Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: 2 บทความสะท้อนทัศนะเกี่ยวกับการปรองดองของสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ โดยประชาไทได้รับข้อความผ่านมาจากคนใกล้ชิด ขณะนี้ทั้งสองยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

“ความขัดแย้งด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง

ด้วยความคิดความเชื่อในระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน

เป็นความขัดแย้งที่ไม่อาจปรองดองกันได้

เพราะเป็นการต่อสู้กันด้วยจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ระหว่างความเป็นเผด็จการกับความเป็นประชาธิปไตย”

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

 

"การปรองดองเป็นเพียงวิธีการเพื่อลดความรุนแรง

ลดความเสียหายในการปฏิวัติสังคมเท่านั้นเอง

ไม่ใช่หยุดการต่อสู้ หรือสมยอมกับกลุ่มอำนาจเก่า

ในขณะที่สถานการณ์เป็นต่อ ก็จะเป็นการฉลาดน้อย

นี่เป็นข้อสรุปจากที่ประชุม [สภาผู้แทนคนเสื้อแดงในเรือนจำ]”

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

 

 

1

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: ปรองดองเรื่องของลิงหลอกเจ้า

 

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทย เพราะเป็นความขัดแย้งที่ขยายขอบเขตปริมณฑลออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างผลกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ กินระยะเวลายาวนาน ก่อให้เกิดการสูญเสียย่อยยับมหาศาลทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิต ที่ไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหาย

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะสร้างการปรองดองขึ้นมาอย่างง่ายๆ ในเวลาอันสั้น ด้วยเหตุผลหยาบๆ ให้ลืมอดีตไปเสียเพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวไปข้างหน้า

การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างการปรองดองด้วยการเชิญ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มาร่วมงานรักเมืองไทย เดินห้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล ต่อมาในวันที่ 26 เมษายน 2555 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้นำคณะเข้ารดน้ำดำหัวพลเอกเปรม แสดงให้เห็นถึงขั้วความขัดแย้งหลักในสังคมไทยมาจากบทบาทของคนสองกลุ่ม ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2555 ที่สี่แยกราชประสงค์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้วีดิโอลิงก์ปราศรัยกับคนเสื้อแดง โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “วันนี้หากเราเลิกทิฐิ กัน แล้วหันหน้าเข้าหากัน เพื่อรักษาสถาบันทุกฝ่ายเอาไว้ ด้วยการเลิกทะเลาะกัน ถามว่าอยากปรองดองหรือไม่ ถ้าปรองดองก็มีโอกาสได้กลัยมาตอบแทนบุญคุณพี่น้อง”

หากนับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวไว้ว่า “บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา” ถัดมาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวไว้ว่า “ม้าจะมีเจ้าของคอก เวลาแข่งไปเอาจ็อกกี้ หรือเด็กขี่ม้าไปจ้างให้มาขี่ม้า ไม่ได้เป็นเจ้าของม้า”

ทั้งสองข้อความถูกนำมากล่าวถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงถึงความขัดแย้งโดยเปิดเผยของบุคคลทั้งสอง จนในที่สุดนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กำจัดรัฐบาลทักษิณ แทนที่ด้วยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดพลเอกเปรมทั้งสิ้น หลักจากนั้นความขัดแย้งได้ขยายตัวกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่เป็นความขัดแย้งทั้งในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง อาจกล่าวได้ว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มทุนขุนนาง กับกลุ่มทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายหนึ่งอาศัยสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยนำกองทัพและตุลาการมาบดขยี้ทำลายล้างอีกกลุ่มหนึ่งในรูปแบบรัฐประการและตุลาการภิวัตน์ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนำประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร โดยใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

จากความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำสองกลุ่ม สะท้อนออกมาผ่านตัวแทนในระดับบุคคลระหว่างพลเอกเปรม กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขยายขอบเขตความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครองกับประชาชน ผ่านวาทกรรม “อำมาตย์-ไพร่” กลายมาเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างชัดเจนระหว่างประชาธิปไตยของประชาชน กับเผด็จการอำมาตย์ จนเผชิญหน้ากันถึงจุดแตกหักกลายเป็นความรุนแรงทางการเมืองในเหตุการณ์เมษาเลือด 2552 ต่อเนื่องถึงเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553

หากเป็นความขัดแย้งเชิงบุคคลหรือถ้าหากเป็นเพียงความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำ ย่อมเป็นเรื่องที่จะประนีประนอมหรือสร้างการปรองดองกันได้ ถ้าหากสามารถไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กันให้ลงตัว การปรองดองในกลุ่มชนชั้นนำก็ตกลงกันได้ ดังเช่น ระหว่างปี 2522-2530 ช่วงที่พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ระหว่างกลุ่มข้าราชการประจำกับนักการเมืองได้อย่างลงตัว

ความขัดแย้งด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยความคิดความเชื่อในระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน เป็นความขัดแย้งที่ไม่อาจปรองดองกันได้ เพราะเป็นการต่อสู้กันด้วยจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างความเป็นเผด็จการกับความเป็นประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงผลประโยชน์ทางชนชั้นที่แตกต่างกัน เป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐเพื่อจัดสรรคุณค่า ทรัพยากรให้กับกลุ่มผลประโยชน์ทางชนชั้นที่แตกต่างกัน โดยแสดงออกในรูปของแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้นำเสนอต่อประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ความขัดแย้งแบบนี้ย่อมไม่อาจปรองดองกันได้อย่างลงตัว และเป็นที่พอใจได้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งเช่นนี้ย่อมนำมาสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้า และเป็นพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงสังคม มีแต่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนคือเจ้าของอธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรม และความขัดแย้งไม่บานปลายไปเป็นความรุนแรงทางการเมือง

ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมมิอาจธำรงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐและความยุติธรรมได้ ศาลยุติธรรมได้กลายเป็นเครื่องมือของการละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างน่าเกลียดดังเช่นการยุบพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน การตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนักการเมือง การใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองจำนวนมาก

กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ด้วยการใช้อำนาจตุลาการเกินขอบเขตเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ดังเช่น การเลือกปฏิบัติกรณีคนเสื้อแดงถูกดำเนินคดี จับกุมคุมขัง ไม่ให้สิทธิการประกันตัวโดยเด็ดขาด ส่วนกลุ่มคนเสื้อเหลือง การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ได้รับการประกันตัว หรือแม้แต่ในกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยกันเอง หากเป็นนักการเมือง ได้รับการประกันตัว ส่วนคนธรรมดาไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว เป็นต้น

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหาสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือได้ ดังเช่น การไม่แก้ไขมาตรา 112 ให้มีความก้าวหน้ากว่าเดิม การไม่แก้ไขกฎหมายอาญา เพื่อให้หลักประกันในสิทธิการประกันตัว กระทั่งไม่มีการปฏิรูปศาลยุติธรรมให้เชื่อมโยงกับประชาชนและมีความโปร่งใส

ดังนั้น การปรองดองจะไม่มีประโยชน์และไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำมาตย์ ไม่มีการสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง

การปรองดองโดยทมองข้ามความอยุติธรรม และการปรองดองทั้งที่กลิ่นคาวเลือด น้ำตา ของผู้เสียชีวิตยังไม่จางหาย การขอร้องให้เลิกทิฐิ กัน แล้วหันหน้าเข้าหากันในขณะที่ยังมีการจองจำนักโทษการเมือง จึงทำกับว่าเป็นการซุกขยะไว้ใต้พรมสวยงามที่นักการเมืองย่างเหยียบไปสู่อำนาจการเมือง เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มคนไม่กี่คนเท่านั้น

ความพยายามสร้างการปรองดองของรัฐบาลภายใต้การต่อสู้
ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ
ระหว่างความชั่วช้าต่ำทรามกับความดีงาม
ระหว่างฆาตกรเลือดเย็นกับเหยื่อผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม
ระหว่างโซ่ตรวจการจองจำกับอิสรภาพที่โหยหาของนักโทษการเมือง
จึงเป็นเพียงการเล่นละครลิงหลอกเจ้าตามสำนวนไทยที่รู้จักกันดี

หากสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค อิสรภาพ และประชาธิปไตย เกิดขึ้นได้เมื่อใด ความปรองดองและความวัฒนาถาวรจึงจะเกิดขึ้น เป็นจริงขึ้นมาได้เมื่อนั้น

 

00000000000000000000000000000000000000

 

2

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ : ความปรองดองคืออะไร

30 เมษายน 2555

สภาผู้แทนคนเสื้อแดงในเรือนจำฯ ได้เปิดประชุมด่วนเพราะมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาหลายเรื่อง อันเนื่องมาจากญัตติเรื่อง “ความปรองดอง” ทำให้เกิดความสับสนในหมู่คนเสื้อแดง

เช่น แม่ของน้องเกดประกาศต่อต้านการปรองดองนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารดน้ำอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อสร้างภาพความปรองดอง การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานี  พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ข่าวว่าเพราะคนเสื้อแดงไม่พอใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ทำท่าเกี๊ยะเซี้ยะกับอำมาตย์ คนเสื้อแดงทำผิดทีหลังแต่ถูกขังอยู่เต็มคุก คนเสื้อเหลืองทำผิดก่อน เป็นผู้ก่อการร้ายยึดสนามบิน ผ่านมาสามปีกว่าแล้ว ยังไม่ถูกจับขังคุก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งฆ่าคนตายนับร้อย บาดเจ็บนับพัน ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี แต่จะปรองดองยกเลิกความผิดให้ คนเสื้อแดงก็ตายฟรี ติดคุกฟรี จึงรับไม่ได้

เรื่องนี้จึงต้องทำความเข้าใจว่า “การปรองดองคืออะไร?” คือการเจ๊ากันไป เลิกแล้วต่อกันอย่างนั้นหรือ? ถ้าเป็นเรื่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอาจจะใช่ แต่ความขัดแย้งปัจจุบันไม่ใช่เรื่องบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ดังคำพูดของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวไว้และถูกตีพิมพ์ในมติชนว่า “ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล และระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นความขัดแย้งทางโครงสร้างสังคม เป็นการต่อสู้กันของสองกลุ่มอำนาจ”

การปรองดองจึงเป็นการปรองดอง คือค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างสังคมแบบเก่า ไปสู่โครงสร้างสังคมแบบใหม่ โดยการปฏิวัติเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ แทนการโค่นล้มอย่างรุนแรง เรียกว่าค่อยเปลี่ยนอย่ารอมชอมนั่นเอง การปรองดองจึงไม่ใช่เลิกแล้วต่อกันให้สังคมหยุดนิ่งหรือถอยหลัง

ดังนั้นคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะต้องยึดหลัก “การขับเคลื่อนเป็นโครงสร้างสังคม” การปรองดองเพียงลดความรุนแรงเท่านั้นเอง ยังไงสังคมก็ต้องเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้แหละ เพราะเงื่อนไขสุกงอม และสุกงอมขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดคือ  ความคิดแบบเสื้อแดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ส่วนความคิดแบบเสื้อเหลืองลดลง แตกกระจายและหมดพลัง

คนเสื้อแดงที่ถูกสื่อมวลชนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1 กลุ่มแดงดารา 2 กลุ่มแดงฮาร์ดคอร์ และ 3 กลุ่มแดงอุดมการณ์ เวลานี้แดงสองกลุ่มแรกได้มีพัฒนาการยกระดับความคิด กลายเป็นแดงอุดมการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่เมื่อพรรคเพื่อไทยและ นปช.ทำอะไรให้คลางแคลงใจว่าจะออกนอกเส้นทางการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างสังคม ก็ต้องทักท้วงติติง ไม่ใช่เดินตามอย่างหลับหูหลับตา

ผ่านการต่อสู้มา 7 ปี  ลองผิดลองถูก สูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต และอิสรภาพมากมาย คนเสื้อแดงจำนวนมากได้กลายเป็นมวลชนปฏิวัติไปแล้ว ความต้องการจึงมากกว่าสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเท่านั้น

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้วิตกกังวล กลัวว่าการปรองดองจะเป็นการเกี๊ยะเซี้ยะ เพียงเพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้ นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย แกนนำ นปช.พ้นคดี แกนนำพันธมิตรพ้นคดี นายอภิสิทธ์ นายสุเทพพ้นคดี ระบอบอำมาตย์ยังคงความศักดิ์สิทธิ์คงเดิม  สังคมไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง คนเสื้อแดงกลัวถูกหักหลัง

พรรคเพื่อไทยกับ นปช.จึงต้องทำความเข้าใจมวลชนคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ร่วมกันมา ว่าได้ใช้ทฤษฎีอะไรในการต่อสู้ มีแนวทางและยุทธศาสตร์อย่างไร ไม่ใช่ต่อสู้สะเปะสะปะไม่มีตำราอย่างที่ผ่านมา เพราะพรรคเพื่อไทยและ นปช. ต้องแบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงเพื่อเลือกตั้ง จึงต้องมีลักษณะต่อสู้ จึงจะสร้างความมั่นใจแก่มวลชนได้ และมวลชนก็จะเข้าใจได้ว่าการแสดงต่างๆ เป็นเพียงยุทธวิธีเท่านั้น ไม่ว่าการไปรดน้ำขอพร พล.อ.เปรม การปรองดอง การออกฎหมายนิรโทษกรรม ปล่อยเขา ปล่อยเรา และการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน อะไรต่างๆ มีจุดหมายปลายทางคือ “ปฏิวัติสังคม”

การปรองดองจึงเป็นเพียงวิธีการเพื่อลดความรุนแรง ลดความเสียหายในการปฏิวัติสังคมเท่านั้นเอง ไม่ใช่หยุดการต่อสู้ หรือสมยอมกับกลุ่มอำนาจเก่า ในขณะที่สถานการณ์เป็นต่อ ก็จะเป็นการฉลาดน้อย เป็นข้อสรุปจากที่ประชุม

 

0000000000000000000000000000000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net