เกษตรกร-เอ็นจีโอ เดินหน้าฟ้อง “ศาลปกครอง” ร้องเลิก “คดีโลกร้อน”

เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากคดีโลกร้อนเหนือ-ใต้-อีสาน รวมตัวฟ้อง “กรมอุทยานฯ-ป่าไม้” ต่อศาลปกครอง ร้องเพิกถอนการใช้แบบจำลอง ชี้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คิดค่าเสียหายเกินกว่า กม.ให้อำนาจ

 
 
 
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันนี้ (28 พ.ค.) ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) มาใช้บังคับในคดีแพ่ง จำนวนกว่า 100 คน จาก 4 เครือข่าย 1 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ และมูลนิธิอันดามัน รวมทั้งผู้ฟ้องร้องในนามบุคคล 18 ราย รวมทั้งสิ้น 23 ราย เข้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน
 
พร้อมให้ผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
 
นายกฤษดา ขุนณรงค์ ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึงกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ขอให้ยุติการบังคับใช้แบบจำลอง โดยได้แนบความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวนศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่าแบบจำลองดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่เป็นธรรม แต่เมื่อหน่วยงานดังกล่าวยืนยันที่จะบังคับใช้แบบจำลองต่อไป ทางเครือข่ายชาวบ้าน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้หารือกับสภาทนายความ และกลุ่มนักวิชาการ มีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิกถอนแบบจำลองดังกล่าว
 
นายกฤษดา กล่าวอีกว่า สำหรับมูลเหตุในการฟ้องร้องนั้น ผู้ฟ้องเห็นว่า แบบจำลองนี้สร้างขึ้นโดยขาดองค์ความรู้และการศึกษาข้อมูลที่ครอบคลุมเพียงพอ ใช้วิธีคิดคำนวณที่ไม่เหมาะสมและผิดไปจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป เป็นการนำงานวิชาการที่ไม่ผ่านการประเมินเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ไม่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในประเทศ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นำมาบังคับใช้ในการเรียกค่าเสียหายซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
 
“อีกทั้ง มีการเลือกปฏิบัติบังคับใช้แบบจำลองอย่างไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิชุมชนของเกษตรกร ทั้งที่วิถีของชาวบ้านเป็นการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายกฤษดา กล่าว
 
ด้านนายสมนึก พุฒนวล ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้อง กล่าวว่า ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนคือภาคอุตสาหกรรม แต่ภาครัฐกลับปล่อยปละละเลย และหันมาฟ้องร้องเอาผิดกับเกษตรกรรายย่อย ที่ทำเกษตรแบบธรรมชาติ ในรูปแบบสวนสมรม และมีการกติกาในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเป็นแพะ รับโทษแทนภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมขยายพื้นที่สร้างโรงงานไปได้ไม่จำกัด ไม่ต้องถูกควบคุมตรวจสอบทางกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเจตนายึดที่ดินชุมชน เพื่อนำที่ดินไปประเคนให้นายทุน
 
“ที่จริงแล้วรัฐบาลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ด้วยการกำหนดแผนพัฒนา และอนุมัติโครงการสร้างอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 หมวดสิทธิชุมชน ส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิชุมชน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน แต่ผ่านมาเกือบปีแล้ว กลับไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย” นายสมนึก กล่าว
 
นายเรวัตร อินทร์ช่วย ผู้ฟ้องในนามบุคคล กล่าวเสริมว่า ที่บ้านตระ จ.ตรัง ก่อตั้งชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทางราชการมีการรับรองบ้านตระเอาไว้ในแผนที่ พ.ศ.2457 แต่ต่อมาก็ถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ประกาศทับซ้อนพื้นที่ ใน พ.ศ.2518 ส่งผลให้ตนถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหาบุกรุกป่า 4 ครั้ง และอาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ข้อหาทำให้โลกร้อน ตามมาอีกด้วย หากยังไม่มีการยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองดังกล่าว จึงตัดสินใจยื่นฟ้องร้องในครั้งนี้
 
“ชาวบ้านพยายามทำความดี ทำสวนสมรม เกษตร 4 ชั้น ปลูกพืชหลากหลาย ปลูกพืชอาหารเลี้ยงสังคม ทำโฉนดชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ถูกภาครัฐบิดเบือนว่าเป็นคนทำผิด เป็นคนทำลายสังคม เป็นส่วนเกินของสังคม ไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินของบรรพบุรุษ ไม่มีสิทธิบริหารจัดการทรัพยากร ถูกสังคมประณาม หลายครอบครัวต้องบ้านแตก เพราะเครียดจากการบังคับใช้แบบจำลองมาฟ้องร้องรายละเป็นแสนเป็นล้าน เราไม่มีเงินมาจ่ายเขาแน่นอน แค่เงินหมื่นก็หายากแล้ว และยังกังวลว่าจะติดคุก จะถูกยึดทรัพย์ ที่มีอยู่เล็กๆ น้อยๆ ไหม ถ้าถูกยึดทรัพย์ไปจะหาใหม่ก็ยากเย็น ภาครัฐภูมิใจนักหรือที่มารังแกคนตัวเล็กๆ แบบนี้ มันไม่ยุติธรรมกับเกษตรกรรากหญ้า เอาเสียเลย อยากขอความเป็นธรรมให้ศาลช่วยเพิกถอนแบบจำลองนี้” นายเรวัตร กล่าว
 
สำหรับการฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ.47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย
 
ในส่วนรายละเอียดการคิดค่าเสียหายแบ่งเป็น 7 กรณี คือ 1.ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2.ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน3.ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4.ค่าทำให้ดินสูญหาย 5.ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6.ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7.มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
 
 
จากนั้น เวลา 13.30 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยองค์กรสมาชิก จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และราชบุรี เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาคดีความโลกร้อนของรัฐบาล ที่ได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 พร้อมเรียกร้องให้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน
 
เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีโลกร้อนจำนวน 34 ราย ถูกเรียกค่าเสียหายรวมกันทั้งสิ้น 13 ล้านบาท การเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบให้เกษตรกรต้องรับภาระชำระหนี้ที่ไม่ได้มีอยู่จริง และไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น อีกทั้งแบบจำลองฯดังกล่าว มีรายละเอียดการคำนวณที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพ มาตรฐานการวิจัย และไม่น่าเชื่อถือทางวิชาการเพียงพอที่จะนำมาบังคับใช้ทางกฎหมาย ดังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากเครือข่ายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
หนังสือระบุอีกว่า การมีคำสั่งเรียกค่าเสียหายทำให้โลกร้อนกับเกษตรกร ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ จึงถือเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรง และเลือกปฏิบัติกับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นผู้มีวิถีการผลิตและการดำรงชีพที่ไม่เพียงไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ดำรงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน อีกทั้ง มีการดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า และการดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายโลกร้อน รวมทั้งการเข้าจับกุม ตัดฟันพืชผลที่เกษตรกรปลูกสร้าง และข่มขู่ชุมชนที่อยู่อาศัย และทำกินในเขตพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกิดขึ้นกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งในจังหวัดตรัง (ถูกเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อน ถูกจับกุมและตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรโดยเจ้าหน้าที่รัฐ) จังหวัดพัทลุง (ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ)  และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ถูกข่มขู่ให้ตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง)
 
ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จึงขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมดังกล่าว คืนความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และรับรองสิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยการ 1. ยกเลิกการใช้แบบจำลองการคิดค่าเสียหาย และการดำเนินคดีโลกร้อนกับเกษตรกร และ 2. ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีวิถีชีวิตในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวทางนโยบายโฉนดชุมชน
 
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้หารือกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เพื่อขอให้แก้ปัญหาการรื้อถอนสวนยางพารา และสะพานในพื้นที่โฉนดชุมชน ตลอดจนการดำเนินคดีสมาชิกเครือข่ายฯ ผลการหารือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รับปากประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี ให้สอดส่องดูแล และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชะลอการดำเนินการที่เป็นมูลเหตุไปสู่ความขัดแย้ง ต่อไป
 
 
หลังจากมีการเข้าพบและเจรจากับนายยงยุทธ ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายเดินทางกลับเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.
 
ทั้งนี้ นโยบายในข้อ 5.4 ระบุว่า รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปการจัดการที่ดินจะเกิดขึ้นได้จะต้องทำให้เกิดการกระจายสิทธิในที่ดินอย่างยั่งยืน แนวทางสำคัญคือจะใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย จะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท