เหตุเกิดที่ภาคใต้–วันร้อนคืนร้ายของคนอยู่กับป่าบนเทือกเขาบรรทัด

“ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ปรารภว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องที่ทำกินของชาวบ้าน แต่กรณีโฉนดชุมชนมีการดำเนินการผิดพลาด โดยพบว่ามีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ พบมากแถบจังหวัดภาคใต้ที่มีการเอาไปทำสวนยาง”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในตอนเที่ยงค่อนบ่ายของวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ทั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ย้ำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการที่ดินเชิงระบบ ให้ไปดูรายละเอียดโฉนดชุดชนว่า มีการนำไปใช้อย่างถูกต้อง หรือเล่นแร่แปรธาตุกันอย่างไร หากพบว่ามีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ จะต้องรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบ

ก่อนหน้านั้น พาดหัวข่าว “กรมอุทยานฯ เตรียมฟันสวนยางภาคใต้หลายแสนไร่” แผ่หราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2555 มีใจความสำคัญว่า นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ผู้บริหารและหน่วยงานภาคสนาม เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่า หน่วยงานโครงการในพระราชดำริ หน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรไปจนถึงจังหวัดสงขลาให้เร่งสำรวจพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า แต่ละพื้นที่มีการบุกรุกเพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันพื้นที่ละเท่าไหร่ โดยให้เร่งสำรวจจัดทำพิกัดแผนที่รายงานไปที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งมาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ และพันธุ์พืชโดยด่วน

“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเร่งจับกุมผู้ที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ในภาคใต้ เพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในลักษณะเดียวกับการจับกุมผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี  โดยจะระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศเข้าไปดำเนินการ โดยไม่ปล่อยให้เจ้าที่ในพื้นที่โดดเดี่ยว”

นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของนายนายดำรงค์ พิเดช ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว นับเป็นปฐมบทของการเตรียมการปราบปรามพวกรุกป่าในภาคใต้

แล้วเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ก็เริ่มดำเนินการตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

วันที่ 25 มีนาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดได้จับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 2 ราย ขณะนำหมากแห้งออกไปขาย โดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหนองเอื้อง อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน

วันรุ่งขึ้น มีบันทึกข้อความของสำนักอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เลขที่ ทส 0910503/5211 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 ลงนามโดยนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งถึงรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1–16 ผู้อำนวยการกองทุกกอง ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการ หรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม

“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอส่งสำเนาคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 562/2555 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 เรื่องให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วมมาเพื่อทราบ และให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1–16 แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้ความร่วมมือตามสมควร สำหรับสำนักอุทยานแห่งชาติให้แจ้งผู้มีรายชื่อในคำสั่งทราบและปฏิบัติต่อไป” บันทึกข้อความดังกล่าว ระบุ

หลังจากนั้นเพียง 5 วัน ประมาณบ่ายสองโมงครึ่งของวันที่ 30 มีนาคม 2555 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย ได้เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราของชาวบ้านทับเขือ–ปลักหมู รอยต่อระหว่างตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กับตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

พื้นที่ที่ถูกทำลายทั้งหมด 15 ไร่ อยู่ในเขตเสนอขอโฉนดชุมชนจำนวน 8 ไร่ เป็นสวนยางพาราอายุ 3 ปีและปลูกไม้ผลผสมผสานของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3.2 ไร่ สวนยางพาราอายุ 3 ปี ปลูกไม้ผลผสมผสานของนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ประมาณ 3.8 ไร่ และสวนยางอายุ 2 ปี ของนางอารี ชุ่มเชื้อ ประมาณ 1 ไร่

ต่อมา เวลา 09.30 น. วันที่ 6 เมษายน 2555 นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า นำกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ตำรวจตระเวนชายแดนประมาณ 35 นาย พร้อมอาวุธปืน และเลื่อยยนต์ 2 เครื่อง เข้ารื้อถอนสะพานเข้าหมู่บ้านหาดสูง รอยต่อระหว่างตำบลเขาปูน อำเภอห้วยยอด กับตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2 สะพาน ขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร

ในการรื้อถอนสะพาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ได้นำนายเจิม เส้งเอียด หรือ “ไข่หมูก” อดีตจอมโจรชื่อดังภาคใต้ ร่วมคณะไปด้วย

นางอำนวย สังข์แก้ว ชาวบ้านบ้านหาดสูง ได้นำหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการขอโฉนดชุมชน มาแสดงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า

พร้อมกับก้มกราบเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า และ “จอมโจรไข่หมูก” นายเจิม เส้งเอียด อ้อนวอนไม่ให้ทำลายสะพาน

ทว่า ไร้ผล สะพานทั้ง 2 แห่ง ถูกทำลายย่อยยับ

สำหรับหนังสือที่นางอำนวยนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า เป็นหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2555 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ถึงนายวิลาส สังข์ช่วย ประธานกรรมการชุมชนบ้านหาดสูง ลงนามโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ระบุถึงกรณีชุมชนบ้านหาดสูงยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนและขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสะพานข้ามคลอง และพืชผลอาสินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานโฉนดชุมชน ได้ตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอในเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ตามประกาศคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.เอกสารหลักฐานการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ใช้บังคับ

2.เอกสารแผนที่ที่มีขอบเขตชัดเจน โดยแสดงค่าพิกัดระวางแผนที่ด้วย

3.แนวทางการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.เอกสารรับรองคุณสมบัติของคณะกรรมการชุมชน พร้อมให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าว ให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 10 เมษายน 2555

“ส่วนกรณีขอให้ชะลอการทำลาย หรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ และตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ต่อไปแล้ว” หนังสือดังกล่าว ระบุ

แล้วนายดำรงค์ พิเดช ก็ออกมาให้ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2555 ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้สำรวจว่า พื้นที่ใดมีการบุกรุกป่าเข้าไปปลูกปาล์มและทำสวนยางพาราบ้าง โดยให้ทำพิกัดพื้นที่อย่างละเอียด รวมทั้งพิสูจน์สิทธิกรณีพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายดำรงค์ พิเดช บอกว่าเคยเดินทางไปพบกับชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อทำสวนยางและยื่นข้อเสนอ 3 ข้อคือ 1.อุทยานจะขอรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แล้วให้ออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไป 2.ให้ทำสวนยางต่อไปจนกระทั่งสวนยางหมดอายุแล้วให้ออกจากพื้นที่ และ 3.อุทยานจะหาพื้นที่อื่นที่สามารถปลูกยางได้เหมือนกันให้ และให้ออกจากพื้นที่ไป

“ปรากฏว่าไม่มีใครยอมรับข้อเสนอแม้แต่รายเดียว ผมจึงให้เจ้าหน้าที่เร่งพิสูจน์สิทธิทำกินว่า แต่ละรายมีใครอยู่ในพื้นที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี มิถุนายน 2541 ส่วนนี้ให้ทำกินต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่เข้าข่ายต้องออกจากพื้นที่ทันที ทางอุทยานแห่งชาติ จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด” เป็นคำขาดจากปากของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

วันที่ 16 เมษายน 2555 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จับกุมชาวบ้านบ้านตระ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ที่เข้าไปหาหน่อไม้ เห็ดแครง และหอยในลำห้วยอีกครั้ง แต่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองเอื้อง ยังคงไม่รับแจ้งความเช่นเดิม

นายดำรงค์ พิเดช ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2555 ว่า หากพื้นที่ไหนตรวจสอบพิกัดและพิสูจน์สิทธิเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการบุกรุกอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะทยอยจับพร้อมกับผลักดันให้ออกนอกพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูเป็นป่าอนุรักษ์เหมือนเดิม เช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง เจ้าหน้าที่จับไปแล้วประมาณ 200 ราย พื้นที่รวม 4,000 ไร่ เพราะพบว่าเป็นการรุกป่าใหม่ทั้งสิ้น แล้วมาอ้างว่าเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งตามกฎหมายแล้วโฉนดชุมชนจะเกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนพื้นที่ที่มีเอกสารการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ยังอนุญาตให้ทำกินต่อไปได้

“ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จับไปแล้ว 200 ราย พื้นที่รวม 4,000 ไร่ ผมทำหนังสือของบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อเป็นเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ ที่ลงไปปฏิบัติงานยึดพื้นที่สวนยางรุกป่าอนุรักษ์กลับคืนใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดพัทลุง โดยระดมเจ้าหน้าที่จากภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 2,000 นายเข้าไปร่วมปฏิบัติการ ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะมีการบุกรุกในวงกว้างและหลายพื้นที่ ถ้ามีกำลังเจ้าหน้าที่น้อยจะถูกชาวบ้านปิดล้อมด้วยจำนวนคนที่มากกว่า ทำให้ทำงานได้ยาก พื้นที่ที่เป็นปัญหามากที่สุดยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้คือ จังหวัดชุมพรก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่เคยถูกชาวบ้านปิดล้อมมาแล้ว จากการยุยงของกลุ่มผู้มีอิทธิพล” นายดำรงค์ พิเดช กล่าว

นอกจากจังหวัดชุมพรแล้ว นายดำรงค์ พิเดช ยังบอกอีกว่า บริเวณเทือกเขาบรรทัดมีปัญหาลักษณะนี้บ่อย กินบริเวณไปทั่ว เนื่องจากชุมชนในเขตป่าเติบโตมากขึ้น จากเดิมมี 40–50 ครอบครัว แต่ตอนนี้ขยายเป็น 1,000 ครอบครัว ไม่เพียงแต่เทือกเขาบรรทัดที่มีปัญหา พื้นที่สวนยางในภาคใต้หลายที่ก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ปัญหารุกป่ามีตั้งแต่ต้องการที่ดินอยู่อาศัยบ้าง นำไปทำประโยชน์อื่นๆ บ้าง พอเจ้าหน้าที่เข้าไปจับ ก็หาตัวเจ้าของที่ดินไม่ได้ไม่มีใครยอมรับ

ส่วนจะให้ทางจังหวัดดำเนินการก็ค่อนข้างติดปัญหา เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้ายุ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แม้จะมีอำนาจตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ก็พบปัญหาจับมาแล้ว ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นเจ้าของที่ดินและผลอาสินในเขตป่าอนุรักษ์ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่ยอมออกจากพื้นที่ด้วย

“ที่ผมกังวลและไม่เห็นด้วยมาตลอดคือ เรื่องป่าชุมชนที่จะให้ชาวบ้านดูแลป่า ผมว่าไม่ถูกต้อง ป่ากับคนต้องแยกจากกัน ไม่เช่นนั้นสัตว์ป่าก็อยู่ยาก เราต้องยอมรับความจริงว่า พื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ขยายเติบโตเรื่อยๆ ตรงนี้ควบคุมยาก ขณะเดียวกันการจับกลุ่มผู้บุกรุกป่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาอย่างที่ทราบ จับกุมใครไม่ได้เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่พอจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น กรณีวาตภัย หรืออื่นๆ กลับออกมารับความช่วยเหลือ แบบนี้ถ้าผมพบผมจับกุมทันที ที่ผ่านมาเราพบประมาณ 100 ราย" นายดำรงค์ พิเดช กล่าว

ล่าสุดเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด นำกำลัง 50 นาย ปิดทางเข้าหมู่บ้านท่าเขา ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และรื้อถอนสะพานทางเข้าหมู่บ้าน และเตรียมจะรื้อถอนขนำ 2 หลัง 1 ใน 2 หลังเป็นทับของซาไก

นี่คือ ความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่เว้นกระทั่งชาวซาไก ที่อาศัยและทำกินอยู่ในป่าภาคใต้มาเนิ่นนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท