Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลและสมาคมสิทธิเสรีภาพไทย เรียกร้องทำการชันสูตรศพ “อากง” อย่างอิสระ พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชียชี้ไทยต้องยกเลิกมาตรา 112

9 พ.ค. 55 - สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (The International Federation for Human Rights –FIDH) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (Union for Civil Liberty- UCL) ออกแถลงการณ์กรณีการเสียชีวิตของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นที่เสียชีวิตเมื่อเช้าวานนี้ (8 พ.ค.) ในเรือนจำ เนื่องจากอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โดยเรียกร้องให้ทำการชันสูตรศพของนายอำพลอย่างเป็นอิสระ พร้อมทั้งเปิดเผยผลการตรวจสอบ พร้อมชี้ว่า สภาพเรือนจำไทยต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำสากลที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้อย่างมาก

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่า การจำคุกของนักโทษที่มีอายุมากและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ในเรือนจำของไทย เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังชี้ด้วยว่า การรักษาพยาบาลในเรือนจำของไทยมักเป็นไปอย่างจำกัด (primitive)

“การเสียชีวิตของนายอำพลเป็นเครื่องเตือนใจแก่ทางการไทย ถึงผลกระทบที่น่าเศร้าและโหดร้ายของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงการปฏิเสธการให้ประกันอย่างเป็นระบบ” Souhayr Belhassen ประธานองค์กร FIDH กล่าว “รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจแก่การเรียกร้องที่มากขึ้นของประชาชนไทยและประชาคมนานาชาติ เพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หรือยกเลิกไป”

ที่มา: เว็บไซต์ FIDH

ทั้งนี้ อำพล เสียชีวิตเมื่อวันอังคารเช้าที่ผ่านมา โดยยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่นอน แต่ผลจากการชันสูตรศพวันนี้เปิดเผยว่า เขาน่าจะเสียชีวิตจากมะเร็งที่ตับระยะสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำอาหารในกระเพาะ เลือด และน้ำในช่องท้องไปตรวจว่ามีสารพิษอยู่หรือไม่ คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีก 7 วันจึงทราบผลการตรวจ

ย้ำกฎหมายหมิ่นละเมิดเสรีภาพและประชาธิปไตย

นอกจากนี้ สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลยังกล่าวถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วยว่า ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุให้รัฐต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 

“การไม่สนใจปัญหาของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเพียงแต่ทำให้ความรู้สึกอยุติธรรมในหมู่ประชาชนทั่วประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น” แดนทอง บรีน ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนระบุในแถลงการณ์ “ในฐานะสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชน (แห่งสหประชาชาติ) มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่ไทยจะอนุญาตให้การแสดงออกอย่างเสรีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยไม่ใส่ใจต่อหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย”

ในขณะที่วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้ออกแถลงการณ์ในกรณีการเสียชีวิตของนายอำพลเช่นเดียวกัน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องทำให้แน่ใจว่า การชันสูตรพลิกศพจะเป็นไปอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระบบรักษาพยาบาลในเรือนจำอย่างเปิดเผยที่สุด โดยอ้างอิงกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง 

ทั้งนี้ กฎดังกล่าว ระบุตามมาตรา 22(2) ว่า ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องใข้การรักษาพิเศษ จำเป็นต้องย้ายเพื่อได้รับการรักษาในสถาบันเฉพาะด้านหรือโรงพยาบาลของพลเรือน และควรได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ในสถาบันที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในมาตรา 25(5) ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องรายงานต่อผู้อำนวยการด้วย หากพบว่าสภาพทางร่างกายหรือสุขภาพจิตของผู้ต้องขังจะได้รับผลกระทบจากการคุมขัง

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศฮ่องกง ยังเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปล่อยตัวผู้ต้องหาและผู้ต้องขังทั้งหมดที่ถูกจับกุมในข้อหาดังกล่าว

ที่มา:  เว็บไซต์ AHRC

“ความตายของอำพล แสดงให้เห็นแล้วว่าราคาของความจงรักภักดีนั้นสูงเกินไป: ชายคนหนึ่งต้องจ่ายสำหรับข้อความเอสเอ็มเอสสี่ข้อความด้วยชีวิตของเขา และครอบครัวของเขา ก็ต้องจ่ายด้วยความสูญเสียของผู้เป็นสามี พ่อ และอากง” แถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิเอเชียระบุ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net