พีอาร์ 6 เดือนรัฐบาลอย่างไรให้ได้มูลค่าเพิ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไพศาล อินทสิงห์ กับข้อเสนอต่อการประชาสัมพันธ์ผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล ความสำเร็จของนโยบายต้องให้ประชาชนเป็นผู้บอก ให้ใช้การสื่อสาร 2 ทางในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ใกล้ชิดเป็นกันเอง

 
ขึ้นชื่อว่า เป็นรัฐบาลไม่ว่าใคร ย่อมต้องการมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์
 
จะเป็นที่ประจักษ์ได้ต้องประชาสัมพันธ์ (PR)
 
PR จึงสำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะผู้กำหนดนโยบายประเทศ อันเป็นต้นทาง ผลงาน คือปลายทาง
 
ลำพังนโยบาย ยังเป็นนามธรรม เป็นแนวทางกว้างๆ ให้รู้ว่า รัฐบาลทำอะไร ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ
 
ต่อเมื่อนโยบายนั้นสิ้นสุดลง หรือหลังจากดำเนินนโยบายมาครบระยะเวลาหนึ่ง จะเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น ถึงจะรู้ว่า ประสบความสำเร็จก้าวหน้าอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน มีจุดอ่อนอะไร จะปรับแก้อย่างไร
 
เชื่อว่า ครม.พยายามทำดีที่สุด ต้องการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้ให้มากที่สุด หรือไม่ก็ใกล้เคียง
 
ผลงานที่ทำได้จริงเท่าไร นั่นคือ รูปธรรม
 
จากวันนั้น ถึงวันนี้ รัฐบาลครบ 6 เดือน ทั้งขับ ทั้งเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ กระทั่งออกมาเป็นผลงาน ไม่น้อย ดังที่ได้รับรู้ทางสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ต่อเนื่องเรื่อยมา
 
“ในวันที่ 5 เมษายน นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการเปิดตัวคณะกรรมการโฆษกกระทรวง โดยจะให้โฆษกทุกกระทรวง รวบรวมผลงานของแต่ละกระทรวงในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานำเสนอต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ” (อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, มติชน 31 มีค.55)
 
เป็นอีกจังหวะก้าว ที่จะใช้โอกาสนี้บอกกล่าว ประชาสัมพันธ์ รายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบ
 
เชื่อว่า คณะกรรมการโฆษกกระทรวง ทำการบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานออกมาดี PR โดดเด่น เป็นที่สนใจของสื่อและประชาชน
 
หวังตอกย้ำผลงานโดยสรุปภาพรวมอีกครั้ง เน้นข่าวสารเข้าถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมายต่างๆ มากที่สุดอีกรอบ
 
PR 6 เดือน จึงเหมาะสม และน่าสนใจยิ่ง แต่จะ PR อย่างไรให้ได้มูลค่าเพิ่ม ก็น่าสนใจไม่น้อย เป็นประเด็นที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ
 
แนวทางหนึ่ง ควรประชาสัมพันธ์ที่ฉีกแนวใหม่ๆ มิเพียงแค่ให้รับรู้ แต่ยังสร้างความรู้สึก “ประทับใจคนดู” ด้วย ซึ่งอาจอยู่ในแผนของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเตรียมการไว้หมดแล้ว ก็ได้
 
หากมีอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง ผู้อ่านอาจเห็นด้วย เห็นแย้ง หรือเห็นเพิ่มจากผู้เขียน ซึ่งมองว่า ในการทำประชาสัมพันธ์นั้น ควรต้องสะท้อน 3 คำ คือ เจ๋ง-ฉีกแนว-ไม่ซ้ำใคร
 
มิเช่นนั้นอาจส่งผลให้การแถลงผลงานรัฐบาลโดยโฆษกกระทรวงดูราบเรียบ ธรรมดาไป ขาดพลัง ขาดความพลิ้วไหว ก็จะไม่โดนใจ ไม่กระตุกกระตุ้นความสนใจของประชาชน ซึ่งน่าเสียดายโอกาส
 
อย่าว่าแต่ประชาชน แม้แต่สื่อเอง ก็อาจไม่รู้สึกสนใจ ผู้เขียนมองว่า ยิ่งเป็นหน่วยงานระดับรัฐบาล ยิ่งต้องให้ข่าวสารขจรขจาย เข้าถึง กว้างไกล
 
ยิ่งแถลง 6 เดือนเป็นแพ็กเกจทุกกระทรวงเช่นนี้ ยิ่งต้องหวังผลให้คนจำได้ สังคมชื่นชม กล่าวขานถึง เป็นการประกาศแสนยานุภาพทางการประชาสัมพันธ์
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ช่วงหนึ่งของกิจกรรมวันนั้น จับมือกับสื่อทีวีทุกช่อง ให้สื่อไปอยู่ในสถานที่จริง ในจุดที่นโยบายไปทำสำเร็จและมีความโดดเด่น เลือกผลงานที่เน้นๆ เนื้อๆ สัก 2-3 โครงการ/ภาค ชูเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างจุดขาย
 
ยิงสัญญาณสดจากจุดนั้น จากทุกภาคทั่วไทย เข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล และตัดออกอากาศนำเสนอสู่สาธารณะ สังคม สดจากพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบลหมู่บ้าน เพิ่มการสัมภาษณ์ชาวบ้าน เกษตรกร ฯลฯ
 
นอกจากสร้างการมีส่วนร่วมแล้ว การจะบอกว่า ความสำเร็จของนโยบายแค่ไหน ต้องให้ประชาชน สังคมเป็นผู้บอก จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เป็นกลวิธีหรือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถ้าผลงานทำได้สำเร็จจริง ก็ไม่ต้องกังวลอะไร ทั้งรัฐบาล และประชาชน ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งสู่คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
ซึ่งวันนั้น อาจทำเป็นรายการถ่ายทอดสด มีพิธีกรที่จะต้องเชื่อมโยง และดำเนินรายการ คอยจัดคิวสัญญาณสดจากพื้นที่
 
ขณะที่อีกช่วงจัดให้มีการโทรศัพท์เข้ามาในรายการ แสดงความคิดเห็น หรือสอบถามในเรื่องต่างๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นผู้ตอบ
 
สร้างการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ใกล้ชิดเป็นกันเอง
 
เป็นไปได้หรือไม่ การประชาสัมพันธ์ในยุคใหม่ อาจเลือกใช้สื่อสมัยใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ตอีกทางหนึ่งด้วย
 
เป็นภาคภาษาอังกฤษ เพราะวันนี้ภารกิจรัฐบาลยุคใหม่ เชื่อมโยงกับโลกมากขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฯลฯ
 
และนับวันจะโยงมากขึ้น ต้องให้ต่างประเทศรู้ว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรบ้าง อย่างไร เป็นผลดีต่อการทำงานร่วมมือกัน และสร้างความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ประเทศไทย
 
กลุ่มเป้าหมายอยู่ไหน เรา (ข่าวสารรัฐบาล) ไปถึงนั่น
 
ที่เขียนมานี้ ก็ขออนุญาตนำมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน เป็นบางมุม บางส่วนบางเสี้ยว หากทำได้ หรือหากมีในแผนแล้ว ก็น่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มให้การประชาสัมพันธ์รัฐบาลไม่มากก็น้อย
 
จะเป็นมูลค่าเพิ่มอย่างไร ขึ้นกับการออกแบบกิจกรรม PR ในวันนั้น
 
เหนืออื่นใด อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ให้คะแนนผลงานรัฐบาล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท