Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

          ต้องยอมรับว่า การบริหารงานของรัฐบาลวันนี้ มีทั้งงานนโยบายที่ต้องเดินหน้า ขณะเดียวกันก็มีปัญหารุมเร้า เรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชน

          สถานการณ์สินค้าราคาแพงในขณะนี้ เป็นอีกเรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้างและทั่วถึง เนื่องเพราะปากท้องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับทุกๆคน ต้องกินต้องใช้ เพื่อดำรงชีพ

          เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการช่วยเหลือต่างๆออกมา รวมถึงตรวจสอบ ติดตามผล เพื่อแก้ไขปัญหา อย่างน้อยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้บริโภคมากที่สุด

          แพงจริง หรือรู้สึกไปเอง วันนี้คงได้คำตอบ

          เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางพร้อมคณะ สำรวจราคาสินค้าที่ตลาดสดพิชัย ย่านปากเกร็ด นนทบุรี ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีเอแบคโพลล์เผยผลสำรวจระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 3 คน 

          นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ต้องเห็นใจรัฐมนตรีทุกคน บางคนทำงานแต่ไม่เป็นข่าว” (มติชน, 9 พฤษภาคม 2555)      

          เป็นการปกป้อง ห่วงใยของท่านนายกฯ ที่นุ่มนวล เป็นเหตุเป็นผล ขณะที่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การไม่เป็นข่าวนั้น มีผล

          ทำให้รัฐบาล มิเพียงกระทรวงพาณิชย์ ถูกวิพากษ์ โจมตีจากหลายฝ่าย  

          พ้องกับอีกหลายๆเรื่อง ของกระทรวงอื่นๆ เมื่อมีปัญหา ก็อดมองไปที่ฝ่ายข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (PR)ไม่ได้ สื่อสารอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ประชาชนทราบหรือไม่ว่า รัฐบาล กระทรวง ทำอะไรไปแล้วบ้างในเรื่องนั้นๆ อยู่ระหว่างทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป

          การไม่เป็นข่าว มีข่าวออกน้อย หรือที่เรียกกันว่า อ่อนการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้รัฐบาลตั้งรับ ยิ่งปัญหารุมเร้า ยิ่งต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ 

          ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่สนใจ PR ขอโอกาสนี้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์ด้วยมองว่า มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่น่าพิจารณา ซึ่งจากข้อห่วงใยของท่านนายกฯ ที่ว่า รัฐมนตรีบางคนทำงานแต่ไม่เป็นข่าวนั้น สามารถมองได้ ดังนี้

          1 มีผลงานแต่สื่อสารไม่เป็น จึงไม่เป็นข่าว โดยรัฐมนตรีอาจพูดน้อยไป ไม่ชอบให้ข่าว ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการเป็นผู้นำโดยเฉพาะในยุคใหม่นี้ ทำงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องสื่อสาร ต้องอธิบาย ชี้แจง เนื่องจากสังคมซับซ้อนขึ้น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆมากขึ้น รวมถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยเฉพาะปัญหา ถ้าชี้แจงน้อยไป อาจเกิดความไม่เข้าใจ สับสน กระทั่งไม่พอใจ ประท้วง ชุมนุม ปิดถนน ส่งผลกระทบต่อการบริหารนโยบาย และการแก้ไขปัญหา

          2 มีผลงานแต่สื่อไม่นำเสนอ จึงไม่เป็นข่าว สื่อมีอิสระที่จะเสนอ หรือไม่เสนอข่าวใดก็ได้ สื่อมีเหตุผล มุมมองของสื่อ ในฐานะเป็นตัวแทนมวลชน ประชาชน มิใช่ตัวแทนรัฐบาล แต่ที่แน่ๆ สื่อย่อมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตด้วยข่าวสารคุณภาพ เพราะสื่อต้องแข่งคุณภาพข่าวสาร  “คุณภาพผลงาน คือคุณภาพข่าวสาร”

          3 มีผลงานแต่ขาดตัวช่วย จึงไม่เป็นข่าว ซึ่งก็คือ โฆษกกระทรวง ประชาสัมพันธ์กระทรวง กระทั่งโฆษกรัฐบาลที่จะช่วยรัฐมนตรีออกข่าว เพื่อเผยแพร่ผลงานกระทรวง รัฐบาลไปสู่สังคม ต้องช่วยรัฐมนตรีคิดประเด็น จังหวะเวลาไหน ควรออกข่าวเรื่องอะไร ต้องอ่านเกม ประเมินสถานการณ์แต่ละวัน เขียนเป็นข่าวสำเร็จรูปชงเรื่องขึ้นไปเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่งสื่อ ประชาชนได้ กระทรวงได้  

          4  มีผลงานแต่ตัวช่วยไม่เก่ง หรือพลิ้วพอ จึงไม่เป็นข่าว เช่น ไม่รู้ที่จะฉวยใช้สถานการณ์ ให้เป็นโอกาส หรือสร้างคะแนนนิยมต่อกระทรวงได้อย่างไร ซึ่งน่าเสียดาย พีอาร์เชิงรูทีนหรือแบบงานประจำ เป็นขีดจำกัด แทนที่จะได้เป็นข่าว ก็ไม่ได้ ต้องพีอาร์สร้างสรรค์ เชิงกลยุทธ์ สร้างข่าวไม่เป็น เป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้

          5  มีผลงาน แต่นาทีนั้น กระทรวงอื่นมีประเด็นเด็ดกว่า มีเหตุการณ์อื่นน่าสนใจกว่า จึงแย่งพื้นที่สื่อไป แทนที่จะลงข่าวเรา ก็ลงให้กระทรวงอื่น ทำให้เราไม่เป็นข่าว ทำอย่างไรจึงจะเบียดพื้นที่สื่อให้ได้ด้วยการสร้างผลงานให้น่าสนใจ

          6  อาจเป็นเพราะรัฐมนตรีไม่มีผลงานอะไรใหม่ๆ หรือความคืบหน้าใหม่ๆ จึงไม่เป็นข่าว สื่อไม่รู้จะเผยแพร่อะไร หรือเล่นประเด็นอย่างไร หากต้องการเป็นข่าว ต้องผลักดันงานใหม่ๆ ความสำเร็จใหม่ๆให้ประชาชน

          ผู้เขียนอยากเป็นกำลังใจในการทำงาน การถูกวิพากษ์โจมตีนั้น เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครทำอะไรให้ถูกใจใครได้ทั้งหมด เพียงแต่หากเลือกได้ ก็ไม่อยากให้ถูกวิพากษ์ แต่หากคิดว่า เราแก้ปัญหาได้ดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัวเช่นกัน 

          แต่ทั้งหลายทั้งปวง สถานการณ์สินค้าราคาแพง มิเพียงเป็นเรื่องของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เอาเข้าจริงหนีไม่พ้นรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบสูงสุด โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับควบคุมการทำงานของทุกกระทรวงเป็นภาพรวม

          เมื่อนายกรัฐมนตรีหนีไม่พ้น โฆษก PR รัฐบาลก็หนีไม่พ้น ในฐานะผู้กำกับ แนะนำการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของทุกกระทรวงเป็นภาพรวม

          เป็นอื่นไปไม่ได้ ถึงเวลาประเมินว่า จะ PR รัฐบาลอย่างไร ถึงจะ “เอาอยู่” ท่ามกลางการขับเคลื่อนงานนโยบายที่ต้องเดินหน้า ปัญหารุมเร้า มิให้เป็นที่ถูกวิพากษ์ โจมตีรัฐบาล กระทรวงหรืออยู่ในสภาพตั้งรับ

          หากเอาไม่อยู่  ก็จะเป็นวงจรปัญหารัฐบาลไปเรื่อยๆ วันนี้กระทรวงนี้ วันหน้ากระทรวงนั้น  หรือหลายๆกระทรวง ประสบปัญหาPRตั้งรับอยู่ร่ำไป

          ท่ามกลางการผลักดันภารกิจPRสู่ความสำเร็จ ที่ท้าทายทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งรับและรุก แนวทางหนึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลควรที่จะหนุนบทบาทโฆษกรัฐบาล เพื่อเป้าหมายผลงานข่าวทันปัญหา ความต้องการของรัฐบาล กระทรวง

          โดยตั้งโฆษกด้านการเมือง 1 ท่าน โฆษกด้านเศรษฐกิจ 1 ท่าน โฆษกด้านสังคม  1 ท่าน รวม 3 ด้าน แต่ละด้าน เน้นทีมงานเป็น PRเชิงรุก 1 ทีม และPRเชิงตั้งรับ 1 ทีม เกาะติดภารกิจรัฐบาล กระทรวง ทุ่มทำ PRเชิงรุก ทุ่มทำ PR ตั้งรับ เชื่อว่า “เอาอยู่”

          รัฐบาลต้องเดินหน้า พีอาร์ต้องหน้าเดิน!!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net