เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีที่ 2 “สมบัติ” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

หลังรัฐประหาร 2549 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นเอ็นจีโอคนดังที่ออกตัวชัดเจนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารเป็นคนแรกๆ

เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีแล้ว ไล่ตั้งแต่คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โฆษก จากการจัดกิจกรรม “ปาเป้า” ภาพล้อเลียนคณะรัฐประหาร รวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คดีนั้นเขาไม่ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่ 31 ส.ค.-10 ก.ย.50 ก่อนจะตัดสินใจยื่นประกันตัวในภายหลังเพื่อออกไปรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ท้ายที่สุด ศาลสั่งยกฟ้องในวันที่วันที่ 25 ก.ย.51  ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่านายสมบัติเป็นผู้จัดทำป้ายการ์ตูนล้อเลียนนั้น ส่วนการใช้โทรโข่งป่าวประกาศให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวปาเป้าบุคคลทั้งสอง ฝ่ายโจทย์ไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่านายสมบัติพูดเชิญชวนอย่างไร และการปาเป้านั้นหมิ่นประมาทบุคคลทั้งสองให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังอย่างไร

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมภายหลังการนองเลือดครั้งใหญ่ เขายังคงเป็นผู้นำกลุ่มย่อยลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมผูกผ้าแดง จนในวันที่ 26 มิ.ย.53 เขาจึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานี นาน 14 วัน  ภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต่อมาตำรวจดำเนินคดีเขาในความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215 และ 216 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองบริเวณใต้ทางด่วนลาดพร้าว 71 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 หลังการสลายการชุมนุม 1 วัน พร้อมทั้งระบุว่ามีการปลุกระดมโดยการปราศรัยให้เกิดการเผายาง มั่วสุมกันโดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม นายสมบัติปฏิเสธที่จะรับสารภาพและยืนยันจะใช้สิทธิต่อสู้ทางกฎหมาย โดยในคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลนั้นระบุว่าเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่เขาและประชาชนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ต่อการก่ออาชญากรรมของรัฐทำให้มีคนตายจำนวนมาก จึงออกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ อีกทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีการประกาศใช้โดยไม่ชอบ

ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาคดีนี้(คดีดำที่ 1189/2553) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.54 ให้ลงโทษจำเลย

โดยระบุว่า

การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวนการที่รัฐใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดีนี้ ศาลจึงสั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท โดยโทษจำให้รอลงอาญา

แต่คดีที่สองกลับสร้างความประหลาดใจให้ทุกฝ่าย รวมถึงตัวจำเลยเองด้วยเพราะศาลพิพากษา ยกฟ้อง

คดีที่สองนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ 557/2555) เกิดขึ้นจากกรณีที่เขาไปร่วมกล่าวปราศรัยและร่วมจัดกิจกรรมเปลือยเพื่อชีวิต เมื่อ 18 พ.ค.53 ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการสลายการชุมนุม ก่อนที่ทุกอย่างจะยุติในวันรุ่งขึ้น

คำพิพากษาในคดีนี้ต่างจากคดีอื่นๆ ที่เกิดในลักษณะเดียวกันอย่างสำคัญ และน่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต หากว่าอัยการไม่มีการขอขยายเวลาอุทธรณ์ภายในวันที่ 10 พ.ค.55 นี้ ซึ่งเป็นผลให้คดีถึงที่สุด

‘ประชาไท’ คัดลอกเหตุผล การวินิจฉัยช่วงหนึ่งที่น่าสนใจของศาลแขวงพระนครเหนือซึ่งลงชื่อผู้พิพากษา "จิระวงศ์ เชาน์วรนันท์" มานำเสนอ ดังนี้

 

“นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในประเทศหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งควรจะเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลแย่งชิงและตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนเกิดการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำโดยกองทัพอันมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวก ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งประชาชนได้ให้ฉันทามติในการบริหารประเทศแล้ว นับแต่นั้นความแตกแยกและขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศยิ่งขยายกว้างออกไป เมื่อคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกองทัพให้การหนุนหลัง รวมทั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางส่วนสนับสนุนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในบ้างเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลซึ่งประชาชนเลือกมาภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนเปลี่ยนมาเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเครียดแค้นชิงชังของประชาชน ผู้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของตนถูกปล้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า

จำเลยซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและดำเนินกิจกรรมในฐานะองค์กรพัฒนาสังคมนอกเหนือจากการใช้อำนาจรัฐ และเป็นผู้ที่รังเกียจเดียดฉันท์การยึดอำนาจหรือรัฐประหารรัฐบาลซึ่งประชาชนมอบฉันทามติมาโดยแสดงออกจากการต่อต้านการยึดอำนาจจนกระทั่งถูกหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท จำเลยก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เกี่ยวกับความ อยุติธรรมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาโดยตลอด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยได้ความจากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยหาใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมจากการได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยอำนาจของรัฐ

เมื่อปรากฏว่าในระหว่างเกิดเหตุ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจของกองทัพส่งกำลังทหารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อันเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำเลยในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุสมควรที่จะเข้าไปในสถานที่ชุมนุมของผู้ชุมนุมดังกล่าว

การที่จำเลยขึ้นกล่าวปราศรับกับประชาชนโดยชักชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช้ชื่อว่า “เราไม่มีอาวุธ” ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 เพื่อแสดงให้รัฐบาลและกองทัพเห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมปราศจากอาวุธที่จะทำอันตรายผู้มีอำนาจรัฐได้

การที่จำเลยกล่าวปราศรัยในทำนองไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลาลการชุมนุมและมีการใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนและผู้เข้าร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ.3 สอดคล้องกับพันตำรวจโทรณกร และร้อยตำรวจโทภาคิน พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานทั้งสองเห็นทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนจนเสียชีวิตและทหารได้ปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางมิให้ผู้เข้าไปในเขตที่ชุมนุมด้วย

นางสาวขวัญระวี วังอุดม พยานจำเลยเบิกความว่า เป็นผู้ชักชวนให้จำเลยจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้รัฐบาลและทหารเห็นว่า ประชาชนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทั้งช่วยผ่อนคลายความโกธรของประชาชน จึงได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เราไม่มีอาวุธ” ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมปราศรัยหรือปิดกั้นเส้นทางจราจร หรือจุดไฟเผายางรถยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องมาตั้งแต่ต้น ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงโดยส่งกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทั้งจำเลยกระทำไปในสถานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน

ประกอบกับจำเลยได้ปราศรัยและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันเกิดเหตุ ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.9 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีลักษณะการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบ หรือปลุกระดมให้ประชาชนใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังปะทะกับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามโจทก์ฟ้อง แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนซึ่งกำลังโกธรแค้นและชิงชังรัฐบาลและกองทัพลดความรุนแรงและสงบสติอารมณ์ ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบบรรเทาเบาบางลง อันเป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งทำให้สังคมลดความขัดแย้งลงได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น หาใช่เกิดจากที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายหรือกำลังอาวุธเพื่อยุติการชุมนุมของมวลชนเพียงประการเดียวไม่ เพราะการกระทำเช่นว่านั้น ยิ่งจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะรัฐบาลรวมถึงผู้ที่ก่อการให้นายอภิสิทธิ์และพวกขึ้นมาบริหารประเทศ

ซ้ำยังอ้างการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นการเปิดช่องให้กองทัพส่งกำลังทหาร ซึ่งควรมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ เข้ามาสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วหากใช้กองทัพซึ่งมิได้ถูกฝึกมาเพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง รัฐบาลย่อมเล็งเห็นได้ว่าเมื่อใดที่กองทัพใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่พันตำรวจโทรณกร

พยานโจทก์ตอบคำถามค้านรับว่า ทหารได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นเส้นทางจราจรและปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง และยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต การที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเป็นนักกิจกรรมเชิงสันติวิธี ย่อมใช้สิทธิพลเมืองของตนในการแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจรัฐยุติการกระทำเช่นที่ว่านั้นได้ อีกทั้งการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมมีผลให้ประชาชนมีช่องทางระบายออกถึงความคับแค้นจากการใช้อำนาจรัฐ ให้รัฐบาลหันกลับมามองประชาชนแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติได้ การที่จำเลยเพียงแต่กล่าวปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่ากฎหมายหรือกำลังใดๆ ก็หาอาจตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวหาก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่สงบขึ้นมาในการบริหารประเทศแต่อย่างใด

เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่า จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยในทำนองที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตาย จำเลยหาได้กระทำการใดๆอันเป็นการประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อกำลังทหารเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำการปิดกั้นขีดขวางการจราจรรวมถึงการใช้ความรุนแรงดังฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่ชอบโดยพื้นฐานและเป็นไปตามเจตจำนงของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง

 

 

 

หมายเหตุ 5/5/55 มีการเพิ่มเติมชื่อผู้พิพากษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท