คนสะเอียบร่วมค้าน “เขื่อนแม่วงก์” ชี้ใช้งบแผ่นดิน มาทำลายอนาคตลูกหลาน

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ ค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์จี้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่ออนาคตของลูกหลาน-ป่าไม้ พร้อมเสนอพัฒนาแก้มลิง ระบบเหมืองฝาย ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน

 
 
วันที่ 12 เม.ย.55 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์ หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทำลายป่า หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์”
 
จากการที่รัฐบาลได้มีมติ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562
 
“โครงการทำลายป่าเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการใช้เงินของลูกหลาน มาทำลายป่า ผลที่รับกลับมาคือการทำลายอนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
 
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้น มาอย่างยาวนาน แสดงความเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ
 
อีกทั้ง เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญ พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี และยังส่งกระทบน้อยมากต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง
 
“ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่าเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป” แถลงการณ์ระบุ
 
 
ทั้งนี้โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการหนึ่งในแผนลุ่มน้ำพัฒนาสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2525-2529 ครอบคลุมพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำแม่วงก์ ลุ่มน้ำคลองโพธิ์ และลุ่มน้ำห้วยทับเสลา ซึ่งทั้ง 3 ลุ่มน้ำจะไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำสะแกกรัง จ.นครสวรรค์ และจะสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตาม 6 มาตรการ คือ 1.การเร่งรัดการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 2.การขออนุญาตพื้นที่จากกรมอุทยานป่าไม้ 3.การสำรวจข้อมูลด้านวิศกรรม 4.การปลูกป่าทดแทน 5.การเพิกถอนอุทยานเพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง 6.การบูรณาการพื้นที่หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น
 
 
 
แถลงการณ์กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์
หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทาลายป่า
หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์
 
จากการที่รัฐบาลได้มีมติ ครม. ในวันที่ 10 เมษายน 2555 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี อีกทั้งยังผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง โครงการทำลายป่าเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการใช้เงินของลูกหลาน มาทำลายป่า ผลที่รับกลับมาคือการทำลายอนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง
 
การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันไร่) ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
 
            กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้น มาอย่างยาวนาน เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ
 
            กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญ พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี ทั้งยังส่งกระทบน้อยมากต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่าเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป
 
ด้วยจิตรคารวะ
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
12 เมษายน 2555
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท