Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความก่อนปิดหีบการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ซึ่งเพื่อไทยส่ง "สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช" ชนกับ "รัตนา จงสุทธนามณี" แห่งภูมิใจไทย แม้ว่ากลุ่มเพื่อไทยจะแพ้การเลือกตั้ง "แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการณ์นั้นจะเป็นตัวชี้วัดว่าความเป็น “คนเสื้อแดง” ของผู้เลือกตั้งจะลดลง"

ต้องยอมรับว่าการเมืองเรื่องการเลือกตั้งหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 ที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งแล้วนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนคือผู้กำหนดชะตาชีวิตนักการเมืองหรือเป็นผู้กำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้กับนักการเมืองโดยเฉพาะในการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ การณ์ดังกล่าวเป็นการท้าทายชุดความรู้คำอธิบายการเมืองเรื่องการเลือกตั้งที่สังคมเราพอจะมีอยู่เป็นอย่างมาก

ชุดความรู้คำอธิบายการเลือกตั้งภายใต้ระบบ “อุปถัมภ์” ที่เชื่อว่านักการเมืองคือผู้อุปถัมภ์ต่อชาวบ้านอย่างรอบด้านและซื้อเสียงแบบซื้อสินค้า  (ชาวบ้านจะต้องภัคดีกับตระกูลการเมืองตระกูลใดตระกูลหนึ่ง) ต้องถูกท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่า “โครงสร้าง” ของผู้เลือกตั้งได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีต ยกตัวอย่างหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 2520 และมีการแตกตัวทางอาชีพอย่างต่อเนื่องในช่วงท้ายของทศวรรษ 2520 จนทำให้มีความหลากหลายทางอาชีพเกิดขึ้นดังตารางที่1 และตารางที่2

ตารางที่ 1 อาชีพต่างๆ ในหมู่บ้าน ก. พ.ศ.2527 - 2535  [1]

อาชีพ จำนวน (คน)
รับราชการ 10    
ทำนา 32 [2]
ค้าขาย 15    
รับจ้าง + ทำนา (ชาวนาแบบบางส่วน) 40    
รับจ้างอย่างเดียว 7

 

ตารางที่ 2 อาชีพต่างๆ ในหมู่บ้าน ก. พ.ศ. 2541 - 2554    [3]

อาชีพ จำนวน (คน)    
รับราชการ 30    
ทำนา 11 [4]
ค้าขาย 25    
รับจ้าง + ทำนา (ชาวนาแบบบางส่วน) 55   
รับจ้างอย่างเดียว 15

 

จากตารางที่1 และ 2 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพค้าขายและชาวนาแบบบางส่วนเพิ่มจำนวนมากขึ้น การณ์นั้นหมายถึงคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของหมู่บ้านได้มีมิติของชีวิตสัมพันธ์กับการค้าขาย ตลาด และ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ (ในเมื่อชาวบ้านไม่ได้มีเพียงอาชีพเดียวดังนั้นการที่จะอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อคนใดคนหนึ่งก็ย่อมเป็นไปได้ยาก) นอกจากนั้นพวกเขายังอยู่ในโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่เช่นมีการจัดองค์กรในหมู่บ้านรูปแบบใหม่อย่าง กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มตำรวจบ้านเป็นต้น

จากตัวอย่างเบื้องต้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าชาวบ้านหมู่บ้าน ก. มีมิติชีวิตสัมพันธ์อยู่กับ 2 มิติใหญ่ๆ คือ มิติทางเศรษฐกิจที่พวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองจากชาวนามาเป็นผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ รวมถึงต้องอยู่ในระบบตลาดที่ใช้เงินแลกเปลี่ยนทำให้พวกเขาเชื่อมต่อกับนโยบายพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ.2544 และนโยบายดังกล่าวกลายเป็นสถาบันทางการเมืองไปหลังปีพ.ศ.2548 [5] และอีกมิติหนึ่งคือชาวบ้านสัมพันธ์อยู่กับการจัดองค์กรรูปแบบใหม่ซึ่งไม่ใช่องค์กรแบบเครือญาติ ทำให้งานประเพณีต่างๆ ถูกดำเนินงานโดยกลุ่มต่างๆ แบ่งการทำงานเป็นส่วนๆ ซึ่งเชื่อมคนในหมู่บ้านไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร มีความเข้มข้นทางเครือญาติกันมากน้อยเพียงใดนั้นกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ทุกคนในหมู่บ้านล้วนสัมพันธ์กับการดำเนินงานของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่

ด้วยมิติความสัมพันธ์ทั้ง 2 ของชาวบ้านที่กล่าวมาแล้วทำให้เกิดการเลือกตั้งที่มีความแตกต่างกันในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 และด้วยระบบการเมืองของบ้านเราอยู่ในระบบการเลือกตั้งจึงทำให้ชาวบ้านผู้เลือกตั้งได้นำความสัมพันธ์ใน 2 มิตินั้นเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจลงคะแนนเสียงด้วย

เป็นที่แน่นอนว่า “สถาบันทางการเมือง” อย่างพรรคเพื่อไทยได้ยึดครองมิติทางเศรษฐกิจของชาวบ้านไปซึ่งสัมพันธ์อยู่กับการเมืองเรื่องอุดมการณ์อย่างที่ทราบกันดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “สถาบันทางการเมือง” อย่างพรรคเพื่อไทยกลับยึดครองมิติทางองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นใหม่ได้น้อยกว่าหากจะเปรียบเทียบกับมิติแรก โดยเฉพาะหมู่บ้าน ก. ในจังหวัดเชียงรายองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นใหม่มักจะมีการประสานงานกับ กลุ่ม จงสุทธนามณี ได้ดีกว่าหากเทียบกับเพื่อไทย ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจยืนยันได้จากงานศึกษาค้นคว้าอิสระของรัตนา จงสุทธนามณีในปี พ.ศ.2538 [6] ซึ่งเป็นการศึกษาทัศนคติของผู้นำสตรีผ่านกลุ่มเครือข่ายองค์กรสตรีรวมถึงกลุ่มแม่บ้านที่เธอเคยร่วมงานด้วยตลอดเส้นทางการเมืองของเธอและรวมถึงสามีของเธอนายวันชัย จงสุทธนามณี

นายวันชัยเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ในนามพรรคภูมิใจไทยบนเวทีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของนายสามารถ แก้วมีชัยจากพรรคเพื่อไทยเมื่อดูจากผลคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปของหมู่บ้าน ก. จะเห็นว่าคะแนน สส. เขต และบัญชีรายชื่อมีความแตกต่างกันอย่างมาก การณ์นั้นสะท้อนให้เห็นว่าความเป็น “คนเสื้อแดง” ของชาวบ้านนั้นมีอยู่หลายมิติ

ตารางที่ 3 คะแนนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ประจำหมู่บ้าน ก. [7]

หมายเลขผู้สมัคร ชื่อ-สกุล คะแนน    

1 นายสามารถ แก้วมีชัย (พรรคเพื่อไทย) 189    
2 นางบัณฑิตา ปิงสุวรรณ (พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน)  0    
10 นายสมพงษ์ อันพาพรม (พรรคประชาธิปัตย์) 22    
16 นายวันชัย จงสุทธานามณี (พรรคภูมิใจไทย) 142    
18 นางสาวเวียงคำ มหาวงศ์ (พรรคเพื่อฟ้าดิน)  0    
36 นายเขมกร ปัญจขันธ์ (พรรคพลังคนกีฬา)  0

จากตารางที่ 3 ผลการเลือกตั้งแบบ ส.ส. เขตในหมู่บ้าน ก. นายสามารถ แก้วมีชัยชนะนายวันชัย จงสุทธนามณีไปเพียง 47 คะแนน ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อของเพื่อไทยได้ 252 คะแนน แต่พรรคภูมิใจไทยกลับได้แค่ 31 คะแนนซึ่งส่วนต่างดังกล่าวแตกต่างจากคะแนน ส.ส. เขตเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งของชาวบ้านมีเกณฑ์การตัดสินใจที่มีฐานมาจากการที่ชีวิตของพวกเขาต้องสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ 2 มิติ คือชาวบ้านเลือกลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยในแบบบัญชีรายชื่อซึ่งหมายถึงชาวบ้านเลือกเพระพวกเขาสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยในมิติแรก แต่คะแนน ส.ส. เขตนายวันชัยได้รับคะแนนมากพอสมควรซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเลือกเพราะความสัมพันธ์ในมิติที่ 2 โดยเกณฑ์การตัดสินใจดังกล่าว ณ ที่นี้ไม่สามารถจะวัดได้ว่ามิติไหนมีความสำคัญมากกว่ากันเพราะผู้เลือกตั้งจะเป็นผู้เลือกใช้ด้วยตนเองแล้วแต่ระดับของการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งนายก อบจ. ประจำจังหวัดเชียงรายที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 27 พฤษภาคมปี พ.ศ.2555 นี้คือการเลือกตั้งที่ทั้ง 2 มิติความสัมพันธ์ของผู้เลือกตั้งกำลังจะมาปะทะกัน ไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งก็คงถือได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความน่าสนใจมากในด้านที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและถึงแม้ว่ากลุ่มเพื่อไทยจะแพ้การเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าการณ์นั้นจะเป็นตัวชี้วัดว่าความเป็น “คนเสื้อแดง” ของผู้เลือกตั้งจะลดลง

 
หมายเหตุ:
[1]  สัมภาษณ์อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้าน ก.
[2]  หมายเหตุ จำนวนอาชีพทำนาจะนับเป็นหัวหน้าครอบครัว
[3]  สัมภาษณ์อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้าน ก.
[4]  หมายเหตุ จำนวนอาชีพทำนาจะนับเป็นหัวหน้าครอบครัว
[5]  ปี พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งซึ่งรวมถึงการชนะพรรคมหาชนที่เสนอนโยบายประชานิยมเหมือนกันแต่ชาวบ้านก็ยังเลือกพรรคไทยรักไทยซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพรรคไทยรักไทยได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองในมุมมองขอ
งชาวบ้าน
[6]  รัตนา จงสุทธนามณี. บทบาทของผู้นำสตรีในการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย. การค้นคว้าแบบอิสระ
รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538
[7] สังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้งหมู่บ้าน ก., เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net