เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3)

 

ที่มาภาพ : นิตยสารเสรีภาพ สำนักข่าวอเมริกัน กรุงเทพฯ

ฮอดเปลี่ยนเมื่อเกิดเขื่อนภูมิพล

ในช่วงปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในพื้นที่อำเภอฮอดครั้งใหญ่และรุนแรง เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้น ได้มีการสร้างเขื่อนยันฮี โดยกั้นแม่น้ำปิง ตรงบริเวณช่องเขายันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล’  ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์  และเป็นอันดับ 8 ของโลก สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154  เมตร ยาว  486 เมตรความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 3,462 ล้านลูกบาศก์เมตร

วันที่ 24 มิถุนายน 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วย งานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์

ในปี พ.ศ.2506 เริ่มมีการเริ่มปิดเขื่อนกั้นน้ำ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมและ15 มิถุนายน 2507 ตามลำดับ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507

จากข้อมูลของเขื่อนภูมิพล ระบุว่า อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน สามารถจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้า และ ชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด

ในขณะที่ชะตากรรมของชาวบ้านในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของเขื่อนภูมิพล รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนฮอดต่างเริ่มสั่นคลอนนับตั้งแต่นั้นมา

“มีครูบาทำนายเอาไว้ว่า จะมีเครือเถาวัลย์ตายตั้งแต่ฝั่งนี้จนถึงอีกฝั่ง”
“แม่น้ำปิงมูนขึ้นมาประมาณ 20 กว่าศอก”
“สมัยก่อน สองฝั่งลำน้ำปิง มีต้นดอกงิ้ว ต้นไม้ฉำฉา จากนั้นชาวบ้านก็จะมีการทำแพ ตีฆ้องตีกลอง ล่องขึ้นมาเป็นวัดๆ แต่พอหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนก็เกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดการสูญเสียของต้นไม้ เป็นจำนวนมหาศาล และยังมาว่าประชาชน เป็นคนตัดไม้ทำลายป่าอีก”

นั่นเป็นเสียงครวญของคนฮอด ที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์หลังมีการสร้างเขื่อนภูมิพล

จากข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของ อบต.ฮอด ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2502 ทางเขื่อนภูมิพล ได้ทำการเวนคืนที่ดินในเขตน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลฮอดเดิม ซึ่งประกอบด้วย บ้านแควมะกอก หมู่ที่ 1, บ้านหลวงฮอด หมู่ที่ 2, บ้านวังลุง หมู่ที่ 3, บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 เนื่องจากจะต้องได้รับผลกระทบ จนต้องมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ที่ทางราชการได้เตรียมพื้นที่รองรับไว้ในพื้นที่บ้านวังลุง ตำบลหางดง อำเภอฮอดและอำเภอดอยหล่อเป็นที่รองรับ แต่ชาวบ้านได้ปฏิเสธที่จะโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะทุกคนเห็นว่าพื้นที่ที่ทางการเตรียมไว้ให้นั้น ยังขาดสาธารณูปโภคด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน และอาชีพหลักของชาวบ้านซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพในพื้นที่นั้นได้ ทำให้ชาวบ้านได้ย้ายกลับมาที่เดิม

ในปี 2505 ให้มีการย้ายสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน ฯลฯ ให้ย้ายไปอยู่ในเขตพื้นที่บ้านท่าข้าม ตำบลหางดง อำเภอฮอด ซึ่งอยู่บริเวณสันดอนของแม่น้ำแจ่มไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำปิง

จากนั้นไม่นาน น้ำเหนือเขื่อนภูมิพล ก็เริ่มเอ่อหนุนท่วมขึ้นไปทางเหนืออย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งน้ำเริ่มแผ่ขยายเข้าท่วมพื้นที่ตำบลมืดกา ตำบลท่าเดื่อ และตำบลบ้านแอ่น และในปี พ.ศ.2507 น้ำก็เริ่มเข้าท่วมพื้นที่ของตำบลฮอด ตำบลหางดง อำเภอฮอด และบ้านแปะ เขตอำเภอจอมทอง อย่างต่อเนื่อง

ในเขตพื้นที่ตำบลฮอด หมู่บ้านที่เจอน้ำท่วมบ้านแรก คือ หมู่บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ถัดมาน้ำได้เข้าท่วมหมู่บ้านวังลุง หมู่ 3 หมู่บ้านแพะดินแดง หมู่ที่ 2 และหมู่บ้านหลวงฮอด หมู่ 1 ตามลำดับ

แน่นอนว่า ถึงแม้ว่าจะมีการอพยพย้ายหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายไปจากชุมชนเดิมได้ นั่นก็คือ โบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และการสร้างเขื่อน ซึ่งได้แก่ ร่องรอยวัดโบราณ เช่น วัดเจดีย์สูง วัดหลวงฮอด วัดศรีโขง วัดสันหนอง วัดดอกเงิน วัดดอกคำ เป็นต้น

หลังจากน้ำเริ่มหนุนท่วมเข้ามา ชาวบ้านในตำบลฮอด จึงพากันย้ายอพยพขึ้นไปอยู่บนที่สูง โดยได้มีการแผ้วถางป่าเพื่อสร้างชุมชนใหม่ พร้อมกับมีการบุกเบิกพื้นที่ทำมาหากิน

หมู่บ้านแรก ที่ย้ายขึ้นมา คือ บ้านแควมะกอก ย้ายมาตั้งที่บ้านแพะดินแดงในปัจจุบัน และบ้านวังลุงได้ย้ายมารวมอยู่ที่เดียวกับบ้านหลวงฮอดที่แพะดินแดง ก่อนจะย้ายไปที่ตั้งปัจจุบัน ส่วนบ้านห้วยทราย ก็ย้ายตามขึ้นไป ณ ที่ตั้งปัจจุบัน และบ้านดงดำ ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำปิง มีพื้นที่สูง ซึ่งมีสภาพเป็นป่า และทางราชการได้จัดเป็นพื้นที่นิคม จึงได้พากันย้ายไปอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความปั่นป่วนสั่นไหวให้กับผู้คนในตำบลฮอดเป็นอย่างมาก เมื่อจู่ๆ ต้องพากันระหกระเหิน อพยพโยกย้ายออกจากชุมชนอันเป็นผืนดินถิ่นเกิด โดยไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้านั้นจะเป็นอยู่อย่างไรต่อไป ว่ากันว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในห้วงขณะนั้น ต้องประสบกับความยากลำบาก หน้าฝนต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม หน้าแล้งต้องเจอกับภาวะขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

นายพรรณ์ ฮิกิ ชาวบ้านบ้านห้วยทราย หมู่ 4 บอกเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นตนเองกำลังอายุประมาณ 3 ขวบ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยก็พาหนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่ข้างบนประมาณ 1 กิโลเมตร

นายหล้า จันตา อายุ 69 ปี ชาวบ้านห้วยทราย หมู่ 4 ก็ได้บอกว่า พื้นที่โดนน้ำท่วมประมาณ 1,000 ไร่ หลังจากเขาให้ย้ายบ้าน ก็พากันขนย้าย โดยใช้วัวต่างในการขนไม้ ไปสร้างบ้านในพื้นที่ใหม่ ซึ่งแต่ก่อนนั้น กรมป่าไม้ หรืออุทยานฯ นั้นยังไม่มี

เป็นที่รับรู้กันว่า การอพยพโยกย้ายหมู่บ้านทั้งตำบลนั้น ได้มีการปรับและเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องที่กันยกใหญ่ ทำให้ตำบลฮอด จากเดิม 4 หมู่บ้าน มีการแบ่งการปกครอง ออกเป็น 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านแควมะกอก หมู่ที่ 2 บ้านแพะดินแดง (บ้านหลวงฮอด) หมู่ที่ 3 บ้างวังลุง (บ้านทรายแก้ว) หมู่ที่ 4 บ้านห้วยทราย และหมู่ที่ 5 บ้านดงดำ ซึ่งบริเวณพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในตำบลฮอด เป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น อีกทั้ง ชาวบ้านส่วนมากนั้นมีฐานะยากจน ไม่สามารถย้ายไปตามที่ราชการจัดสรรให้ จำเป็นย้ายหนีให้พ้นจากน้ำท่วม เช่น บ้านดงดำ บ้านทรายแก้ว บ้านแพะดินแดง บ้านแควมะกอก ซึ่งชุมชนเหล่านี้ ก่อนหน้านั้นมีอาชีพด้วยการหาปลา พอน้ำลดก็กลับไปทำนาในพื้นที่นาของตนเอง

ยกตัวอย่าง หมู่บ้านดงดำ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ได้บอกเล่าไว้ว่า แต่เดิมอาศัยอยู่ตามริมฝั่งลำน้ำปิง เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหมู่บ้าน คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เริ่มมีการสร้างเขื่อนภูมิพล แต่มีการเก็บน้ำได้เมื่อปี พ.ศ. 2506 แต่น้ำเริ่มมาเอ่อท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2507 ในหมู่บ้านของฮอด แต่ก็ต้องมีการอพยพโยกย้ายบ้านเรือนจากพื้นที่ราบขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง

โดยในปี พ.ศ. 2507ชาวบ้านต้องอพยพจากที่ต่ำขึ้นไปอยู่บนที่สูง และในพื้นที่ใหม่นั้นตามลำห้วยเต็มไปด้วยไม้เขาเหมือก หรือชาวบ้านเรียกว่า ไม้ดำ โดยมีพ่อเฒ่าแกละ จันหม้อ เป็นผู้ตั้งชื่อหมู่บ้านและมีการตั้งชื่อว่าบ้านดงดำ ตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบัน หมู่บ้านดงดำ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือเขื่อนภูมิพล และยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด นั่นคือ อาศัยพื้นที่ทำกินในช่วงน้ำไม่ท่วม ในช่วงที่ทางเขื่อนภูมิพลเก็บกักน้ำน้อย พอแม่น้ำปิงลดลง พื้นที่ทำกินจะโผล่ขึ้นมา ชาวบ้านดงดำ จะพากัน ทำนา ปลูกข้าว ปลูกถั่ว ปลูกงา ปลูกกระเทียม และเมื่อพอถึงช่วงเวลาที่เขื่อนมีการเก็บกักน้ำมาก ก็จะทำให้เกิดขึ้นขึ้นมาท่วมพื้นที่ทำกินดังกล่าว ชาวบ้านต้องจำละทิ้ง แล้วหันมาเปลี่ยนมาทำประมง หาปลา ในช่วงที่น้ำท่วมนั้นแทน

รวมไปถึง หมู่บ้านแควมะกอก ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จำเป็นต้องอพยพย้ายหมู่บ้านหนีน้ำท่วมอย่างจำยอมและหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชาวบ้านแควมะกอก บอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ติดริมแม่น้ำปิง ต่อมา ต้องอพยพโยกย้ายขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นสวนครั่ง แต่ก็ต้องมีการอพยพกันอีกครั้ง ขึ้นมาอยู่ที่สูงกว่าอยู่ติดถนน ณ ปัจจุบัน นับได้ว่า การย้ายถิ่นฐานของบ้านแควมะกอก นั้นมีการอพยพถึง 2- 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงมีความรักความหวงแหนพื้นที่เดิม โดยดูได้จากการตั้งถิ่นฐานของแต่ละครอบครัว และการโยกย้ายในแต่ละครั้ง แต่ละครอบครัวก็จะเคลื่อนย้ายและตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ห่างและไม่ออกนอกพื้นที่ไปเท่าไหร่นัก

ชาวบ้านแควมะกอก บอกย้ำว่า สาเหตุของการโยกย้ายหมู่บ้านก็เพราะน้ำเขื่อนภูมิพลหนุนขึ้นมานั่นแหละ ก็เลยต้องหนีและย้ายให้สูงกว่าน้ำท่วม

นอกจากนั้น หลังจากน้ำจากเขื่อนภูมิพลได้หนุนสูงเข้าท่วมในหลายๆ พื้นที่ของฮอด นั่นทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวพยายามหาทางออกให้กับตัวเอง ด้วยการอพยพ ย้ายครอบครัวไปอยู่กระจัดกระจายในหลายพื้นที่ไกลออกไป เช่น บ้านตาล เชียงดาว แม่แตง ฝาง และไปไกลถึงจังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน

ในขณะที่หลายชีวิต หลายครอบครัวในชุมชนฮอด ยังจำต้องอาศัยอยู่อย่างอดทนและจำยอมต่อไป

 

ข้อมูลประกอบ
ข้อมูลพื้นที่ทั่วไปของตำบลฮอด องค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
นิตยสารเสรีภาพ สำนักข่าวอเมริกัน กรุงเทพฯ
วงเสวนาแลกเปลี่ยนของผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท