ว่าด้วยการใช้ความรุนแรงของรัฐ: การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม vs การควบคุมจลาจล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


แฟ้มภาพ: ประชาไท

ประเด็นการใช้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี กลายเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสับสนในสังคมไทย วิธีการเช่นไรที่ถือเป็นการใช้ความรุนแรง? การประท้วงด้วยการเทเลือดถือเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่? การปราศรัยด้วยวาจาหยาบคายเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่? การเพิกเฉยต่อการสังหารหมู่กลางเมืองหรือถึงขั้นยินดีในการฆ่าถือเป็นความรุนแรงหรือไม่? รัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนเมื่อไร? ความรุนแรงระดับไหนที่รัฐพึงใช้และไม่พึงใช้?

มีหลายประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบและมีความเห็นไปได้ต่างๆ อาทิเช่น การใช้วาจาหยาบคายเป็นความรุนแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่วิวาทะกันไปได้อีกนานและคงหาข้อสรุปที่เป็นที่สุดหรือพึงพอใจของทุกฝ่ายได้ยาก แต่ก็มีบางประเด็นสำคัญๆ ที่มีบรรทัดฐานและหลักปฏิบัติชัดเจน ทั้งยังปฏิบัติกันเป็นส่วนมากในประเทศที่ “เจริญแล้ว” ทั่วโลก แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่สับสนและไม่เข้าใจกันในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คำถามว่า ความรุนแรงระดับไหนที่รัฐพึงใช้และไม่พึงใช้ต่อประชาชน เป็นต้น

ความสับสนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคม “ฟังครู” จึงมีอาจารย์นักวิชาการผู้รู้กูรูทั้งหลายเต็มไปหมดในสื่อต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาในสังคม เราก็คอยฟังว่าเจ้าสำนักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีจะออกมา “ฟันธง” ว่าอย่างไร แต่อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในที่อื่นๆ แล้วว่า เจ้าสำนักเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ใช่นักปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง อย่างมากที่สุดก็เป็นนักล้อบบี้ทางการเมืองมากกว่า (แม้ว่าการล้อบบี้นั้นจะทำไปด้วยเจตนาดีก็ตาม) อีกทั้งมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าสำนักส่วนใหญ่ก็สับสนมาก พวกเขาออกมาพูดในเหตุการณ์หนึ่งและหายหน้าไปในอีกเหตุการณ์หนึ่ง พวกเขาแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเหตุการณ์หนึ่ง แต่ในอีกเหตุการณ์คล้ายๆ กันกลับสนับสนุนหน้าตาเฉย การออกมาแสดงความคิดเห็นของเจ้าสำนักหลายคนผูกติดอยู่กับการเมืองในขณะนั้นมากกว่าหลักการทางปรัชญาเสียอีก

ผู้เขียนจึงคิดว่า เราควร “นอกครู” เสียหน่อย แทนที่จะรอให้ใครมานิยามความรุนแรงและความไม่รุนแรงให้ ประชาชนควรช่วยกันสร้างคำนิยามกันเองและสร้างหลักการของประชาชนขึ้นมาเอง เช่น กระบวนการประท้วงแบบไหนที่ถือว่าสันติวิธี? ประชาชนอาจเห็นว่า การผลักดันกับแนวต้านของตำรวจ/ทหารไม่เห็นจะเป็นความรุนแรงตรงไหน หรือการด่า/ขว้างขวดน้ำใส่ตำรวจ/ทหารที่ยิงใส่เพื่อนไม่ถือเป็นการใช้ความรุนแรง แต่การพกอาวุธที่สามารถฆ่าคนได้ เช่น มีด ปืนหรือกระบอง/ไม้ตีกอล์ฟ ไปร่วมชุมนุม ถือเป็นการใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกัน หลักการที่เราสร้างขึ้นเอง เราก็ควรยึดถือโดยไม่ไปคำนึงถึงผลได้ผลเสียทางการเมืองเฉพาะหน้า และไม่ยึดถือมันแบบลักปิดลักเปิดด้วย

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นการใช้ความรุนแรงของรัฐ

การใช้ความรุนแรงของรัฐเพื่อปราบปรามพลเมืองในชาติหรือชาติอื่น มักถูกเรียกเป็นภาษาไทยรวมๆ กันว่า “การปราบจลาจล” แต่ในภาษาอังกฤษจะแยกออกเป็นสองคำที่แตกต่างกัน คำแรกคือ counterinsurgency และคำที่สองคือ riot control
 

Counterinsurgency: การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม
คำว่า counterinsurgency มักแปลอย่างเป็นทางการว่า “การต่อต้านการก่อกบฏ” หรือ “การต่อต้านการก่อความไม่สงบ”

อันที่จริง คำว่า counterinsurgency เป็นคำที่เกิดมาพร้อมกับนัยยะทางการเมือง และกระบวนการ counterinsurgency ใช้กับการต่อต้านการก่อกบฏของคนในชาติน้อยกว่าใช้กับการต่อต้านการลุกฮือของคนชาติอื่น กล่าวคือ counterinsurgency มักใช้ในสงครามและการยึดครอง และหากใช้กับคนในชาติ ก็มักเกิดขึ้นในสภาวะที่ระบอบดั้งเดิมง่อนแง่นใกล้พังทลาย counterinsurgency มีประวัติศาสตร์ที่ผูกพันแนบแน่นกับการล่าอาณานิคมและยุคสงครามเย็น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า คำๆ นี้ควรแปลว่า “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” จะให้ความหมายที่ตรงไปตรงมามากกว่า

วิกิพีเดียอธิบายว่า “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” เป็นการผสมผสานยุทธวิธีทางการทหารเข้ากับยุทธวิธีอื่นๆ ดังนั้น มันจึงมีตั้งแต่การใช้กำลังอาวุธปราบปรามโดยตรง การใช้กลยุทธ์ “แบ่งแยกและปกครอง” เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความแตกแยก การโฆษณาชวนเชื่อ เช่น สร้างภาพว่าอีกฝ่ายน่าเกลียดน่ากลัวเหมือนยักษ์ปิศาจมารร้าย ใช้วิธีการทางจิตวิทยาเพื่อปลุกปั่น แม้กระทั่งการลอบสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายตรงข้าม

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งของ “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” ก็คือ การแยกแยะประชาชนออกเป็นสามส่วน กล่าวคือ กลุ่มก่อการที่เป็นแกนของการต่อสู้กับรัฐ หรือ “แนวหน้า” กลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนแต่ไม่ได้ติดอาวุธหรือเป็นแกนนำโดยตรง ซึ่งเรามักเรียกว่า “แนวหลัง” และกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

ดังที่กล่าวแล้วว่า แนวคิดของการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามในยุคสมัยใหม่มีความเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับยุคสงครามเย็น การแยกแยะระหว่าง “แนวหน้า” กับ “แนวหลัง” เป็นประเด็นที่มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากยุทธวิธีของขบวนการเหมาอิสต์เป็นไปตามที่กล่าวว่า “นักรบจรยุทธ์พึงว่ายอยู่ในหมู่ประชาชนดังเช่นปลาว่ายในท้องทะเล” รัฐที่ดำเนินการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงพยายามค้นหาทั้ง “แนวหน้า” ที่ซุกซ่อนในหมู่ประชาชนและ “แนวหลัง” ที่คอยส่งเสบียงกำลังให้ การหาทางกวาดล้าง “แนวหน้า” และ “แนวหลัง” นี้เอง กลายเป็นประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือละเมิดศีลธรรมที่สุดของกระบวนการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย นับตั้งแต่การฆ่าล้างหมู่บ้านในสงครามเวียดนาม มาจนถึงการกราดยิงใส่ประชาชนในสงครามอิรัก และเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ยุทธการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม หรือ counterinsurgency ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงเลยในการสร้างความมั่นคงดังที่รัฐต้องการ ผลกลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือรังแต่จะสร้างความโกรธแค้นและขยายวงความขัดแย้งออกไป

Riot Control: การควบคุมจลาจล
วิธีการควบคุมฝูงชนด้วยการใช้ความรุนแรงของรัฐอีกวิธีหนึ่งก็คือ riot control ซึ่งขอแปลว่า “การควบคุมจลาจล” หมายถึงการใช้กำลังตำรวจ ทหารหรือกองกำลังฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ เข้าควบคุม แยกสลายและจับกุมประชาชนที่ก่อจลาจลหรือประท้วง ประเด็นสำคัญของการควบคุมจลาจลก็คือ กองกำลังของรัฐจะใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำหรืออาวุธที่ไม่ทำให้ถึงตายเป็นหลัก (less lethal weapon และ non-lethal weapon) อาทิเช่น กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย กระสุนยาง ฯลฯ

หากเราดูข่าวต่างประเทศ จะเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป มักใช้วิธีการนี้สลายการชุมนุม แม้กระทั่งการจลาจลกลางกรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษก็ยังใช้วิธีการควบคุมจลาจลแบบนี้เป็นหลัก เป้าหมายของการควบคุมฝูงชนแบบนี้ก็คือ เพื่อให้มีอัตราการตายของประชาชนต่ำที่สุด โดยมองว่าประชาชนที่ก่อความวุ่นวายนี้เป็นพลเมืองของชาติที่มีความคิดแตกต่างออกไปเท่านั้นเอง

การควบคุมจลาจลแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ มันมีอายุมากกว่า 100 ปี โดยเริ่มจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ ซึ่งใช้วิธีการนี้ในอาณานิคมของตน มีการประดิษฐ์กระสุนปลอม กระสุนไม้ และมุ่งยิงไปที่หัวเข่าของผู้ประท้วง จนเรียกกระสุนประเภทนี้ว่า knee-knockers วิธีการควบคุมจลาจลที่ไม่มุ่งชีวิตผู้ประท้วงเช่นนี้มีผลอย่างไรหรือไม่ต่อความเป็นปึกแผ่นยาวนานของจักรวรรดินิยมอังกฤษ เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง

ในปัจจุบัน หลายประเทศมีกฎหมายห้ามใช้อาวุธที่ทำให้ถึงตาย (lethal weapon) อย่างเด็ดขาดในการสลายการชุมนุมทุกกรณี ประเด็นที่มักถกเถียงกันก็คือ อาวุธอะไรที่ควรใช้และไม่ควรใช้ในการควบคุมจลาจล อาวุธที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ แก๊สน้ำตา ซึ่งพัฒนามาจากการต่อสู้ในสนามเพลาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการควบคุมจลาจลตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1920 โดยใช้ปราบปรามการจลาจลของนักโทษในคุกและสลายการชุมนุมของขบวนการสิทธิพลเมืองในสมัยนั้น

กระสุนยาง แม้จะมีอานุภาพร้ายแรงน้อยกว่ากระสุนจริง แต่ก็สามารถทำให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ นิตยสาร The Lancet เคยศึกษาผลเสียร้ายแรงของการใช้กระสุนยาง และองค์การ Human Rights Watch เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการใช้อาวุธนี้
 

“กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ควบคุมจลาจล”: ประชาชนในสายตาของรัฐและชนชั้นนำไทย
ถ้าดูจากแนวคิดและมาตรการที่แตกต่างกันของ “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” กับ “การควบคุมจลาจล” ข้างต้น แล้วย้อนมาดูวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐไทย ซึ่งทำให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนมาหลายต่อหลายครั้ง เราพอสรุปได้ว่า รัฐและชนชั้นนำไทยยังหมกมุ่นฝังหัวอยู่ในยุคอาณานิคมและยุคสงครามเย็น

โดยเฉพาะในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 การที่เกิดกรณีกองกำลังของกองทัพไทยยิงใส่สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กู้ภัยและพยาบาลจำนวนมาก ตลอดจนการกวาดจับประชาชนเสื้อแดงตามต่างจังหวัดโดยไม่เลือกหน้า สะท้อนให้เห็นว่า รัฐ ชนชั้นนำและกองทัพไทยยังคงมีวิธีคิดแบบ “กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” และคิดว่า การฆ่า “แนวหน้า” และการปราบปราม “แนวหลัง” ของคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง จะสามารถสร้าง “ความมั่นคง” ให้เกิดขึ้นแก่สถานภาพของตนเอง น่าเสียดายที่นักยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยยังเลือกที่จะใช้วิธีการแบบสงครามเวียดนามกับพลเมืองในประเทศของตัวเอง ทั้งๆ ที่วิธีการแบบนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยได้ผล ไม่ว่าจะในสงครามเวียดนาม สงครามอิรัก หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทัศนคติของชนชั้นนำไทยที่มองว่าประชาชนไม่ใช่พลเมือง หากประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของการเสียดินแดน มองในมุมกลับ ประวัติศาสตร์ไทยก็คือประวัติศาสตร์ของการยึดครองด้วย ชนชั้นนำยังคงมองต่างจังหวัดและคนต่างจังหวัดหรือกระทั่งรวมไปถึง “คนจน” และ “คนที่คิดต่าง” เสมือนเป็น “เชลยสงคราม” ภายใต้การยึดครองของกรุงเทพฯ การจมอยู่ในประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมทำให้ชนชั้นนำคิดว่าตัวเองอยู่ในภาวะยึดครองหรือภาวะสงครามตลอดเวลา ดังนั้น การละเมิดชีวิตของ “เชลยสงคราม” จึงไม่ถือเป็นความผิดทางศีลธรรม ทั้งยังคิดว่าจะทำให้สถานภาพของตนมั่งคงต่อไป

รัฐไทยจึงยังเป็นรัฐยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ใช่รัฐประชาชาติที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ประเทศนี้เป็นของสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ราชการ รัฐบาล ฯลฯ เรามักได้ยินการทวงบุญคุณหรืออ้างความเป็นเจ้าของประเทศ และบอกปัดว่าประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยหรือพึ่งใบบุญเสมอ หากชนชั้นนำไทยไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมสมัยใหม่ ไม่ยอมรับการเป็นรัฐประชาชาติ แทนที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงสถาพรดังที่หวังไว้ ชนชั้นนำไทยกลับกลายเป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่มีเสถียรภาพเสียเอง


มาตรฐานในการคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐ

หากพิจารณาจากที่นำเสนอมาทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอว่า เราควรคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐในทุกกรณีที่รัฐใช้อาวุธสงครามมาปราบปรามประชาชน ไม่ว่าประชาชนกลุ่มนั้นจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงหรือชาวมุสลิมก็ตาม ไม่ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิตเลย เช่น ในกรณีเมษา 2552 การนำอาวุธสงครามมาใช้กลางเมืองก็ยังถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รัฐไทยควรออกกฎหมายห้ามใช้อาวุธร้ายแรงถึงชีวิตในการสลายการชุมนุมหรือปราบจลาจล ออกกฎหมายห้ามทำรัฐประหาร ย้ายค่ายทหารออกไปชายแดน หรือดังเช่นในหลายประเทศที่มีกฎหมายห้ามกองกำลังทหารเข้ามาในเมือง นอกจากนี้ รัฐไทยควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หน่วยปราบจลาจลให้มีประสิทธิภาพ มีทัศนคติที่ดีต่อประชาชนมากกว่านี้ด้วย

ในกรณีของการชุมนุมประท้วง เช่น การยึดถนนราชประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น หากรัฐไทยใช้วิธีการควบคุมจลาจลในการสลายการชุมนุมและปฏิบัติการตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการชุมนุม ดังเช่นที่รัฐบาลอังกฤษใช้สลายการชุมนุมหน้าธนาคารแห่งชาติอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 2009 และเยอรมนีใช้ในการสลายการชุมนุมใน ค.ศ. 2010 ผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งที่เรา “พึงยอมรับได้”

ข้อถกเถียงอาจมีอยู่ เช่น ในกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิเสียชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ควรมีการสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้ปฏิเสธวิธีการควบคุมจลาจล นอกจากนี้ เราควรถกเถียงและค้นคว้าเกี่ยวกับอาวุธไม่ร้ายแรงถึงชีวิตที่รัฐควรใช้หรือไม่ควรใช้ เช่น การใช้อุปกรณ์ LRAD ในการสลายการชุมนุมของแรงงานไทรอัมพ์นั้น การใช้อุปกรณ์ที่อาจทำให้เกิดการพิการถาวรเป็นสิ่งที่พึงใช้หรือไม่ เป็นต้น

ประเด็นที่สำคัญก็คือ การประท้วงหรือคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐในการสลายการชุมนุม ควรตั้งอยู่บนหลักการที่แน่นอนในระดับหนึ่ง ไม่ใช่กระทำไปตามอำเภอใจของความโน้มเอียงทางการเมืองหรือการเลือกข้างดังที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท