Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ในขณะที่ชาวอเมริกันที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย รักสองเพศ และคนข้ามเพศ รู้สึกตื่นเต้นยินดีกับคำประกาศของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าที่สนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ชุมชนความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้แต่เฝ้ามองด้วยความอิจฉา เพราะเราอาจต้องรออีกหลายทศวรรษกว่าจะมีผู้นำที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเช่นโอบาม่า
 
สถานการณ์จริงในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นตรงกันข้าม การเมืองไทยเต็มไปด้วยความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ เมื่อรมต.มหาดไทย ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์มีแนวคิดเรื่องการรับรองการแต่งงานคนรักเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายเมื่อหลายปีก่อน แนวคิดนั้นก็ถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็วโดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นแนวคิดแบบตะวันตก
 
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน จสต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียก นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัติย์ ว่า  “แต๋วแตก” คำตอบกลับของนายบุญยอดคือ “ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้าง ในพรรคเพื่อไทยมีคนที่แต๋วแตกมากกว่าอีก”
 
การกล่าวอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามเป็น เกย์ กะเทย ตุ๊ด แต๋ว เพื่อโจมตีทางการเมือง ถูกนำมาใช้โดยทั้งสองฝ่ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยมองคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศว่า สติไม่สมประกอบ, บกพร่องทางศีลธรรม ดังนั้นจึงไม่สมควรได้รับความเคารพใดๆ
 
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจะคาดเดาได้ ในประเทศที่ 1) วิชาการทางการแพทย์ยังจัดให้กะเทยเป็น “ความผิดปกติทางจิต”  2) ประชากรส่วนใหญ่ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “พุทธ” เชื่อว่าหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทยและคนข้ามเพศ เป็นพวกผิดศีลธรรมเพราะทำกรรมในชาติก่อน 3) นักเรียนมัธยมต้นถูกสอนในตำราของกระทรวงศึกษาธิการและในการสอบโอเน็ตว่า การรักเพศเดียวกันคือ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” 4) สื่อที่ได้รับความนิยม เช่นรายการตีสิบ คอยตอกย้ำความเชื่อในเชิงลบเช่นนี้อยู่ซ้ำๆ โดยการเลือกนำเสนอภาพว่า หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกะเทย เป็นมีศีลธรรมต่ำ, สำส่อน และแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี
 
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยไม่มี บุคคลสาธารณะที่ประกาศตัวเองอย่างเปิดเผยว่าชอบเพศเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ผู้นำประเทศหลายคนก็เป็นคนรักเพศเดียวกัน แม้แต่คนรักต่างเพศที่ไม่กลัวจะถูกลือว่าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนก็ยังลังเลที่จะสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศ เพราะกลัวถูกมองว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำไปด้วย
 
ชาวต่างชาติมักมองประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่ “ให้การยอมรับ” ต่อหญิงรักหญิง ชายรักชาย และกะเทย เพราะพบเห็นกะเทยได้ทั่วไปมากกว่าในประเทศของตน แต่มายาคตินี้ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานผิดๆ ที่ว่า กะเทยที่พบเห็นได้ทั่วไปนั้นได้รับการยอมรับนับถือหรือสิทธิต่างๆ อย่างเสมอภาค น้อยคนนักที่จะสังเกตว่ากะเทยเหล่านั้นได้รับโอกาสให้ทำงานแต่ในระดับล่าง  หรือการที่เห็นเกย์ไทยสนุกสนานกันเต็มที่กับชีวิตกลางคืนตามผับบาร์เกย์ที่มีอยู่ทั่วไป ก็ปิดบังความจริงที่ว่า มีเกย์จำนวนน้อยที่เปิดเผยตนเองกับครอบครัว และยิ่งน้อยลงไปอีกที่จะเปิดเผยตนเองในที่ทำงาน โดยเฉพาะหากทำงานในภาครัฐหรือบริษัทใหญ่ 
 
จริงอยู่ที่ว่า หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกะเทย ในเมืองไทยไม่ต้องกลัวโดนเอาไม้มาทุบหัวเหมือนในต่างประเทศ แต่นั่นก็เป็นเพราะ จารีตวัฒนธรรม ได้คอยตอกย้ำเข้าไปในสมองอยู่แล้วว่า มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนอื่น ตราบใดที่เรายังอยู่เงียบๆ ในรั้วที่วัฒนธรรมกำหนดไว้ สังคมก็จะปล่อยเราเฉยๆ แต่หากเราพยายามที่จะข้ามเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นทางการมากขึ้น สังคมก็พร้อมที่จะลงทัณฑ์ให้เรา “อยู่กับร่องกับรอย” บางครั้งถึงขนาดด้วยการใช้ความรุนแรง
 
การก่อม็อบปิดกั้นรุมด่าทอยับยั้งขบวนพาเหรดเชียงใหม่เกย์ไพรด์เมื่อสามปีก่อน หรือการที่ผู้คนส่วนใหญ่ในเชียงใหม่สนับสนุนคำสั่งห้าม “การแต่งกายผิดเพศ” บนขบวนรถบุปผชาติและสงกรานต์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อต้านทางวัฒนธรรมไม่ให้หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกะเทย ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค
 
ปริมณฑลสาธารณะไม่ใช่พื้นที่เดียวที่หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกะเทย ต้องคอยระมัดระวัง คนจำนวนมากรู้สึกอึดอัดเมื่อรู้สึกว่ามีหญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือกะเทย เข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของตน คนส่วนใหญ่ยังคงต่อต้านร่างกฎหมายที่จะรับรองการแปลงเพศ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ชายจะ “ถูกกะเทยหลอก” แต่งงาน (ในขณะที่กฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันดูเหมือนจะดู “น่ากลัว” น้อยกว่า เพราะไม่เกี่ยวกับคนส่วนใหญ่) 
 
สถานการณ์ยิ่งรุนแรงถึงขั้นชีวิต เมื่อมีผู้รู้สึกว่า “ถูกรุกล้ำ” พื้นที่ส่วนตัวจริง ไม่ใช่แค่จินตนาการสถานการณ์อนาคต
 
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทอมคนหนึ่งถูกฆ่าที่จังหวัดตราดและศพถูกนำไปทิ้งในอ่างเก็บน้ำ ผู้ต้องหาคือแม่ของหญิงสาวที่เป็นแฟนของเหยื่อสารภาพอย่างเต็มปากเต็มคำว่าที่วางแผนฆ่านั้นเพราะไม่อยากให้ลูกสาวคบกับทอม คดีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เหยื่อถูกฆ่าเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของตน กรณีเช่นนี้จะถูกนับว่าเป็น "อาชญากรรมจากอคติเกลียดชัง" (hate crime) ในต่างประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมที่มีแรงกระตุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนจากอคติรังเกียจของผู้กระทำต่ออัตลักษณ์ของผู้ถูกกระทำ เช่น กฎหมาย Matthew Shepart Act ในสหรัฐอเมริกา (เพื่อรำลึกถึงเด็กหนุ่มที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเพราะเป็นเกย์)
 
เราต่างอยากภาวนาว่า กรณีนี้เป็นเพียงแค่กรณีที่เกิดขึ้นลอยๆ โดดๆ แต่เริ่มมีหลักฐานปรากฏให้เห็นว่านี่อาจเป็นหนึ่งในรูปแบบความรุนแรงต่อทอมและหญิงรักหญิงที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นี้ เมื่อสามปีก่อน เด็กสาวอายุ 17 ปีสองคนที่มีความสัมพันธ์กันแบบหญิงรักหญิงถูกพบเป็นศพพร้อมแผลถูกแทงกว่าหกสิบแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจสันนิษฐานว่า ถูกฆาตกรรมด้วยฝีมือของผู้ชายที่มาติดพันคนใดคนหนึ่งและไม่พอใจในความสัมพันธ์ของเด็กทั้งสอง เนื่องจากไม่มีเหตุน่าสงสัยอื่นๆ ตำรวจจึงสันนิษฐานได้อย่างรวดเร็วว่า น่าจะเกิดจากความหึงหวงและอคติเป็นสาเหตุ แต่กรณีนี้นับว่าเป็นกรณียกเว้น
 
เนื่องจากการมองด้วยมุมมอง "อาชญากรรมจากอคติเกลียดชัง" ไม่มีอยู่ในระบบกฎหมายของไทย ตำรวจจึงมักฟันธงไปก่อนว่า กรณีอื่นๆ ที่คล้ายกันนั้นเกิดจากความหึงหวงกันทั่วๆ ไปเท่านั้น ในระยะเวลาหกปีที่ผ่านมา มีอีกอย่างน้อยห้าคดีที่ทอมหรือหญิงรักหญิงถูกฆ่าโดยตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุเพราะไปติดพันผู้หญิงที่มีแฟนหรือสามีอยู่แล้ว
 
การสันนิษฐานเช่นนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้กระทำความผิด และโยนความผิดไปให้กับเหยื่อ ราวกับว่าการฆ่าทิ้งเป็นการตอบแทนที่สาสมแล้วกับการไปเกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่มีแฟนหรือสามีอยู่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้สังคมมืดบอดมองไม่เห็นว่า ในเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน หากผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นผู้ชายก็ไม่น่าที่จะถึงขนาดถูกฆ่าทิ้ง กรณีที่จังหวัดตราดแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ตายจะไม่ถูกฆ่าอย่างแน่นอนหากเธอเป็นผู้ชาย
 
การฆ่าทิ้งยังมิใช่ความรุนแรงอย่างเดียวที่ทอมและหญิงรักหญิงต้องประสบ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เด็กหญิงอายุ 14 ปีคนหนึ่งที่จังหวัดเลยเข้าแจ้งความกับตำรวจว่า ถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืนมาตลอดสี่ปี โดยพ่อรับสารภาพและแก้ตัวว่า ทำไปเพราะ “ชอบคบหากับพวกทอม สั่งสอนแล้วไม่เชื่อ”  เป็นที่รู้กันว่าการข่มชืนหญิงรักหญิง “เพื่อรักษาให้หาย” (“corrective rape”) นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รบความสนใจจากภาครัฐ
 
กรณีต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ปลายให้เห็นเท่านั้น คำถามคือยังมีความรุนแรงจากความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศอีกมากมายเท่าใดที่ไม่ถูกรายงานหรือแจ้งความ กรณีการฆ่าทอมและหญิงรักหญิงอย่างโหดเหี้ยมเหล่านี้ทำให้องค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยร่วมกับ International Gay and Lesbian Human Rights Commission ส่งจดหมายถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการต่างประเทศ และสำเนาถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อกำจัดความรังเกียจและการเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ทั้งนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากภาครัฐแต่อย่างใด
 
รายงานของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วระบุว่า การฆาตกรรม ทุบตีทำร้าย ลักพาตัว ข่มขืน และการประทุษร้ายทางเพศต่อ หญิงรักหญิง ชายรักชาย รักสองเพศ และคนข้ามเพศ เป็นความรุนแรงที่เกิดจาก “ความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงทางเพศ และมีแรงกระตุ้นจากความต้องการลงทัณฑ์ต่อผู้ที่ถูกมองว่า “ละเมิดบรรทัดฐานทางเพศ” และความรุนแรงเช่นนี้ “มักจะโหดเหี้ยมกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับอาชญากรรมที่เกิดจากอคติเกลียดชังรูปแบบอื่น”
 
การปิดหูปิดตาแสร้งบอกว่า “ประเทศไทยให้การยอมรับต่อเพศที่สาม” ทำให้สังคมไทยมืดบอดต่อความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม เปิดโอกาสให้อาชญากรรมที่โหดเหี้ยมเช่นนี้เกิดขึ้น
 
จริงอยู่ที่ว่า กะเทย (จากชายเป็นหญิง) ไม่ค่อยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกเยาะเย้ยและเลือกปฏิบัติอยู่ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อทอมและหญิงรักหญิงแสดงให้เห็นว่า การข้ามเส้นแบ่งเรื่องเพศจากหญิงไปเป็นชาย อาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากสำหรับคนไทยบางส่วน โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาใกล้กับชีวิตของตนเอง
 
ในโอกาสวันยุติความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศสากลในวันนี้ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนองค์กรสหประชาชาติ Navi Pillay ได้กล่าวว่า "ความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ไม่ต่างกับลัทธิแบ่งเพศ การเหยียดผู้หญิง ลัทธิแบ่งแยกสีผิว และลัทธิรังเกียจคนต่างชาติ แต่ในขณะที่อคติต่างๆ ที่ว่านี้ถูกรัฐบาลทั่วโลกประณาม  ความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศมักกลับถูกมองข้ามไป แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกปฏิบัติและอคติต่างๆ นั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์อย่างโหดเหี้ยมเพียงใด ไม่มีใครมีสิทธิที่จะปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลอื่นๆ ว่ามีคุณค่าต่ำกว่าหรือ ไม่ควรค่าต่อการให้ความเคารพ พวกเราทุกคนมีสิทธิเช่นเดียวกัน ควรได้รับความเคารพและการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมเช่นเดียวกัน โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ"
 
แม้ว่าปีที่แล้วประเทศไทยจะปรับนโยบายต่างประเทศอย่างสำคัญ ด้วยการให้การสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้ให้การสนับสนุนมติสหประชาชาติที่ต้องการประณามการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมด้วยสาเหตุความหลากหลายทางเพศ
 
มาถึงตอนนี้ เมื่อเริ่มมีหลักฐานว่า ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นในบ้านของเราเอง ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการกำจัดต้นตอของความรังเกียจต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ที่ยังแอบซ่อนอยู่อย่างแยบยล แต่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในสังคมไทย
 
 
 
(แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Nation วันที่ 17 พ.ค. 2555 http://www.nationmultimedia.com/opinion/Homophobia-and-prejudice-Its-time-to-kil-the-hate-30182152.html)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net