ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับ ‘เลดี้กาก้า’ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ศิลปิน “เลดี้ กาก้า” มาเปิดการแสดงดนตรีที่เมืองไทยนั้น เป็นวันเดียวกันกับที่ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...”  (เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ) ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุม “เรื่องด่วน” ของสภาผู้แทนราษฎรช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“เลดี้ กาก้า” เองได้ใช้ผลงานเพลงยอดนิยม “Bad Romance” ถ่ายทอดภาพผลกรรมของการใช้อำนาจแย่งชิงสิ่งที่สวยในรูป แต่จูบไม่หอม จนสุดท้ายผู้มีอำนาจที่คิดว่าแน่ ก็ได้แต่ไหม้แช่คาเตียง 

คำถามคือ ร่าง พ.ร.บ. “จูบปาก” ที่ว่า จะพบจุดจบรักขมแบบเดียวกันหรือไม่ ? 

ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มีสาระสำคัญ สรุปได้ 3 ประการ คือ 

(1) มาตรา 3 และ มาตรา 4 เป็นการ “นิรโทษกรรม” ให้กับผู้ที่กระทำผิดใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548  จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ สิ่งที่ทำไปนั้นให้ถือว่าไม่ผิด

(2) มาตรา 5 ประกอบ มาตรา 4 เป็นการ “ล้างผลทางกฎหมาย” ของการใช้อำนาจโดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้กระทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ (คปค.) กล่าวคือ การลบล้างผลการใช้อำนาจ เช่น ล้างผลการดำเนินคดีของ คตส. ตลอดจนคำพิพากษาที่ตามมา แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมว่าการกระทำใดเป็นให้ถือว่าไม่ผิดหรือไม่  

(3) มาตรา 6 เป็นการ “คืนสิทธิการเลือกตั้ง” ให้กับผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เช่น พรรคพลังประชาชน

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ฯ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?
หากมีการเดินหน้าพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังที่ปรากฏ ก็อาจมีผู้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ หรือไม่ ในประเด็นต่อไปนี้

1.1 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 หรือไม่ ?

ผู้ที่เห็นว่าขัด อาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 5 เป็นการล้มล้างผลทางกฎหมายที่สืบทอดมาจากการรัฐประหารโดยตรง เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. จึงถือว่าขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2549) ได้รับรองไว้ ซึ่ง มาตรา 36 หรือ มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ได้รับรองผลทางกฎหมายของการใช้อำนาจโดย คตส. เช่นกัน หากจะล้างผลดังกล่าวได้ ก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัด ก็อาจมองว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพียงแต่รับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของการดังกล่าว เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. แต่ไม่ได้บัญญัติให้การดังกล่าวมีลำดับศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำ เช่น การใช้อำนาจโดย คตส. ก็เป็นเพียงการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และย่อมสามารถถูกล้มล้างโดยกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ. เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะ มาตรา 5 เองมิได้เป็นการล้มล้างอำนาจของผู้กระทำรัฐประหารโดยตรง เพียงแต่ล้างผลทางกฎหมายจากการใช้อำนาจโดย “องค์กรหรือคณะบุคคล” ที่เป็นผลจากผู้กระทำรัฐประหารเท่านั้น 

1.2 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 216 และ 237 หรือไม่ ?

ผู้ที่เห็นว่าขัด อาจมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 6 เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค จึงขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 216  ซึ่งบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา...” อีกทั้ง มาตรา 237 ซึ่งบัญญัติถึงการตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปี ที่ชัดเจน ดังนั้น รัฐสภาย่อมไม่อาจตรากฎหมายแก้ไขผลคำวินิจฉัย หากจะกระทำ ก็ต้องกระทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ขัด ก็อาจมอง (อย่างลำบาก) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 6 มิได้เป็นการแก้ไขคำวินิจฉัย เพราะพรรคก็ย่อมถูกยุบไปแล้ว และสิทธิก็ถูกตัดไปแล้ว เพียงแต่รัฐสภาจะตรากฎหมายที่ให้สิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐสภาจะตรากฎหมายได้  

1.3 ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 4 หรือ มาตรา 5 หรือ มาตรา 6 ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่ ?

หากผู้ใดศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คดีที่ศาลวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด จะพบว่า นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจพิจารณาความชอบของพระราชกำหนดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะกรณีที่ฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่แล้ว ศาลยังได้วางหลักทั่วไปว่า ห้ามใช้อำนาจ “โดยไม่สุจริตเพื่อบิดเบือนรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ซึ่งอาจมีผู้มองว่า ศาลกำลังนำหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาประกอบการตีความการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ตรากฎหมายนั่นเอง ซึ่งก็มิอาจทราบได้แน่ว่า ศาลจะนำหลักการดังกล่าวมาพิจารณาการตรากฎหมายโดยรัฐสภา ที่เป็นการนิรโทษกรรม หรือเป็นการล้างผลทางกฎหมาย หรือ เป็นอาจกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยรวมทั้งหมดว่า ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่
แม้กรณีที่กล่าวมาอาจทำให้บางฝ่ายกังวลว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความให้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ตกไปทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ หากรัฐสภาปล่อยให้เกิดประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะคุ้มค่าหรือไม่ หากสุดท้ายศาลได้ตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิรัฐประหาร หรือแม้แต่เพิ่มความไม่สมดุลระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจอื่นให้น่าหนักใจยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ?  

2. ร่าง พ.ร.บ.ฯ ขัดแย้งกับจังหวะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ ?

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็คือ รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมเข้าเสนอนั้น มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียว อีกทั้งหากมองว่าประเด็นของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่อาจมีผู้มองว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นเพียงเครื่องมือวัดกระแสสังคม ก่อนที่จะมีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออ้างความชอบธรรมจากการอาศัยกลไกการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการสอดแทรกข้อความ เรื่องนิรโทษกรรม-ล้างผลคดีจากรัฐประหาร-คืนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ ?

ข้อน่าคิดก็คือ แทนที่จะมาถกเถียงถึง ร่าง พ.ร.บ.ฯ ประหนึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายในตอนนี้ จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐสภาจะอาศัยโอกาสในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดบตรากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียในการปรองดองที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย (เช่น ถูกคุมขัง หรือ การถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง) สามารถใช้โอกาสช่วงที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เป็นการชั่วคราว” เพื่อดำเนินกิจกรรมได้อย่างเสรีในการร่วมแสวงหาวิธีการในการปรองดองในชาติ จนเกิดเป็นข้อเสนอ “ทางเลือก” ซึ่งประชาชนสามารถตัดสินใจลงประชามติเลือก “แนวทางใดแนวทางหนึ่ง” ได้ในวันเดียวกันกับวันลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป (แทนที่จะสอดแทรกแนวทางเดียวมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญในแบบมัดมือชก) จะกระทำได้หรือไม่?

3. ใครเป็นผู้ตีความขอบเขตการนิรโทษกรรม และรวมถึงกรณี มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ?

แม้หาก ร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีปัญหาตามมาว่า ใครคือ “ผู้มีอำนาจตีความ” ว่า การกระทำที่นิรโทษกรรมได้ ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มาตรา 4 ที่รวมถึง “การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง” มีขอบเขตเพียงใด เพราะเพราะแม้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีบทขยายความ แต่ก็ไม่ได้กำหนดนิยามที่สิ้นสุดไว้ เช่น อาจมีผู้ถามต่อว่า ความผิดกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะสามารถตีความว่าเป็นเรื่อง “การแสดงออกทางการเมือง” ได้หรือไม่ ?

ข้อที่น่าคิดก็คือ หากปล่อยให้ ตำรวจ  DSI  อัยการ  ศาล  ต่างมีอำนาจตีความกันเองในส่วนที่เกี่ยวกับตน ก็อาจมีแนวการตีความที่ไม่ตรงกัน และสุดท้ายหากตีความไปแล้วมีปัญหา ก็จะต้องอาศัยอำนาจตุลาการชี้ขาดหรือไม่ ? หรือจะมีการเสนอให้มีคณะกรรมการมารับผิดชอบ “การตีความ” หรือ “ขจัดความขัดแย้ง” โดยเฉพาะ ? 

4. ร่าง พ.ร.บ.ฯ บังคับให้คุณทักษิณ ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงหรือ ?

คำอธิบายที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะลบล้างผลจากการรัฐประหาร แต่ทำให้ “คุณทักษิณ” ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์อีกครั้งนั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นดังที่ว่าหรือไม่ เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ฯ มาตรา 5 บัญญัติเพียงว่า เมื่อล้างผลของคดีเดิมแล้ว “ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป” อีกทั้งให้นำ มาตรา 4 มาอนุโลม ซึ่งความหมายโดยรวมแล้ว แปลว่าอะไร ก็ยังไม่แน่ชัด และสุดท้ายหาก อัยการ หรือ ผู้มีอำนาจฟ้องคดีคุณทักษิณวินิจฉัยเองว่า หลักนิติธรรม หมายถึงการไม่ต้องเริ่มต้นคดีใหม่นั้น จะนำไปสู่ปัญหาให้ศาลหรือผู้ใดต้องตีความคำว่า "นิติธรรม" ต่อไปหรือไม่ ? 

5. ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการปล้นประชาธิปไตย หรือปล้นชีวิต หรือปล้นชาติ ไปจากประชาชน ?

ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีปัญหาในเชิงหลักการว่า ขอให้สังคมไทยลืมอดีต แต่ไม่ตอบว่าสังคมไทยจะเดินต่อไปสู่อนาคตอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการถอยกลับเข้าสู่วังวนปัญหาเดิม เช่น 

- การมุ่งล้างผลการใช้อำนาจโดย "องค์กร" หรือ "คณะบุคคล" ที่เป็นผลพวง “ลำดับรอง” จากการทำรัฐประการ แต่กลับไม่แตะต้อง "ผู้ทำรัฐประหารลำดับต้น" เช่น คปค. หรือ คมช. ที่กระทำการล้มล้างการปกครองเสียเอง หมายความว่าผู้แทนในสภากำลังจะยอมรับความมีอยู่ต่อไปของวงจรแห่งลัทธิรัฐประหาร แถมเปิดแนวปฏิบัติให้มีการรอมชอมกันเองภายหลัง ใช่หรือไม่ ?

- การล้มเลิกการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจต่อประชาชนหรือในทางกลับกัน โดยไม่มีการกำหนดเรื่องการค้นหาความจริงหรือแสดงความรับผิดชอบ ก็คือการกลับไปสู่วังวนของปัญหาการใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมู่มาห่ำหั่นกันเอง ใช่หรือไม่ ? 

- การล้มล้างคดี คตส. โดยไม่มีขั้นตอนที่รัดกุมว่าจะดำเนินคดีใหม่หรือไม่อย่างไร แต่กลับอ้างหลักนิติธรรมอย่างเลื่อนลอย ก็คือการก้าวกลับไปสู่วิกฤติที่ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตลอยนวลได้ ใช่หรือไม่ ?

สุดท้ายแล้วเราจะได้ "เรียนรู้อะไร" จากการปรองดองจูบปากที่ว่านี้ ? อย่างน้อยที่สุด การปรองดองควรต้องประกอบไปด้วยการค้นหาความจริง หรือการยอมรับผิดขอโทษ  และหากจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ก็ยังให้อภัยได้ เช่น ใช้วิธี “รอลงอาญา” (ไม่ว่าจะใช้กับ คมช. นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ประชาชน) ย่อมจะเหมาะสมกว่าการผูกมัดรัดมือประชาชนให้ทำลืมว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มิใช่หรือ ? 

6. ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นโอกาสให้เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสี หันมาแสวงหาจุดร่วมกันได้หรือไม่ ?

หากประชาชนในสังคมไทยเริ่มเห็นว่า การปรองดองของผู้มีอำนาจ คือ พัฒนาการล่าสุดของ “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และสุดท้าย ผู้ที่ประชาชนแต่ละฝ่ายมองว่า เป็นผู้ปล้นประชาธิปไตยก็ดี เป็นผู้ฆ่าประชาชนก็ดี หรือเป็นผู้โกงกินบ้านเมืองก็ดี ต่างก็ไม่ต้องรับผิดถ้วนหน้า แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประชาชนทั้งหลายจะหันมาแสวงหาจุดร่วมเพื่อต่อต้าน “ระบอบอำมาตย์ร่วมสมัย” และทำให้เห็นว่า การ “ตีหน้านิ่ง” เล่นไพ่ปรองดองนั้น สุดท้ายก็คือการจูบปากที่จบลงแบบ “Bad Romance” นั่นเอง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท