Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สามปีก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่หนัง THIS AREA IS UNDER QUARANTINE ถูกถอดออกจาเทศกาลภาพยนตร์แห่งหนึ่งด้วยอาการอันคลุมเครือของคณะกรรมการเซนเซอร์ภายใต้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเอาไว้ ชื่อบทความว่า It's not a problem of the film, It's the film culture(1) ในตัวบทความนั้นผมหยิบยกข้อความจากปากคำของ Lav Diaz ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์ คนสำคัญ เขากล่าวไว้ว่า

‘ผมขอย้ำอีกครั้ง การเซ็นเซอร์คือยาพิษของโลกภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์คือยาพิษสำหรับศิลปะ การเซ็นเซอร์คือยาพิษของวัฒนธรรม การเซ็นเซอร์ คือการกระทำของพวกศักดินา มันคือระบอบเผด็จการ’ - ลาฟ ดิแอซ

สำหรับผมนั้น การเซนเซอร์ไม่ได้เพียงทำลายโอกาสที่จะพูด โอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น โอกาสที่จะตั้งคำถาม โอกาสที่จะโยนข้อถกเถียงลงไปในสังคม และควานหาคำตอบที่เป็นที่รับได้จากสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายนี้ หากในอีกทางหนึ่งการเซนเซอร์ก็ได้สร้าง แสดงความยอมรับ และเชิดชูวิธีคิดแบบอำนาจนิยม เรายอมรับได้ที่จะให้มีการใช้อำนาจ เรายอมรับให้ใครสักคนยึดเอาอำนาจที่เราจะคิดเองไปถือไว้ การยอมรับนี้ได้ปลูกฝังเรา ลูกหลานของเรา และลูกหลานของลูกหลานเราว่าเราสามารถจะปิดกั้นสิทธิของผู้อื่นโดยใช้ความคิดของเรามาเป็นตัวตัดสิน เราถูกสอนว่าการใช้อำนาจนั้นเป็นเรื่องยอมรับได้ และใช้มันกับผู้อื่นทันทีที่มีโอกาส มันจึงไม่น่าแปลกใจที่วิธีคิดแบบนี้จะทำให้เรายกตัวเองขึ้นเหนือผู้อื่น เพียงแต่ถ้าเรามีอำนาจแล้วล่ะก็

สามปีล่วงพ้นมาแล้ว และยังเต็มไปด้วยเรื่องน่าตกใจในทำนองที่ว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับจัดเรท นี้ได้ทำการแบนภพยนตร์ไปแล้วถึงอีกสองเรื่อง นั้นคือ Insects In The Backyard ของคุณ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนังที่เล่าเรื่องชีวิตของครอบครัวที่มีพ่อเป็นสาวประเภทสองกับลูกสาวลูกชายวัยรุ่น และทั้งที่เป็นหนังที่พูดถึงความสวยงามในความสัมพันธ์รักชังของครอบครัว และความสับสนของวัยรุ่น แต่หนังก็โดนแบนด้วยข้อหา “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”(2) ซึ่งแม้จะไม่บอกออกมาชัดเจน แต่เราก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า นอกจากฉากเปลือยด้านหน้าของตัวละครในหนังที่เป็นข้ออ้างอันหอมหวานแล้วนั้น หนังเรื่องนี้โดนแบนเนื่องจากมันได้ไปแตะเอาประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ไม่ต้องการให้โลกได้เห็นนั่นคือ การที่ตัวละครในหนังเดินเข้าสู่วงการของการเป็นโสเภณีเด็ก โดยที่หนังไม่ได้ลงโทษตัวละครให้สาสมพอจะสั่งสอนศีลธรรมได้

ดังที่เคยกล่าวไป หนังไม่ได้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนศีลธรรม เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่พระ ไม่ใช่นักศีลธรรม หนำซ้ำ ภาพยนตร์ยังต้องทำให้เห็นถึงข้อโต้แย้งทางศีลธรรมด้วยซ้ำ ภาพยนตร์ควรจะสร้างให้เกิดข้อถกเถียงถึงศีลธรรมว่ามันมีปัญหาอย่างไรเมื่อนำมาพันธนาการมนุษย์ที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง จนศีลธรรมกลายเป็นกรงขังชนิดหนึ่งสำหรับการกดผู้อื่นให้ต่ำลงด้วยการป้ายสีง่ายๆลงไ

ผมไม่เคยลืมว่าการต่อสู้ของผู้สร้าง และผู้ชมจำนวนหนึ่งจบลงด้วยการที่ไม่อนุญาตให้หนังเรื่องนี้ฉาย แม้แต่ในแวดวงของการเสวนาวิชาการ จนกระทั่งในที่สุดหอภาพยนตร์ถึงกับจัดพิธีฌาปนกิจเชิงสัญลักษณ์ให้กับหนังเรื่องนี้(3)

จวบจนถึงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุด ระบบเรทติ้งแสนสุขของประเทศนี้ (ที่จัดเรทกันอย่างครื้นเครงด้วยการมี เรท ส. : ส่งเสริม สำหรับบทหนังเชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และ เรท ฉ. :เฉพาะที่สามารถเอามาใช้การส่งเสริมการขายสำหรับหนังบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี) ได้คลอดลูกหลานแห่งการแบนทั้งที่ยังจัดเรทออกมาอย่างน่าตื่นเต้นด้วยการสั่งแบน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ภาพยนตร์โดยคุณ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่รู้จักกันดีในนามอิ๋ง เค หนึ่งในผู้กำกับหญิงไม่กี่คนของประเทศนี้ และหนึ่งในผู้กำกับไม่กี่คนไม่ว่าชายหรือหญิงที่ทำหนังซึ่งท้าทายและกล้าหาญมาตลอดหลายปี ตัวหนังนั้นดัดแปลงมาจากละครของเชคสเปียร์อย่างแมคเบธ โดยผู้สร้างถอดทุกคำจากบทประพันธ์ดั้งเดิมออกมาเป็นภาษาไทยทั้งหมดโดยไม่ตัดทอน และตีความใหม่ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย

อีกครั้งที่การแตะต้องสิ่งที่เลยพ้นไปจากความครื้นเครงสนุกสนาน สิ่งที่มีความเป็นการเมืองมากกว่าเรื่องเล่า สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่เป็นประเด็นที่สังคมสมควรถกเถียง ถูกฆ่าเสียตั้งแต่อยู่ในครรภ์

สำหรับคุณอิ๋ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หลายปีก่อน หนัง คนกราบหมา ของเธอก็ไม่เคยได้ฉายไม่ว่าที่ไหนเว้นแต่การจัดฉายกลุ่มเล็กๆ สองสามครั้งเนื่องจากถูกรายงานว่าหนังของเธอนั้นก้าวล่วง เสียดสี เยาะเย้ยบางศาสนา ที่น่าเศร้าคือ คนกราบหมานั้นเป็นหนังเสียดสีสังคมไสยศาสตร์ที่ตลกที่สุด แยบคายที่สุด และสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมีการสร้างกันมา น่าเสียดายยิ่งที่คนไทยไม่มีโอกาสจะได้ดูมัน

ที่นี่ประเทศไทย ประเทศที่แสวงหาความปรองดองอย่างขะมักเขม้น ประเทศยิ้มสยามที่นิยมสงบสันติ อีกครั้งได้เปิดเผยโฉมหน้าของความสงบสันติของตัวมันเองให้เราได้เห็น นั่นคือการทำลายได้ทุกอย่างเพียงเพื่อความสงบสันติ ความสงบสันติไม่ใช่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันผ่านการถกเถียงฉันมิตร (การถกเถียงในประเทศนี้ไม่ทำให้เกิดมิตร แต่จะทำให้เกิดศัตรูที่เจ้าคิดเจ้าแค้นอย่างยิ่ง) หากคือการปิดปากให้สนิทต่อการถกเถียง และหันมาสนุกสนานกับการซุบซิบนินทา การซ่อนความขัดแย้งไว้ใต้พรมลายกนก เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งจากชาติตระกูล การศึกษา หรือความมีชื่อเสียง ได้รับเกียรติให้ลีลาศบนพรมผืนนั้น

ข้อหา ‘มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ’(4) จึงไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เกินจินตนาการ หนำซ้ำยังยืนยันความรักสงบสันติอย่างรุนแรงจนเกือบจะเป็นอาการฮิสทีเรียแห่งอาการ ‘ไทยนี้รักสงบ’ เสียด้วยซ้ำ

ตลอดหลายปีที่ความขัดแย้งได้ฝังรากลงในสังคมอย่างถึงแก่น ไม่ได้สอนให้เข้าใจเลยว่า มีแต่การเผชิญหน้าด้วยท่าที่เป็นมิตร การทำความจริงให้ประจักษ์ และการให้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมเท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้รับความสงบอย่างแท้จริง เราสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งร่วมกันได้ง่ายกว่านี้ คือลืมมันไปเสีย การทำความจริงให้ประจักษ์คือการฟื้นฝอยหาตะเข็บ การให้ความยุติธรรมคือการยอมรับว่าก่อนหน้านั้นเราทำผิดพลาด ถึงที่สุด เรา ‘ทำเองก็ได้ง่ายจัง’ ด้วยการไม่พูดถึงมันอีก อีกครั้ง และอีกครั้ง

“มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง‘คนดี’ อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน” -อิ๋ง เค ผู้กำกับ(5)

จากปากคำของผู้กำกับ เป็นที่แน่ชัดว่า ผมน่าจะเป็นหนึ่งในผู้คนที่อยากจะกระโดดลงไปถกเถียงกับหนังอย่างถึงที่สุด อีกครั้งที่ผมอยากจะเขียนยาวๆ ถึงหนังเรื่องนี้ในฐานะหมุดหมายของสังคม รูปแบบของการบันทึกและตีความเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับความคิดของผมไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด มีแต่การได้ดูมัน ครุ่นคิดเกี่ยวกับมัน ถกเถียงเกี่ยวกับมันเท่านั้นจึงจะทำให้ผมได้สงบศึกกับมันได้

แต่ไม่มีโอกาสนั้น

มีความจำเป็นอันใดหรือที่เราต้องปิดปากคนที่เห็นต่างจากเรา มีความจำเป็นอันใดที่เราจะหวาดกลัวความไม่สงบจนต้องล่ามโซ่พันธนาการคนที่เราเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบ ความสงบในสังคมนี้สำคัญถึงขนาดนั้น หรือที่สำคัญกว่านั้นคือความต้องการความสงบเรียบร้อยนั้นเองคือปัญหา

แน่นอนว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับหลายส่วนของบทสัมภาษณ์ ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้กำกับทำให้หนังเรื่องนี้ ‘เป็นการเมือง’ ด้วยการพุ่งเป้าไปที่รัฐ (ผมมั่นใจลึกๆ ว่าในกรอบคิดที่ถูกหลอกหลอนด้วยความสงบปรองดอง ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใครรัฐบาลที่ผมชอบ หรือที่คุณชอบ ก็จะสั่งแบนหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน ไม่ใช่เพราะมันวิพากษ์รัฐบาล แต่มันวิพากษ์สังคมสงบสุขล้นเกิน โดยตัวของมันเอง) และไม่เห็นด้วยกับการพยายามจัดรูปร่างของหนังให้เป็นหนังสอนศีลธรรม(6)

แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องพูดถึงในตอนนี้เลยแม้แต่อย่างเดียว เพราะก่อนที่เราจะไปต่อสู้กันเรื่องนั้น เราต้องต่อสู้ที่จะไม่สงบก่อน เราต้องต่อสู้เพื่อที่จะให้ทุกคนได้พูดเสียก่อน ก่อนที่เราจะบอกว่าใครผิดใน หกตุลา เราต้องพูดเรื่องหกตุลาให้ได้เสียก่อน และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราจะไม่สงบเพื่อที่จะสงบ ไม่ปรองดองเพื่อจะได้ปรองดอ

กลับมาที่ภาพยนตร์อีกครั้ง จากประวัติศาสตร์ของแวดวงภาพยนตร์ในประเทศนี้ ไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้สร้างชนะ ภาพยนตร์ยังคงยืนหยัดในฐานะผู้ร้ายของสังคมที่ต้องระแวงระวังและขีดวงจำกัดเสมอ THIS AREA สุดท้ายไม่ได้ฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลดังกล่าว ‘แสงศตวรรษ’ ฉายโดยตัดฉากที่กรรมการเซนเซอร์ต้องการตัดออก แทนที่ด้วยจอดำยาวนานตามเวลาจริง INSECTS โดนห้ามฉายจนถึงทุกวันนี้ มันจึงไม่ยากที่จะคาดคิดถึงชะตากรรมของ เชคสเปียร์ (ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์) เชคสเปียร์นั้นต้องตายแน่ในสังคมศีลธรรมสูงสงบล้นเกินเช่นนี้ อีกครั้งในมุมมองของผม ที่เราไม่มีทางจะงัดข้อกับผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้ได้ เราคงต้องใช้เวลาอีกเป็นชั่วอายุคนจึงจะบ่อนเซาะมันลง ผ่านทางการสร้างวัฒนธรรมแห่งการถกเถียง ซึ่งภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น แต่ก็เช่นกัน การที่ทำไม่ได้(ในวันเดียว) มีความหมายแตกต่างมากมากมายกับการไม่ได้ทำ

ถึงที่สุดผมจึงยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าผมจะได้ดูหนังเรื่องนี้ ถ้าหากมันจะทำให้เกิดความแตกแยก ถ้ามันจะทำให้ผมต้องการจะต่อสู้กับหนัง ก็ไดโปรดให้สิทธิ์ผมในการต่อสู้กับมันด้วยตนเองด้วยเถิ

เชิงอรรถ

(1): http://prachatai.com/journal/2009/11/26475
(2): http://www.ipetitions.com/petition/insects/
(3): http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291992339&grpid=01&catid=08
(4):http://prachatai.com/journal/2012/04/39958
(5):http://prachatai.com/journal/2012/04/39958
(6): บทสัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึกhttp://youtu.be/Fd8gMK6zEcM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net