Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในโลกไซเบอร์ของพวกสลิ่ม มีสมาชิกผู้หนึ่งได้โพสต์ข้อความอย่างหงุดหงิดว่า “อากงก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ทำไมถึงให้ความสำคัญกันมากนัก” แต่ปรากฏว่า ฝ่ายเอเอสทีวีผู้จัดการ และกลุ่มฝ่ายขวา พยายามจะโจมตีว่า “ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช.” เป็นฝ่ายที่พยายามเอาศพอากงมาหากิน โดยพยายามสร้างให้ชาวบ้านธรรมดาอย่างอากงกลายเป็น”ผู้เสียสละตลอดกาล”
 
ความจริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย หรือ นปช.เลย ที่ทำให้”ชาวบ้านธรรมดา”แบบอากง กลายเป็นคนสำคัญถูกเอ่ยถึงอยู่ในสื่อมวลชน แต่เป็นเพราะอากง หรือ นายอำพน ตั้งนพคุณ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกดำเนินการภายใต้กระบวนการใส่ร้ายป้ายสี ถูกละเลยสิทธิการประกันออกมารักษาตัวทั้งที่ป่วยหนัก และในที่สุดอากงก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในเรือนจำเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ความตายของอากงนี้เอง กลายเป็นสิ่งที่จะท้อนความชั่วร้ายของมาตรา ๑๑๒ ความอำมหิตของศาลไทย และความล้มเหลวของระบบราชทัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งสะท้อนความงมงายมืดบอดทางปัญญาของพวกสลิ่มฝ่ายขวาในสังคมไทยอีกด้วย
 
กรณีนี้ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังตำรวจหลายสิบคน ไปจับกุมนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” ที่บ้านพัก จังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ ทั้งนี้เพราะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังกวาดล้างประชาชนคนเสื้อแดง ได้มีบุคคลลึกลับส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือเอสเอ็มเอส เป็นข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังบุคคลในคณะรัฐบาล ต่อมา นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงได้แจ้งความต่อทางการตำรวจ และเมื่อได้มีการสืบหาตัวคนร้ายแล้ว ทางการตำรวจพบว่า นายอำพนคือผู้ต้องสงสัย จึงได้ดำเนินการจับกุม
 
ความจริงนายอำพน หรืออากง ในขณะนั้นมีอายุ ๖๐ ปี แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้สูงอายุคนหนึ่ง ที่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน ไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์ โทรศัพท์ที่มีก็ไว้ใช้ติดต่อกับลูกหลานเป็นหลัก อากงได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้น โดยยืนยันว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ เคยพาหลานไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช และยังอธิบายว่า ตนเองส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น และไม่เคยรู้จักหรือทราบเบอร์โทรศัพท์ของเลขานุการนายกรัฐมนตรีเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนขั้นแรก อากงถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ๖๓ วัน จนถึงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ หลังจากที่ทนายความขอยื่นประกันครั้งที่สอง ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
 
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เมื่ออัยการยื่นฟ้องนายอำพลต่อศาล อากงก็เดินทางมาศาลตามนัดหมาย แต่กลับถูกศาลถอนประกันตัว โดยอธิบายว่า “ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี” ตั้งแต่นั้นมา อากงก็ต้องติดอยู่ในเรือนจำจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
 
ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า อากงมีความผิดคือ เป็นผู้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๔ ครั้ง ศาลจึงตัดสินจำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมแล้วเป็น ๒๐ ปี ในที่นี้จะขออธิบายว่า ศาลตัดสินลงโทษในคดีนี้ทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก โดยศาลเชื่อว่า โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องเดียวกับโทรศัพท์ของอากง เพราะมีเลขอีมี่ของเครื่องตรงกัน ทั้งที่สืบสวนได้ว่า ผู้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นใช้เบอร์โทรศัพท์ของดีแทค ส่วนเบอร์ที่อากงใช้อยู่นั้นเป็นของทรูมูฟซึ่งเป็นคนละเบอร์ แต่ศาลก็อ้างว่าโทรศัพท์ที่อากงใช้ ก็เป็นโทรศัพท์ ๒ ซิมการ์ด อากงจึงสามารใช้ ๒ เบอร์สลับกันได้ ศาลไม่รับฟังคำอธิบายว่าในเดือนที่เกิดเหตุนั้น อากงเอาโทรศัพท์ไปซ่อม จึงไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ โดยหักล้างว่า จำเลยไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้านไหน
 
ในประเด็นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของอากง ก็คือ การที่โจทย์ไม่สามารถสืบพยานได้เลยว่ามีใครรู้เห็นเหตุการณ์ว่าอากงส่งเอสเอ็มเอส แต่ศาลอธิบายเกลื่อนประเด็นนี้ว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง ... แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน” คำอธิบายลักษณะนี้ ขัดกับหลักการของกฎหมายเบื้องต้นที่ว่า ในการตัดสินให้จำเลยมีความผิด ศาลจะต้องมีข้อพิสูจน์ให้เห็นอย่างสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการ
 
ดังนั้น การตัดสินลงโทษอากงให้ถูกจำคุกถึง ๒๐ ปี จึงเป็นทั้งเรื่องของความไร้เหตุผลของมาตรา ๑๑๒ และเป็นการตัดสินคดีที่เกินกว่าเหตุ เพราะจำเลยไม่มีประวัติเป็นอาชญากรมาก่อนเลย และไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันว่าเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ไม่ได้ก่ออาชญากรรมอันใดที่ร้ายแรง เพราะการส่งข้อความเอสเอ็มเอสจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ส่งสารกับผู้รับสารเพียง ๒ คน ไม่ได้เป็นการก่ออาชญากรรมกับสังคมแต่อย่างใด นอกจากผู้รับข้อความแล้วไม่มีใครทราบข้อความนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะไปกระทบความมั่นคงต่อพระราชอาณาจักร แต่ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้อธิบายไว้ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม  พ.ศ.๒๕๕๔ ว่า อากงนั้น เป็น “...บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น...”
 
ในที่สุด เมื่ออากงเสียชีวิตในเรือนจำแล้ว ศาลถูกโจมตีอย่างหนัก เรื่องการละเมิดสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา จึงทำให้อากงต้องถึงแก่กรรมในคุก นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ออกมาแก้ต่างว่า คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้ว ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ เนื่องจากประสงค์จะให้คดีสิ้นสุด และจะได้ใช้สิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นเมื่อถอนอุทธรณ์ให้คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยก็ไม่สามารถยื่นประกันตัวอีกได้ ดังนั้น ความรับผิดชอบในเรื่องการเสียชีวิตของอากง จึงเป็นเรื่องความผิดพลาดของราชทัณฑ์ ไม่ได้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของศาล แต่เหตุผลนี้ถูกตอบโต้โดยทันทีจาก นายอานนท์ นำภา ทนายของอากง ซึ่งชี้แจงว่า ทนายได้ขอยื่นประกันมาแล้ว ๘ ครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกัน และการไม่ได้ประกันตัวนี้เอง ทำให้อากงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เพื่อให้คดีสิ้นสุด ทั้งที่อากงยืนยันเสมอว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ หมายถึงว่ากระบวนการยุติธรรมไทยนั้น บีบบังคับให้จำเลยยอมจำนน ทั้งที่จำเลยยังยึดมั่นว่า ตนไม่ได้กระทำความความผิด
 
กรณีอากงถึงแก่กรรมในเรือนจำจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก โดยการเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศมักพุ่งไปทีสามประเด็นหลัก คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรา ๑๑๒  และประเด็นเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในยุคปัจจุบัน ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยยังเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ ดังนั้น พวกสลิ่มและสื่อมวลชนฝ่ายขวาทั้งหมด พยายามจะเสนอประเด็นว่า นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า และคนเสื้อแดง พยายามเอาศพอากงมาหากินเพื่อจะเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา ๑๑๒ เพื่อล้มเจ้า
 
ในกรณีนี้ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์  ผู้ประสานงาน ครก.๑๑๒ อธิบายว่า “ไม่มีใครอยากให้อากงเสียชีวิต เพียงหวังให้ มาตรา ๑๑๒ เป็นประเด็นที่สังคมกลับมาถกเถียงกันอีก คนปกติทั่วไปที่มีสามัญสำนึกดีจะไม่มีความคิดแบบนี้ นี่เป็นการโยงใยที่ไร้เหตุผลที่สุด แล้วน่ารังเกียจที่สุด มีแต่คนที่ชิงชังรังเกียจและตามืดบอดต่อปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๑๑๒ เท่านั้น ที่จะตั้งข้อสงสัยแบบนี้ได้”
 
นี่คือความมืดมนในสังคมไทย!
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net