Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำว่า “ธรรมะ” เป็นคำที่ใช้กันในวัฒนธรรมทางศาสนาหลายศาสนาของอินเดียมายาวนานกว่า 5,000 ปี ก่อนสมัยพุทธกาล ฉะนั้นจึงเป็นคำที่มีความหมายซับซ้อนมาก และมีวิธีทำความเข้าใจหลายวิธี

ผมคิดว่าวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของธรรมะที่น่าจะตรงตามความหมายของพุทธศาสนามากที่สุด คือ “วิธีถอดความหมายของธรรมะจากบุคลิกภาพของพุทธะ”

เมื่อพิจารณาจากบุคลิกภาพของพุทธะ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดที่สุดคือ “เสรีภาพ”

เสรีภาพที่ว่านี้ หมายถึงความเป็นอิสระในการกำหนดตนเอง หรือความเป็นอิสระในการปกครองตนเองด้วยการเลือกการกระทำ หรือวิถีชีวิตที่ถูกต้องสำหรับตนเอง ซึ่งแสดงออกโดยการมีอิสระของเจตจำนง (freedom of the will) หรือมีเจตนาอิสระในการเลือกการกระทำที่เหตุผลหรือปัญญาบอกว่าถูกต้อง

เช่น ที่ราเห็นได้จากบุคลิกภาพของพุทธะ (ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ) เมื่อท่านใช้เหตุผลพิจารณาเรื่องความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย และวิถีชีวิตสมณะ แล้วเห็นว่า “การแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ (นิพพาน) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” และเป็น “ความถูกต้องที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข” ซึ่งหมายความว่า แม้จะต้องเจ็บปวดจากการฝืนความต้องการของพ่อที่อยากให้เป็นกษัตริย์ จากการพลัดพรากครอบครัว คนรัก ลูก หรือความสุขสบายใดๆ ก็ต้องเลือก “การแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ” เพราะนี่คือ “ความถูกต้องที่ต้องทำ”

ฉะนั้น การตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่เหตุผลหรือปัญญาเห็นว่าถูกต้อง จึงหมายความว่าสิทธัตถะมี “เสรีภาพของเจตจำนง” หรือมี “อิสระในการตัดสินใจ” ซึ่งเป็นเสรีภาพจากอิทธิพลของพ่อ (หรือรัฐ) ฐานันดร ครอบครัว และอื่นๆ

เมื่อสิทธัตถะ ไปเรียนรู้และปฏิบัติตามสำนักของอาจารย์ต่างๆ แล้วพบว่า แนวทางที่ศึกษาและปฏิบัติกันอยู่นั้นไม่ได้ก่อเกิดอิสรภาพที่แท้จริง ก็จึงตัดสินใจเลือกทางอื่นๆ ซึ่งหมายถึงมีเสรีภาพจากอิทธิพลของอาจารย์ หรือจากการยึดติดในความคิด หลักคำสอนของอาจารย์

จากนั้นจึงนำลัทธิความเชื่อต่างๆ มาทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น ความเชื่อเรื่องการแสวงหาความสุขทางกามารมณ์อย่างเต็มที่แล้วพ้นทุกข์ได้ (ลัทธิกามสุขัลลิกานุโยค-พุทธประวัติฉบับมหายานระบุว่าพุทธะเคยทดลองปฏิบัติลัทธินี้ และลัทธิอัตตกิลมถานุโยคด้วย) และความเชื่อเรื่องการทรมานร่างกายอย่างถึงที่สุดแล้วจะหลุดพ้นได้ (อัตตกิลมถานุโยค-พุทธประวัติเถรวาทพูดถึงการทดลองลัทธินี้)  

เมื่อทดลองแล้วไม่ก่อเกิดอิสรภาพทางจิตวิญญาณ จึงตัดสินใจ “เลิกเดินตาม” ลัทธิความเชื่อใดๆ ซึ่งหมายถึง มีเสรีภาพจากระบบความเชื่อ จารีตปฏิบัติทางศาสนาที่เคยเดินตาม

และเมื่อมีเสรีภาพจากการเดินตามก็พบ “ทางที่ถูกต้อง” ของตนเอง เมื่อเห็นว่าทางนั้นคือความถูกต้องก็ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข ดังที่สิทธัตถะตั้งปณิธานก่อนตรัสรู้ (ประมาณ) ว่า “จะทำความเพียรจนกว่าจะบรรลุโพธิญาณ จะไม่ยอมหยุดแม้ว่าเลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม”

ฉะนั้น แม้ความตายก็ไม่ใช่เงื่อนไขให้หยุดกระทำสิ่งที่ถูกต้อง การไม่ยอมรับและการทอดทิ้งของศิษย์ทั้งห้าคน (ปัญจวัคคีย์) จึงยิ่งไม่ใช่เงื่อนไขให้หยุดทำสิ่งที่ถูกต้องได้เลย เพราะความถูกต้องเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข

แล้วเมื่อ “เดินตามทางของตนเอง” ในที่สุด อิสรภาพทางจิตวิญญาณก็ปรากฏ นั่นคือเสรีภาพเดินทางมาจุดสูงสุด คือความเป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์ทางจิตใจ หรืออิสรภาพทางจิตวิญญาณ (นิพพาน) color:blue">

ปรากฏการณ์ของเสรีภาพที่เริ่มจากความเป็นอิสระจากอิทธิพลของพ่อ (รัฐ) ครอบครัว อาจารย์ ลัทธิ จารีตปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ การค้นพบ “ทางของตนเอง” จนกระทั่งพัฒนามาถึง “อิสรภาพทางจิตวิญญาณ” สะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพมีพัฒนาการผ่านการใช้ชีวิตเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ และเสรีภาพเจริญงอกงามและเบ่งบานเต็มที่ได้

เสรีภาพที่เบ่งบานเต็มที่พุทธะเรียกว่า “วิมุติ” หมายถึง ความเป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง วิมุตินี่เองที่พุทธะเรียกว่าเป็น “แก่นแท้” ของธรรม หรือคำสอนของท่าน  

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ธรรมะที่เราพบจากบุคลิกภาพของพุทธะคือเสรีภาพ เริ่มจากเสรีภาพที่จะเลือกทำสิ่งที่เหตุผลหรือปัญญาเห็นว่าถูกต้อง ซึ่งเป็นเสรีภาพจากการครอบงำของเงื่อนไขภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว รัฐ ศาสนา ฯลฯ จนพัฒนามาสู่ “เสรีภาพทางจิตวิญญาณ” หรือเสรีภาพภายในที่เบ่งบานเต็มที่ หรือเสรีภาพที่เป็นอิสระจากเงื่อนไขภายในคือกิเลสและความทุกข์ต่างๆ อย่างสิ้นเชิง

(นักปรัชญาบงคน เช่น ค้านท์ก็เห็นว่า คนที่มีศีลธรรมคือบุคคลที่มี autonomous หรือ autonomy ในการกำหนดหลักการทางศีลธรรมสำหรับตนเองนั้น ต้องเป็นอิสระจากความปรารถนา ความโน้มเอียงทางสัญชาตญาณ อารมณ์ และอิทธิพลของครอบครัว รัฐ ศาสนา เป็นต้นด้วย)

หากพิจารณาจากบุคลิกภาพแห่งพุทธะ จะเห็นว่าเสรีภาพทุกขั้นตอนเป็น “สิ่งที่มีค่าในตัวของมันเอง” (intrinsic value or intrinsic good) ฉะนั้น เสรีภาพจากอิทธิพลครอบงำทั้งจากเงื่อนไขภายนอกและภายในคือสิ่งจำเป็น

หมายความว่า ชีวิตที่มีเสรีภาพจากทั้งอิทธิพลครอบงำภายนอกและภายใน คือชีวิตที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง พูดด้วยสำนวนทางพุทธศาสนาก็คือ “ชีวิตที่มีเสรีภาพคือชีวิตที่มีธรรมะที่แท้จริง”

ฉะนั้น ธรรมะคือเสรีภาพ หรือเสรีภาพคือธรรมะ!

แน่นอนว่า เสรีภาพที่เราพบจากการพิจารณาบุคลิกภาพของพุทธะดังที่ว่ามาอาจจะไม่ได้ตรงกับเสรีภาพในความหมายของเสรีภาพทางสังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่แม้จะต่างกันใน “รายละเอียด” ก็ตาม ทว่าที่ตรงกันแน่นอนก็คือ “เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง” การมีเสรีภาพจึงเป็นสิ่งแสดงถึงการมีชีวิตที่มีค่า

ปัญหาที่น่าคิดคือ เมื่อมองจากบุคลิกภาพของพุทธะแล้ว เราพบว่าจะไม่มีพุทธะเกิดขึ้นในโลกได้เลยหากมนุษย์ไม่สามารถจะมีเสรีภาพจากการครอบงำของอิทธิพลต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ฉะนั้น เราจึงอาจเข้าใจได้ว่า ตามทัศนะของพุทธศาสนาเสรีภาพคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด หรือคือ “ธรรมะที่แท้”

แต่เหตุใดการอ้าง “ธรรมะ” ของชาวพุทธปัจจุบัน จึงนอกจากจะไม่ได้ยกย่องคุณค่าของเสรีภาพแล้วยังอ้างเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพอีกด้วย

ผมคิดว่า แม้พูดอย่างถึงที่สุดพุทธศาสนาจะเน้น “เสรีภาพภายใน” และพุทธะเองก็ไม่ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับสังคม-การเมืองที่มีเสรีภาพอย่างเป็นระบบเหมือนนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่

แต่จากบุคลิกภาพของพุทธะที่แสดงให้เห็นว่า การมีเสรีภาพจากอิทธิพลภายนอกและภายในเป็นสิ่งมีค่า ย่อมไม่มีเหตุผลที่ถูกต้องรองรับเลยที่พุทธศาสนาควรจะสนับสนุนระบบสังคมการเมืองที่เป็น “เผด็จการ”

ฉะนั้น ในบริบทของโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งยกย่องเสรีภาพ น่าจะเป็นโอกาสมากกว่าที่พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันอย่างเกื้อกูลกับ “สังคมเสรีภาพ” color:blue">

จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะอ้างอิงพุทธศาสนาสนับสนุน “ระบบอำนาจใดๆ” ให้อยู่เหนือเสรีภาพในวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และยิ่งไม่ควรอย่างที่สุดที่ชาวพุทธจะบัญญัติกฎหมายใดๆ ให้ “ศาสดา” หรือ “ธรรมะ” อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือแม้แต่การจาบจ้วง ล่วงละเมิด ก็ตาม

ดังท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “การเมืองในอุดมคติแบบพุทธศาสนา คือการจัด การทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากการใช้อาชญา”

ฉะนั้น จะอ้างอิงการปกป้องพุทธะ ธรรมะ เพื่อใช้ “อาชญา” จับคนเข้าคุกไม่ได้!

ธรรมะคือเสรีภาพ เสรีภาพคือธรรมะ จงปกป้องธรรมะอันเป็น “บุคลิกภาพ” ของ “พุทธะ” ด้วยการปกป้อง “เสรีภาพ” เถิดชาวพุทธผู้รักพุทธศาสนาทั้งหลาย!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net