เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 5 )

 

“ชาวบ้านเมื่อก่อนนั้นไม่ใครกล้าขัดขว้างรัฐ เพราะอยู่กับความกลัว
ไม่เหมือนสมัยนี้ ต้องมีการทำประชาวิจารณ์ ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นดีหรือไม่ดี เมื่อก่อนนั้นไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องผลเหล่านี้ว่าดีหรือไม่ดี
และชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย”

 

 

เรียนรู้ ทบทวนอดีต สิทธิในการดำรงอยู่อยู่ที่ไหน?
มีการวิเคราะห์กันว่า นับจากที่มีการสร้างเขื่อนภูมิพล จนเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ได้สร้างความภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และยังถือว่าเป็นเขื่อนอันดับ 8 ของโลกอีกด้วย โดยทุกคนรับรู้กันดีจากการประชาสัมพันธ์ของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.รวมทั้งสื่อมวลชนทั่วไปว่า เขื่อนภูมิพลได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมากมายมหาศาล โดยทาง กฟผ.ได้ติดตั้งกระแสไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 นอกจากนั้นยังสามารถให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ต่อปี

โดยอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้มากถึง 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร

นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย

แน่นอน ในสายตาของ กฟผ.หรือภาครัฐ ภาพลักษณ์ของ ‘เขื่อน’ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางการพัฒนา ถึงขนาดมีกล่าวกันไว้ว่าเขื่อน คือยาวิเศษขนานเดียวสำหรับการแก้ปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง และการขาดแคลนพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่ทำการศึกษาผลกระทบเรื่องเขื่อน รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นทางตอนเหนือของเขื่อน ได้ออกมาพูดและเรียกร้องอยู่อย่างต่อเนื่องว่า เขื่อนก็มีผลกระทบมหาศาลเช่นกัน      และมีผู้ศึกษาเรื่องนี้ ได้จำแนก ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 ประเภท คือ ผลกระทบทางด้านภูมิประเทศและผลกระทบทางด้านภูมิสังคม

โดยทางด้านภูมิประเทศ ในเชิงบวก นักสร้างเขื่อนก็จะมองและเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เป็นตัวที่คอยกันน้ำไม่ให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และยังสามารถกันตลิ่งไม่ให้พังจากการกัดเซาะของน้ำ

แต่ในขณะเดียวกัน เขื่อนก็มีผลในด้านลบเช่นเดียวกัน นั่นคือ เป็นการตัดไม้ทำลายป่าเพราะการสร้างเขื่อนต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก และเนื่องจากเขื่อนเป็นการสิ่งก่อสร้างขวางลำน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลมาสะสมในพื้นที่เหนือเขื่อน จนเป็นผลให้ที่ดินบริเวณเหนือเขื่อนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งที่ดินเหล่านั้นส่วนมากเป็นป่า ธรรมชาติและแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะทำให้สูญเสียทรัพยากรดินตามไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนพบว่า แร่ธาตุที่รักษาสมดุลของ ระบบนิเวศ ไม่สามารถมาสู่พื้นที่ท้ายน้ำได้ เนื่องจากถูกกักโดยเขื่อนส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนขาดความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

ยังมีการศึกษาพบว่า มีการสูญเสียสัตว์ป่าในการสร้างเขื่อนในตอนเริ่มต้นจำนวนมากอีกด้วย

เมื่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่สูง เช่น ภูเขาจะกลายเป็นเกาะ แก่ง ซึ่งการดำรงชีวิตของสัตว์ป่ามักเคยชินกับพื้นที่เดิม และเมื่อปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย หากหนีไม่ทันก็จะล้มตาย หากหนีทันก็จะถูกล้อมรอบในพื้นที่จำกัด และเมื่อพื้นที่ถูกตัดขาดออกจากกัน ทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์ข้ามฝูงได้ และการผสมพันธุ์ในฝูงเดียวกันทำให้ รุ่นต่อไปมีลักษณะด้อยและอ่อนแอ

ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแหล่งน้ำ   เนื่องจากในระบบนิเวศเดิม พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ จะเป็นปลาที่ดำรงชีพในแหล่งน้ำไหล แต่เมื่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จนั้นปลาที่ชอบระบบนิเวศอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำนิ่ง สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปลาที่ชอบระบบนิเวศที่มีน้ำไหลก็จะลดปริมาณทำให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปลาบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำนั้นเลยก็ได้

เมื่อมองด้านภูมิสังคม นักสร้างเขื่อน ก็จะบอกว่า เขื่อนสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุหลักเลยก็ว่าได้ และผลที่เกิดตามมาก็คือ สามารถเป็นแหล่งท่องเทียว พักผ่อนหย่อนใจได้ และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพใหม่กับราษฎร เช่น ประมง การเกษตร ตัวอย่างจากเขื่อนภูมิพล ว่ากันว่า ราษฎรในพื้นที่สามารถมีอาชีพ เสริมด้านการประมงได้ เป็นอย่างดี ในรอบ 36ปีที่ผ่านมา ราษฎรในท้องถิ่น สามารถจับปลาได้ทั้งสิ้น 25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 160 ล้านบาท อีกทั้งมีการพูดถึงกันบ่อยว่า เขื่อนภูมิพลยังช่วยทำให้ระบบการชลประทานดีขึ้นโดยสามารถปล่อยน้ำไปช่วยราษฎรในพื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร และบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งสองข้างทาง รวมเนื้อที่ประมาณ 7.5 ล้านไร่ ให้มีการชลประทานที่ดี สามารถเพิ่มผลผลิตได้

แต่เมื่อมองให้ลึกและกว้าง ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่มาจากเขื่อน ว่าส่งผลกระทบในด้านลบเช่นเดียวกัน นั่นคือ เขื่อนส่วนมากจะสร้างขึ้นระหว่างหุบเขาตรงที่ลำน้ำไหลผ่าน เขื่อนเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตมาก สันเขื่อนอาจสูงถึงสามร้อยกว่าเมตร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกำแพงยักษ์กั้นลำน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำค่อยๆ เอ่อท่วมบริเวณหน้าเขื่อน ซึ่งกว่าที่น้ำจะเต็มเขื่อนอาจใช้เวลานานกว่า 3-4 ปีขึ้นไป และเมื่อน้ำเต็มเขื่อนบริเวณหน้าเขื่อนก็จะกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ทำให้น้ำในเขื่อนท่วมพื้นที่ริมน้ำข้างเคียงเป็นบริเวณกว้าง

แน่นอนว่า ในขณะที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นปริมาณมากมายมหาศาล แต่เนื่องจากเขื่อนมีขนาดใหญ่ระดับน้ำเหนือเขื่อนที่ขึ้นสูงทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ถูกน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องอพยพ สูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าไม้ และสูญเสียอาชีพที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งอาชีพประมงและการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากป่า การเก็บหาของป่า ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจของชาวบ้านและชุมชน ซุปเปอร์มาเก็ตของคนจนถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อน ฐานทรัพยากรของชาวบ้านและชุมชยถูกทำลายไป

ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยการจัดหาที่อยู่ และที่ทำกินให้ใหม่ โดยมากเป็นการย้ายถิ่นฐาน ไปในบริเวณที่ใกล้กับชุมชนอื่น ก็ทำให้เกิดความรู้สึก แปลกแยก ออกจากสังคมใหม่ และพื้นที่ทำกิน ที่ได้รับมาใหม่อาจ ไม่เหมาะสมต่อการทำกินประเภทเดิม เช่น สภาพที่ดิน แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังทำให้ สภาพวัฒนธรรม ดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ซึ่งถ้านับมูลค่าของความสูญเสีย ไม่ว่าเรื่องของลักษณะภูมิประเทศ ภูมิสังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนั้น ถือว่ามีมูลค่ามากมายมหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้

นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า เมื่อต้นปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา เหตุใดถึงมีข่าวออกมาว่า ชาวบ้านรวมกลุ่มประท้วงเขื่อนภูมิพล เรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วมให้เห็นอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านฮอด ได้รวมตัวกับชาวบ้านจากอำเภอดอยเต่า ซึ่งประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. รวมทั้งเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบใน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จำนวนนับ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วม ต่อผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายหนัก ซึ่งได้เรียกร้องขอให้เขื่อนภูมิพล ต้องจ่ายตามความเสียหายพืชไร่ต่อต้น ไม่ใช่ต่อไร่

นายทนงศักดิ์ วีระ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา มาทำให้สวนลำไย มะม่วง ไร่ข้าวโพด นาข้าว และพื้นที่การเกษตร ใน อ.ดอยเต่า และ อ.ฮอด ซึ่งถูกน้ำที่ล้นจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลเข้าท่วมจนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ บ้านเรือนประชาชนใน ต.ท่าเดื่อ และ ต.บ้านตาล หลายร้อยครัวเรือน ยังถูกน้ำท่วมอีกด้วย

นอกจากนี้ น้ำในทะเลสาบดอยเต่าที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพล มีปริมาณสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายมาก ทางผู้ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้ทางเขื่อนภูมิพลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านตามความเป็นจริง โดยขอให้ทางเขื่อนภูมิพลและ กฟผ. จ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับการจ่ายในปี พ.ศ. 2545 และ 2549 ซึ่งจ่ายเป็นค่าเสียหายพืชสวนต่อต้น ไม่ใช่จ่ายตามมติ ครม.เมื่อเดือน ส.ค.2554 ที่ผ่านมา ที่ให้จ่ายเป็นไร่ เนื่องจากน้ำท่วมดอยเต่าและฮอด นั้นเป็นผลมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลไม่ใช่จากภัยพิบัติเหมือนที่อื่น

“แต่ผลที่ได้ออกมา คือ มีการบอกว่าจะช่วยเหลือและออกมาสำรวจเรื่องของความเสียหายอยู่  แต่เขาจะมีการชดเชย จ่ายเป็นไร่ โดยการอิงมติคณะรัฐมนตรี ที่เกิดความเสียหาย แต่ชาวบ้านก็ตอบไปอีกว่า  สาเหตุน้ำท่วมนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ แต่เป็นการท่วม เพราะว่า การกักเก็บน้ำของเขื่อนเกินพิกัด  เกินค่าความสูงของระดับน้ำ” นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ นายจงกล โนจา ได้สรุปประเด็นไว้ว่า ความเสียหายจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่ง เป็นเรื่องเขื่อนมีการกักเก็บน้ำปริมาณที่มาก ทำให้เกิดปริมาณน้ำที่เอ่อล้นท่วมขึ้นมา นั้นมีระยะเวลาของน้ำท่วมที่ยาวนาน และสอง เป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ในเรื่องของฟ้าฝน ที่ทำให้เกิดน้ำไหลหลากมาก น้ำล้นตลิ่งมาก

ชาวบ้านฮอดถกประเด็นปัญหาที่เกิดจากเขื่อน
พร้อมเรียกร้องหาทางออกร่วมกัน 
ปัจจุบัน ชาวบ้านฮอดเริ่มถกประเด็นปัญหาที่เกิดจากเขื่อนกันมากขึ้น เพื่อหาข้อสรุปข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน แน่นอน ว่านอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังมีอีกหลายๆ ปัญหาที่ทับซ้อนรอการแก้ไขอยู่

ปัญหาเรื่องที่ดิน  พื้นที่ทำการเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ เป็นปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

นายจงกล  โนจา รองนายก อบต.ฮอด บอกว่า ยังมีปัญหาที่ต้องการเรียกร้องและฝากไปยังองค์กรหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือแก้ไข ก็คือ ปัญหาเรื่องของการถือครองที่ดิน  พื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเรื่องของการถือครองที่ดินแบบยั่งยืนนั้นยังไม่มีเลย

“นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องของความไม่มั่นคงในอาชีพ ในส่วนของชาวบ้านเอง เริ่มยากจนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เพราะสาเหตุเกิดจากน้ำท่วมลำไย ลำไยตาย ชาวบ้านต้องลงทุนในการเริ่มต้นปลูกลำไยใหม่ 5 ปี กว่าจะได้ผลผลิต พอเก็บได้ 2-3 ปี จนถึงช่วงของปีพ.ศ. 2549 น้ำท่วมอีก ไม้ก็ตายอีก ชาวบ้านก็เกิดความยากจน หมดเนื้อหมดตัว เพราะน้ำท่วมต้นลำไย ที่ต้องลงทุนในการเริ่มปลูกกันใหม่ แต่พอจะได้เริ่มผลผลิต น้ำก็เกิดท่วมซ้ำ เงินที่ลงทุนที่ผ่านมาก็สูญหมด”

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเองก็พยายามหันมาทบทวนบทบาทของตนเอง หันไปมองวิถีชีวิตในอดีตที่หายไป เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่

“ในเรื่องของระบบเหมืองฝาย  จากเดิมนั้น มีการเอาน้ำจากที่สูงลงมาที่ต่ำ  โดยนำเอาน้ำมาจากลำห้วย  แต่ช่วงหลังชาวบ้านก็มองความเหมาะสม  ประกอบกับชาวบ้านเองก็อาจจะมักง่ายก็ได้ขอสูบพลังไฟฟ้าจากกรมชลประทานมา ก็เลยทำให้ลืมฮีตฮอยอันเก่า เหมืองเก่าเดิมก็ไม่ใช้ เพราะว่าสูบพลังไฟฟ้าง่ายกว่า  ถ้าจะมาขุดลอก ลางขี้เหมืองก็ใช้ระยะทาง 12 กิโลเมตร ของเส้นทางที่เอาน้ำเหมืองมาใช้ อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ ช่วงที่สูบพลังไฟฟ้าเข้ามา  รัฐก็จ่ายให้ 75%  ชาวบ้านสมทบ 25%  ชาวบ้านเลยถือว่าได้จ่ายน้อย”

ในขณะที่หลายคน บอกว่า ในสมัยก่อน มีต้นน้ำ มีป่าไม้มาก แต่เดี๋ยวนี้ป่าไม้เริ่มหมด ธรรมชาติก็เริ่มแห้งแล้ง

“สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนน้ำในเส้นห้วยแม่ฮอด มีน้ำไหลตลอดทั้งปี  แต่ตอนหลังก็มีการเข้ามาของพี่น้องม้ง ที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ต้นน้ำ น้ำก็เลยไม่ไหล  เมื่อก่อนนั้น น้ำจากต้นน้ำมีการไหลตลอดทั้งปี และมีการทำเหมืองฝายธรรมชาติ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าน้ำไม่เพียงพอ เพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมด”

เช่นเดียวกับ นายจงกล โนจา บอกว่า เพราะถ้ามองถึงความรู้สึกของตัวเอง และมองย้อนหลัง  มองไปข้างหน้า  ณ วันนี้ ชาวบ้านเองแทบจะพึ่งตนเองไม่ได้เลย  รอพึ่งพาจากภาครัฐ รอให้มาช่วยอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ในวงแลกเปลี่ยนของชาวบ้าน มีเรื่องหนึ่ง ที่ชาวบ้านกำลังให้ความสำคัญและให้ความสนใจในขณะนี้ นั่นคือทำอย่างไรถึงจะเรียกร้องสิทธิทำกินนั้นคืนกลับมา โดยเฉพาะการเรียกร้องค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากเขื่อน

แน่นอน ย่อมมีคำถามจากสังคมทั่วไปไปต่างๆ นานาว่า ทำไมถึงมาพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนภูมิพลในช่วงนี้ ทำไมถึงออกมาเรียกร้องสิทธิในห้วงเวลานี้ ทั้งๆ ที่เขาสร้างเขื่อนกันมานานกว่า 50มาแล้ว?!

“ก็คนเฒ่าสมัยก่อนนั้นกลัว ใครมาบอกก็เชื่อก็ไปกัน  คนที่มีเงินก็มาซื้อเอาไร่เอานาเราไปเสีย  แต่เราก็ได้มาก็กินก็จ่ายกันไปอย่างนั้น ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน จะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว  แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง  คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อ ลงนาม  ก็เลยเกิดการสร้างเขื่อนภูมิพล” ตัวแทนชาวบ้านบอกเล่าให้ฟัง

“ชาวบ้านเมื่อก่อนนั้นไม่ใครกล้าขัดขว้างรัฐ เพราะอยู่กับความกลัว ไม่เหมือนในยุคประชาธิปไตย  เหมือนสมัยนี้ ต้องมีการทำประชาวิจารณ์ ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นดีหรือไม่ดี  เมื่อก่อนนั้นไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องผลเหล่านี้ว่าดีหรือไม่ดี และชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย”

“ดูตัวอย่างจากกรณีแก่งเสือเต้น ที่มีการคิดจะสร้างกันหลายยุคหลายสมัย หลายรัฐบาล ก็ไม่สามารถที่จะสร้างได้ เพราะว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น  มีการทำประชาวิจารณ์ในท้องถิ่น แต่สมัยนั้นไม่มีการทำเรื่องของการประชาคมประชาวิจารณ์อะไรเลย  เพราะว่าในสมัยก่อน รัฐบาลอยากจะทำอะไรก็ทำไป ชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะโต้”

“ที่ผ่านมา ชุมชนเรามีการถูกเลี้ยงมาอย่างดี เขาไม่อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยการจัดสิ่งต่างๆเข้ามาให้ แทนที่ชาวบ้านจะมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ก็แตกกันอีก  นี่คือ ความฉลาดของหน่วยงานรัฐที่ไม่อยากพูด...”

นั่นเป็นเสียงของชาวบ้านจากฮอด ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

ใช่ ในห้วงเวลานี้ ชาวบ้านจากหลายๆ พื้นที่เริ่มรวมตัวกัน เพื่อหาทางเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินดั้งเดิม อันเป็นผืนดินถิ่นเกิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคบรรพบุรุษของพวกเขานั้นกลับคืนมา

“ใช่ แต่ถ้าเราจะฟื้นขึ้นอีกครั้ง จะให้เวนคืนที่ดินนี้ เพราะฉะนั้น พวกเราต้องพร้อม เหมือนจะเข้าป่าล่าเสือ ก็ต้องดันลูกกระสุนให้เต็มแรง พร้อมทั้งความรู้ของคนเราต้องพร้อม ก็คงจะทำได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเตรียมลูกปืนให้เต็ม เตรียมคนให้พร้อม”

นั่นเป็นวงสนทนาแลกเปลี่ยนของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในวงสนทนาเริ่มมีการระดมความเห็นกันหลายด้านเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ไม่ว่าเรื่องการค้นหารากเหง้า ประวัติศาสตร์ชุมชน การดำรงชีวิต กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิและให้องค์กรที่เกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบต่อชุมชนให้รับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน



ที่มาข้อมูล :

บันทึกเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร,21 ธันวาคม 2554 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน http://benchapon.blogspot.com/

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)

เรียนรู้ ‘ฮอด’ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 2)

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3)

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 4) color:#4BACC6">

color:#4BACC6"> 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท