14 ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นไป : แนวโน้มสถานการณ์และผลกระทบหลัง 14 มิถุนายน 2555

 

หากว่าสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจริง หลังวันที่ 14 มิถุนายน 2555 แรงงานข้ามชาติสามสัญชาติกว่าล้านคน จะกลายเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง มีระยะเวลาในการทำงานในประเทศไทยที่ค่อนข้างแน่นอน คือ ทำงานได้ครั้งละสองปี ต่อได้อีกสองปี และต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง และจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ในอนาคตด้วยระบบการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายตามข้อตกลงเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ และด้านอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย

 

ระบบบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ : การพลิกผันที่ไม่อาจจะทันได้เตรียมตัว

 

ผลกระทบอันเนื่องมาจากกรณีที่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ก็คือ แรงงานข้ามชาติเดิมที่เคยใช้ระบบบริการสุขภาพผ่านการซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็จะต้องเปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามพรบ.ประกันสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายมีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้อง โดยทั้งสองระบบก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป

 

หากพิจารณาจากตัวเลขของการขออนุญาตทำงานที่คงเหลือเมื่อเดือนมกราคม 2555 ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเข้าประกันสังคมหลังการพิสูจน์สัญชาติได้ ซึ่งมีเพียงสามกิจการหลัก ๆ ได้แก่ งานรับใช้ในบ้าน งานประมงและเกษตรกรรมที่ไม่ใช่การจ้างงานทั้งปี จากแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันทั้งหมด 1,248,064 คน พบว่าในกลุ่มงานรับใช้ในบ้าน มีจำนวน 85,062 คน ประมง มีจำนวน 41,128 คน และเกษตรและปศุสัตว์ 228,041 คน รวมทั้งสามกิจการ 354,231 คน อย่างไรก็ตามก็พบว่าในงานภาคเกษตรและปศุสัตว์จำนวนไม่น้อยที่จะทำใบอนุญาตทำงานแบบทั้งปี ซึ่งก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่าจะต้องเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่

 

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือ การหดตัวลงของผู้ประกันตนในระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จะส่งผลต่อความมั่นคงทั้งของกองทุนประกันสุขภาพ และตัวสถานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจ้างงานในเชิงอุตสาหกรรม หรือการจ้างงานทั่วไปมาก การแบกรับความเสี่ยงของกองทุนจะมีมาก นอกจากนั้นแล้วระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติจะครอบคลุมถึงการบริการด้านอื่น ๆ เช่น งานส่งเสริมสุขภาพ งานเฝ้าระวังป้องกันซึ่งเป็นงบที่จัดสรรให้ระดับพื้นที่โดยตรง แต่ระบบประกันสังคมบริการเหล่านี้ยังเป็นคำถามว่าจะสามารถครอบคลุมได้หรือไม่ แต่โดยระบบที่เป็นอยู่แล้วไม่ครอบคลุมในบริการดังกล่าว ซึ่งก็กลายเป็นคำถามในเชิงปฏิบัติว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำอย่างไร และเป็นหน้าที่ของใคร

 

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าที่ผ่านมาเมื่อแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว แต่ยังไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ หรือมีแนวปฏิบัติที่เป็นระบบชัดเจนก็ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ในประกันสังคมบางส่วนก็เกิดปัญหาติดขัด เช่น กรณีเงินสงเคราะห์บุตรกับการแจ้งเกิดลูกของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหาหรือคำถามหลักสำหรับช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านจากระบบประกันสุขภาพในสู่ระบบประกันสังคมโดยเฉพาะในด้านรักษาพยาบาล คือ สิทธิในการรักษาพยาบาลตามระบบประกันสังคมจะเริ่มมีใช้บริการเมื่อแรงงานได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปแล้วสามเดือน ในขณะที่ประกันสุขภาพสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากจ่ายเงินประกันสุขภาพ ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าในช่วงสามเดือนระหว่างรอให้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลเกิดขึ้น จะมีการดำเนินการอย่างไร จะมีกระบวนการรองรับหรือไม่ เพราะหากไม่มีกระบวนการรองรับ ผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นทั้งตัวแรงงานข้ามชาติ และตัวสถานพยาบาลหากไม่สามารถดำเนินการเก็บค่ารักษาพยาบาลตามจริงได้

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นที่คาบเกี่ยวระหว่างเรื่องระบบการจ้างงานกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งอยู่ในกระบวนการจ้างงานแบบรับเหมาช่วง คือ มีบริษัทนายหน้าที่จะรับหน้าที่เป็นนายจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานในสถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป ทำให้หน้าที่ในการนำแรงงานเข้าประกันสังคมจึงไม่ได้เป็นหน้าที่ของสถานประกอบการทำให้พบว่าหลายครั้งแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมทั้งมักจะเกิดปัญหาเมื่อเกิดอุบัติหรือเจ็บป่วยในการทำงานขึ้น ขณะเดียวกันระบบฐานข้อมูลบุคคลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจสอบหรือเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ทำให้การตรวจสอบสิทธิในหลักประกันสุขภาพเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

 

การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

 

หากพิจารณาจากนัยยะของมติคณะรัฐมนตรี 13 กุมภาพันธ์ 2555 และความมั่นใจในการประกาศว่า “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” ของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และเป้าหมายหลักว่า หลัง 14 มิถุนายน 2555 แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงต่าง ๆ จะหมดไป จะเหลือเพียงแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้นทั้งจากการเปลี่ยนสถานะโดยพิสูจน์สัญชาติ และนำเข้าตาม MoU เท่านั้น ในแง่หนึ่งมันก็ดูจะเป็นเรื่องดีที่ทุกคนกลายเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายหมด แต่ก็มีบางประเด็นที่อาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ หรือมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการดำเนินการ

 

ประเด็นแรกที่น่าจะพบหลังจากวันที่ 14 มิถุนายน 2555 คือกลุ่มคนที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว การพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน เท่ากับประเทศที่เป็นผู้พิสูจน์สัญชาติ ไม่รับรองสถานะการเป็นพลเมืองของคนคนนั้น หรือเท่ากับว่าในขณะนั้นคนที่พิสูจน์สัญชาติยังไม่มีสัญชาติใดเลย การผลักดันคนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศไทย ก็เท่ากับส่งพวกเขาเหล่านั้นไปสู่ภาวะความไม่ปลอดภัยในชีวิตได้ เมื่อพิจารณาถึงมาตรการต่อกรณีพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านนั้น โดยนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติไม่ได้ระบุเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่พบว่าในยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในความรับผิดชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ระบุในยุทธศาสตร์ต่อกรณีนี้ว่า “กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศ ต้นทางไม่ยอมรับ ให้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามข้อ ๑) – ๔) หากไม่สามารถกำหนดสถานะได้ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสถานะโดยกำหนดให้มีคณะ อนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ  ภาควิชาการ  และภาคประชาชนพิจารณากำหนดแนวทางการให้สถานะที่เหมาะสมตามมาตรการระยะยาวแนบท้ายยุทธศาสตร์นี้” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ฯ ได้ที่ ) http://www.nsc.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=571&Itemid=63)  ดังนั้นหากพิจารณาตามยุทธศาสตร์นี้แล้ว แรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ก็น่าจะกลายเป็นบุคคลที่จะเข้าสู่การจัดการสถานะบุคคลตามยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งขณะนี้นอกจากการกำหนดหลักการในการจัดการในยุทธศาสตร์นี้แล้ว ก็ยังไม่มีแนวปฏิบัติใด ๆ ต่อเรื่องนี้ออกมา จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันแนวปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนจะถึงวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่เอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจะสิ้นสุด อันหมายถึงสิทธิในการอยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้ในประเทศไทยก็จะสิ้นสุดลงเช่นกันหากไม่มีมาตรการใดมารองรับ

 

ประการที่สอง คือ การรับรองสถานะของบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ จากนโยบายที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้บุตรของแรงงานข้ามชาติบางส่วนสามารถมีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ ตามระยะเวลาที่พ่อหรือแม่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้รับการผ่อนผัน อย่างไรก็ตามการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาตินั้น ถูกกำหนดให้เป็นการพิสูจน์เฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติเพียงคนเดียว ไม่ครอบคลุมถึงบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายจึงเกิดเฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติที่เป็นพ่อแม่เท่านั้น ส่วนบุตรผู้ติดตามเมื่อพ่อแม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อพวกเขา

 

ประการที่สาม คือ การจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตที่มีแนวโน้มทิศทางที่จะปรับไปสู่การจ้างงานแบบมีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายจากประเทศต้นทางโดยตรง และเปิดช่องให้มีการจ้างงานชายแดน ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันระบบการจ้างงานชายแดนตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่ากังวลใจต่อทิศทางที่จะดำเนินไป ประเด็นแรกคือ ระบบการนำเข้าตาม MoU ที่จะดูจะเป็นความหวังของการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตของกระทรวงแรงงาน (ซึ่งสถิติจำนวนแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตาม MoU ของกรมการจัดหางานเมื่อเดือนมกราคม 2555 จำนวน 73,246 คน ในขณะที่แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติมี 525,419 คน และแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีมี 1,248,064 คน ) ก็ยังดูจะมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการอยู่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะค่อนข้างจะสูง เช่น กรณีการนำเข้าจากประเทศลาว มีค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000 – 25,000 บาท และมักจะมีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากระบบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตามมาทำให้ค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะตกอยู่กับแรงงานข้ามชาติ โดยนายจ้างอาจจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานจากประเทศต้นทาง แล้วมาหักจากเงินเดือนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็จะนำไปสู่การเป็นหนี้สินสะสมในระยะยาวของแรงงาน นายจ้างอาศัยเหตุของการจ่ายเงินค่านำเข้าไปให้ก่อนมาเป็นเหตุผลในการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติไว้ ขณะเดียวกันกลไกการคุ้มครองแรงงานที่เอื้อต่อการเข้าถึงการช่วยเหลือของแรงงานข้ามชาติ เช่น การมีล่ามในกระบวนการใช้สิทธิ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิของตนเองก็ยังไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย หลุดจากระบบที่ถูกกฎหมาย กลายเป็นแรงงานที่ทำงานแบบผิดกฎหมายต่อไป

 

ประเด็นต่อมาคือ โอกาสในการเข้าถึงการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็อาจจะมีโอกาสไม่เท่ากัน ทั้งเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และระบบการคัดสรรแรงงานของบริษัทจัดหางานในประเทศต้นทางทำให้โอกาสในการจะเข้าถึงการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายก็มีน้อยลง และเมื่อเทียบกับระบบการเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยรูปแบบเดิมนั้น มีค่าใช้จ่ายไม่มากเท่าระบบ MoU เอื้อต่อกลุ่มคนด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสายสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางานมากกว่า

 

ประเด็นสุดท้าย คือ สภาพทางภูมิศาสตร์ ความเป็นชุมชนหรือเครือญาติข้ามพรมแดน เครือข่ายการย้ายถิ่นข้ามชาติของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการเดินทางข้ามพรมแดนของแรงงานข้ามชาติให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ระบบการนำเข้าตาม MoU อาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวสำหรับการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคต ดังนั้นหากจะยังยึดเพียงว่าระบบการนำเข้าตาม MoU จะเป็นทางออกของการจัดการแรงงานข้ามชาติได้ ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไปเผชิญกับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร หรือเกิดปรากฎการณ์หลบลงใต้ดินของแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคมไทยตามมาเช่นกัน

 

ซึ่งจากข้อกังวลใจดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ หรือพิจารณาการจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง คำประกาศ “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” ก็คงจะไม่เป็นจริง แต่กลับนำพาไปสู่สถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่ระบบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้วซ้ำอีก

 

แม้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 14 กันยายน 2555 จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และยากที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ก็จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งโอกาส และความน่ากังวลใจ และที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการจะตั้งรับ แก้ปัญหา หรือเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในครั้งนี้มีเวลาเพียงประมาณสามเดือนเท่านั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท