"การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism): การสร้าง ขยายเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ลำปางหนาวมาก” คำนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน เป็นวลีที่คุณอุดม แต้พานิช พูดล้อเลียนคนที่ส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นไปยังรายการๆหนึ่ง แต่พอหลังจากที่การแสดงของคุณอุดมสิ้นสุดลง คำพูดที่ว่า ลำปางหนาวมาก กลับกลายเป็นกระแสนิยมและสร้างจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยด้วยกันเอง ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการและแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของไทย เช่น แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสกับกิจกรรมเหล่านั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาลกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของภาคการขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ และได้ประกาศให้ปี 2541 -2542 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อ้างถึงสถิตินักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยระหว่างปี 2548– 2553 มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.5 % และในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยทั้งสิ้น 19,089,323  คน โดยเพิ่มขึ้น 19.84 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีมูลค่าเท่ากับ 734,519.46 ล้านบาท เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของคนในชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายด้าน เช่น ภาคการบริการโรงแรม มัคคุเทศก์  โฮมสเตย์  ร้านอาหาร ฯลฯ  ซึ่งสร้างรายได้ให้คนหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ชาวบ้าน ถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่

การท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวแบบแนบชิดธรรมชาติ  การท่องเที่ยวสถานเริงรมย์  ท่องเที่ยวโบราณสถานโบราณวัตถุ ซึ่งการท่องเที่ยวแต่ละชนิดก็มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายมากขึ้น บ่อยครั้งใช้คำว่า "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" (Ecotourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์"(Conservation tourism) ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพพจน์ของการท่องเที่ยว

"การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" จากการให้คำนิยามของสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ให้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ชุมชนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ส่วน "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" เน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน คือ การที่มุ่งพัฒนาให้คนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการท่องเที่ยว  และไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ได้เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้ใช้ความรู้ของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต เพราะการดูแลทรัพยากรเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนซึ่งเป็นของส่วนรวมไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยคนในชุมชน จึงเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้มีความหมายมากกว่าการพักผ่อน เป็นการพัฒนาคนในชุมชนให้มีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนเป็นเหมือนบ้านของตนเองที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความยินดี

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ อาชีพ และการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่างๆ และเป็นการขยายภาคเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวมากขึ้น  แต่ผลอีกด้านของการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังที่เราได้รับรู้รับฟังตามข่าวสารต่างๆ ซึ่งต้องพึงระวังในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ

ถึงกระนั้น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism) อาจเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว สร้างอาชีพให้ชุมชน และในขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์ไปในตัว เพราะ “เขา”(ชาวบ้าน) เหล่านั้นที่เคยเป็นแต่ผู้เฝ้ามองได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการท่องเที่ยวแบบใหม่นี้ ซึ่งเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ  และเป็นพื้นที่ในการแสดงอัตลักษณ์  ตัวตน ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆให้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท