Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากตอนที่แล้วแนวความคิดของดวอร์กินช่วยพัฒนาทฤษฎีความยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่งโดยยกมิติความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลขึ้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งรอว์ลและเซนไม่ได้พูดถึง ความยุติธรรมของดวอร์กินจากการกระจายอย่างเท่าเทียมกันของทรัพยากรเริ่มต้นเพื่อให้ปัจเจกชนทุกคนเข้าไปสู่ระบบตลาดเสรีและเกิดการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันจนกระทั่งระบบถึงสมดุลย์คือ ทุกคนไม่มีความอิจฉาริษยาต่อกัน ซึ่งนอกจากการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นเท่ากันแล้วทั้งนี้สังคมต้องรับผิดชอบการกระจายความสามารถและโชคส่วนบุคคลเช่นกัน

สำหรับดวอร์กินแล้วรัฐต้องทำหน้าที่ในการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นให้กับคนเท่าๆกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบว่าแต่ละคนจะไปถึงยังจุดที่ต้องการหรือไม่ ไม่จำเป็นที่ว่าทุกคนจะต้องมีผลลัพธ์จากการใช้ทรัพยากรเท่าๆกัน ชีวิตก็เหมือนการพนัน เมื่อคนตัดสินใจด้วยตนเองแล้วว่าอยากเป็นอะไรก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะสำเร็จหรือสมหวัง ในง่นี้ดวอร์กินจึงมองว่าการเลือกวิถีชีวิตและเป้าหมายของคนจึงเป็น option luck (โชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน) ที่ทุกคนเข้ามาเดิมพัน และรัฐจึงไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบ

กรณีความสามารถดวอร์กินมองว่าเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งซึ่งต้องทำการกระจายอย่างเท่าเทียมกันเฉกเช่นทรัพยากรภายนอกที่จำเป็นต่อการผลิต ยกตัวอย่างเช่น มีคนสองคนที่มีรสนิยมการใช้ชีวิตเหมือนกันคือ อยากเป็นชาวนา แต่ว่าคนแรกมีความสามารถในการทำนามากกว่าและส่งผลให้ผลผลิตของคนแรกมากกว่าคนที่สอง ดังนั้นสังคมจึงต้องกระจายผลผลิตให้เท่าๆกันเพื่อให้เกิดการโอนถ่ายความสามารถจากคนที่เก่งกว่าไปสู่คนที่ด้อยกว่า แต่ถ้าเป็นกรณีเช่น สองคนนั้นเป็นฝาแฝดที่มีความสามารถเหมือนกันทุกอย่าง แต่คนแรกมีพื้นที่นาที่เพาะปลูกดีกว่าคนที่สอง ส่งผลให้ฝาแฝดคนแรกมีผลผลิตที่มากกว่า ดังนั้นรัฐต้องทำการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกันโดยเช่น การกระจายพื้นที่นาที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน หรือกรณีที่ทำไม่ได้ก็ให้มีการชดเชยโดยใช้ผลผลิต

อย่างไรก็ตามแนวความคิดของดวอร์กินก็ถูกวิพากษ์จาก John Roemer -โรเมอร์วิพากษ์เรื่องต้องอาศัยระบบประกันในฝันของดวอร์กินที่เปลี่ยน brut luck (โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ) เป็น optional luck เพื่อให้สังคมรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็น brut luck เท่านั้น โดยระบบประกันหรือการโอนถ่ายภาษีทำหน้าที่โอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยชดเชยให้กับผู้ประสบภัย โรเมอร์ยกตัวอย่างเช่น กรณีเกิดมหันตภัยขึ้น เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คาดไม่ได้ว่าจะเกิด เราไม่จำเป็นต้องซื้อระบบประกันภัยก็ได้แต่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเช่น การเลือกพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย แล้วกรณีเช่นนี้ควรจะถือว่าเป็น brut luck หรือ optional luck ถ้ามีคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วประสบอุบัติเหตุแล้วควรจะมีการโอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยให้ผู้ประสบภัยในกรณีนี้หรือไม่ การเกิดเหตุครั้งนี้มีสาเหตุบางส่วนมาจากการตัดสินใจส่วนบุคคลหรือไม่ สำหรับโรเมอร์แล้วเขาเน้นว่าต้องแยกให้ออกชัดเจนว่าสิ่งใดควรจะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนรับผิดชอบและสิ่งใดที่ปัจเจกชนไม่ต้องรับผิดชอบ

กรณีที่สองโรเมอร์แย้งดวอร์กินในเรื่องการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน สำหรับดวอร์กินแล้วเขาคิดว่าถ้าปัจเจกชนใดมีความชอบ รสนิยม ต่างๆเหมือนกันแล้วต้องได้รับทรัพยากรที่เท่ากัน แต่ในกรณีของโรเมอร์คิดว่ากรณีที่ปัจเจกชนมีปัจจัยที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเหมือนกันเช่นมีรสนิยมต่างๆเหมือนกัน และเลือกตัดสินใจทำในสิ่งเดียวกันแล้วต้องได้รับผลลัพธ์ที่เท่ากัน (equality responsibility, equality of outcome) เช่น กรณีคนสองคนที่มีความชอบเหมือนกันได้ซื้แประกันสุขภาพเหมือนกัน แต่คนแรกปลอดภัยดีส่วนคนที่สองประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นสำหรับดวอร์กินแล้วจะต้องมีการกระจายทรัพยากรจากคนแรกไปให้คนที่สองเพื่อชดเชยแต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สวัสดิภาพโดยรวมยังคงไม่เท่ากัน ในขณะที่สำหรับโรเมอร์แล้วต้องมีการกระขายทรัพยากรเพื่อให้ทั้งสองคนมีสวัสดิภาพที่เท่ากัน เช่นถ้ากรณีแรกแล้วมีแต่การให้เงินแก่ผู้พิการแต่ไม่มีสิ่งอื่นๆมาอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่มีการสร้างลิฟท์ให้ขึ้นลงในเมโทร ไปไหนมาไหนไม่ได้ สวัสดิภาพของผู้พิการย่อมไม่เท่ากับคนปกติเป็นต้น

สำหรับโรเมอร์ผลลัพธ์ต่างๆมาจากตัวแปรสองชนิดคือ circumstance variables ซึ่งเป็นตัวแปรที่สังคมต้องรับผิดชอบ กับ effort variables คือตัวแปรที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(4)

ความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ circumstance variables เป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ไม่ชอบธรรมและต้องได้รับการแก้ไข ส่วนความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ effort variables เป็นความไม่เท่าเทียมที่ชอบธรรมและยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น สุขภาพเป็นผลลัพธ์สวัสดิภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของสุขภาพมีหลายสาเหตุเช่น การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่ากันระหว่างคนรวยกับคนจน หรือขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การชอบออกกำลังกายหรือรักษาสุขภาพ ซึ่งถ้าสังคมมองว่าความไม่เท่าเทียมกันจากสาเหตุความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นเป็นการรับไม่ได้ การเข้าถึงการรักษาจึงเป็น circumstance variables ผลลัพธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนสองกลุ่มจึงต้องถูกแก้ไขโดยคนรวยต้องชดเชย(compensate) ให้คนจน ส่วนกรณีที่ความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพเป็นสาเหตุมาจากนิสัยชอบการออกกำลังกายที่ไม่เท่ากันโดยคนที่มีสุขภาพดีกว่าคือคนชอบออกกำลังกาย ปัจจัยด้านนิสัยหรือความชอบส่วนตัวเป็นสิ่งที่ปัจจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบเองและในสังคมเสรีประชิปไตยหลากหลายวัฒนธรรมมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่รับได้และไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง หรือนิสัยการออกกำลังกายนี้เป็น effort variables ดังนั้นการที่ผลลัพธ์สุขภาพที่ไม่เท่ากันระหว่างคนสองกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ คนที่มีสุขภาพดีกว่าจากการออกกำลังมากกว่าเสมือนว่าเป็นผลตอบแทน(reward) จากความพยายามของเขาเอง

สำหรับสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ หรือ effort variables นั้น โรเมอร์เห็นต่างจาก รอว์และดวอร์กินที่ว่า ความชอบส่วนบุคคล(preference)เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ โรเมอร์แย้งว่า ความชอบส่วนบุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดลอมที่เป็น circumstance variables ยกตัวอย่างเช่น การที่เด็กเอเชียมีความขยันเรียนหนังสือมากกว่าเพราะมีสภาพแวดล้อมที่กดดันให้เขาต้องเรียนหนังสือเช่นจากการบังคับของพ่อแม่ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจอย่างอิสระของตัวเด็ก สำหรับโรเมอร์แล้ว ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์ต่างๆที่มาจากการตัดสินใจโดยปัจเจกชนอย่างอิสระแท้จริงโดยปราศจากอิทธิพลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ และสังคมมีหน้าที่กระจายให้ทุกคนมีโอกาสตัดสินใจเลือกได้เท่าๆกัน (equality of choice)

เชิงอรรถ

  • DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  • FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  • ROEMER J.E., Theories of Distributive Justice, Harvard University Press, 1998.
  • ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net