มท.1 รับข้อเรียกร้อง "คนไทยพลัดถิ่น" ชี้อาจต้องเปลี่ยนตัว "กก.รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น"

คนไทยพลัดถิ่นเยือนมหาดไทย ชุมนุมจี้ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พร้อมเสนอชื่อตัวแทนของเครือข่ายฯ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้าน มท.1 รับต้องเปลี่ยนตัวกรรมการฯ เหตุบางคนไม่มีพื้นฐานจริงๆ
 
 
 
วันที่ 18 เม.ย.55 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพร้อมคนไทยพลัดถิ่นราว 100 คน เดินทางร่วมชุมนุมที่หน้ากระทรวงมหาดไทยเรียกร้องการทบทวนคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามกฎหมายคืนสัญชาติ จากกรณีที่ได้รับทราบข้อมูลว่าคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 20 เม.ย.นี้ โดยได้มีการตั้งเต็นท์บริเวณด้านหน้าคลองหลอดกระทรวงมหาดไทยฝั่งกรมการปกครอง และยืนยันว่าหากไม่ได้รับคำตอบจะปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้มีโอกาสพบกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยผลัดถิ่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชนและตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
ด้านนายยงยุทธ แสดงความเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง และได้ลงมาพบปะพูดคุยพร้อมให้กำลังใจกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น พร้อมรับปากจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้หลังได้พบปะและเจรจากับนายยงยุทธ ผู้ชุมนุมพอใจและได้สลายตัวในเวลาต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (19 เม.ย.55) เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยมีกำหนดพบกับ นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ทำหนังสือเพื่อเสนอชื่อคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นที่มีตัวแทนของเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการ
 
 
จดหมายเปิดผนึก ร้องทบทวนตั้ง “กก.รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น”
 
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกถึงนายยงยุทธ มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่เครือข่ายของคนไทยพลัดถิ่น ใช้เวลาถึง 10 ปี ในการผลักดันกฎหมายสัญชาติ ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น และวันที่ 3 เม.ย.55 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น นั้น แต่ คำสั่งดังกล่าวขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมาย แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 ดังนี้
1. กฎหมายสัญชาติ ดังกล่าว มุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ คนไทยพลัดถิ่น ด้วยการคืนสัญชาติไทย ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยกำหนดองค์ประกอบไว้ใน มาตรา 9/1 (3) ประกอบไปด้วย 
 
1.1 มาตรา 9/1 (1) และ (2) ได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานในฐานะกรรมการ 7 คน คือ (1) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (2) ผู้แทนกลาโหม (3) ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ (4) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (5) ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (6) ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (7) ผู้แทนตำรวจแห่งชาติ
 
1.2 มาตรา 9/1 (3) มีสามส่วนย่อยในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน คือ
ส่วนที่หนึ่ง - นักวิจัยหรือนักวิชาการ ในสามด้าน (1) ด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล (2) ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา (3) ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนที่สอง - ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน
ส่วนที่สาม - ผู้แทนภาคประชาชน
 
2. การที่เครือข่ายฯ เสนอกฎหมายให้มี “คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น” ที่แยกจากคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติเดิมที่กระทรวงมหาดไทยมีอยู่แล้ว โดยเน้นใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ก็เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระบุให้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และ ผู้แทนภาคประชาชน เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการประสานงานและข้อมูล รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับสภาพความจริงในพื้นที่ซึ่งถูกละเลยมายาวนาน ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มช่องว่างของระบบเดิมที่มีอยู่ และให้สามารถสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง จึงขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายนี้
 
อนึ่ง ในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายฯ และภาคีความร่วมมือที่ได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายนี้ ได้ทำบันทึกเสนอรายชื่อทั้ง 7 คนไปแล้ว แต่การแต่งตั้งเกือบทั้งหมดไม่เป็นไปตามข้อเสนอ และไม่มีการหารือร่วมกับ เครือข่ายฯ แต่ประการใด ซึ่งมีข้อเท็จจริงแต่ละบุคคล ดังนี้
 
1. รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ และสนับสนุนการออกกฎหมายนี้มาโดยตลอด ดังนั้นควรแต่งตั้ง เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล
 
2. ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านสถานะบุคคลข้อเท็จจริง ศาสตราจารย์วิทิต เป็นอาจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิเด็กมาเป็นเวลานาน ผลงานด้านสถานะบุคคลไม่เป็นที่ประจักษ์และไม่ได้ทำงานกับไทยพลัดถิ่น
 
3.นายปริญญา อุดมทรัพย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ข้อเท็จจริง นายปริญญา เป็นอดีตข้าราชการ และเป็น กกต. จังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น หรือผลักดันกฎหมายสัญชาตินี้แต่ประการใด รวมทั้งจังหวัดเพชรบุรีไม่ได้มีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ 
 
4.นายวิชช์ จิระแพทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยไม่ระบุความชำนาญ ข้อเท็จจริง เป็นอดีตอัยการ และเป็นกรรมาธิการปกครองของวุฒิสภา ฯ ที่อภิปรายโต้แย้งกฎหมายคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นมากที่สุด และไม่เคยมีการประสานงานกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นแต่อย่างใด
 
5.ศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ ข้อเท็จจริง ศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร เป็นนักวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและธุรกิจระหว่างประเทศ และไม่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น แต่อย่างใด
 
ด้วยความเคารพในบุคลากร ทั้ง 5 ท่านข้างต้น และเคารพในความมุ่งหมายแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นไปตามมาตรา 9/1 (3) , เพื่อเป็นการแก้ไข และป้องกันมิให้คำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีเนื้อความที่ขัดต่อความมุ่งหมายแห่งตัวบท ความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย
 
จึงขอให้ท่านดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 246/2555 และขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งรายชื่อตามที่เครือข่ายฯ และภาคีความร่วมมือเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
 
“ยงยุทธ” รับคงต้องเปลี่ยนตัวกรรมการฯ เหตุบางคนไม่มีพื้นฐานจริง
 
ขณะที่ เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายยงยุทธ กล่าวว่า ได้มอบอำนาจให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น แต่ปรากฏว่ากลับไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เมื่อพิจารณาแล้วคงต้องเปลี่ยนตัวกรรมการ เพราะบางคนไม่มีพื้นฐานด้านนี้จริงๆ
 
นายยงยุทธ กล่าวยกตัวอย่างว่า นายวิทิต มันตาภรณ์ นักวิชาการด้านสถานะบุคคล ที่ตอนนี้ทำงานให้กับสหประชาชาติ ได้มาบอกกับตนว่า จะขอลาออกจากกรรมการเพราะไม่ถนัด แต่สำหรับนางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้แทนภาคองค์กรเอกชนพัฒนาเอกชนยอมรับได้ไม่ต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม รายชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเสนอขึ้นมา ก็จะนำมาพิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่
 
ภายหลังจากที่ได้เจรจากับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นแล้ว นายยงยุทธ ได้เรียกนายสุกิจ อธิบดีกรมการปกครอง เข้าพบกรณี เรื่องการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการชุดดังกล่าว
 
สำหรับกรรมการทั้ง 7 คนนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2555 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้ง มีดังนี้ 1.ศ.วิทิต มัณตาภรณ์ นักวิชาการด้านสถานะบุคคล 2.ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ นักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ 3.ศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการด้านสังคมวิทยา 4.รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ 5.นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้แทนภาคองค์กรพัฒนาเอกชน 6.นายปริญญา อุดมทรัพย์ ผู้แทนภาคประชาชน 7.นายวิชช์ จิระแพทย์ 
 

หมายเหตุ: ภาพจาก Cha Aecha Khaewnobparath และ ไทย พลัดถิ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท