ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน

(30 มี.ค.55) ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน” ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) รายละเอียดมีดังนี้ …

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ประวัติศาสตร์ของ “ความหวัง” ในภูมิภาคอาเซียน

 

1: ที่มาของเรื่อง

เมื่อผมได้รับการทาบทามให้มาพูดในหัวข้อเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของความหวังในภูมิภาคอาเซียน” ความรู้สึกแรกๆ คือไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร เพราะ “ความหวัง” ไม่ใช่เหตุการณ์หรือหลักฐานในอดีตที่อาจนำมาวิเคราะห์และศึกษาจนประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์อย่างที่นักประวัติศาสตร์ได้กระทำกันมาตามปกติ ความหวังเป็นเรื่องในปริมณฑลของอารมณ์ความรู้สึก ว่าไปแล้วเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ยังไม่ได้สกัดกลั่นกรองหรือผ่านการเจียระไนจนออกมาเป็นความคิด ความเข้าใจ กระทั่งเป็นฐานหรือแนวทางให้แก่การปฏิบัติของคนต่อไป ความหวังเป็นสิ่งออกจะเลื่อนลอย ยังเป็นแค่ด่านแรกของความรู้สึกที่อาจพยายามจะให้มีแนวทางอะไรออกมาบ้าง แต่ก็เท่านั้น เพราะทันทีที่ความหวังแปรเปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกที่มีพลัง มีความแน่นอน มีความเป็นเหตุเป็นผลในความรู้สึกนั้นมากขึ้น เรียกว่าเป็นระบบระดับหนึ่ง ความหวังนั้นก็จะแปรเปลี่ยนมาเป็นความคิดอื่นๆ เช่น ความคิดว่าด้วยความก้าวหน้า ความคิดว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา ความคิดว่าด้วยการปฏิวัติ ความคิดว่าด้วยการสมานฉันท์ ฯลฯ ความหวังจึงไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง หากแต่มักเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับความคิดอื่นหรืออุดมการณ์ต่างๆ ในที่นี้ตัวอย่างของความคิดที่ใกล้เคียงและผูกพันอย่างมากกับความหวังได้แก่ความปราถนาในอนาคตของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่ามนุษย์ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตอยู่เสมอๆ นั่นคือการคิดว่าด้วยความก้าวหน้า ดังบทกวี ของอเล็กซานเดอร์ โป๊ปที่ว่า

Hope springs eternal in the human breast;
Man never Is, but always To be blest:
The soul, uneasy and confin'd from home,
Rests and expatiates in a life to come.

-Alexander Pope, An Essay on Man

ในขณะที่ อักขราภิธานศัพท์ ของหมอบรัดเลย์ ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ อธิบายคำว่า “หวัง” ไว้ว่า

หวัง, หมาย, คือคิดปอง, คนคิดปองด้วยประโยชน์อันใดอันหนึ่งต่างๆ มีปองหาอาหารเปนต้น
หวังใจ, หมายใจ, คือปองอยู่ในใจ, คนคิดปองอยู่แต่ในใจยังไม่ได้ทำ ฤายังไม่ให้เปนต้นนั้น.
หวังอยู่ว่า, คือคิดปองว่าจะไป,
หวังจะให้, หมายจะให้
หวังว่า. คือคิดประสงค์จะเอาสิ่งอันใดฤาเพื่อเหตุอันใดนั้น
หวังเอา หมายเอา คือนึกเอาสิ่งอันใดอันหนึ่ง มีนึกปองเอาคุณพระเปนที่พึ่งเป็นต้นนั้น. [1]

ความหวังเกิดขึ้นในท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนสูง เป็นความคิดที่มีลักษณะของการผูกโยงไปยังอนาคตและความแน่นอน กล่าวอย่างรวมๆ คือการคิดถึงชีวิตในอนาคต อุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีแนวคิดทำนองนี้ได้แก่ลัทธิชาตินิยม ความหวังในยุคโบราณถึงก่อนสมัยใหม่ เป็นความคาดหวังที่ถูกสร้างในกรอบความเชื่อทางศาสนา จุดหมายใหญ่คือการหลุดพ้นจากความทุกข์และความไม่แน่นอนในโลกนี้ เพื่อไปสู่ความแน่นอนหรือสมหวังในโลกหน้า แต่ความหวังแบบก่อนสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงชีวิตในอนาคต คนไทยพุทธเชื่อเรื่องชาติหน้าและสวรรค์ ซึ่งไม่ใช่โลกและชีวิตอนาคตใหม่ ศาสนาคริสต์และอิสลามเชื่อในโลกหน้า มีเส้นแบ่งอันชัดเจนระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า จึงทำให้คติความหวังของเขามีความเชื่อมโยงกับโลกหน้าและชีวิตในอนาคตมากกว่าของศาสนาพุทธและพราหมณ์ อย่างไรก็ตาม ในทางความคิดและอุดมการณ์ ที่ไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนา ขบวนการลัทธิมนุษยนิยม (Humanism) ที่ได้เกิดและก่อตัวเป็นแนวความคิดทางวัฒนธรรมในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กล่าวได้ว่าก็เริ่มสร้างพื้นฐานและความคิดที่นำมาสู่การทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาล ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าตามคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลอีกต่อไป แนวคิดมนุษยนิยมจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายในทางโลกแล้วสร้างสิ่งที่มนุษย์ตั้งความหวังที่จะเป็นขึ้นมาได้ บทนิพนธ์แรกๆ ที่เป็นตัวอย่างของความคิดมนุษยนิยมนี้ได้แก่งานเขียนของ Pico della Mirandola ใน ปี ค.ศ. 1486 “We can become what we will” หรือ Alberti ที่ว่า “Men can do all things if they will” มาถึงนักปรัชญาสมัยใหม่ที่ยังไม่สิ้นศรัทธาในความเป็นมนุษย์ คือนิตเชอ Nietzsche ผู้ประกาศว่าพระเจ้าได้ตายแล้ว และเราต้องเลือกระหว่าง “มนุษย์” กับ “พระเยซู” คำตอบเดียวเท่านั้น [2]

ความหวังสมัยใหม่โดยเนื้อหาจึงเป็นการมองไปยังอนาคต ไปยังที่แห่งอนาคตที่มีความแน่แท้ แต่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติภูมิปัญญาและปรัชญาคือการให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่ความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคนที่เรียกว่าปัจเจกบุคคล ทำให้ความคิดใหม่นี้สามารถใช้ความเป็นเหตุผลแทนความเชื่อและศรัทธาทางศาสนามาอธิบายและไปค้นหาคำตอบในสังคมได้ เมื่อความคิดนี้ถูกใช้ในความคิดและปรัชญาสมัยใหม่ทั้งหลาย ก็สร้างความต่อเนื่องและเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้ระหว่างสังคมในอดีตกับสังคมในปัจจุบัน นั่นคือทำไมคนยุคใหม่ถึงคิดและเชื่อว่าตัวเราและคนรอบข้างมาจากอดีตอันหนึ่งร่วมกันและยังเชื่อมต่อมาถึงเรื่องราวในปัจจุบันราวกับเป็นหนังเรื่องเดียวกันได้ ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมที่สะท้อนความต้องการนี้ที่ชัดเจนและมีพลังอย่างมากได้แก่ลัทธิชาตินิยม

ความหวังที่เราเข้าใจในปัจจุบันเป็นความหวังที่เกิดกับประสบการณ์ของคนในชั่วชีวิตหนึ่งๆ ซึ่งมากับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์และในการบริโภคทางสังคมทั้งหลาย เป็นความคาดหวังและต้องการของคนที่มีต่อโลกปัจจุบันมากกว่าโลกในอนาคตแต่ถ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม แม้การพูดถึงความหวังจะมีนัยถึงการพูดถึงเรื่องของอนาคต แต่พื้นฐานสำคัญในการสร้างทิศทางให้แก่ความหวังกลับเป็นการมองกลับไปยังอดีตของตน นั่นคือการมองถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์และสังคม ในอีกมิติที่น่าสนใจคือการพูดถึงคนที่ตายไปแล้ว การที่สังคมยังสนใจและมีธรรมเนียมของการเล่าเรื่องผี เรื่องของความตายในอดีต ก็เป็นวิธีการ(หรือวาทกรรม)หนึ่งของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับความหวัง ในกรณีหลังนี้โดยผ่านความหลังและความตาย กล่าวได้ว่ากระบวนการในการสร้างและบรรลุความหวังในอนาคตแยกไม่ออกจากกระบวนการปลดปล่อยและรื้อสร้างเครื่องพันธนาการที่ผูกมัดและครอบงำมนุษย์ไว้กับอดีตที่ไม่สดใสไม่น่าปรารถนาออกไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นวาทกรรมของความหวังจึงดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งการสร้างจุดหมายและความใฝ่ฝันของชีวิตใหม่ในโลกอนาคต กับการรื้อฟื้นความทรงจำของอดีต ของความตายและความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นมาในโลกเก่าที่ผ่านไปตามกาลเวลาแต่ยังอาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ในโลกใหม่

การพูดและวิเคราะห์ถึงเรื่องความหวังอย่างมีความหมายจำเป็นต้องกระทำในกรอบขององคาพยพที่แน่นอน ในที่นี้จะใช้กรอบของรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติสมัยใหม่เป็นฐานในการหาและสร้างความหมายของความหวังขึ้นมา ในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ได้แก่ยุคสมัยที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางโครงสร้างของระบบการปกครอง การเมือง การเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สถาบันและความคิดเก่าถูกล้มล้างหรือแปรรูปไป สถาบันใหม่เกิดขึ้นมา ยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของความหวังในอุษาคเนย์จึงเป็นผลโดยตรงจากประสบการณ์และโศกนาฏกรรมที่ได้เกิดขึ้นในสังคมเหล่านี้

 

2: กำเนิดของชาติและความหวัง

ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลกระเทือนต่อทั้งภูมิภาคอย่างลึกและกว้างในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในยุคอาณานิคม ก็คือช่วงระยะคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ๒๐ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมที่มีระบบปกครองแบบกษัตริย์ มาสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมภายในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ส่วนในทางการเมืองและสังคมคือการก่อรูปขึ้นของระบบปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างจำกัด ในระยะแรกอยู่ภายใต้ระบบปกครองอาณานิคมของตะวันตก มีกระบวนการปลดปล่อยชาวนาและข้าทาสให้เข้าสู่ตลาดเสรี เป็นแรงงานเสรีและเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและศาสนามากขึ้น กล่าวโดยรวม ยุคอาณานิคมได้สร้างกรอบและพื้นฐานของสังคมอุษาคเนย์ใหม่ นำไปสู่การเกิดพลังใหม่ๆ ในทางสังคมขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ทำลายหรือสลายโครงสร้างสังคมแบบขนบธรรมเนียมตามประเพณีโบราณลงไปจำนวนหนึ่ง เกิดกระบวนการของการแปรเปลี่ยนภายในรัฐใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่ เกิดความขัดแย้งทั้งที่เป็นปฏิปักษ์รุนแรงและที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ไม่รุนแรงในปริมณฑลต่างๆ ของสังคม จากนั้นนำไปสู่การก่อรูปของระเบียบสังคมใหม่ที่ต่อสู้เพื่อจะมีพื้นที่อันชอบธรรมและมีอนาคตขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องหลายระเบียบใหม่ไม่อาจดำเนินไปสู่การบรรลุจุดหมายได้ บ้างก็ล้มหายตายจากไป บ้างก็ดัดแปลงผสมกลมกลืนกับสภาพท้องถิ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นโครงสร้างและระเบียบสังคมการเมืองแบบอุษาคเนย์ ที่รอการเติบใหญ่อย่างสมบูรณ์ต่อไป

ในระยะแรกของระบบอาณานิคมและการปะทะกันระหว่างสังคมอุษาคเนย์แบบโบราณกับลัทธิสมัยใหม่จากตะวันตก ปริมณฑลที่การปะทะกันดำเนินไปจนถึงจุดแตกหักที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างถอนรากถอนโคนในบางรัฐนั้นได้แก่ปริมณฑลของการเมืองหรือพื้นที่ของอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นหัวใจและกลไกหลักของการดำรงอยู่ของรัฐและสังคมอันรวมถึงมวลประชาราษฎรด้วย ปรากฏการณ์ที่จะมีผลต่อการสร้างความหวังก่อนอื่นมาจากการผิดหวัง จากประสบการณ์ของการพังทลายและเสื่อมสลายของระบอบเก่าในขณะที่ระบอบอาณานิคมใหม่ยังไม่สามารถตอบสนองและให้ความต้องการที่บรรดาคนใหม่คาดหวังและต้องการได้

ภาพของการพังทลายของระบบเก่าที่มีสีสรรค์และสั่นสะเทือนความรับรู้และความเชื่อมั่นในบารมีของกษัตริย์แบบตะวันออกได้แก่วาระสุดท้ายของกษัตริย์พม่าพระเจ้าสีป่อแห่งราชวงศ์อลองพญา ซึ่งสืบราชสันตติวงศ์ในกรุงอังวะมาถึงสิบรัชกาล โดยเริ่มที่ปฐมกษัตริย์คือพระเจ้าอลองพระ หรือพระเจ้ามังระในพระราชพงศาวดารไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ มาสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าสีป่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

คนที่เขียนเล่าบรรยายภาพวาระสุดท้ายของพระเจ้าสีป่อได้อย่างสะเทือนใจราวกับนั่งอยู่ในอกของพระราชวงศ์สุดท้ายของพม่าคือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังจะยกมาให้ดูดังต่อไปนี้

“วันสุดท้ายของกรุงรัตนะบุระอังวะนั้นเริ่มต้นแต่ตอนกลางคืน โทรเลขจากขุนนางที่ไปพบกับแม่ทัพอังกฤษนั้นมาถึงเอาค่ำแล้ว พระเจ้าสีป่อก็เสด็จออกท้องพระโรงในกลางดึก และมีรับสั่งให้ตามขุนนางเข้ามาเฝ้าฯ เมื่อขุนนางมาพร้อมกันแล้ว อาลักษณ์ก็อ่านโทรเลขที่แจ้งเรื่องคำตอบของแม่ทัพอังกฤษสั่งให้พระเจ้าสีป่อยอมแพ้ มิฉะนั้นอังกฤษจะระดมยิงกรุงอังวะในวันรุ่งขึ้นและกรุงอังวะนั้นก็อยู่ใกล้พระนครขนาดเดินถึงกันได้อย่างสบาย...” หลังจากปรึกษากับแม่ทัพนายกองใหญ่ถึงหนทางจะรักษาพระเศวตรฉัตรและราชบัลลังก์กรุงอังวะไว้ให้ได้ ซึ่งทำได้ยากมาก ในที่สุดพระเจ้าสีป่อก็ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของอังกฤษ

“เสียงฆ้องกลองที่หอกลองพะโหสินย่ำยามขึ้น เหมือนกับจะบอกว่าความหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา พระเจ้าสีป่อขยับพระองค์บนพระราชอาสน์ เสียงพระภูษาที่ทรงกระทบเสียดสีกับพระยี่ภู่ ด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบา พระเจ้าสีป่อก็มีพระราชกระแสให้ส่งโทรเลขไปยอมแพ้ต่อแม่ทัพอังกฤษ ทั้งนี้เป็นพระบรมราชโองการนัดสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้ากรุงอังวะ”

หลังจากพระเจ้าสีป่อได้ตรัสมอบพระองค์ ราชสมบัติทั้งปวงและพระนครมัณฑเลแก่พันโทสเลเดนนายทหารอังกฤษ แล้วก็ขอเวลาเตรียมตัวต่อ ยังไม่อยากไปกับทหารอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษแต่แรกก็ยอมให้เวลา แต่เมื่อเห็นนานช้ามากนัก เกรงจะมืดค่ำเสียก่อนจึงเร่งให้พระเจ้าสีป่อออกเดินทาง ขณะจะออกจากพระราชวัง บรรดาสนมพวกผู้หญิงในวังต่างพากันเข้ามาเก็บข้าวของในวังเป็นการใหญ่โดยไม่เกรงกลัว เมื่อสิ้นอำนาจวาสนาก็ไม่มีความจงรักภักดีหลงเหลืออยู่ในคนเหล่านั้นอีกต่อไป จากหน้าวังจะไปลงเรือที่แม่น้ำเป็นระยะทางพอสมควร อังกฤษเตรียมเปลหามที่ใช้ในโรงพยาบาลไว้สำหรับพระเจ้าสีป่อๆ ทรงเห็นเปลหามก็ไม่ยอมนั่ง ในที่สุดอังกฤษก็ไปหาระแทะเทียมโค ซึ่งใช้วิ่งรับคนโดยสารอยู่ในกรุงมัณฑเลมาได้คันหนึ่ง พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัตและพระนางอเลนันดอก็เสด็จขึ้น ทันใด

“เจ้าพนักงานเก้าคน ซึ่งโผล่มาจากไหนก็ไม่ทราบก็เข้ากางเศวตฉัตรเก้าองค์รายรอบระแทะนั้น มหาดเล็กข้าหลวงก็จัดขบวนเดินตามเสด็จเหมือนกับขบวนพระราชอิสริยยศ ทหารอังกฤษที่เดินอยู่สองข้างนั้นก็กลายเป็นทหารเกณฑ์แห่ ชบวนแห่นั้นก็เคลื่อนออกจากพระราชวังตรงไปยังท่าน้ำ มีแตรวงนำหน้าบรรเลงดนตรีไปอย่างครึกครื้น ราษฏรก็พากันมาดูแห่อย่างคับคั่ง จะได้มีผู้ใดทุกข์โศกหรือสงสารในพระเจ้าแผ่นดินของตนอย่างไรก็หาไม่” (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๔, ๑๙๕)

กรุงรัตนะบุระอังวะ ซึ่งเคยรุ่งเรืองด้วยเดชด้วยอำนาจและด้วยศฤงคารทั้งปวง ก็มาจบประวัติและสิ้นชีวิตลงด้วยประกาศสั้นๆ ของอุปราชอินเดีย ลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๖ (พ.ศ. ๒๔๒๘) ดังต่อไปนี้

“โดยพระราชเสาวณีย์แห่งสมเด็จพระจักรพรรดิราชินี ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าบรรดาเขตแคว้นทั้งปวง ซึ่งพระเจ้าสีป่อเคยปกครองอยู่นั้น บัดนี้มิได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของพระองค์อีกต่อไปแล้ว แต่ได้ตกมาเป็นส่วนหนึ่งแห่งขอบขัณฑสีมาของพระบรมราชินีนาถ และจะได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้อุปราชอินเดีย และผู้ว่าราชการใหญ่อินเดียปกครองต่อไปตามพระราชอัธยาศัย”

(ลงนาม) ดัฟเฟอริน

ก่อนหน้าที่อังกฤษจะเข้ายึดอำนาจของพระเจ้าสีป่อนั้น ได้ทำสงครามกับพม่าในทางใต้ก่อนแล้ว และได้ประกาศนโยบายใหม่ของอังกฤษให้ราษฎรพม่ารับรู้ไว้ หลักๆ คือการประกาศให้คนพม่าทั้งหลายรู้ว่า พวกเขานั้นมีสิทธิของการเป็นพลเมืองและเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ นั่นเป็นปรัชญาและความคิดทางการเมืองแบบสมัยใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในดินแดนเหล่านี้ บัดนี้ลัทธิอาณานิคมได้นำมันมายื่นให้ต่อหน้าพวกราษฎรอย่างไม่มีเงื่อนไข เหมือนกับของที่ได้มาฟรีๆ ดังตัวอย่างของ “คำประกาศต่อชาวเมืองมะริด” โดยรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ นายแมงยี ข้าหลวงเมืองตะนาวศรีต่อพลเมืองในปกครองใหม่ ปี ๑๘๒๕

“ขอให้พวกท่านจงมั่นใจเถิดว่า ภรรยาและบุตรของพวกท่านจักได้รับการปกป้องจากศัตรูทั้งภายในและภายนอกทั้งหลาย ท่านจะได้ชื่นชมในเสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านจะได้รับการคุ้มครอง ศาสนาของท่านจักได้รับการเคารพ พระสงฆ์องค์เจ้าของพวกท่านรวมถึงความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะได้รับการค้ำประกันจากการดูถูกหมิ่นเหยียดหยามหรือได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย มาตรการที่เหมาะสมจะถูกนำมาใช้เพื่อให้ความยุติธรรมบังเกิดกับท่าน ตามครรลองของกฎหมายของพวกท่าน และตราบเท่าที่มันไม่ละเมิดต่อหลักการด้านมนุษยธรรมและความเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ ในเรื่องภาษีอากรแลอื่นๆ นั้น เราจะนำเอาจารีตและประเพณีท้องถิ่นของพวกท่านมาพิจารณาร่วมด้วย แต่กระนั้นก็ดี การค้าแบบเสรีที่สุดและโดยปราศจากข้อกีดขวางใดๆ ทั้งจากภายในและภายนอกจักได้รับการสถาปนาและสนับสนุนส่งเสริม [3]

ทั้งหมดที่เราต้องการจากท่านก็คือ ช่วยนำเราไปสู่ความสงบ สันติ ระเบียบ และความสุข โดยที่พวกท่านชาวเมืองทั้งหลายแต่ละคนกลับไปดำเนินอาชีพของตน ให้ความเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจเหนือตนอย่างเต็มอกเต็มใจ ต่อต้านศัตรูที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงให้คำชี้แนะแก่เราเมื่อจำเป็น

สุดท้าย ข้าฯปรารถนาที่จะให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่าใครก็ตาม แม้คนยากเข็ญที่สุด ก็สามารถขอพบข้าฯในเรื่องนี้ได้ทุกเวลา และในทุกสถานที่ [4]

ไกลออกไปในหมู่เกาะของอุษาคเนย์ ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ กองทัพดัตช์ได้บุกเข้าไปยังเกาะบาหลีถึงเมืองซานูร์ในชายฝั่งตะวันออกและรุกไล่เข้าไปยังบาดุงซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังของกษัตริย์บาหลี ฝ่ายราชสำนักบาหลีตระหนักแล้วว่าตัวเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงเตรียมรับวาระสุดท้ายของสงครามและการสุดสิ้นของพระราชวงศ์ ด้วยการเดินแถวออกมาทั้งหมด กษัตริย์ ราชินีทั้งหมด ราชโอรสและธิดารวมทั้งบรรดานางสนมนางในทั้งหลาย ทั้งหมดเดินเรียงหน้าในขบวนอันตบแต่งอย่างเต็มยศของการทำอัตวินิบาตกรรมหมู่เข้าหาแนวยิงของปืนศัตรู ภายในอาทิตย์เดียวกษัตริย์และรัชทายาทของทาบานานก็ถูกจับ แทนที่จะให้จับไป ทั้งกษัตริย์และรัชทายาทก็กระทำการทำลายตนเองเสียก่อน องค์หนึ่งด้วยยาพิษและอีกองค์ด้วยมีด ในคืนวันแรกที่อยู่ในการจองจำของดัตช์ ในอีก ๒ ปีต่อมา พิธีกรรมอันสยดสยองนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในรัฐที่มีสีสรรค์ที่สุดของบาหลีคือคลุงคุง (klungkung) ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของบาหลีโบราณ กษัตริย์และบรรดาคนในราชสำนักเดินขบวนออกมาในลักษณะกึ่งหมดสติกึ่งผีเข้าด้วยฤทธิ์ของฝิ่น ออกมาจากพระราชวังไปยังแถวของกองทหารดัตช์ที่เตรียมพร้อมแต่ยังลังเลว่าจะยิงดีหรือไม่ นักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงระดับโลก คลิฟฟอร์ด เกียรซสรุปว่า นี่คือการตายของระบบเก่า มันหมดอายุไปเหมือนกับที่มันได้เคยอยู่มา กล่าวคือเป็นนาฏยรัฐ(theatre state)ในโลกของพิธีกรรมและขบวนแห่อันอลังการ์. [5]

การพังทลายของระบบและระเบียบสังคมเก่าแบบศักดินาไม่ได้สร้างความคิดความหวังและความต้องการอย่างใหม่ขึ้นมาได้ จนกว่าบรรดาคนใหม่ทั้งหลายที่มาจากคนสามัญจะได้เข้าศึกษาและเรียนรู้ชีวิตสมัยใหม่จากเจ้าอาณานิคม เมื่อนั้นแหละที่อุดมการณ์และความคิดแบบสมัยใหม่จึงเริ่มก่อตัวขึ้น

 

3: ชาติกับความคิดแบบใหม่

ความคิดแบบใหม่ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้แก่ความต้องการเป็นอิสระ ความเป็นเอกราช ในนามของรัฐและชาติมากกว่าของปัจเจกบุคคล เป็นความคิดที่มองถึงความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การหยุดนิ่งและกลับไปหาอดีต ถ้าหากว่าในระบบสังคมยุคเก่า วิญญาณหรือหัวใจของรัฐคือผู้นำทางประเพณี ที่เด่นชัดที่สุดคือในรูปของพระมหากษัตริย์ ในยุคใหม่หลังจากการยึดครองของลัทธิอาณานิคมแล้ว วิญญาณใหม่ของรัฐใหม่ที่กำลังจะเกิดได้ย้ายจากผู้นำตามบารมีคนเดียว มาเป็นนามธรรมใหม่ที่เรียกว่าชาติที่เป็นองค์รวมของมวลชน องค์อธิปัตย์เดิมอยู่ในตัวของกษัตริย์ องค์อธิปัตย์ใหม่อยู่ในตัวของชาติที่เป็นตัวแทนของประชาชน มโนทัศน์ว่าด้วยชาติ แผ่นดิน มาตุภูมิ ในระยะแรกยังเป็นนามธรรมและไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ล้วนเป็นจินตนาการใหม่ที่เกิดจากความหวังหรือความต้องการอันเป็นจุดหมายของคนใหม่ร่วมกันในกระบวนการของการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม กระบวนการและการปฏิบัติของผู้คนที่เรียกว่า “คนใหม่” (New Men/Women) ใช้เวลาและความพยายามหลายสิบปีกว่าจะนำไปสู่การก่อเกิดและตกผลึกของความคิดและความคาดหวังของคนเหล่านั้นจนกลายมาเป็นความคิดที่รู้จักกันดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในสงครามปลดปล่อยชาติ หรือสงครามกู้ชาติ หรือสงครามเพื่อเอกราชของบรรดาประเทศในอุษาคเนย์ทั้งหลาย ความคิดใหม่นี้ก็คือลัทธิชาตินิยม (nationalism)

ปัญญาชนแห่งอุษาคเนย์คนแรกที่เสนอความคิดเรียกร้องความหวังในอนาคตใหม่ให้แก่ประชาชนและชาติได้แก่ โฮเซ ริซัล (Jesé Rizal) แห่งฟิลิปปินส์ ริซัลเกิดวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑ เมื่อตายอายุเพียง ๓๕ ปีเท่านั้น เขาถูกทางการเจ้าอาณานิคมสเปนจับด้วยข้อหา “ปลุกระดม” ทำให้เกิดการลุกฮือและจลาจลในฟิลิปปินส์ และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้าเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๑๘๙๖ โดยอาชีพจากการศึกษาเขาเป็นนายแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติและเคลื่อนไหวเขาเป็นนักเขียนและศิลปิน น่าสังเกตว่าผู้นำนักคิดของเมืองอาณานิคม หลายคนเริ่มต้นด้วยการเป็นแพทย์แล้วจบลงด้วยการเป็นนักปฏิวัติ จากหมอรักษาคนไข้มาเป็นหมอรักษาสังคม เช่นซุนยัดเซนและหลู่ซิ่น เป็นต้น

ริซัลมาจากครอบครัวลูกผสม จีน ญี่ปุ่น สเปน และตากาล๊อก หัวดีเรียนเก่งจบมหาวิทยาลัยซานโตโทมาสในมะนิลาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแคทอลิกแห่งแรกในอุษาคเนย์ แล้วไปเรียนต่อในยุโรป ที่ยุโรปเขาได้รับอิทธิพลความคิดก้าวหน้าของสำนักปรัชญาแสงสว่างหรือ Enlightenment ซึ่งเป็นปรัชญาเดียวกันที่กระตุ้นและปลุกระดมคนชั้นกลางในยุโรปถึงอเมริกา ให้ตื่นขึ้นจากความมืดของการครอบงำโดยศาสนจักรแคทอลิกและสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่ “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในอังกฤษ (The Glorious Revolution 1640) การปฏิวัติอเมริกา (1776)และการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส (1789)

ตำนานแห่งบทกวีสุดท้ายอำลาตาย มีความยาว ๑๔ บาท เขียนเป็นภาษาสเปน Mi ultimo adios (My Last Farewell) ต่อไปนี้เป็น ๒ บาทแรกที่สำคัญและถือว่ากินใจที่สุด ในพากษ์ไทย

ลาก่อนปิตุภูมิที่แสนรัก
ถิ่นพำนักอ้อมกอดสุริย์ฉาย
ดุจไข่มุกส่องแสงเจิดประกาย
ขจรขจายทั่วแคว้นแดนไกล

ด้วยความยินดีระคนเศร้า
ข้าพเจ้าขอน้อมยอมถวาย
ชีวิตนี้เพื่อชาติทั้งใจกาย
สุขสบายทั่วกันนิรันดร

ท่ามกลางสนามรบที่เข่นฆ่า
ปวงประชาพลีชีพเป็นอนุสรณ์
แม้อยู่ถิ่นฐานใดไม่อาวรณ์
ยอมม้วยมรณ์เพื่อแผ่นดินถิ่นบิดา

ปรารถนาดวงวิญญาณขอลาก่อน
เมืองบิดรจรจากไกลในไม่ช้า
แสนปราโมทย์ยินดีเอ่ยคำลา
เพื่อนำมาซึ่งผาสุขของแผ่นดิน

ชีวิตนี้อุทิศมอบตอบแทนชาติ
แม้นวายวาดม้วยมลายไม่ถวิล
ใต้ผืนทิฆัมพรและธรณินทร์
ดวงชีวินสู่สงบพบนิรันดร์

(แปลโดยตวงพร สมสมัย ขนิษฐา สุวรรณรุจิ รัชฎา ตั้งตระกูลและประวิตร โรจนพฤกษ์) [6]

จากบทกวีลาตายของริซัลนี้ ลองพิจารณาว่าเขายอมตายเพื่อจุดประสงค์อะไร “ ชีวิตนี้เพื่อชาติทั้งใจกาย สุขสบายทั่วกันนิรันดร .......เพื่อนำมาซึ่งผาสุขของแผ่นดิน” นั่นคือต้องการต่อสู้เรียกร้องความสุขของแผ่นดิน ของประชาชน ในนั้นเขาจินตนาการถึงแผ่นดินใหม่ของพ่อ หรือปิตุภูมิ ซึ่งอีกชื่อคือชาติ นวนิยายเรื่อง “โนลี เม ตันจาเร” (Noli me tanjare) หรือ “อันล่วงละเมิดมิได้” ต้องถือว่าเป็นนวนิยาย (novel) เล่มแรกของอุษาคเนย์และเป็นนวนิยายเล่มแรกที่เขียนโดยคนพื้นเมือง กำเนิดและวิธีการของนวนิยายมีความสัมพันธ์อันล้ำลึกกับกำเนิดของชาติอย่างยิ่ง ดังที่อาจารย์เบ็น แอนเดอร์สันได้อธิบายไว้เป็นอย่างยอกย้อนว่า การปรากฏตัวของของนวนิยายที่เป็น “สินค้าขายดี” (popular commodity) นั้นเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับการปรากฏขึ้นของชาติ ทั้งชาติและนวนิยาย ต่างก็ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ขึ้นมาจากมโนทัศน์ว่าด้วยเวลาแบบใหม่ที่ทำให้คนทั้งหลายคุ้นเคยกับมันโดยผ่านนาฬิกา แล้วซึมซับเวลาใหม่นี้ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างเป็นไปเองตามการเคลื่อนไปของเข็มนาฬิกาและปฏิทิน เราเรียกมโนทัศน์ใหม่นี้ว่า “สุญกาลสหมิติ” (homogeneous empty time) [7] หลังจากนั้นชาติและนวนิยายก็โตไปพร้อมกับ “สังคม” ซึ่งเข้าใจกันว่าคือ องคาพยพที่ล้อมรอบด้วยประวัติศาสตร์อันเชื่อมโยงระหว่างท้องที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้เปิดช่องทางให้แก่มนุษย์ในการจินตนาการถึงชุมชนที่กว้างใหญ่ วิ่งผ่านหลายๆ อายุคน และที่สำคัญไม่มีขอบเขตใดๆ ทั้งสิ้น ในนั้นประกอบไปด้วยบรรดาผู้คนซึ่งต่างก็ไม่เคยรู้จักกันมาเลย ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าชุมชนแบบนี้ก็จะเลื่อนไหลราวไร้จุดหมายไปสู่อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดเช่นกัน [8] นี่คือพลังและธรรมชาติของ “ชาติ” สมัยใหม่ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ เป็นความหวังและเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตคนธรรมดา ในชาติคนทั่วไปสามารถฝันและจินตนาการถึงคุณธรรมที่คนธรรมดาอย่างเขาสามารถเทิดทูนมันได้อย่างสุดจิตสุดใจ กระทั่งสามารถท้าทายคุณธรรมของผู้ปกครองซึ่งในสายตาของพวกเขาเป็นผู้ไม่รักชาติหรือเป็นผู้ทรยศชาตินั่นเอง

ขบวนการชาตินิยมทั้งหลายในอุษาคเนย์มีลักษณะร่วมกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการสร้างสังคมและรัฐชาติใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องจำลองภาพและความคิดแบบเก่าโบราณมาอีกเลย นอกจากด้านที่จำเป็นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบุคลิกของชาติใหม่นี้ ลักษณะของกลุ่มและขบวนการชาตินิยมนี้มักมาจากคนหนุ่มสาวหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ การตั้งชื่อและเรียกขานตัวเองก็ต้องแสดงออกถึงความเป็นหนุ่มสาว บรรดาคนใหม่เหล่านี้เริ่มตระหนักหรือรู้สึกถึงความผูกพันที่เขาหรือเธอมีต่อดินแดนที่เป็นประเทศอันแน่นอนเมื่อได้รู้ว่ามีคนอื่นเหมือนกับเขาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น คิดและทำในสิ่งเดียวกับที่เขาทำ นั่นคือการเริ่มตระหนักและรู้สึกว่าพวกเขามีชะตากรรมอันหนึ่งร่วมกัน มีอนาคตร่วมกัน หรือที่อ.เบน แอนเดอร์สันเขียนว่า “พวกเขารู้สึกอย่างลึกซึ้งของการมีภราดรภาพในลักษณะแนวนอน… ความรู้สึกชาตินิยมอย่างเป็นแบบฉบับเช่นนี้ โดยปกติจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างกระทันหันในช่วงเวลาของคนรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความแปลกใหม่ของมัน จึงกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมนั้นผูกพันอยู่กับญาณทรรศนะ(หรือวิสัยทัศน์)และความคาดหวังสำหรับอนาคตอย่างมาก” [9]

ดังจะเห็นได้จากบรรดารายชื่อของกลุ่มและองค์กรยุคแรกๆ ที่เข้าร่วมขบวนการเอกราชในต้นศตวรรษที่ ๒๐ เช่น กลุ่มชะวาหนุ่มสาว (Jong Java=Young Java), อินโดนีเซียหนุ่ม(สาว) (Indonesia Muda=Young Indonesia) สันนิบาตของเยาวชนมุสลิม (Jong Islamientenbond=League of Young Muslims) และเยาวชนมินาฮาซา (Jong Minahasa=Young Minahasa) เป็นต้น ไม่มีองค์กรที่เรียกตัวเองว่าชะวาแก่หรืออาวุโส(Old Java), บาหลีนิรันดร(Eternal Bali), ฯลฯ ทิศทางของบรรดากลุ่มองค์กรชาตินิยมคือการมุ่งสู่อนาคต และพื้นฐานทางสังคมของพวกเขาคือความเป็นหนุ่มสาว แม้กระทั่งทุกวันนี้ พลังทางการเมืองที่เป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของบรรดานักศึกษาอยู่ที่ฐานะทางสังคมของพวกเขาในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของอนาคตของชาติ

ในอดีตบรรดานักเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อเอกราชและเสรีภาพของชาติและประชาชนนี้ จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ให้ความหมายแก่การร่วมมือกันในระดับอาณานิคมและมีโครงการร่วมกันในการปลดปล่อย ไม่ใช่แค่ในนามของบ้านเมืองหรือรัฐของตนเองเพียงแห่งเดียว พวกเขายังกระตือรือล้นในการเคลื่อนไหวช่วยเหลือเกื้อกูลนักสู้จากเมืองและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มารีอาโน พอนเซ (Mariano Ponce, 1863-1918) หนึ่งในสามผู้นำสำคัญของขบวนการชาตินิยมฟิลิปปินส์ เขาทำหน้าที่เป็นโฆษกของ “ขบวนการโปรปะกันดา” (Propaganda Movement) เคลื่อนไหวโฆษณาการต่อสู้ปลดปล่อยฟิลิปปินส์ไปทั่วโลก การเคลื่อนไหวของพอนเซจึงเป็นตัวอย่างของนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรก ที่เดินทางไปทั่วโลก เขาเดินทางไปศึกษาต่อในสเปน แล้วกลับมาเคลื่อนไหวในฮ่องกงและญี่ปุ่น ในบั้นปลายของชีวิต เขายังได้เดินทางไปถึงเวียดนาม แต่คิดว่าคงมาไม่ถึงสยาม แต่ที่น่าทึ่งคือในปี ค.ศ. 1899 เขาได้เคยเจอและอาจทำงานการเมืองกับคนสยามที่เป็นสมาชิกกลุ่ม สมาคมคนหนุ่มแห่งบูรพทิศ (Oriental Young Men’s Society) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงโตเกียว โดยบรรดานักศึกษาที่มาจากประเทศในเอเชียต่างๆ ได้แก่ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สยามและฟิลิปปินส์ กล่าวได้ว่าพอนเซได้ใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานในการปลุกระดมโฆษณา จนได้ภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น และได้พบกับผู้นำการเคลื่อนไหวคนสำคัญของจีนเช่น คางยู่ไหว หัวหน้า “ขบวนการปฏิรูปร้อยวัน” รวมทั้งซุนยัดเซนแห่งพรรคก๊กกินตั๋งที่นั่นด้วย ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนคือในญี่ปุ่นเขาได้ไปร่วมกับเขาติดต่อกับผู้นำขบวนการชาตินิยมในคิวบา หาทางซื้ออาวุธและลักลอบส่งจากสหรัฐฯไปเม็กซิโกก่อนหาทางส่งไปยังฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นเขายังเป็นคนสร้างประวัติศาสตร์การเป็นวีรบุรุษให้แก่โฮเซ ริซัล ด้วยการจัดการแถลงข่าวการประหารชีวิตโฮเซ ริซัลต่อสื่อมวลชนในฮ่องกง จัดทำพิธีศาสนาให้แก่ริซัลในโบสถ์ในฮ่องกงเช่นกัน และเขาเป็นคนที่นำเอาบทกวีลาตายของโฮเซ ริซัล ออกมาตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลกในปี 1897 [10]

ในกรณีของสยามเองก็มีตัวอย่างคล้ายๆ กันแต่ไม่กว้างขวางเท่ากับของนักต่อสู้ฟิลิปปินส์ในยุคนั้น กล่าวคือสมัยนั้นนักเรียนไทยที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนในยุโรปเริ่มมีมากขึ้น กลุ่มที่มีบทบาทและต่อมาจะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสยามคือกลุ่มที่มีนายปรีดี พนมยงค์นักเรียนกฏหมายฝรั่งเศสเป็นหัวหน้า ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งสมาคมชื่อ"สามัคยานเดราสมาคม" นายกสมาคมคนแรกคือ ม.จ. เจริญใจ จิตรพงศ์ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์นักเรียนกฏหมายเป็นเลขาธิการ ต่อมาเมื่อนายปรีดีเป็นนายกสมาคมได้ริเริ่มมีกิจกรรมถกทางการเมืองและทางปัญญาควบคู่กันไป กับให้มีการเปลี่ยนชื่อสมาคมเสียใหม่ เป็น"สามัคยานุเคราะห์สมาคม" มีอักษรย่อ "ส.ย.า.ม." ในภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d' Intellectualite et d' Assistance Mutuelle (S.I.A.M.) ความหมายในชื่อภาษาฝรั่งเศสน่าสนใจอีกเช่นกัน คือจะหมายความว่า "สมาคมสยามเพื่อภูมิปัญญาและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน"

เนื่องจากบริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมืองสยามไม่เหมือนกับของประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ขณะนั้น ที่สำคัญคืออำนาจการเมืองและการปกครองยังอยู่ในระบบราชาธิปไตย แม้จะถูกจำกัดและบีบคั้นไม่น้อยจากอำนาจประเทศอาณานิคมเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสก็ตาม การเคลื่อนไหวของนักเรียนไทยในต่างแดนจึงไม่เน้นไปที่การต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของชาติ หากแต่ให้น้ำหนักไปที่ราษฎรคนชั้นล่างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบอภิสิทธิชน ลักษณะเด่นของความคิดการเมืองช่วงแรกของปรีดี พนมยงค์ได้แก่ การค้นพบบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม อันนำไปสู่การเสนอมโนทัศน์ใหม่ทางการเมืองต่อมา ด้วยการให้ความสำคัญกับราษฎรในฐานะที่เป็นมนุษย์ เทียบเคียงเสมอกันกับชนชั้นสูง ในเรื่องกฎหมายแห่งสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย น่าสังเกตว่าเครื่องมือสำคัญที่สร้างความเป็นบุคคลสมัยใหม่ในวาทกรรมการเมืองของปรีดีนั้น คือกฎหมายสมัยใหม่ ข้อนี้พอเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะสยามไม่ได้มีพัฒนาการของปรัชญาความคิดแนวมนุษยนิยมที่สามารถท้าทายกระทั่งหักล้างความศักดิ์สิทธ์และความชอบธรรมของอำนาจเหนือมนุษย์และธรรมชาติ เช่นพระผู้เป็นเจ้า เทวดาและอวตารของเทพในโลกมนุษย์ลงไปได้ ตรงกันข้ามผู้นำการเมืองและนักคิดเช่นปรีดี พบว่าสามารถสร้างความต่อเนื่องระหว่างระบอบการปกครองใหม่กับระบบสยามเก่าได้ ด้วยการอาศัยระบบและความคิดทางกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นทั้งกรอบควบคุมการปฏิบัติและเป็นพื้นฐานทางความคิดการเมืองของระบบประชาธิปไตยในระยะผ่านที่สำคัญยิ่ง [11]

กล่าวได้ว่านักรักชาติในยุคแรกนั้นโดยแก่นแท้แล้วเป็นนักสากลนิยมด้วย ไม่ใช่นักลัทธิชาตินิยมท้องถิ่นคับแคบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาไม่ได้เสียเวลาไปคิดถึงข้อเท็จจริงในอดีต ว่ากษัตริย์อะเจห์เคยเอาดินแดนชายฝั่งทะเลของชาวมินังกะเบามาเป็นอาณานิคมของพวกตน ว่ากษัตริย์บูกิสเคยเอาพวกชาวเขาโทราจันลงเป็นทาส ว่าพวกผู้ดีขุนนางชะวาก็เคยพยายามเอาคนในที่ราบสูงซุนดาลงเป็นข้า หรือพวกขุนนางบาหลีก็เคยยึดครองเหนือเกาะของชาวซาสาก รวมไปถึงการที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าสองครั้งเป็นต้น

มองย้อนกลับไปในอดีตของยุคแรกที่บรรดาความคิดใหม่และความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่กำลังก่อรูปขึ้นภายหลังการต่อสู้และทำลายระบบและอำนาจรัฐอาณานิคมลงไป จะเห็นว่าความคิดรักชาติเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตอะไรเลย หากแต่เป็น ”โครงการร่วมกัน”(“common project”) [12] สำหรับปัจจุบันและก็สำหรับอนาคตด้วย โครงการที่ว่านี้เรียกร้องต้องการการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่การเสียสละของคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ก่อกำเนิดขบวนการเอกราชทั้งหลายจึงไม่อาจคิดได้ว่าพวกเขามีสิทธิในการฆ่าคนร่วมชาติคนอื่นๆ ได้ ในนามของชาติที่พวกตนกำลังสร้างอยู่ ตรงกันข้ามบรรดานักรักชาติรุ่นแรกกลับเชื่อว่าพวกเขาและเธอ ต้องมีความกล้าหาญที่จะถูกจับกุมคุมขัง ที่จะถูกทุบตีและถูกเนรเทศโดยอำนาจรัฐ เพื่อเห็นแก่ความสุขและเสรีภาพในอนาคตของเพื่อนร่วมชาติอื่นๆ ต่อไป

 

4: การพังทลายของความหวัง

ประวัติศาสตร์ของอาเซียนก้าวเข้าสู่ยุคที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมคติของนักต่อสู้ชาตินิยมยุคแรกอย่างสิ้นเชิง เมื่อรัฐและประเทศต่างๆ ค่อยๆ ผลักดันการสร้างชาติให้เข้าไปสู่การเป็นรัฐอำนาจนิยมหรือเผด็จการ ความหมายและจุดหมายของรัฐและชาติถูกแปรเปลี่ยนไป บัดนี้ผู้นำขบวนการชาตินิยมไม่ได้มาจากคนธรรมดาสามัญหรือนักคิดผู้มีโลกทรรศน์เสรีของโลก หากแต่นักชาตินิยมรุ่นหลังมาจากพื้นฐานอดีตข้าราชการ ชนชั้นนำเก่าและขุนนางข้าราชการใหม่ พวกเขาสร้างความคิดใหม่ของชาติโดยเริ่มกลับไปค้นหาอดีตและประวัติศาสตร์อันลางเลือนแล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ในนามของชาติ อนาคตของชาติมีความผูกพันน้อยลงเรื่อยๆ กับอนาคต ในขณะที่กลับไปรับใช้อดีตที่ไม่มีตัวตนมากยิ่งขึ้น พวกเขาเรียกร้องการเสียสละของตนเองทีหลัง ในขณะที่เรียกร้องให้ผู้อื่นโดยเฉพาะประชาชนผู้เสียเปรียบและทุกข์ยากทั้งหลายให้เสียสละก่อนและเสียให้มากขึ้น พวกเขาเป็นนักท้องถิ่นนิยมที่มีสายตาอันคับแคบและความคิดอันตื้นเขิน ไม่มีสำนึกของความเป็นสากลนิยมและภราดรภาพในแนวราบเลย ต่อผู้อื่นที่มีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างและตรงข้ามกัน หนทางและวิธีการที่พวกชาตินิยมอำนาจนิยมใช้ก็คือกำลังและความรุนแรงในทุกรูปแบบเพื่อกำจัดและทำลายความคิดที่แตกต่างลงไป

ยุคของลัทธิชาตินิยมล้าหลังคลั่งชาติ ในที่สุดก็คืบคลานเข้ามาแทนที่ขบวนการชาตินิยมแบบเสรี ด้วยการโค่นล้มบั่นทอนด้วยการยึดอำนาจและทำรัฐประหารของกลุ่มการเมืองที่มาจาก “คนใหม่กว่า” [13] (new new men) ที่มาทางสังคมของคนใหม่เหล่านี้ ดังได้กล่าวแล้ว มาจากสถาบันใหม่ในกระบวนการสร้างชาติและปลดปล่อยจากลัทธิอาณานิคม นั่นคือสถาบันทหาร เช่นการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1958 ในพม่าโดยนายพลเนวิน ในปี 1962 ในอินโดนีเซียรัฐประหารโดยคณะทหารบกในปีค.ศ. 1965 การประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์(1972) จากนั้นก็เริ่มการเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการสร้างชาติและรัฐ คราวนี้ผู้นำใหม่ของอุษาคเนย์ ไม่เสียเวลาทดลองและประยุกต์รูปแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตกอีกต่อไป หากแต่ประดิษฐ์สร้างรูปแบบและแนวคิดของระบบการเมืองการปกครองใหม่ที่อ้างว่าเป็นแบบดั้งเดิมหรือของพื้นเมืองไม่ใช่แบบต่างชาติที่นำเข้าจากภายนอกอีกต่อไป ระบบการปกครองใหม่ในระยะนี้โน้มเอียงไปสู่ระบบอำนาจนิยมและกระทั่งเผด็จการตามสภาพการณ์ของแต่ละประเทศ แต่ต่างก็ประกาศเจตจำนงที่จะสร้างระบบรัฐและสังคมแบบใหม่ให้เกิดขึ้นมาแทนที่แบบเก่า(อย่างตะวันตก) อินโดนีเซียภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตจึงเรียกว่า “ระเบียบใหม่”(New Order) ในฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีมาร์กอสร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการปกครองอย่างเด็ดขาดยิ่งขึ้น พร้อมกับตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาเรียกว่า Kilusang Bagong Lipunan (New Society Movement)หรือพรรคขบวนการสังคมใหม่ นักรัฐศาสตร์เรียกระบบใหม่เหล่านี้ว่าเป็นระบบ “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” [14] ส่วนกรณีของไทยนั้น ระยะผ่านเข้าสู่ระยะเผด็จการและระบบอำนาจนิยมแทนการสร้างรัฐประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้น มีที่มาทางความคิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามสมัยที่ ๑ ในยุค ”รัฐนิยม” โดยมีมันสมองสำคัญจากนักคิดชาตินิยมจัดคนสำคัญคือหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)หลังจากจอมพลป.พิบูลสงครามถูกแย่งอำนาจไปโดยฝีมือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลวงวิจิตรฯก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้อีก เป็นการสานต่อนโยบายชาตินิยมขวาจัดให้ดำเนินต่อไปอีก หลังการปฏิวัติของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี ค.ศ. 1958 ต่อเนื่องจากการยึดอำนาจครั้งแรกในปีก่อนนี้ จุดหมายก็เพื่อสร้างสังคมไทยใหม่ที่มีระเบียบเรียบร้อยและเชื่อฟังผู้นำโดยพร้อมเพรียงกัน ในทางการเมืองระบอบปฏิวัติสฤษดิ์ปฏิเสธระบบประชาธิปไตยที่พวกตนเพิ่งโค้นล้มลงไป แล้วเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาแทนเป็นครั้งแรก [15] ในระยะการสร้างรัฐชาติระยะที่สองนี้ บรรดาผู้นำรัฐที่มาจาก “คนใหม่ที่ใหม่กว่า” ยังมีคำขวัญและจุดหมายที่ถูกนำขึ้นมาชูธงและชูใจแก่ประชาชนนั้น ด้วยคำว่า”ใหม่” ตรงข้ามกับระยะแรกของขบวนการชาตินิยมที่เน้นไปที่ “หนุ่มสาว” [16] แต่ในความเป็นจริง รัฐชาติที่คิดว่าใหม่ยุคนี้กลับหันไปหาอดีตและธรรมเนียมโบราณเป็นการใหญ่ อ้างว่าเพราะมีความเป็น “ไทย” หรือเป็นท้องถิ่น มากกว่าเป็นฝรั่งหรือตะวันตกที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ด้วยเหตุผลของประวัติศาสตร์แบบเก่าและประเพณีการเมืองแบบโบราณ อันถูกโฆษณาว่าต้องดีกว่าปัจจุบัน ทำให้จอมพลสฤษดิ์ประกาศตนเองเป็น “พ่อขุน” ทำหน้าที่ปกครองลูกๆ ที่เป็นราษฎร โดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ริเริ่มและเผยแพร่ความคิดลัทธิชาตินิยมไทยเป็นคนแรกๆ อย่างเอาจริงเอาจัง แต่มิติและทิศทางของชาตินิยมแบบหลวงวิจิตรฯนั้นตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับของนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติยุคแรก เริ่มด้วยการพูดถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็เพื่อไป “ปลุกความรู้สึกระลึกถึงชาติให้บังเกิดขึ้น” ในความคิดของหลวงวิจิตรฯ ดินแดนที่ก่อนนี้เรียกว่าสุวรรณภูมินั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง หากต้องหมายถึงดินแดนที่เป็นรูปขวานทั้งหมด โดยกล่าวว่า

“ดินแดนที่จะนับเป็นสุวรรณภูมิได้นั้นก็คือดินแดนที่เราสามารถจะขีดเส้นตรงจากพรมแดนยูนนาน(ฮุนหนำ) ลงไปถึงปลายแหลมมลายูและขีดเส้นเยื้องจากแม่น้ำพรหมบุตรไปจนถึงปากแม่น้ำโขง ลองขีดเส้นดูจะเข้าใจชัดว่ารูปขวานของสุวรรณภูมิควรจะเป็นอย่างไร”

ในขณะที่บรรดาประเทศอื่นๆ ในแถบนี้เช่น พม่า ญวนหรือเขมร ลาวหรือมลายู ก็เป็นชาวสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน แต่ชาติของพวกนั้นเป็นชื่อสมมติ มีแต่ไทยเราเท่านั้นที่ “มีเกียรติยศได้เข้ามาตั้งอยู่ในท่ามกลางของสุวรรณภูมิ และถึงแม้ตามทางการเมืองในเวลานี้ สยามเป็นหัวใจของอินโดจีนหรือของสุวรรณภูมิทีเดียว เราจะต้องรับผิดชอบในอนาคตของสุวรรณภูมิมากกว่าใครๆ หากสุวรรณภูมิจะยังคงเป็นสุวรรณภูมิอยู่ได้ก็เพราะเรา” ความยิ่งใหญ่และสำคัญของไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จากข้อความที่ว่า “พม่า เขมร ไทยใหญ่และไทยในฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ย่อมนับถือไทยสยามเป็นครูศิลปกรรมอันนี้...สยามกำลังเป็นหัวใจแห่งสุวรรณภูมิ เหมือนเอเธนส์เป็นหัวใจของกรีก” [17]

ในระยะนี้เองที่ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มและขบวนการรักชาติกับอำนาจรัฐเริ่มแตกต่างและปะทะกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศและการคลี่คลายของ “สงครามเย็น” ที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับความคิดชาตินิยมยุคแรกคือการที่รัฐชาติใหม่ๆ นี้กลับลงมือเข่นฆ่าประชาชนในรัฐชาติของตนเอง ถ้าหากเราสามารถย้อนยุคกลับไปในคศ. 1945-49 และพูดคุยกับนักรบเพื่อเอกราชชาตินิยมรุ่นแรกเหล่านั้น เราจะพบว่าคนเหล่านั้นคงจะไม่เชื่อว่าอีกห้าสิบปีต่อมา บทบาทหน้าที่ของกองทัพแห่งมหาชนรัฐ ไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาประเทศจากการรุกรานของกองทัพภายนอก หากกลับมาทำการกดขี่ประชาชนในประเทศของตนเองเสียแทน การกระทำนี้ว่าไปแล้วเป็นการทำตามอย่างประเพณีของกองทัพเจ้าอาณานิคมนั่นเอง นอกจากนั้นวาทกรรมและความหมายของชาติและความหวังต่ออนาคตของชาติก็มีการปะทะต่อสู้กันอย่างดุเดือดด้วยเช่นกัน

ก่อนนี้เราได้เห็นความคิดอันเป็นความหวังของนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรกแล้ว ในทศวรรษของการพัฒนาและสงครามเย็นนั้น ความคิดและความหวังเรื่องชาติเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวอย่างของความคิดนักปฏิวัติไทยในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะให้คำตอบอันชัดเจนในประเด็นที่ได้พูดถึงข้างบนนี้เป็นอย่างดี ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นหนึ่งในจินตนาการที่พวกเขามีต่ออนาคต

 

5: แม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่

ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้กุมอำนาจรัฐไทยในยุคสงครามเย็น สร้างจินตภาพว่าด้วยความชอบธรรมของพ่อในการปกครองแบบอาญาสิทธิ์ของผู้เป็นใหญ่ (อิสรภาพในความหมายเดิม) นักปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการปฏิวัติที่ย้ายจุดหมายของการปฏิวัติใหม่จากกรรมกรในเมืองไปสู่ชาวนาในชนบท ก็ได้สร้างจินตภาพใหม่ขึ้นมา โดยนักปฏิวัติผู้ถูกระบอบปฏิวัติของสฤษดิ์ประหารชีวิต ความรู้สึกใหม่นี้ไม่ได้เน้นที่ชาติหรือเอกราชของประเทศเหมือนดังนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นบุกเบิก หากแต่สร้างความรู้สึกใหม่ที่ทำให้การปฏิวัติเป็นธรรมชาติ นักปฏิวัติเป็นลูกคนใหม่ของแม่ผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ จินตภาพของแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่แก่นักปฏิวัติจะได้รับการขานรับอย่างซาบซึ้งจากบรรดานักปฏิวัติรุ่นเยาว์ผู้ถูกบังคับให้ต้องจับปืนภายหลังรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519

บุคคลผู้ให้กำเนิดความคิดดังกล่าวนี้คือรวม วงษ์พันธ์ ที่แตกต่างจากนักต่อสู้ชาตินิยมรุ่นแรกคือ เขามาจากครอบครัวชาวนาในชนบท ไม่มีเครื่องมือทางสังคมใดๆ ที่หนุนช่วยให้เขาได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำระดับชาติในขบวนการทางการเมืองของรัฐได้ นอกจากการใช้หนทางปฏิวัติ เขาต้องช่วยตัวเองในแทบทุกทางเพื่อที่จะไต่บันไดการศึกษา เพื่อที่จะรู้ว่าประเทศของตนอยู่ในฐานะอะไรและอนาคตของชาติอยู่ที่ไหน วันที่เขาค้นพบคำตอบนี้ก็คือวันที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ

รวม วงษ์พันธ์เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในครอบครัวชาวนา อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี มีเชื้อสายลาวพวน เขาเติบโตมากับการทำนาใช้แรงงานในทุ่งนา แต่รักการอ่านเขียนและเรียนหนังสือ อุตสาหะจนเรียนจบมัธยม ในที่สุดก็หนีพ่อแม่เข้ากรุงเทพเพื่อจะได้เรียนต่อ มาอยู่วัดเลียบ หลวงพ่อแนะนำให้สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบเพราะอยู่ใกล้ๆ วัด จากชั้นมัธยมก็ไปเรียนต่อโรงเรียนพณิชยการพระนครวังบูรพา พร้อมกับทำงานเป็นลูกจ้างร้านรวมแพทย์แถวศาลาเฉลิมกรุง จนในที่สุดได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้อนุปริญญา เข้าใจว่าช่วงนี้เองที่คุณรวมซึมซับอุดมการณ์ใหม่ฝ่ายขบวนปฏิวัติ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จุดหมายของขบวนปฏิวัติคือการต่อสู้เพื่อชาติและประชาธิปไตยของประชาชน ระหว่างนั้นได้ไปสอนหนังสือโรงเรียนฉี่กวงกงสวย ของสมาคมจีนไหหลำ เป็นครูใหญ่ฝ่ายไทย ที่นี่เขาได้พบครูสตรีผู้หนึ่งและแต่งงานกัน ครูรวมรวมกลุ่มกับเพื่อนครูจีนทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วขยายไปรวมกันที่สโมสรวัฒนธรรม ตรงข้ามสนามม้านางเลิ้ง จากนั้นขบวนปฏิวัติได้ส่งเขาไปศึกษาต่อยังประเทศจีนเป็นเวลา ๘ ปี เขาไปเมืองจีนขณะที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นั่นคือช่วงของสงครามปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ครูรวมกลับเมืองไทยราวปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ในสมัยรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อกลับมาเขาได้กลับไปเคลื่อนไหวตั้งกลุ่มชาวนาที่สุพรรณบุรี จัดการศึกษาปลุกจิตสำนึกที่รักชาติรักประชาธิปไตยของชาวนา ในที่สุดเขาก็ถูกทางการจับในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้ประหารชีวิตนายรวม วงศ์พันธ์ ในความผิดฐาน

“มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำการเป็นกบฏทรยศต่อประเทศชาติ รับคำสั่งจากคนต่างด้าวภายนอกประเทศมาล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย” และ “การกระทำของนายรวม วงศ์พันธ์ ไม่สมควรเป็นการกระทำของผู้ที่เกิดมาเป็นคนไทย เพราะเป็นการกระทำที่พยายามจะนำเอาเอกราชและอธิปไตยของชาติตน ไปมอบให้เป็นทาสของชาติอื่น ซึ่งเป็นความผิดอันร้ายแรงยิ่ง สมควรจะต้องโทษประหารชีวิตเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างที่เลวทรามแก่ผู้อื่นสืบไป” [18]

ครูรวมถูกประหารในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๑๘.๐๐ น.

แม่จ๋า แม่เป็นผู้ชนะแล้ว [19]

ก่อนหน้านี้ใน ในปี ๒๕๐๔ ครูครอง จันดาวงศ์ก็ถูกจับและประหารชีวิตด้วยข้อหาและความผิดอันเดียวกัน ที่น่าสนใจคือข้อเขียนหรือจดหมายลาตายของครูรวม วงษ์พันธ์ ซึ่งได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าให้ส่งไปให้แม่ของเขามีข้อความดังนี้

“แม่ได้ถนุถนอมประคับประคองครรภ์ของแม่มาด้วยความภาคภูมิใจหยิ่งผยองต่อลูกในครรภ์ของแม่อันเป็นสายเลือดของแม่ที่แท้จริง เลือดของแม่รักความเป็นไท รักสันติธรรมเที่ยงธรรมที่สุดนั้น แม่ได้ถ่ายทอดให้ลูกในอกของแม่จนหมดสิ้น ครั้นลูกได้ลืมตามาเห็นแม่เห็นโลกอันกว้าง คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ได้ผ่านหยาดน้ำนมของแม่ แผ่ซ่านเข้าไปสู่เลือดเนื้อลูกของแม่ คุณธรรมของแม่ได้ก่อเป็นเลือดเนื้อของลูกแม่เป็นที่รวมคุณธรรมอันสูงส่งของแม่อย่างเป็นตัวเป็นตน แม่ได้ใช้ปากอันศักดิ์สิทธิ์ของแม่เคี้ยวข้าวให้แหลกป้อนให้กับลูกของแม่จนกระทั่งลูกเติบใหญ่ แม่ไม่เพียงแต่เอาคุณธรรมอันสูงส่งมาปั้นเป็นตัวลูกของแม่ทางสายเลือด สายน้ำนมและทางปากเท่านั้น ตลอดเวลาที่ลูกแม่กำลังเติบโตขึ้น แม่ได้สอนให้ลูกแม่เป็นคนมีศีลธรรม รักสัจธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม แม่เกลียดการรังแกข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบ การแย่งกันกิน แม่เกลียดอธรรมทั้งมวล บัดนี้คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ จิตใจอันขาวสะอาดของแม่ และกายอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของแม่ ได้รวมกันเป็นตัวเป็นตนในตัวของลูกแม่แล้วอย่างพร้อมมูล คุณธรรมอันสูงส่งของแม่ในตัวลูกของแม่ได้ลุกขึ้นประจัญหน้ากับศัตรูของแม่แล้ว ได้ลุกขึ้นเผชิญตากับศัตรูของประชาชนของแม่แล้ว ศัตรูมันหวาดกลัววคุณธรรมอันสูงส่งของแม่ มันจึงทำลายและเข่นฆ่าลูกของแม่ในคืนนี้

แม่เป็นผู้ชนะศัตรูแล้ว
สัจธรรมของแม่จงคงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย
ลูกแม่จากไปหนึ่ง แต่ลูกแม่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย
ลูกลาก่อนแม่ครับ

จากลูกของแม่
รวม
๑ มีนาคม ๒๕๐๕ ๑๐.๐๐ น.

 

ไม่ต้องสงสัยว่าแม่ของครูรวมได้รับจดหมายฉบับลาตายนี้หรือไม่ คำถามสำหรับเราคือ ใครคือแม่ และแม่ในที่นี้คือใคร ใช่นางไร วงษ์พันธ์แม่ผู้ให้กำเนิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่แรกหรือไม่ ต่อปัญหานี้เกษียร เตชะพีระ [20] ได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้อย่างลึกซึ้งแหลมคม เขาเสนอว่าไม่ต้องสงสัยว่า “แม่” ในจดหมายลาตายของครูรวมเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ที่ผู้เขียนตั้งใจสื่อสารให้บรรดาสมาชิกทุกคนของพคท.ได้รับรู้ว่าคนที่เขาพลีชีพยอมตายให้นั้นคือ “พรรคคอมมิวนิสต์(แห่งประเทศไทย)” หรือที่พูดถึงกันอย่างสั้นๆ ว่า “พรรค” ดังนั้นในพัฒนาการของขบวนการปฏิวัติไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา กระทั่งเข้าสู่ยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝ่ายปฏิวัติได้สร้างจินตภาพใหม่อีกอันขึ้นมานั่นคือ “แม่” ในขณะที่จินตภาพของชาติไม่ได้มีภาพลักษณ์ใหม่พิเศษไปกว่าที่ได้เคยเข้าใจกันมา หลังจากผ่านยุคการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติแล้ว บรรดาสมาชิกและพลเมืองของรัฐชาติต่างมีความคิดและความเชื่อตรงกันอย่างคือชาติไม่อาจทำผิดหรือเป็นสิ่งไม่ดีได้ ชาติต้องถูกและดีที่สุดชั่วกัลปาวสาน [21] ความคิดและจินตนาการต่อชาติใหม่นี้ที่ขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มผู้กุมอำนาจกับกลุ่มต่อต้าน จึงไปอยู่ที่การสร้างคุณภาพใหม่ของคนที่ต่อสู้เพื่อจุดหมายของชาติตามที่ตนวาดฝันไว้ ในยุคนี้เราจึงเห็นภาพของ “พ่อ” ของชาติไทยที่มากับหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดในทางตรงกันข้าม ฝ่ายซ้ายเริ่มจินตนาการถึงความชอบธรรมของตนและการต่อสู้ พรรคฯคือแม่ในความหมายของผู้ที่ให้กำเนิดชีวิตใหม่ ความเป็นคนใหม่ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับตัวตนของเขาก่อนที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นนักปฏิวัติ สิ่งที่ใหม่ล้ำหน้ากว่าเดิมคือคุณภาพของความเสียสละ เป็นการเสียสละอย่างสุดจิตสุดใจ ด้วยการปฏิบัติตามคำชี้แนะและสั่งสอนของพรรคฯอย่างไม่มีเงื่อนไข ภายใต้การนำของพรรคฯ นักปฏิวัติเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอภิมนุษย์ที่ไม่เหมือนกับคนธรรมดาเลย

ทว่าประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติใหม่นี้ก็ยังถูกสร้างขึ้นมาอีก แน่นอนมันไม่ได้ “ซ้ำรอย” หากแต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้บทใหม่นี้ ที่เพิ่งยุติเสร็จสิ้นไปในการ “กระชับพื้นที่และวงล้อม” ของกองกำลังภาครัฐในการกวาดเทและล้างราชประสงค์เพื่อให้สะอาดดังเดิมในอาทิตย์ของเดือนพฤษภาคม 2553 นำไปสู่การเปิดแนวรบทางวรรณกรรมขึ้นอีกวาระหนึ่ง ที่น่าสนใจคือจินตภาพของการต่อสู้และความคาดหวังต่ออนาคตของการต่อสู้ครั้งนี้ มีความต่อเนื่องและสืบทอดอุดมการณ์และจุดหมายทางการเมืองหลายอย่างจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการเดือนตุลาคมในอดีต ในที่นี้จะยกตัวอย่างบทกวีของ “เพียงคำ ประดับความ” ในส่วนที่สะท้อนภาพลักษณ์ของตัวแทนนักสู้บนถนนราชดำเนินและสี่แยกราชประสงค์ แม่ยังเป็นอุปลักษณ์อันมีพลังและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของขบวนการคนเสื้อแดงได้เป็นอย่างดี แต่คราวนี้แม่ไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ให้กำเนิดนักสู้ที่ปฏิวัติ หากแต่ “แม่” เป็นคนเสื้อแดงเสียเอง แม่ ไม่ได้นั่งรอเจ้าขุนทองว่าเมื่อไรมันจะกลับมาบ้านเหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์เดือนตุลา แม่เดินเท้าเข้าร่วมการต่อสู้ครั้งนี้ด้วยตนเอง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แด่ ...นักสู้ผ่านฟ้า

นอนสาหล่า หลับตา แม่สิกล่อม
ดอกเสี้ยวหอม กลางแสง เดือนหงาย
ครั้นเจ้าหลับแล้ว แม่สิเดินทางไกล
ไปเอาประชาธิปไตย มาให้เจ้าชม

ทุกข์แท้หนอลูกแก้ว แนวเฮาเป็นข้า
เขาย่ำหัวกดบ่า ชะตาขื่นขม
เฮาเลือกเขาล้ม เฮาเลือกแล้วเขาก็ล้ม
ดั่งเสียงในสายลม เขาบ่เห็นหัวเฮา

แม่สิไปสู้ เพื่อความถูกต้อง
ไปตะโกนป่าวฮ้อง ว่าเฮาบ่แม่นคนโง่เขลา
ไปเป็นนักสู้ผ่านฟ้า เพื่อความเป็นคนของหมู่เฮา
สู้กลางแปลงแดดเผา เอาให้มันฮู้กันไป

แม่เก็บเสื้อผ้า ผิว่าสิไปหลายวัน
ไปทำสงครามชนชั้น ปลดแอกจากการเป็นไพร่
ไปทวงสิทธิเสรี ที่ถูกเขาปล้นชิงไป
เมืองกรุงเทพวิไล คงกวักมือฮับหมู่เฮา

................................................................

เจ้าขุนทองน้องนั้น บ่แม่นนักรบ
บ่เคยประสบ แดดจ้าฟ้าเหลือง
เขาออกจากบ้าน เมื่อตะวันรองเรือง
สั่งน้องน้องเสียงเขื่อง ว่าพี่จะไปหลายวัน

สะพายย่ามหาดเสี้ยว ใส่หนังสือแสงเดือน
พร้อมสมุดที่ลบเลือน คราบน้ำตาอันแปรผัน
เขาสู้เพื่อสิทธิเสรี เพื่อศักดิ์ศรีบางระจัน
แว่วเสียงนกเขาขัน เจ้าขุนทองก็ลงเรือน

...............................................................

นอนสาหล่า หลับตาเจ้าอย่าตื่น
ฮอดมื้ออื่น เจ้าอย่าได้ห่วงหา
ฟ้าเปลี่ยนสีใหม่ หมู่เฮาสิได้ลืมตา
แม้นเขาร่ำลือมา ว่าดอกเสี้ยวป่าถูกปืน

ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานไหม
แม่นั่งร้องไห้ อยู่ในเฮือนจนดึกดื่น
แว่วเสียงนกเขาขัน แม่จ๋ากลั้นสะอื้น
ตัดใจกล้ำกลืน ลุกขึ้นปาดน้ำตา

ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานกลางคืน
ฮอดมื้ออื่น เจ้าอย่าได้ห่วงหา
หากตัวแม่บ่กลับมา แต่มีเสียงร่ำลือมา
ลูกจงไปตามหา.....ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. [22]

 

 

6: อนาคตของความหวัง

จากความตายของโฮเซ ริซัลมาถึงรวม วงษ์พันธ์และนักสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยในหลายประเทศรอบๆ เรา กล่าวได้ว่าคนเหล่านั้นได้สละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของชาติและประชาชนใหม่ แต่คนทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสเห็นและประเมินการปฏิบัติว่าการต่อสู้ของพวกเขานั้นได้นำไปสู่จุดหมายและผลประการใด การเกิดขึ้นของรัฐชาติโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นไปสมดังความมุ่งหมายของนักต่อสู้ชาตินิยมเหล่านั้นสักเท่าใด ในที่สุดแล้วความหวังของการมีชาติที่เป็นอิสระและประชาชนที่เป็นไท ไม่ได้ดำเนินไปตามแผนการณ์อย่างง่ายๆ หากแต่หนทางที่ชาติพัฒนาไป เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและทุรกันดารยิ่งนัก ประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษาไทยจากการปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ถึงการรัฐประหาร ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ได้ให้บทเรียนอันเจ็บปวดยิ่ง ดังที่เกษียรได้ถามในบทความของเขาว่า ทำไมชาติ(ไทย)ถึงต้องฆ่าพวกเขา(นิสิตนักศึกษา)ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา เขาทำอะไรผิดหรือ คำถามทำนองนี้ยังมีอยู่อีกในหลายภาคและพื้นที่ของประเทศไทยรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ กล่าวในเฉพาะประเทศไทย ก่อนหน้าความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ก็ได้มีการใช้ความรุนแรงและกำลังทหารเข้าไปจับกุมและทรมานกระทั่งเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์นับพันในกรณีถังแดงที่พัทลุง ด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ความรุนแรงที่ยาวนานและกินขอบข่ายของมิติด้านต่างๆ ในสังคมลงไปตามกาลเวลาของความรุนแรงได้แก่ปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” อันได้แก่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งยังเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้อย่างเต็มรูปแบบ แน่นอนเมื่อพูดถึงความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองปัจจุบัน ก็ย่อมต้องพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในการประท้วงรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อันนำไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิต ๙๒ ศพในกลางมหานครกรุงเทพฯ อะไรคือสิ่งที่คนเหล่านั้นผู้เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐต้องการและกระทั่งยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น บทกวีตัวอย่างนี้เป็นคำประกาศที่บอกให้รู้ถึงจุดหมายและความหวังของคนเหล่านั้นได้

ชาตินั้นหรือ คือแดนดินถิ่นชีวิต
ใช่รูปปั้นปูนปิด หล่อสำริดพระปางไหน
ใช่รัฐเร้นรัฐ ลอบกัดอำพรางกาย
ใช่ปราสาทเจดีย์ทราย ใต้น้ำมือใครประพรม

...............................................................

เมื่อความมั่นคงหาใช่ ได้มาด้วยการกดขี่
ปลดปล่อยเราสู่เสรี ทำเสียที ทำได้ไหม
ทิ้งเสลี่ยงวอทอง ลงมายืนบนผืนทราย
เกิดและตาย บนผืนดิน...เท่าเท่ากัน. [23]

กล่าวได้ว่าจินตภาพว่าด้วยชาติและความเป็นชาติ หรือ”ชุมชนจินตกรรม” ก็ยังเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวและต่อสู้สำหรับการสร้างอนาคตใหม่อยู่ต่อไป ที่ต่างออกไปคือน้ำหนักในเนื้อหาและการปฏิบัติของชาติ ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ด้วยค่านิยมและความศรัทธาเชื่อมั่นในหลักการและอุดมการณ์อะไร ที่ผ่านมาอุดมการณ์ใหญ่ๆ ได้แก่ลัทธิชาตินิยม ลัทธิมาร์กซิสม์ และศาสนาอิสลาม ที่ผ่านมาทั้งสามอุดมการณ์ได้มีการใช้และผสมผสานในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ ความคิดและอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลและดำรงอยู่ต่อมานานที่สุดได้แก่ลัทธิชาตินิยม ในบางประเทศเช่นสยามไทย จินตภาพเรื่องชาติถูกผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับคติและสถาบันอีกสองอย่างคือศาสนากับพระมหากษัตริย์ ทำให้ลัทธิชาตินิยมไทยมีพัฒนาการมาที่แตกต่างและมีความอ่อนไหวในทางความเชื่ออย่างมากจากของประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วยความเป็นมาเฉพาะตัวของการเมืองไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ความคิดเรื่องชาติของไทยยิ่งถูกผูกโยงเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นทุกวัน จนทำให้ชาตินิยมไทยที่เป็นทางการนั้นมุ่งสร้างความหวังในอนาคตแก่ประชาชนของตนน้อยกว่าการทำให้หวนกลับไปหาอดีตและหยุดอยู่กับอดีตอย่างไม่มีอนาคต

ลัทธิชาตินิยมไทยที่เน้นความเป็นเชื้อชาติและศาสนา(พุทธ) ทำให้ภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของรัฐไทยกลายเป็นรัฐไทยพุทธด้วยนั้น ได้มีผลในการปฏิบัติของระบบราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งแสดงออกในลักษณาการที่ไม่เข้าใจไม่มีความเวทนาและไม่มีความเมตตาต่อบรรดาผู้คนที่เป็นเชื้อชาติและศาสนาอื่นๆ อย่างแทบจะไร้มนุษยธรรม ดังเห็นได้จากเรื่องราวและชีวิตของผู้คนในชายขอบของสังคมและในบริเวณตะเข็บและพรมแดนประเทศ ตัวอย่างอันเป็นปรากฏการณ์ของผลพวงของลัทธิชาตินิยมไทยที่รุนแรงที่สุดได้แก่ปัญหาในบริเวณพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สุด แน่นอนความซับซ้อนและการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องจุดหมายของความเป็นมลายูมุสลิมอาจทวีน้ำหนักมากขึ้นหลังสงครามเย็นและการเกิด “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ของสหรัฐฯ ทำให้อิทธิพลและบทบาทของศาสนาอิสลามในการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมกลับมามีน้ำหนักมากขึ้น จนในขณะนี้ในบางประเทศความเป็นมุสลิมจะมีน้ำหนักมากกว่าลัทธิชาตินิยมไปแล้ว หากประมวลจากความรู้สึกของนักต่อสู้ทั้งหลายเหล่านี้ เราอาจสรุปความคาดหวังและความต้องการของพวกเขาต่ออนาคตว่า ต้องการชาติที่มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม ความจริงและมีความเท่าเทียมกัน

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตรผู้ถูกอุ้มโดยอำนาจมืดหลังจากต่อสู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้ต้องหาชาวมลายูมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวในวาระรำลึก ๒ ปีของกรณีตากใบว่า

“ในวันนี้สิ่งที่จะเป็นเครื่องเตือนความจำของเราคือการเปิดเผยความจริง โดยใช้ความยุติธรรมนำหน้าในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความทรงจำใหม่ที่ดีให้กับชาวบ้าน มันเหมือนกับว่าวันนี้เขาฝันร้าย เขาถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่อีกวันหนึ่ง เขายังได้รับการเยียวยาให้เข้าถึงความยุติธรรม เขาต้องการได้รับคำตอบว่าทำไมถึงมีการเสียชีวิต ทำไมจึงมีคนหาย ทำไมถึงมีคนพิการ เพียงแต่ว่ารัฐไม่ยอมนำวิธีการนี้มาใช้ เราก็หวังว่าภาคประชาสังคมจะช่วยกันผลักดัน เพราะชาวบ้านเองนั้นพูดยังไงก็ไม่มีใครฟัง

เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าการจดจำที่ดีก็คือการเปิดเผยความจริง และการที่จะชำระประวัติศาสตร์เสียใหม่ ให้ชาวบ้านจดจำ เรื่องราวในแง่มุมที่ดี ที่มีความยุติธรรม [24]

เมื่อพูดถึงเสียงที่ไม่ค่อยได้ยินของชาวบ้าน เราคงต้องพูดถึงเสียงที่ไม่ค่อยมีคนได้ยินของคนชายขอบอีกกลุ่มเหมือนกัน นั่นคือคนไร้รัฐหรือ stateless คนเหล่านี้เป็นคนที่ได้เกิดในแผ่นดินไทย เติบโตมาในประเทศและรัฐไทย แต่ไม่อาจมีฐานะและสัญชาติไทยได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและทางสังคม เร็วๆ นี้มีนักเรียนไร้รัฐสองคนในภาคเหนือ ได้รับทุนไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน การช่วยเหลือจากองค์กรและกลุ่มประชาสังคมนอกประเทศทำให้นักเรียนสองคนได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ คนหนึ่งได้สัญชาติไทยอีกคนได้แค่วีซ่ารายปีในการอยู่ในประเทศไทยเหมือนคนต่างด้าว ที่น่าสนใจคือความคิดและความรู้สึกของเขาหลังจากได้ไปสัมผัสและมีชีวิตในต่างแดนอย่างมีอิสรภาพ

ศรีนวลกล่าวว่า “ในปีที่สองที่ได้เรียน ฉันถึงสามารถคิดถึงความจำเป็นในการคิดถึงตัวเองในเชิงบวกบ้าง การที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองก็มีความสำคัญเหมือนกับคนอื่นๆ รอบข้าง ฉันไม่ได้เรียนรู้เฉพาะแต่วิชาที่เรียนในห้องเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือฉันได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเมตตาและด้วยความเคารพ ไม่ว่าคนนั้นๆ จะมีพื้นเพภูมิหลังอะไรก็ตาม ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นมนุษย์มากขึ้น เหมือนกับว่าฉันมีสิทธิในการทำอะไรๆ เช่นเดียวกับที่คนอื่นๆ มี” [25]

เธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงมหาวิทยาลัยปิด เธอก็ยังไม่รู้สึกมั่นใจและสบายใจในการทำอะไรๆ เหมือนที่ในสหรัฐฯ เพราะเธอยังเป็นคนไร้รัฐ ทำให้ไม่มีเสรีภาพในการทำอะไรที่ต้องการทำ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เธอถือกำเนิดมาก็ตาม ในทางสิทธิมนุษยชน รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้อย่างมีมนุษยธรรม ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์เวลาที่อยู่ในรัฐไทย

ในท้ายที่สุด แม้พลังและฐานะของความเป็นชาติยังดำรงอยู่หลังจากได้รับสถาปนาขึ้นมาแล้ว ทั้งจากปัจจัยทางการเมืองคือการต่อสู้กับระบอบและลัทธิอาณานิคม ปัจจัยทางการสื่อสารสมัยใหม่และเศรษฐกิจการค้าเสรี ทั้งหมดนั้นทำให้ชาติมีภาวะการดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ภายในประเทศอย่างสูง นั่นคือชาติเป็นสิ่งประวัติศาสตร์ เราไม่อาจปฏิบัติและคิดถึงชาติเหมือนกับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นพระผู้เป็นเจ้า ผู้ดำรงอยู่เหนือกาละเทศะหรืออยู่เหนือประวัติศาสตร์ได้ ตรงข้ามกับพระเจ้ากล่าวคือเราอาจรู้สึกและคิดได้ว่า ในบางช่วงของประวัติศาสตร์หรือในอดีต ชาติก็ได้กระทำอะไรบางสิ่งผิดพลาดไปได้เหมือนกัน เช่นได้ทำลายล้างด้วยการจับกุมคุมขังและกระทั่งประหารชีวิตผู้คนจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในนามกฎหมายและในนามของความมั่นคง(ที่ไม่มีความถูกต้องทางกฎหมาย) แต่เราคิดและต้องการลงโทษชาติในฐานะอาชญากรสงครามหรือฆาตกรมือเปื้อนเลือดไม่ได้ เพราะในที่สุด หากเรายังต้องการมีชีวิตทางสังคมอยู่ต่อไปในชาตินี้ อย่างมีจุดหมาย อย่างมีความหวัง และมีอนาคต ทั้งสำหรับต่อตัวเราและต่อลูกหลานของเรา เราต้องมีชาติและเป็นชาติที่ดีที่ถูกต้องไม่ใช่อาชญากรผู้กระทำความผิด ทางออกที่ผ่านมาจึงเห็นได้จากการที่ทุกฝ่ายต้องหาผู้กระทำความคิดนั้นๆ ออกมา แล้วลงโทษหรือให้ตัวแทนหรือผู้รับผิดชอบของชาติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดที่สุดคือรัฐรับผลจากการกระทำผิดเหล่านั้นไป ความหวังที่จะได้เห็นรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์แสดงออกในความรับผิดชอบต่อการกระทำของชาติที่ผ่านมาอย่างไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรมต่อประชาชนทุกกลุ่มและชนชาติ แล้วเริ่มดำเนินนโยบายชาติใหม่ที่ทำตัวเสมือนเป็นแม่บังเกิดเกล้าผู้ให้กำเนิดลูกๆ ทุกคนที่เป็นประชาชนของตนอย่างแท้จริง จะเป็นความหวังที่ท้าทายและยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษใหม่นี้.

 

อ้างอิง:

  1. แดน บีช แบรดเลย์ หนังสืออักขราภิธานศรับท์ (กรุงเทพฯ คุรุสภา, 2514,) หน้า 671.
  2. John Carroll, Humanism: The Wreck of Western Culture (New York: Fontana Press, 1993), 3. นิพนธ์ของพิโกชื่อว่า Oration on the Dignity of Man เสนอว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงในกรอบของจริยธรรมซึ่งข้างบนคือพระเจ้าและเทวดาในขณะที่ข้างล่างคือซาตาน
  3. ข้อความที่ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน
  4. โรเบิร์ต เอช. เทย์เลอร์, รัฐในพม่า แปลโดยพรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ และศศิธร รัชนี ณ อยุธยา (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕”๐), น. ๑๐๕.
  5. Clifford Geertz, Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1980), 11.
  6. โฮเซ ริซัล เขียน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล แปล, อันล่วงละเมิดมิได้ (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๘), น. ๓๑.
  7. แบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสคร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒, ๔๒.
  8. Benedict Anderson, The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia and the World. (London and New York: Verso, 1998), 334.
  9. Benedict R.O’G Anderson, “Indonesian Nationalism Today and in the Future,” Indonesia, No. 67, (April 1999), pp.1-11. ฉบับแปลภาษาไทยดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “ลัทธิชาตินิยมอินโดนีเซียในปัจจุบันและในอนาคต” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4, 11, 18, 25 ตุลาคม และ 1 พย. พ.ศ. 2542
  10. Resil B. Mojares, “The Itineraries of Mariano Ponce,” in Caroline S. Hau and Kasian Tejapira eds., traveling nation-makers: transnational flows and movements in the making of modern Southeast Asia. (Singapore: NUS Press with Kyoto University Press, 2011), 41. ในเล่มนี้ยังมีประวัติทางการเมืองและความคิดของนักต่อสู้ชาวอุษาคเนย์อีกหลายคน ขอแนะนำให้ต้องอ่านเพื่อจะได้เห็นทรรศนะอันมีความหวังและมีพลังต่ออนาคตของสังคมชาติแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
  11. โปรดดูรายละเอียดใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน 2549), หน้า 292-311. ดูงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ในระยะแรกที่นำเสนอความคิดว่าด้วยความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลและสำนึก ใน “มนุษยภาพ” และ “สงครามชีวิต”
  12. ข้อคิดอันนี้ผมได้มาจากอ.เบน แอนเดอร์สัน ในบทความ “Indonesian Nationalism Today and in the Future,” Indonesia, No. 67, (April 1999).
  13. เป็นแนวคิดของเบน แอนเดอร์สัน ดูคำนำของเขาใน In The Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era, tr. Benedict Anderson and Ruchira Mendiones (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ดวงกมล, 1985).และใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “มองวรรณกรรมและการเมืองไทยยุค’ตามก้นอเมริกัน’ ถนนหนังสือ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (ธันวาคม 2530), น. 76-82.
  14. สีดา สอนศรี “การสร้างประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์” ใน อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และ พรพิมล ตรีโชติ บก. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กระบวนการเป็นประชาธิปไตยและการเมืองสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), น. 48.
  15. ดูงานศึกษาระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ที่ดีที่สุดในภาษาไทยใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
  16. ดูรายละเอียดใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “รัฐเก่าในขวดใหม่: การเปลี่ยนแปลงและต่อเนื่องของรัฐและชาติในอุษาคเนย์” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ (กค.-ธค. ๒๕๔๘), ๕๕-๑๐๒.
  17. หลวงวิจิตรวาทการ, สยามกับสุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ไทยใหญ่, ๒๔๗๖), หน้า ๒๒-๒๓ อ้างใน รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง พัสรีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาวิดา จินประพัฒน์ จัดทำ, สุวรรณภูมิศึกษา เอกสารและข้อมูลองค์ความรู้ อัดสำเนาเสนอสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี มมป., หน้า ๑๐๓.
  18. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่นิติบัญญัติ) วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ใน อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายรวม วงษ์พันธ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๔๗-๘.
  19. อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายรวม วงษ์พันธ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๕๓.
  20. Kasian Tejapira, “Party as Mother”: Ruam Wongphan and the Making of a Revolutionary Metaphor” in Caroline S. Hau and Kasian Tejapira eds., Traveling Nation-Makers: Transnational Flows and Movements in the making of Modern Southeast Asia (Singapore: National University Of Singapore Press in association with Kyoto University Press, 2011), 188-208.
  21. Benedict Anderson, “The Goodness of Nations,” in The Spectre of Comparisons: Nationalism, Southeast Asia and the World, (London and New York: Verso, 1998), 360-68.
  22. เพียงคำ ประดับความ, ราษฎรที่รักทั้งหลาย (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อ่าน, 2554), หน้า 25-28.
  23. เพียงคำ ประดับความ, ราษฎรที่รักทั้งหลาย (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อ่าน, 2554), หน้า 50-51.
  24. อังคณา นีละไพจิตร, 2 ปีตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ (กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549,)น. 173.
  25. Yvonne Bohwongrasert, “We Care A Better Tomorrow,” The Bangkok Post, October 4, 2001, Lifstyle section, p. 9.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท