"เอ็นแอลดี" จะไม่เข้าประชุมสภาเหตุไม่ต้องการปฏิญาณว่าจะ "พิทักษ์" รธน.ทหาร

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยนำโดย "อองซาน ซูจี" ที่มี ส.ส. และ ส.ว. ได้รับเลือกตั้ง 43 คน ประกาศไม่ร่วมเปิดสมัยประชุมสภาพม่าครั้งแรกหลังเลือกตั้งซ่อม ในวันจันทร์นี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำปฏิญาณเป็นสมาชิกรัฐสภาว่าจะ "พิทักษ์" รัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้พรรคเอ็นแอลดีได้หาเสียงช่วงเลือกตั้งซ่อมว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างสมัยรัฐบาลทหารดังกล่าว

22 เม.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี ของนางอองซาน ซูจี ประกาศจะไม่เข้าร่วมการเปิดประชุมสภาของพม่า ที่จะเปิดสมัยประชุมในวันจันทร์ (23 เม.ย.) นี้ เนื่องจากส่วนหนึ่งของข้อความให้สัตย์ปฏิญาณของ ส.ส.

นางอองซาน ซูจี เป็นหนึ่งใน 43 คนของ ส.ส. พรรคเอ็นแอลดี ที่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ส.ส. พรรคเอ็นแอลดีบอกว่าพวกเขาต้องการให้สัตย์ว่า จะ "เคารพ" รัฐธรรมนูญ แทนที่จะใช้คำว่าจะ "พิทักษ์" รัฐธรรมนูญ ซึ่งฟังดูไม่เป็นประชาธิปไตยในความเห็นของพวกเขา ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของพม่าถูกร่างขึ้นโดยอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร

"พวกเราจะยอมเข้าร่วมประชุมสภาก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทำให้สัตย์ปฏิญาณแล้วเท่านั้น" นายโอน เจ่ง โฆษกพรรคเอ็นแอลดีที่เพิ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส. ครั้งล่าสุดกล่าว

พม่าเริ่มปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากที่รัฐบาลพลเรือนเข้ามาแทนที่การปกครองของทหารซึ่งยาวนานมากว่า 50 ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างโดยรัฐบาลทหารและมีการลงประชามติเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2551 และให้มีการจัดสรรที่นั่งร้อยละ 25 ให้กับทหารทั้งในวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และสภาระดับรัฐของพม่า

กองทัพและพรรคตัวแทนของพวกเขาอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ได้รับที่นั่งในสภาร้อยละ 80 หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2553 ซึ่งถูกคว่ำบาตรโดยพรรคเอ็นแอลดี เนื่องจากเห็นว่ากฏหมายเลือกตั้งไม่ยุติธรรม

ราเชล ฮาร์วี ผู้สื่อข่าว BBC ในกรุงเทพฯ บอกว่าพรรคเอ็นแอลดีได้แสดงท่าทีดังกล่าวในฐานะหลักการและจุดยืน

เมื่อนานมาแล้ว อองซาน ซูจี เคยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่งเนื่องจากว่ามันได้ให้อำนาจศุนย์กลางอยู่ที่ทหาร

ผู้สื่อข่าว BBC แสดงความเห็นว่า เมื่อดูจากในสภาซึ่งถูกครอบงำอยู่โดย ส.ส. จากพรรคที่มีทหารหนุนหลังแล้ว ความเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ยาก

ก่อนหน้านี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้คำในกฏหมายการจดทะเบียนพรรคการเมืองในพม่า ถึงจะทำให้พรรคเอ็นแอลดีได้มีส่วนในการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ลงแข่งขันนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

การประกาศของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งนี้มีขึ้น 1 วัน หลังจากที่ญี่ปุ่นตกลงว่าจะจำหน่ายหนี้ที่พม่าติดค้างอยู่ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 114,000 ล้านบาท และทางญี่ปุ่นจะมอบงบประมาณพัฒนาให้แก่พม่าอีกครั้ง ซึ่งข้อตกลงดังกว่านี้มาจากการที่ผู้นำทั้งสองชาติได้พบปะหารือกัน

มีแหล่งข่าวทางการทูตเปิดเผยคาดว่าจะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรของพม่าโดยสหภาพยุโรปยกเว้นการคว่ำบาตรด้านอาวุธในวันจันทร์นี้ ด้านสหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ลดการคว่ำบาตรพม่าแล้วบางส่วนหลังจากที่มีการปฏิรูปทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท