รอบโลกแรงงานเมษายน 2555

กรีซประท้วงแรงหลังอดีตเภสัชฯ ยิงตัวดับ

การชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน 

ผู้ชุมนุมราว 1,500 คน เดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเอเธนส์ของกรีซ เพื่อเรียกร้องให้นายลูคัส ปาปาเดมอส นายกรัฐมนตรีกรีซ ยกเลิกแผนประหยัดงบประมาณซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2553 และการชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน ทั้งยังระบุด้วยว่ารัฐบาลตัดเงินบำนาญลง ทั้งที่ตนทำงานหนักและจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินบำนาญมานานกว่า 35 ปี จึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ในภาวะคับแค้นเช่นนี้ต่อไปได้

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมวัยรุ่นจำนวนหนึ่งยังได้พยายามขว้างปาก้อนหินและระเบิดขวดใส่ตำรวจ จนเกิดเหตุปะทะทำร้ายร่างกายกัน จึงมีคำสั่งยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ก่อกวนความสงบ ขณะที่ผู้ชุมนุมรายอื่นๆ นำดอกไม้ไปวางไว้ที่จุดเกิดเหตุฆ่าตัวตาย เพื่อไว้อาลัยแก่อดีตเภสัชกรผู้ล่วงลับ ทั้งยังมีผู้เขียนป้ายประท้วงติดไว้บนต้นไม้ว่า ความสูญเสียครั้งนี้มิใช่การฆ่าตัวตาย แต่เป็นการฆาตกรรมโดยรัฐ ขณะที่แผนประหยัดงบประมาณของกรีซ รวมถึงการลดเงินบำนาญผู้เกษียณอายุ การเก็บภาษีเพิ่มเติม และการตัดงบสนับสนุนสวัสดิการสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก.

ไฟไหม้ตลาดกรุงมอสโก คลอกแรงงานอพยพดับ 17 คน

4 เม.ย. 55 - เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 17 คน เป็นแรงงานสัญญาจ้างจากประเทศในอดีตสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง คือ จากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน จากเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดคาชาลอฟสกี้เมื่อเช้าตรู่วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ในช่วงที่แรงงานนอนอยู่รวมกันและหนีออกมาจากเพิงพักไม่ทัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง กว่าจะดับเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ และเตรียมสอบสวนสาเหตุเพลิงไหม้ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร 

ทั้งนี้ แรงงานหลายล้านคนจากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน ต่างมุ่งมาหางานทำในกรุงมอสโกของรัสเซีย หลายคนทำงานก่อสร้างและตลาดค้าขายต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง

สาวใช้อินโดฯในซาอุฯ รอถูกประหารเพียบ

6 เม.ย. 55 - หนังสือพิมพ์ อาหรับ นิวส์ รายวันฉบับภาษาอังกฤษ ของซาอุดิอาระเบีย รายงานในฉบับวันนี้ว่า แรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานอยู่ในซาอุดิอาระเบีย และต้องโทษในคดีต่างๆ กำลังรอการประหารชีวิต 25 ราย ได้รับการอภัยโทษและส่งตัวกลับประเทศแล้ว 22 ราย โดยในจำนวนนักโทษที่รอการถูกประหาร 19 คนอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตก 6 คนอยู่ในเขตจังหวัดริยาดห์

นายเฮนดราห์ ปรามุตโย โฆษกสถานทูตอินโดนีเซีย ประจำซาอุดิอาระเบีย เผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมส่งคณะเจ้าหน้าที่ 14 คน เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียในวันที่ 7 เม.ย. เพื่อเจรจากับทางการซาอุดิฯ และเพิ่มความพยายามร่วมกับสถานทูตอินโดฯ ในกรุงริยาดห์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตแรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านเหล่านี้ รวมทั้งช่วยเหลือแรงงานอินโดนีเซียในส่วนอื่นๆ ที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วซาอุดิอาระเบียรวม 1,700 คน.

โซนี่เตรียมตัดลดพนักงานทั่วโลกนับหมื่นหลังปรับองค์กรเพื่อฟื้นกำไร

9 เม.ย. 55 - โซนี่ คอร์ป จะลดการจ้างงานลง 10,000 ตำแหน่ง หรือราว 6% ของแรงงานทั่วโลก ภายในสิ้นปีนี้ หนังสือพิมพ์นิกเกอิเผย ขณะที่ผู้บริหารคนใหม่ถูกกดดันอย่างหนักในการนำพาบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า และบันเทิงยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้ให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังตัวเลขติดลบมานานถึง 4 ปี

โซนี่ ซึ่งคาดการณ์ว่าการขาดทุนสุทธิ 220,000 ล้านเยนในปีงบประมาณนี้เพิ่งสิ้นสุดลง ประกาศในเดือนที่ผ่านมา คาซูโอะ ฮิราอิ จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจโทรทัศน์ที่กำลังประสบปัญหา โดยตรงต่อไป ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรทางธุรกิจของบริษัท

ฮิราอิ ผู้รับตำแหน่งประธานบริหาร หรือซีอีโออย่างเป็นทางการ ต่อจากโฮเวิร์ด สตริงเกอร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะต้องรายงานสรุปแผนธุรกิจของบริษัทในวันพฤหัสบดี (12) นี้

หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า การลดจ้างงานครึ่งหนึ่งมาจากการควบรวมกิจการภาคเคมีภัณฑ์ และการผลิตจอแอลซีดีขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะลดตำแหน่งงานในญี่ปุ่น และต่างประเทศ จำนวนเท่าไรบ้าง

นอกจากนี้ โซนี่อาจยังจะร้องขอให้ผู้บริหารระดับสูง 7 คน ที่ทำงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม โดยรวมถึงสตริงเกอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานในขณะนี้ด้วย คืนเงินโบนัสที่พวกเขาได้รับไป นิกเกอิรายงานเสริมโดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข่าว

อย่างไรก็ตาม โซนี่ยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวนี้

สภาผู้แทนฯ อินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ

12 เม.ย. 55 - สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ เป็นมาตรการใหม่ในการคุ้มครองแรงงานอินโดนีเซียหลายล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ 

ไมแกรนท์แคร์ องค์กรนอกภาครัฐที่ดูแลแรงงานอพยพระบุว่า การให้สัตยาบันของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศและเมื่อเดินทางกลับประเทศ เป็นก้าวที่สำคัญมากต่อแรงงานหนุ่มสาวที่เสียสละตนเองเพื่อครอบครัวแต่บางครั้งต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย 

ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งแก้ไขกฎหมายบางฉบับให้สอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองในอนุสัญญาแรงงานอพยพ รวมทั้งผนวกเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ในกระบวนการเข้าเมือง ปรับปรุงการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลเพื่อให้แรงงานอพยพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียประมาณว่า มีชาวอินโดนีเซียทำงานในต่างประเทศมากกว่า 3 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้เพราะแรงงานจำนวนมากไปทำงานโดยไม่มีเอกสาร แรงงานอินโดนีเซียส่วนใหญ่ทำงานค่าแรงต่ำที่กฎหมายดูแลไม่ถึง เช่น งานบ้าน งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง ในมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย และคูเวต

ญี่ปุ่น โซนี่ปรับลดพนักงานหมื่นตำแหน่ง

13 เม.ย. 55 - บริษัทโซนี่ คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น ประกาศปรับลดพนักงานลง 1 หมื่นตำแหน่งของแรงงานทั่วโลกของบริษัท พร้อมประกาศเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรทัศน์ครั้งใหญ่ หลังเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก

นายคาซูโอะ ฮิราอิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของโซนี่ แถลงกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อสื่อมวลชนในกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ โดยให้คำมั่นว่าจะรื้อฟื้นบริษัทโซนี่ขึ้นมาใหม่

การปรับลดตำแหน่งงานของโซนี่ มีขึ้นหลังโซนี่ออกมาประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิประจำปีสำหรับปีงบประมาณที่ผ่านมาจนถึงเดือนที่แล้วถึง 5.2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ถึง 2 เท่า ถือเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่โซนี่ประสบภาวะขาดทุนและเป็นการขาดทุนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โซนี่ ซึ่งมีธุรกิจมากมายตั้งแต่กล้องดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปจนถึงคอนโซลเกมเพลย์สเตชั่นและภาพยนตร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากทั้ง แอปเปิล อิงค์ และ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป

แผนใหม่เพื่อฟื้นกำไรของบริษัทโซนี่ จะมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้วยการเพิ่มการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี ในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เช่น กล้องดิจิตอล เกมส์ และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้โซนี่ยังจะไปแสวงหาการเติบโตใหม่ๆ ในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ อย่างอินเดีย เม็กซิโก และขยายธุรกิจไปยังการผลิตอุปกรณ์การแพทย์อีกด้วย

เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% เริ่ม “เมย์เดย์” 1 พ.ค.

15 เม.ย. 55 - รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาฉบับหนึ่งในสัปดาห์นี้ เพื่อขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากในปัจจุบันตั้งแต่ 830,000 ด่ง จนถึง 1,050,000 ด่ง (52.50 ดอลลาร์) ต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดถึง 25-29% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กีบจังหวัด หรือโซนที่ตั้งของแหล่งจ้างงาน 

และนี่คือ อัตราค่าจ้างที่จะใช้เป็นพื้นฐานใหม่ในการคิดคำนวณค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันและค่าทำงานล่วงเวลา ที่ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่นๆ เข้าไปด้วย ค่าจ้างอัตราใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2555 เป็นต้นไปซึ่งเป็นวันแรงงานสากล

อัตราใหม่นี้บังคับใช้กับบริษัทเวียดนามเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทลงทุนต่างชาติในโครงการลงทุนโดยตรงหรือ FDI (Foreign Direct Investment) ในเวียดนาม ซึ่งมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 เป็นระหว่าง 1.4-2 ล้านด่ง (70-100 ดอลลาร์)

ตามกฤษฎีการที่ลงวันที่ 12 เม.ย.2555 อัตราค่าจ้างใหม่ ยังบังคับใช้สำหรับการคิดคำนวณเงินอัตราเงินเดือน เงินสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินค่าล่วงเวลา กับเงินชดเชยต่างๆ ของรัฐกร ตำรวจ ทหาร พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ รวมทั้งพนักงานกับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กับองค์กรทางการเมือง และทางสังคมต่างๆ อีกด้วย สื่อของทางการรายงาน

ในทางปฏิบัติ บริษัทเอกชนต่างๆ ในเวียดนามจะจ่ายค่าจ้างให้แก่บรรดาลูกจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้มาก พร้อมจัดสวัสดิการให้ตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภท และชนิดของอุตสาหกรรม และแหล่งจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานประเภทที่มีฝีมือนั้น ค่าจ้างจะสูงกว่านี้หลายเท่าตัว เพื่อแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากทางการได้ปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ.2554 เป็นต้นมา ขณะที่สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า 3 เดือนต้นปีนี้ ดัชนีผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงเรื่อยๆ

เวียดนามก็เช่นเดียวกันกับจีน ปัจจุบันกำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมกรรมสำคัญต่างๆ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำมากทำให้ขาดแรงจูงใจ และแรงงานต่างจังหวัดได้หันหลังให้เมืองกลับสู่ชนบท เพื่อทำการผลิตในภาคการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการเข้าทำงานรับจ้าง

ปัญหาขาดแคลนแรงงานซับซ้อนมากขึ้นอีกเมื่อหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีขึ้น ไม่สนใจที่จะทำงานเป็นลูกจ้าง หรือคนงานที่รับค่าจ้างต่ำๆ เช่น บิดาหรือมารดาของพวกเขาอีกต่อไป.

หมอเปรูประท้วงขึ้นเงินเดือน หลังประธานาธิบดีเบี้ยวนโยบายตอนหาเสียง

21 เม.ย. 55 -  สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าหมอของกระทรวงสาธารณสุขเปรู 15,000 คนประท้วงผละงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 เม.ย.)

โดยผู้ประท้วงได้เดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้แก่รัฐบาล โดย Cesar Palomino ประธานสมาพันธ์การแพทย์แห่งเปรู ระบุว่าประธานาธิบดี Ollanta Humala ไม่ได้ทำตามนโยบายเมื่อครั้งการรณรงค์หาเลือกตั้งที่จะขึ้นเงินเดือนให้กับหมอที่เป็นลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข 

ทั้งนี้หมอที่ทำงานให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินเดือนเพียง 530 โซล (ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ) โดย Palomino เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้กลุ่มหมอ เหมือนกับที่ขึ้นให้ทหาร ผู้พิพากษาและครู ไปแล้ว

ด้าน Manuel Larrea โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเปรู ระบุว่ายังมีหมออีก 95% จากทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ประท้วงผละงาน การประท้วงครั้งนี้เป็นเพียงคนส่วนน้อย และหมอในเปรูยังให้บริการเป็นปกติ

พนง.ขนส่งมวลชนอิตาลีหยุดงานประท้วง

21 เม.ย. 55 - พนักงานขนส่งมวลชนของอิตาลี หลายพันคนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่พวกเขามองว่า มาตรการรัดเข็มขัดเป็นความจงใจที่จะอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการปลดพนักงานออกได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นางซูซานนา คามัสโซ ผู้นำในการประท้วงได้เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ หากนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งพนักงานที่ร่วมเดินขบวนประท้วงไปยังย่านใจกลางของกรุงโรม ประกอบไปด้วยพนักงานที่ให้บริการรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลให้การจราจรในช่วงเช้าของอิตาลีต้องสะดุดลง

นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานขนส่งมวลชนในเมืองอื่นๆ ของอิตาลี ยังได้ร่วมหยุดงานประท้วงด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มพนักงานและนายจ้างต่างระบุว่า นายมอนติ ประสบความล้มเหลวในการสร้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจอิตาลี ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราว่างงานในอิตาลี พุ่งขึ้นแตะ 9.3% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2544 จากระดับ 9.1% ในเดือนม.ค. ขณะที่จำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547

ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลี อนุมัติมาตรการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีมอนติ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดการว่างงานและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งประสบกับภาวะถดถอย

ร่างกฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมถึงการเพิ่มสวัสดิการว่างงาน การลดสัญญาการทำงานชั่วคราว และเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการไล่พนักงานออก ซึ่งมาตรการสุดท้ายนี้ ถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปไตยกลาง-ซ้าย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนหลักทางการเมืองของรัฐบาลนายมอนติ รวมถึง ซีจีไอแอล ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี เนื่องจากเกรงว่า จะทำให้การไล่พนักงานออกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น

นายมอนติ กำลังดำเนินมาตรการลดรายจ่ายและขึ้นภาษี เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณในปีหน้า และลดหนี้สาธารณะ ซึ่งอยู่ในระดับสูงถึง 1.9 ล้านล้านยูโร แต่มาตรการเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว 1.3% ในปีนี้

ฝ่ายค้านบังกลาเทศระดมผละงานประท้วงทั่วประเทศ

29 เม.ย. 55 -  พรรคชาตินิยมบังกลาเทศแกนนำฝ่ายค้านเป็นผู้นำการประท้วงผละงานทั่วประเทศในวันนี้และวันพรุ่งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ทางการค้นหา นายเอลิอาส อาลี เลขาธิการพรรค ที่หายตัวไป  ด้านตำรวจและพยาน เปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กปะทุอย่างน้อยแปดครั้งในกรุงธากา ระหว่างการประท้วงวันนี้ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 

ฝ่ายค้านบังกลาเทศจัดการประท้วงผละงานทั่วประเทศเป็นเวลาสามวัน เพื่อเรียกร้องการค้นหาตัว นายอาลี มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านกล่าวหาทางการและหน่วยงานความมั่นคงของบังกลาเทศว่าอยู่เบื้องหลังการหายไปของ นายอาลี  แต่เจ้าหน้าที่ยืนกรานปฏิเสธ   อีกด้านหนึ่งองค์กรพิทักษ์สิทธิเปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้หายตัวไปแล้วอย่างน้อย 22 คน และส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง

ไอแอลโอเตือนมาตรการรัดเข็มขัดทำคนตกงาน 202 ล้านคน

30 เม.ย. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ออกรายงานสถานการณ์แรงงานทั่วโลกประจำปี 2555 ระบุว่ามาตรการลดรายจ่ายและปฏิรูปตลาดแรงงาน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการจ้างงานทั่วโลก แม้ส่วนใหญ่จะลดการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ตามเป้าก็ตาม และเตือนว่ารัฐบาลชาติต่างๆจะเสี่ยงเผชิญกับเหตุการณ์ไม่สงบในสังคม หากไม่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดควบคู่ไปกับการสร้างงาน

รายงานระบุว่า แรงงานประมาณ 50 ล้านตำแหน่งหายไปจากตลาดนับจากวิกฤติการเงินในปี 2551 และคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานโลกในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 หรือคิดเป็นจำนวน 202 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 % หรือราว 6 ล้านคน จากตัวเลขว่างงานโดยประมาณ 196 ล้านคนในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันยังคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 6.2 เพราะจะมีผู้ว่างงานเพิ่มอีก 5 ล้านคน

รายงานระบุด้วยว่า ไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกในระยะสองปีข้างหน้า จะขยายตัวในอัตราที่เพียงพอสำหรับการเติมเต็มตำแหน่งงานในปัจจุบัน และจัดหาตำแหน่งงานให้กับคนอีกกว่า 80 ล้านที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และที่น่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คื อยุโรป ภูมิภาคที่ประเทศเกือบสองในสาม เผชิญกับอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นทั้งสิ้นนับจากปี 2553 และตัวเลขการจ้างงานจะยังไม่ดีขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติการเงินปี 2551 จนกว่าจะถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็ชะงักงันเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท