กรุงเทพโพลล์สำรวจ “ความคิดสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ”

ประชาชน 98.0% เชื่อความคิดสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุ มหาวิทยาลัย  โรงเรียน  และครอบครัว  ควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เห็นเป็นรูปธรรม

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 994 คน พบว่า

สิ่งที่ประชาชนคิดถึงมากที่สุดเมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ คือ เป็นความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ศิลปะ การวาดรูป วาดการ์ตูน การออกแบบบ้าน การออกแบบเสื้อผ้า (ร้อยละ 19.1) รองลงมาคือ การประดิษฐ์คิดค้นผลงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น (ร้อยละ 16.2) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การสร้างหุ่นยนต์ นวัตกรรมยานยนต์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 13.3)

เมื่อถามว่าตนเองเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ประชาชนถึงร้อยละ 83.5 ระบุว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวเกิดจากการจินตนาการ แรงบันดาลใจ ประสบการณ์ การช่างสังเกต การฝึกฝนตั้งแต่เด็ก สิ่งแวดล้อมรอบตัว  ขณะที่ร้อยละ 16.5 ระบุว่าเป็นคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ไม่ชอบคิด ไม่มีจินตนาการ  ความเครียด คิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ชอบทำตามคนอื่นๆ  คิดแล้วกลัวทำผิด  อย่างไรก็ตาม  เมื่อถามว่าประเทศไทยขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 66.2 ระบุว่าขาดแคลน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า คนไทยไม่ชอบคิดนอกกรอบ ชอบเลียนแบบคนอื่น ไม่มีคนสนับสนุนและต่อยอดทางความคิด  ในขณะที่ร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่ขาดแคลน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า คนไทยชอบอะไรแปลกๆ อยู่แล้ว มีศักยภาพในตัวเอง คนสมัยใหม่กล้าคิดกล้าทำ เป็นต้น  ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเชื่อว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์  แต่ความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวก็ไม่ได้แปลงมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

เมื่อถามต่อว่าปัจจัยใดเป็นตัวบั่นทอนทำลายความคิดสร้างสรรค์ในตัวของประชาชนคนไทยมากที่สุด  ร้อยละ 32.6  ระบุว่าเป็นผลมาจาก ความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน และค่าครองชีพ  รองลงมาร้อยละ 23.5 เป็นผลมาจากสภาพสังคมไทยที่ไม่ค่อยยอมรับผู้ที่มีความคิดแปลก แตกต่าง และร้อยละ 14.7 เชื่อว่าเป็นผลมาจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ ขาดการให้ความสำคัญของฝ่ายการเมือง

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า ประชาชนร้อยละ 98.0 ระบุว่ามีประโยชน์  กล่าวคือจะช่วยให้มองโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น จะทำให้มีการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น  รวมถึงมีแนวคิดใหม่ๆ ทำให้คนมีการพัฒนา ทันสมัยทันโลก เป็นผู้นำทางความคิด  ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีประโยชน์ โดยประชาชนกลุ่มนี้เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยก็พัฒนาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นสถาบันที่มีบทบาทมากถึงมากที่สุดในการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เห็นเป็นรูปธรรม (ร้อยละ 81.5) รองลงมาคือ โรงเรียน (ร้อยละ 80.4) และครอบครัว (ร้อยละ 74.3)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท