อุดรูรั่วพลังงานชีวมวล (2) : ช่องโหวผังประเทศถึงผังจังหวัด ปัญหา “โรงไฟฟ้า” ใน “พื้นที่สีเขียว”

เมื่อ “โรงงานไฟฟ้า” บนพื้นทีสีเขียว คือช่องโหว่ของผังเมืองที่ไม่มีการเตรียมการเชิงรุก แล้วเราจะเดินหน้าแก้ปัญหากันอย่างไร ขณะทีผู้ประกอบการยอมรับการจัดการผลกระทบอยู่ที่ความใส่ใจ แต่กติกาของรัฐก็มีส่วน

 
 
ถกปัญหานโยบาย “ชีวมวล” ในฐานะทางเลือกพลังงานของประเทศที่ศักยภาพ แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับการคัดค้านของชุมชน ไม่ต่างกับโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซ โดยไม่เกี่ยวกับขนาดใหญ่-เล็ก และด้วยเหตุผลซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะขึ้นชื่อว่า “โรงไฟฟ้า” จึงเป็นสิ่งที่ชุมชนไม่ต้องการ
 
“ทำไมต้องเป็นที่นี้” เป็นอีกปมคำถามหนึ่งของชุมชนในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลมีต่อผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้การใช้วัตถุดิบในสังคมกสิกรรมทำให้เหมาเอาได้ว่า “พื้นที่เกษตร” ควรต้องเป็นเป้าหมายที่ตั้ง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่เหมาะสมที่สุด แต่ปรากฏการณ์ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลผุดขึ้นในแทบทุกพื้นที่ พร้อมๆ กับการคัดค้านที่ขยายตัวตามมา นั่นคือภาพสะท้อนความจริงที่ผิดพลาดบางอย่าง 
 
ดังนั้น เมื่อผังเมืองซึ่งเรื่องของการจัดการพื้นที่สำหรับอนาคต และ “พลังงานชีวมวล” ก็เป็นอีกหนึ่งในพลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต จึงเป็นที่คาดหวังกันว่า “ผังเมือง” จะมีส่วนเป็นเงื่อนไขในการอนุมัติอนุญาตโครงการจากเรื่องการจัดการพื้นที่
 
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของนักวิชาการด้านผังเมืองว่า “โรงไฟฟ้าชีวมวล อยู่ที่ไหนในผังเมือง” กลับพบประเด็นที่ซ้อนทับขึ้นมาถึงช่องโหว “ผังเมือง” ในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย จนอาจกลายเป็นเครื่องมือตอบย้ำซ้ำเติมปัญหา 
 
 
 
ผังเมือง รูรั่วใหญ่การพัฒนาพื้นที่
 
ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อสังคม นำเสนอแผนที่โรงไฟฟ้าชีวมวลในผังเมือง ซึ่งพบว่ามีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ผังประเทศไทยที่มีเป้าหมายการพัฒนาไว้ถึงปี พ.ศ.2600 ซึ่งมีการกำหนดลักษณะพื้นที่หลากหลายประเภท กลับขาดเรื่องพื้นที่ที่จะรองรับการพัฒนาพลังงานในอนาคต 
 
ขณะที่ ทางเลือกของพลังงานประเทศไทยจะมุ่งไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางด้านพลังงาน และนิวเคลียร์จะเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นการมองโดยเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้มองเรื่องการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชุมชน ตรงนี้กลายเป็นช่องว่างขนาดใหญ่
 
“โรงไฟฟ้าชีวมวลที่กระจายอยู่ในชุมชน เกิดขึ้นบนช่องโหว่ที่ผังเมืองไม่มีการเตรียมการเชิงรุกเอาไว้” ภารนีกล่าว  
 
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลจัดเป็นกิจกรรมอุตสาหกรรมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถจัดอยู่ในพื้นที่สีม่วงได้ แต่ในผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศบังคับใช้แล้วและอีกหลายผังที่รอประกาศใช้บังคับกลับพบว่ามีการเปิดช่องที่มากไปกว่านั้น
 
ภารนี กล่าวว่า การกำหนดโซนพลังงานในระดับนโยบายของประเทศที่ขาดไปตรงนี้ ต้องมีการคิดและกำหนดร่วมกัน โดยอ้างอิงฐานข้อมูล เช่น วัตถุดิบพลังงานชีวมวลในแต่ละพื้นที่มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ นำมาคำนวณคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะปัจจัยนำเข้าชีวมวล การตัดสินใจของนักลงทุน และการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลว่าควรอยู่ในโซนไหนของประเทศและมีความพร้อมหรือไม่ จากนั้นระบบการขนส่งและการช่วยเหลือก็จะเข้าไป
 
นักวิชาการจากเครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวต่อมาถึงผังเมืองรวมจังหวัด ซึ่งในหลายจังหวัดเริ่มมีการประกาศบังคับใช้ตามกฎหมายว่า มีหลายพื้นที่ได้ระบุว่าพื้นที่ตรงไหนให้ทำโรงไฟฟ้าได้ และพื้นที่ตรงไหนไม่ให้ทำ โดยเป็นการระบุไว้หลวมๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นสีเขียวให้ทำโรงไฟฟ้าได้ แต่ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะห่างกับชุมชนไว้ อย่างไรก็ตามการกำหนดหลวมๆ ตรงนี้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสีในผังเมืองว่าแต่ละสีหมายถึงอะไร และแต่ละสีมีข้อกำหนดการใช้พื้นที่อย่างไร
 
 
ยกตัวอย่าง ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีและจังหวัดเชียงราย ระบุพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่ชุมชน ห้ามไม่ให้มีกิจการโรงไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมามีการอาศัยช่องว่างที่ยังไม่มีการประกาศผังเมืองเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ตรงนี้เป็นช่องว่างที่ต้องเร่งแก้ปัญหา 
 
ภารนี ยังได้ยกตัวอย่างถึงปัญหาพื้นที่สีเดียวกันแต่แผนของแต่ละจังหวัดกลับมีมาตรฐานในการใช้พื้นที่แตกต่างกัน โดยในส่วนผังเมืองรวมจังหวัดร้อยเอ็ดไม่ให้มีโรงไฟฟ้าในที่ชุมชน แต่ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมมีได้ ขณะที่ผังเมืองรวมจังหวัดสุรินทร์ซึ่งอยู่ติดกันห้ามไม่ให้มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว แต่จังหวัดชุมพรแย่กว่าจังหวัดอื่นเพราะผังเมืองให้มีโรงไฟฟ้าได้ทั้งในพื้นที่ชุมชน พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
 
 
“การกำหนดพื้นที่สีเขียวของผังเมืองนี่แหละ ที่มันควรจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ทำให้โรงไฟฟ้าหรือคนที่อนุญาต ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานหรือว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดูว่าจะทำได้หรือไม่ได้ แต่เพราะว่าไปกำหนดสีเขียวที่ต่างกัน กลายเป็นมาตรฐานที่มันเลือกปฏิบัติ” นักวิชาการจากเครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อสังคมกล่าว
 
ภารนี ยกตัวอย่างของผังเมืองรวมจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีการเขียนว่า หมายเลข 88 โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ให้ทำได้ในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมว่า ตรงนี้เป็นช่องโหว่เพราะไม่มีการระบุประเภทที่ชัดเจนทำให้เข้าใจได้ว่าตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปจนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่ใช้วัตถุดิบ มีเทคโนโลยี และมีผลกระทบต่างกันแต่กลับถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ตรงนี้ต้องปรุง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
 
นักวิชาการจากเครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อสังคม ยังเสนอต่อมาถึงการป้องกันการอาศัยช่องว่างที่ผังเมืองยังไม่ประกาศใช้หรืออยู่ในระหว่างหมดอายุ ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าก่อน โดยนำเอกสารผังเมืองที่มีการระบุว่าทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้มาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเตรียมไว้เป็นแนวทางควบคุม การอนุญาตก่อสร้างอาคาร
การถมดิน และการคุ้มครองที่สาธารณะ 
 
อีกทั้ง ผังเมืองที่รอประกาศ ตามกฎหมายผังเมืองกรมโยธาหรือเจ้าพนักงานการโยธาในระดับจังหวัดสามารถออกหลักเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ยอมออกโดยอ้างเหตุผลว่าลิดรอนสิทธิผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการผลักดันและการพูดคุยระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ
 
อย่างไรก็ตาม หากผังเมืองระบุให้ทำโรงไฟฟ้าได้ ในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็สามารถไปดูในเกณฑ์มาตรฐานการวางผังเมืองในระดับ อบต. ที่มีเกณฑ์อาทิ “ที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นน้อย (เช่นชุมชนเกษตร) ไม่อนุญาตให้มีโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทอยู่ติดกับพื้นที่ในระยะ 1.5-3 กิโลเมตร” เป็นแนวทางพิจารณาอนุญาตได้ 
 
นอกจากนั้น การแก้ผังเมืองที่ระบุให้ทำโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสามารถทำได้ หรือในกรณีที่กิจการเกิดขึ้นแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบชุมชนสามารถร้องระงับการใช้ประโยชนที่ดินได้ แม้การต่อสู้ต้องใช้เวลา
 
“การต่อสู้มันใช้เวลาทั้งนั้น ไม่ว่าการต่อสู้ในเรื่องข้อมูล หรือการต่อสู้ในเรื่องม็อบ แต่การต่อสู้ในเรื่องข้อมูล หนังสือคำร้อง ข้อมูล ข้อเท็จจริงของท่านจะขึ้นไปอยู่บนโต๊ะของคณะกรรมการระดับชาติที่เขาจะตัดสินใจ และการตัดสินใจในเรื่องนี้มันก็มีหลายๆ พื้นที่ที่ต้องตัดสินใจว่ามันมีผลกระทบ มันก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางอย่างที่รอบคอบขึ้น” ภารนี กล่าว พร้อมย้ำว่าสิทธิและข้อมูลที่ชุมชนมีควรเอามาใช้ร่วมกันอุดรูรั่วของปัญหาผังเมือง 
 
 
ผู้ประกอบการรับปัญหาอยู่ที่ความเอาใจใส่ แต่กติกาของรัฐก็มีส่วน
 
ด้าน นที สิทธิประศาสตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้ง 22 เมกะวัตต์ ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ในพื้นที่ จ.พิจิตร กล่าวว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวเดินเครื่องมากว่า 7 ปี โดยยอมลงทุนใช้เทคโนโลยีที่มีมาตรฐานดีจากสหรัฐอเมริกาในการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) และวางแผนใช้กลไกตลาดเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ด้วยการขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ตอบแทนการลงทุนกับเทคโนโลยีราคาแพง 
 
“ผมไม่ได้โทษเอกชนทั้งหมดทีเดียว ผมว่าปัญหามันแก้ได้ คือ กติกาของรัฐเองนั่นแหละ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด กล่าว
 
 
นที กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเขาเคยเข้าร่วมเวทีกับหน่วยงานรัฐหลายเวที และให้ข้อเสนอเรื่องค่าไฟฟ้าและ Adder ว่า ควรนำเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพมาพิจารณาด้วย เพราะการพัฒนาโครงการที่ผ่านมาเรารู้ว่าการที่เราเลือกลงทุนสูงเพราะเหตุผลอะไร แต่โครงการอื่นอาจไม่ได้มองในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะมีความยุ่งยากในเรื่องเอกสาร ในขณะเดียวกันเมื่อไม่มีใครมากำหนดประสิทธิภาพและคุณภาพผู้ประกอบการบางรายจึงเลือกดำเนินโครงการโดยใช้ต้นทุนราคาถูกซึ่งไม่มีคุณภาพเพื่อหวังส่วนต่างกำไร และสุดท้ายกลายเป็นการสร้างปัญหา
 
ในเรื่องข้อเสนอให้โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ต้องทำ EIA นั้น นที กล่าวว่าเห็นด้วย แม้ว่าจะมีข้อทักท้วงที่ว่า EIA แทบไม่มีความหมาย ไม่น่าเชื่อถือ แต่ส่วนตัวคิดว่าตรงนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะมาช่วยกันพัฒนาทำให้เป็นที่เชื่อถือให้ได้ และอย่างน้อยก็มีกฎเกณฑ์ที่จะมาควบคุมบ้าง
 
“ปัญหาหลักสำคัญที่สุด หัวใจของการทำโรงไฟฟ้าบ้านเรา ก็คือเรืองของการเลือกพื้นที่ อย่างที่อาจารย์ศุภกิจเสนอผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ เราภาคเอกชนเอง เราก็เสนอรัฐแบบนี้นะครับว่า รัฐบาลครับอย่าปล่อยให้พวกผม เอกชนต้องเดินเข้าไปในพื้นที่ ไปเลือกซื้อ แล้วสุดท้ายก็ทะเลาะกับชาวบ้าน เพราะมันเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ออก” นทีกล่าว
 
นที ให้ข้อเสนอเรื่องการเลือกพื้นที่ก่อสร้างโครงการว่า ภาครัฐควรรับภาระในการเตรียมพื้นที่ กำหนดกรอบให้ชัดเจน จากนั้นหากจะมีโครงการลงไปควรมีกลไกลเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ถึงตัวโครงการและผลได้ผลเสียพูดคุยอย่างเป็นระบบ เมื่อมีการลงเสียงประชาพิจารณ์ หากชุมชนยอมให้มีการก่อสร้างโครงการในพื้นที่ จึงเปิดให้เอกชนเข้ามาโดยจ่ายเงินค่าดำเนินการต่างๆ ก่อนหน้านี้ของรัฐ และเมื่อเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ได้ สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องจริงใจและโปร่งใสในการดำเนินโครงการด้วย
 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด กล่าวด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทก็ถูกต่อต้านในช่วงแรก เพราะกลัวว่าจะมีการก่อสร้างปิดกั้นทางน้ำ กลัวจะมีการนำถ่านหินมาใช้เพราะอยู่ใกล้ทางรถไฟ แต่ 7 ปีที่ผ่านมาก็เป็นประจักษ์ว่าไม่มีปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้น 
 
ทั้งนี้จากการสรุปบทเรียนการยอมรับที่เกิดขึ้น เป็นเพราะทางบริษัทยอมทำสัญญาประชาคมกับชุมชนที่ระบุถึงการควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันผลกระทบ ซึ่งหากไม่ทำตามสัญญาก็จะปิดโรงไฟฟ้า 
 
อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชน ให้กับชุมชนที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ และมีการตั้งกองทุนประกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดให้มีการเยียวยาในทันทีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น โดยเหตุจากโรงไฟฟ้า โดยไม่ต้องรอกลไกของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ให้มีคณะกรรมการร่วมเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังไม่มีความเสียหายที่ต้องใช้เงินจากกองทุนนี้ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบ้างที่ผ่านมา เป็นเสียงบ่นจากชุมชนในเรื่องปัญหาฝุ่นละอองแกลบจากการขนส่ง แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้    
 
 
ตัวแทนจากพื้นที่โรงไฟฟ้าเชียงรายชี้อุดรูรั่วคือ หยุดโรงไฟฟ้า! หยุดเดินหน้าอุตสาหกรรม!
 
ขณะที่ อุบลรัตน์ ปิยะโกศล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวถึงกระบวนการที่เป็นปัญหาในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังแกลบในพื้นที่ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการไม่มีการชี้แจงข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่มีการเปิดรับฟังความเห็น แต่ อบต.ในขณะนั้นกลับนำเอารายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมประจำเดือนไปใช้อ้างเป็นรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ จนกระทั่งมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านต้องยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยล่าสุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัทเอกชนหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
อุบลรัตน์กล่าวด้วยว่า การอุดรูรั่วปัญหาที่เกิดขึ้น คือต้องหยุด แล้วกลับไปศึกษาก่อนว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลดีจริงหรือไม่ แล้วที่ประชาชนพยายามร้องทุกข์ที่ผ่านมานั้นเป็นเพราะได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ อย่างไร เอาไปพิจารณา อีกทั้งอยากขอร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศที่มีมากเกินพอแล้วให้หยุดขยาย หยุดเพื่อพิจารณาว่าไฟฟ้าในประเทศเราจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตจริงหรือไม่
 
 
 
นักวิชาการแนะแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ต้องคืนอำนาจตัดสินใจให้ประชาชน
 
ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โดยส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับแนวคิดชีวมวล แต่จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่มีคุณภาพและการจัดการที่แย่ ทั้งการดูแลเรื่องเชื่อเพลิง กระบวนการเผา และการควบคุมมลพิษ 
 
อีกทั้ง EIA ที่ตั้งหลักเกณฑ์เรื่อง 10 เมกะวัตต์ โดยไม่มีหลักการเหตุผลมารองรับ กรณีที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ จากการศึกษาก็พบว่ามีชาวบ้านเดือดร้อนมากมาย และแนวโน้มจริงๆ อาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะโรงไฟฟ้าขนาดยิ่งเล็ก แนวโน้มก็จะลงทุนต่ำเพราะลงทุนสูงไม่ได้และจะใช้เทคโนโลยีที่ต่ำ ระบบจัดการมลพิษก็จะต่ำ เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะสร้างมลพิษมากกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
 
ทั้งนี้ HIA EIA ทั้งหลายเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ ศึกษาไปก็เท่านั้น สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการกลไกการให้อำนาจกับใครมากกว่า ถ้าวันนี้ EIA ผ่าน โรงไฟฟ้าตั้ง เมื่อไหร่โรงไฟฟ้าสร้างผลกระทบทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แล้วชาวบ้านบอกไม่เอา โรงไฟฟ้าก็อยู่ไม่ได้ อย่างนั้นต่างหากถึงจะยั่งยืน 
 
ชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านน่าจะสู้ คือการสู้ให้ประชาชนเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินเลย จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นกรณีเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ซึ่งชาวบ้านที่มีที่ดินที่แร่มีค่ากลายเป็นคนที่โชคร้าย ทำให้เห็นว่าระบบคิดของข้าราชการที่ออกไปทางเผด็จการ ทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมๆ โดยคิดว่าสมบัติทั้งหลายเป็นของตัวเอง จะตัดสินใจเอาไปจัดการอย่างไรก็ได้ ไม่เหลียวแลประชาชน แนวคิดนี้ต้องเปลี่ยน 
 
“สิ่งที่พวกเราน่าจะไปเรียกร้องและต่อสู้ได้ ถ้าไปพบนายกก็ไปขอท่านข้อเดียวพอว่า ขออำนาจในการตัดสินใจมาอยู่ที่ประชาชนได้ไหม ถ้าอย่างนี้ปุ๊บทุกอย่างจบ เกมมันจะเปลี่ยนเลยนะ ต่อไปผู้ประกอบการต้องมาง้อประชาชน ต้องมาอ้อนวอน มาดูแล มาเอาใจประชาชน เมื่อนั้นประชาชนก็จะเป็นใหญ่ ปัญหาทุกอย่างคุยกันได้หมด รายละเอียดทั้งหลาย ทั้งหมดทุกเรื่องมานั่งคุยกันได้หมด แก้ได้ด้วยเทคโนโลยี ด้วยความรู้ มันไม่ใช่เรื่องยาก แต่เบื้องต้นต้องเริ่มให้ถูกก่อนว่า ใครควรจะตัดสินใจ” ชัชวาลย์เสนอ
 
“จุดยืน ประเด็นที่ต้องต่อสู้มากๆ และเป็นการสู้ที่มันจะได้ผลก็คือสู้ว่า ประชาชนต้องเป็นผู้มีสิทธิในการตัดสินใจ ถ้าประชาชนบอกไม่เอา โรงไฟฟ้าต้องจบ ทุกโรงงาน ทุกประเภทอุตสาหกรรม” ชัชวาลย์กล่าวย้ำทิ้งท้าย
 
 
เหล่านี้คือความเห็นจากการอภิปรายหัวข้อ “อุดรูรั่วพลังงานชีวมวล” ในการสัมมนา เรื่อง “ผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบายพลังงานชีวมวล” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธินโยบายสุขภาพภาวะ (มนส.) และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ วันที่ 3 เม.ย.55 เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา
 
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม คือ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หน่วยงานรัฐทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ รวมทั้งผู้ประกอบการ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท