เรื่องของซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ซูโดอีเฟดรีน เป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา เนื่องจากพบว่ามียาหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า ทางราชการจึงมีมาตรการเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ จนล่าสุด  เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2555 ได้มีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ยกระดับให้ยาแก้หวัด ซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2  ห้ามมี ไว้ในครอบครอง  ทำให้เกิดคำถามของสังคมขึ้นมากมาย เช่น “คุณหมอจ่ายยาแก้หวัดที่เป็นยาเสพติดให้ผม กินแล้วจะมีอันตรายหรือเปล่า”  “อ.ย.เรียกคืน, ห้ามผลิต, และห้ามจำหน่าย ยาแก้หวัดชนิดซูโดอีเฟดรีนแล้ว ต่อไปถ้าเป็นหวัด จะทำอย่างไร?” “คุณหมอช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้หน่อยได้ไหม ว่ายา ซูโดอีเฟดรีนนี้ ได้มาจากคุณหมอ กลัวถูกจับ” ฯลฯ จึงเห็นว่าควรเขียนบทความนี้ เพื่อความเข้าใจอันดี 

ความเป็นมา

สูตรยา ซูโดอีเฟดรีน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน(ก่อนวันที่ 3 เม.ย.) แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. สูตรเดี่ยว คือมีสารซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤิทธิ์เพียงตัวเดียว จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 2 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ผู้ประสงค์จะมีหรือใช้ ต้องมีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ อีกทั้งต้องทำรายงาน การได้มา และการใช้ไป รวมทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้รับยาไป (แบบแบบ บจ.8, บจ.9, บจ.10 ) ส่งให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกเดือน

2. สูตรผสม คือมีสารซูโดอีเฟดรีน และตัวยาอื่นทั้งชนิดเดียว หรือหลายชนิดผสมอยู่ด้วยในเม็ดเดียวกัน เช่นผสมกับยาแก้แพ้, ยาแก้ไอ, ยาขับเสมหะ, ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น ตำรับสูตรผสมนี้ ถือเป็นยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 นอกจากนั้น ยังถือเป็นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ยาสูตรเดี่ยวตามข้อ 1 นั้น มีใช้มานานแล้ว และยังคงใช้มาตลอด โดยมิได้มีปัญหาใดๆ เพราะขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุออกฤิทธิ์ฯ มีการควบคุมอย่างรัดกุม ส่วน ซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมนั้น ขึ้นทะเบียนเป็นยา (ไม่เป็นวัตถุออกฤิทธิ์ ตามพรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ) ทำให้มีการรั่วไหล ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า  คณะกรรมการอาหารและยาเคยคิดว่า การประกาศให้ครอบครองได้เฉพาะสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วย จะมีระบบควบคุมยาที่รัดกุม แต่กลับกลายเป็นแหล่งรั่วไหลแหล่งใหญ่ จึงต้องออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ดังกล่าว

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2555 มีสาระสำคัญอะไรบ้าง

ฉบับแรก เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (เพิ่มเติม) โดยมีสาระกำหนดให้ยา ซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม เปลี่ยนจากยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2

ฉบับที่ 2 เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 และประเภท 2 พ.ศ.2555

หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน ร้านขายยาและสถานพยาบาลที่ยังมียาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สูตรผสมพาราเซตามอล ซึ่งก่อนหน้านี้ อย.อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยาได้ จะต้องส่งคืนยาทั้งหมดให้กับบริษัทผู้ ผลิต

ผลของประกาศทั้ง 2 ฉบับก็คือ ยา ซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม เปลี่ยนสภาพจากยาเสพติดให้โทษประเภท 3 (ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522) กลายเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งต้องจัดทำรายงานแบบ บจ.8, บจ.9, บจ.10 เพื่อรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกเดือนเช่นเดียวกับสูตรเดี่ยว และเพื่อล้างไพ่ และเริ่มต้นกันใหม่ อ.ย. จึงต้องเรียกเก็บยาสูตรผสมทั้งหมด มาเก็บไว้ก่อน

ยา ซูโดอีเฟดรีน เป็นยาเสพติดหรือไม่

ยา ซูโดอีเฟดรีนไม่ใช่ยาเสพติด เพียงแต่สามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นของการผลิตยาบ้า (ยากลุ่ม Amphetamines โดยเฉพาะMethamphetamine) เพราะฉะนั้น ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ หรือ โรคไซนัสอักเสบ ที่ต้องใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ ตามที่แพทย์สั่ง ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

คณะกรรมการอาหารและยา เรียกเก็บยาทั้งหมด ถ้าเป็นหวัด จะทำอย่างไร?


อ.ย. เรียกเก็บเฉพาะ "สูตรผสม" ที่มียาหลายชนิดในเม็ดเดียว ใครที่เคยใช้ยาสูตรผสมอยู่ ก็สามารถใช้เหมือนเดิม เช่น เดิมกินยาที่มี ซูโดอีเฟดรีน ผสมยาแก้แพ้ และยาแก้ไอ อยู่ในเม็ดเดียวกัน ก็ต้องกินแยกกัน เป็นยา ซูโดอีเฟดรีน 1 เม็ด, ยาแก้แพ้ 1 เม็ด และยาแก้ไออีก 1 เม็ด

ข้อแตกต่างอีกประการคือ ซูโดอีเฟดรีน จะมีเฉพาะในสถานพยาบาล ที่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปได้ ถ้าท่านเป็นหวัด แต่ไม่ประสงค์จะไปพบแพทย์ตามสถานพยาบาลที่กล่าวข้างต้น ก็สามารถซื้อยาแก้หวัด ที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟริน(Phenylephrine) ซึ่งแม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า ซูโดอีเฟดรีน แต่ก็สามารถเป็นอีกทางเลือกได้

ได้รับยามาจากแพทย์ จะถูกตำรวจจับหรือไม่ ถ้าบังเอิญถูกตำรวจค้นเจอ

ไม่ถูกจับ เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามมาตรา 63 วงเล็บ 2 ของพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ให้สามารถครอบครองได้ โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต  

มาตรา 63.... (2) การมีไว้ในครอบครองของบุคคลใน "ปริมาณพอสมควร" เพื่อการเสพ การรับเข้าร่างกายหรือการใช้ด้วยวิธีอื่นใดตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม, หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของบุคคลนั้นหรือสัตว์ของบุคคลนั้น

คำว่า "ปริมาณพอสมควร” ควรจะเป็นเท่าใดนั้น ก็ต้องดูประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กําหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งระบุว่า “การครอบครอง ซูโดอีเฟดรีน คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วไม่เกิน 5 กรัม มีโทษตามมาตรา 106 ถ้าเกิน 5 กรัมมีโทษตามมาตรา 106 ทวิ”

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518

มาตรา 106 ผู้ใดครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 62 วรรค 1ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท

มาตรา 106 ทวิ ผู้ใดครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (5 กรัม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท

ตามความเห็นผม (ซึ่งไม่ใช่นักกฏหมาย) เห็นว่า "ปริมาณพอสมควร" น่าจะไม่เกิน 5 กรัม ซึ่งถ้าคำนวนจากยาซูโดอีเฟดรีน 1 เม็ด เท่ากับ 60 มิลลิกรัม ปริมาณยาที่จะครอบครองได้ น่าจะไม่เกิน 83.33 เม็ด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท