Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีวิธีเด็ด ๆ เช็คว่าใครเป็นคนไทยหรือไม่ตามแนวชายแดนด้วยการให้ร้องเพลงชาติไทย ใครร้องได้ถูกต้องเป๊ะ ๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหมอนี่คนไทยแน่ แต่ถ้าร้องผิดเนื้อสลับ มั่วดำน้ำ ก็จัดการส่งกลับประเทศไปโทษฐานหลบหนีเข้าเมือง วิธีแบบนี้สร้างความเฮฮาในรายการคดีเด็ดหลายต่อหลายครั้ง พูดเรื่องนี้ทีไรเป็นได้ยินเสียงหัวเราะทุกที

เอาเป็นว่าเกิดเป็นคนไทย เพลงแรก ๆ ในชีวิตที่ถูกสอนให้ร้องก็คงมีเพลงช้างและเพลงชาติ ร้องกันได้ตั้งแต่เด็กอนุบาล

แต่มันน่าสงสัยนะครับว่าที่ร้อง ๆ กันนี่เคยคิดใคร่ครวญกันหรือเปล่าว่าเพลงชาติที่ร้อง ๆ กันเนื้อหามันคืออะไร

ผมเองลองสำรวจคร่าว ๆ จากคนรู้จัก (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่สอน) คำตอบที่มักได้รับคือเพลงชาติไทยพูดเรื่องว่าคนไทยนั้นรักสงบแต่ก็รบไม่ขลาด ตอบแบบนี้เสียส่วนใหญ่แถมยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะคิดคำตอบได้ ว่าไปก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เพลงที่เราร้องกันทุกวันกลับแทบไม่มีใครสนใจว่าเนื้อหาของเพลงกำลังพูดถึงอะไรอยู่

ยิ่งเมื่อครั้งที่มีการผลิตภาพประกอบเพลงที่ออกอากาศทางฟรีทีวีช่วงแปดโมงเช้าและหกโมงเย็นขึ้นมาใหม่ ครานั้นเกิดการถกเถียงในเวบไซต์มากมายถึงความเหมาะสมของภาพ บ้างก็ว่าภาพไม่ค่อยเล่าเรื่องเท่าไหร่ บ้างก็ว่าใช้ภาพของพระราชวงศ์ประกอบเพลงน้อยจนเกินไป บ้างก็ถกเถียงกันในประเด็นว่าภาพตรงตามเนื้อเพลงหรือไม่อย่างไร ฯลฯ ผมเองมีโอกาสอ่านก็พบความน่าสนใจไม่น้อยว่าเอาเข้าจริง ท่าน ๆ เถียงอะไรกับครับนี่

เพลงชาติไทยพูดถึงอะไรกันแน่ เรื่องนี้ตอบไม่ยาก เพียงแต่ในการเรียนการสอนระบบปลูกฝังของชาวไทยไม่เคยสอนกันในระดับประถมมัธยม (อย่างน้อยที่สุดก็ในประสบการณ์ของผม) ว่าเพลงชาติไทยพูดถึงเรื่องอะไร เราจึงร้องกันไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองและคิดเอาเองว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ดังนั้นเราจึงมักละเลยที่จะตั้งคำถามต่อเรื่องราวทั้งที่ปรากฎเด่นชัดอยู่

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ…” เป็นประโยคแก่นแท้ของเพลงชาติ แปลความตรงตามตัวอักษรได้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นรัฐของประชาชน นี่คือแก่นแกนของเนื้อหา เนื่องจากเพลงนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อปี พ.ศ. 2482 (คณะราษฎร์สิ้นอำนาจจากการถูกรัฐประหารอันต่อเนื่องด้วยกรณีสวรรคต ปี พ.ศ.2490) ดังนั้นการเทิดทูนไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดอันมาจากอธิปไตยของปวงชนจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดแท้และเป็นการทำลายอำนาจอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจเต็มนั้นอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว

เนื้อหาต่อจากประโยคแรกเป็นส่วนต่อขยายภายใต้บริบทการถูกคุมคามจากต่างประเทศ อันนำมาสู่การสร้างนโยบายความสามัคคีของคนในชาติ เนื้อหาในช่วงต่อมาจึงมุ่งเน้นสร้างวาทกรรมให้คนไทยนั้นสามัคคีและไม่รุกรานใครก่อน ทว่าหากใครรุกรานก็พร้อมจะต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยไว้

สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ คือเพลงชาติไทยที่มีความยาวประมาณหนึ่งนาทีนี้ได้กล่าวถึงประเทศไทยที่เป็นประเทศของประชาชนผู้มีความสามัคคี รักสงบแต่ไม่ขลาดหากใครมารุกราน

ดังนั้นการที่เราร้อง (หรือได้ยิน) เพลงชาติกันทุกวันตอนแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น คือตอกย้ำผลิตวาทกรรมอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ในช่วงเวลานั้น น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าแท้จริงการยืนตรงเคารพธงชาตินั้นควรเป็นไปเพื่อการเคารพสู่อำนาจอธิปไตยสูงสุดซึ่งเป็นของประชาชน เป็นการเคารพถึงความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ มิใช่เป็นกลุ่มคนใดโดยเฉพาะเหมือนในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คราวหน้าเรามาดูกันว่าในปัจจุบันนี้อุดมการณ์ที่คณะราษฎร์ทิ้งไว้นั้น เมื่อปรากฎผ่านสื่อทุกวันนี้ผ่าน “มิวสิควิดีโอเพลงชาติ” ถูกผลิตซ้ำหรือบิดเบือนผ่านภาพไปอย่างไรบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net